ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการศูนย์เครือข่ายวิชาการเพื่อสังเกตการณ์และวิจัยความสุขชุมชน (ศูนย์วิจัยความสุขชุมชน)มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ ร่วมกับ นายวรภัทธ ปราณีประชาชน นักศึกษา ประจำสถาบันคอร์เนลล์เพื่อภารกิจของรัฐ มหาวิทยาลัยคอร์เนลล์ (Cornell University) และคณะทำงานโครงการฑูตความดีแห่งประเทศไทย เปิดเผยผลวิจัยเชิงสำรวจ เรื่อง สำรวจวิกฤตการณ์ทางสังคมของชาติในช่วงเข้าสู่วาระการเลือกตั้ง กรณีศึกษาปัญหา คอรัปชั่น ท้องในวัยเรียน และยาเสพติด ใน 17 จังหวัดของประเทศ ได้แก่ กรุงเทพมหานคร เพชรบุรี ระยอง กาญจนบุรี ปทุมธานี ชลบุรี น่าน พิษณุโลก เชียงใหม่ นครพนม ชัยภูมิ สุรินทร์ บุรีรัมย์ อุบลราชธานี นครราชสีมา ปัตตานี และสงขลา จำนวนทั้งสิ้น 1,494 ตัวอย่าง ดำเนินโครงการระหว่าง 10 — 20 เมษายน 2554 ที่ผ่านมาพบว่า
ครึ่งหนึ่งหรือร้อยละ 50.3 ระบุปัญหายาเสพติดเป็นปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อสังคมไทยและควรได้รับการแก้ไขโดยเร็วที่สุด รองลงมาคือ ร้อยละ 41.5 ระบุ ปัญหาคอรัปชั่น และร้อยละ 8.2 ระบุปัญหาท้องในวัยเรียน และเมื่อถามว่า ปัญหาใดที่ไม่อยากเจอกับตนเองและคนใกล้ตัวมากที่สุด ผลสำรวจพบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 73.4 ระบุปัญหายาเสพติด รองลงมาคือร้อยละ 16.1 ระบุเป็นปัญหาท้องในวัยเรียน และร้อยละ 10.5 ระบุเป็นปัญหาคอรัปชั่น
ผลสำรวจยังพบด้วยว่า ประชาชนส่วนใหญ่หรือร้อยละ 76.4 อยากมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหายาเสพติด ในขณะที่ร้อยละ 49.0 ระบุอยากมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาคอรัปชั่น และร้อยละ 42.8 อยากมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาท้องในวัยเรียน มีเพียงร้อยละ 6.6 ที่ไม่อยากมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหา
ที่น่าพิจารณาคือ ประชาชนส่วนใหญ่หรือร้อยละ 95.7 เห็นด้วยที่จะให้เยาวชนเข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาวิกฤตทางสังคมของชาติทั้งสามปัญหาคือ ปัญหายาเสพติด คอรัปชั่น และท้องในวัยเรียน เพราะ ต้องเสริมสร้างจิตสำนึกของเยาวชนคนรุ่นใหม่ให้รู้จักแนวทางในการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น และอยากให้เยาวชนตระหนักถึงบทบาทเพื่อเป็นตัวอย่างแห่งความดีในอนาคต เป็นต้น ในขณะที่เพียงร้อยละ 4.3 เท่านั้นที่ไม่เห็นด้วย
นอกจากนี้ เมื่อถามว่า ใครควรเป็นผู้มีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาระดับชาติมากที่สุด พบว่า อันดับแรกหรือร้อยละ 29.9 ระบุเป็น รัฐบาล อันดับสองหรือ ร้อยละ 19.2 ระบุเป็นตัวผู้ตอบแบบสอบถามเอง อันดับสามหรือร้อยละ 17.7 ระบุเป็น พ่อ-แม่ ผู้ปกครอง อันดับสี่หรือร้อยละ 14.2 ระบุเป็นนักการเมือง อันดับห้าหรือร้อยละ 8.3 ระบุเป็นเยาวชน และรองๆ ลงไป ได้แก่ ข้าราชการ ครูอาจารย์ องค์กรพัฒนาเอกชน สื่อมวลชน และนักธุรกิจ ตามลำดับ
ที่น่าเป็นห่วงเหมือนเดิม คือ เมื่อถามถึงสาเหตุที่ทำให้เกิดปัญหาระดับชาติ พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 85.4 ระบุนักการเมืองข้าราชการ และเจ้าหน้าที่รัฐไม่จริงจัง ไม่ต่อเนื่อง มีคอรัปชั่นและแสวงหาผลประโยชน์ส่วนตัว รองลงมาคือ ร้อยละ 68.9 ระบุชาวบ้านทั่วไป เห็นแก่ตัว สนใจแต่เรื่องตนเอง ร้อยละ 67.7 ระบุสถาบันครอบครัวอ่อนแอ ร้อยละ 65.7 ระบุขาดการบังคับใช้กฎหมาย ร้อยละ 64.7 ระบุความไม่เท่าเทียมในสังคม และร้อยละ 62.4 ระบุเด็กไม่ได้รับการอบรมสั่งสอนที่ดี จนเป็นผู้ใหญ่ที่ไม่ดี
อย่างไรก็ตาม ถ้ามีการแก้ไขเปลี่ยนแปลง อะไรบ้างจะดีขึ้น พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 72.4 ระบุ ชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนจะดีขึ้น รองลงมาคือ ร้อยละ 71.6 ระบุนักการเมือง ร้อยละ 71.5 ระบุระบบการศึกษาจะดีขึ้น ร้อยละ 57.5 ระบุระบบราชการ รองๆ ลงไปคือ นิสัยคนไทย สิ่งแวดล้อม สื่อมวลชน และองค์กรภาคธุรกิจจะดีขึ้น ถ้ามีการแก้ไขอย่างจริงจังและต่อเนื่อง
นายวรภัทร กล่าวว่า จากผลสำรวจทำให้เห็นว่าประชาชนให้ความสำคัญกับปัญหาที่ใกล้ตัวมากกว่าปัญหาที่ไกลตัว โดยมีประชาชนมองปัญหายาเสพติดสำคัญมากกว่าปัญหาคอรัปชั่น ทางออกคือ ในช่วงที่กำลังเข้าสู่วาระการเลือกตั้งของประชาชนจึงเป็นช่วงเวลาที่ประชาชนต้องใช้วิจารณญาณตัดสินใจเลือกผู้ที่จะเข้ามาแก้ปัญหาสำคัญของชาติได้อย่างจริงจังและต่อเนื่อง มีผลงานชัดเจนว่าสามารถแก้ไขปัญหาใกล้ตัวของประชาชนได้ และถึงแม้ดูเหมือนว่าประชาชนจะเมินปัญหาคอรัปชั่นแต่ก็ต้องทำความเข้าใจกับประชาชนต่อไปว่า ปัญหาคอรัปชั่นเป็นส่วนหนึ่งของต้นตอปัญหาสังคมอื่นๆ ในชาติเช่นกันและจะทำให้ประชาชนอยู่กันอย่างไม่ปกติสุข
ขณะที่ ผอ.ศูนย์วิจัยความสุขชุมชน กล่าวว่า เมื่อปัญหายาเสพติดเป็นปัญหาใหญ่ ฝ่ายการเมืองที่เป็นความหวังของประชาชนต้องเร่งทำให้เกิดผลที่เห็นและจับต้องได้ว่า สามารถลดความรุนแรงของปัญหาลงได้อย่างแท้จริง กองกำลังพิเศษในการปราบปรามยาเสพติดอาจยังไม่เพียงพอและต้องระวังปรากฏการณ์ “ผึ้งแตกรัง” ได้ จึงจำเป็นต้องทำกิจกรรมเชิงบวก เช่น การเสริมสร้างอาชีพยอดนิยมของท้องถิ่น เพิ่มรายได้ครัวเรือนในระดับชุมชนควบคู่ไปด้วย ทำให้ชาวบ้านเห็นว่า ทำมาหากินสุจริตแล้วมีสิ่งดีๆ เกิดขึ้นในชีวิตมากมาย นอกจากนี้ รัฐบาลต้องลงทุนด้านเทคโนโลยีฐานข้อมูลติดตามผู้ค้า ผู้เสพที่มีประสิทธิภาพสามารถติดตามเส้นทางชีวิตของพวกเขาได้อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้แน่ใจว่า ผู้ค้า ผู้เสพสามารถดำรงชีวิตตามกรอบของกฎหมายบ้านเมืองและไม่เป็นอันตรายต่อสังคม
จากการพิจารณาลักษณะทั่วไปของตัวอย่าง พบว่า ตัวอย่างร้อยละ 48.4 เป็นชาย ร้อยละ 51.6 เป็นหญิง ตัวอย่างร้อยละ 4.1 อายุน้อยกว่า 20 ปี ร้อยละ 20.6 อายุระหว่าง 20—29 ปี ร้อยละ 22.8 อายุระหว่าง 30—39 ปี ร้อยละ 21.7 อายุระหว่าง 40—49 ปี และ ร้อยละ 30.8 อายุ 50 ปีขึ้นไป ตัวอย่างร้อยละ 56.9 สำเร็จการศึกษาต่ำกว่าปริญญาตรี ร้อยละ 36.8 สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี และร้อยละ 6.3 สำเร็จการศึกษาสูงกว่าปริญญาตรี ตัวอย่างร้อยละ 33.3 ระบุอาชีพเกษตรกร/รับจ้างทั่วไป ร้อยละ 26.2 ระบุอาชีพค้าขาย/ธุรกิจส่วนตัว ร้อยละ 11.5 ระบุเป็นพนักงานเอกชน ร้อยละ 11.1 ระบุข้าราชการ/พนักงานรัฐวิสาหกิจ ร้อยละ 8.9 ระบุเป็นนักเรียนนักศึกษา ร้อยละ 6.6 เป็นแม่บ้าน/พ่อบ้าน/เกษียณอายุ ร้อยละ 2.5 ว่างงาน/ไม่ได้ประกอบอาชีพ
ลำดับที่ ปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อสังคมไทยและควรได้รับการแก้ไขโดยเร็วที่สุด ค่าร้อยละ 1 ปัญหายาเสพติด 50.3 2 ปัญหาคอรัปชั่น 41.5 3 ปัญหาท้องในวัยเรียน 8.2 รวมทั้งสิ้น 100.0 ตารางที่ 2 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุปัญหาที่ไม่อยากเจอกับตนเองและคนใกล้ตัว ลำดับที่ ปัญหาที่ไม่อยากเจอกับตนเองและคนใกล้ตัว ค่าร้อยละ 1 ปัญหายาเสพติด 73.4 2 ปัญหาท้องในวัยเรียน 16.1 3 ปัญหาคอรัปชั่น 10.5 รวมทั้งสิ้น 100.0 ตารางที่ 3 แสดงร้อยละของตัวอย่างที่ระบุปัญหาที่อยากมีร่วสนร่วมในการแก้ไข (ตอบได้มากกว่า 1 ข้อ) ลำดับที่ ปัญหาที่อยากมีร่วสนร่วมในการแก้ไข ค่าร้อยละ 1 ปัญหายาเสพติด 76.4 2 ปัญหาคอรัปชั่น 49.0 3 ปัญหาท้องในวัยเรียน 42.8 4 ไม่อยากมีส่วนร่วมแก้ปัญหาใด 6.6 ตารางที่ 4 แสดงร้อยละของตัวอย่างที่ระบุความคิดเห็นเกี่ยวกับการให้เยาวชนเข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหา 3 ปัญหาดังกล่าวข้างต้น ลำดับที่ ความคิดเห็น ค่าร้อยละ 1 เห็นด้วย เพราะ ต้องเสริมสร้างจิตสำนึกของเยาวชนรุ่นใหม่ให้รู้จักแนวทางในการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น / อยากให้เยาวชนได้ตระหนักถึงบทบาทเพื่อเป็นตัวอย่างที่ดีในอนาคต เป็นต้น 95.7 2 ไม่เห็นด้วย 4.3 รวมทั้งสิ้น 100.0 ตารางที่ 5 แสดงร้อยละของตัวอย่างที่ระบุบุคคลที่ควรเป็นผู้มีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาระดับชาติมากที่สุด ลำดับที่ บุคคลที่ควรเป็นผู้มีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาระดับชาติมากที่สุด ค่าร้อยละ 1 รัฐบาล 29.9 2 ตัวคุณเอง (ตัวผู้ตอบแบบสอบถาม) 19.2 3 พ่อ-แม่ ผู้ปกครอง 17.7 4 นักการเมือง 14.2 5 เยาวชน 8.3 6 ข้าราชการ 3.3 7 ครู-อาจารย์ 2.6 8 องค์กรพัฒนาเอกชน (NGO) 2.3 9 สื่อมวลชน 2.2 10 นักธุรกิจ 0.3 รวมทั้งสิ้น 100.0 ตารางที่ 6 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุความคิดเห็นเกี่ยวกับสาเหตุที่ทำให้เกิดปัญหาระดับชาติ(ตอบได้มากกว่า 1 ข้อ) ลำดับที่ สาเหตุที่ทำให้เกิดปัญหาระดับชาติ ค่าร้อยละ 1 นักการเมือง ข้าราชการ เจ้าหน้าที่รัฐไม่จริงจัง ไม่ต่อเนื่อง มีคอรัปชั่นและแสวงหาผลประโยชน์ส่วนตัว 85.4 2 ชาวบ้านทั่วไปเห็นแก่ตัว สนใจแต่เรื่องตนเอง 68.9 3 สถาบันครอบครัวอ่อนแอ 67.7 4 ขาดการบังคับใช้กฎหมาย 65.7 5 ความไม่เท่าเทียมในสังคม 64.7 6 เด็กไม่ได้รับการอบรมสั่งสอนที่ดี จนโตเป็นผู้ใหญ่ที่ไม่ดี 62.4 ตารางที่ 7 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุว่าหากมีการแก้ไขปัญหาอย่างจริงจังและต่อเนื่อง อะไรบ้างจะดีขึ้น (ตอบได้มากกว่า 1 ข้อ) ลำดับที่ อะไรบ้างจะดีขึ้น ถ้ามีการแก้ไขอย่างจริงจังและต่อเนื่อง ค่าร้อยละ 1 ชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน 72.4 2 นักการเมือง 71.6 3 ระบบการศึกษา 71.5 4 ระบบราชการ 57.5 5 นิสัยคนไทย 57.0 6 สิ่งแวดล้อม 50.9 7 สื่อมวลชน 41.9 8 องค์กรภาคธุรกิจ 36.7
--เอแบคโพลล์--