ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยเอแบคโพลล์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เปิดเผยผลวิจัยเชิงสำรวจ เรื่อง สำรวจทิศทางการตัดสินใจเลือกตั้งของประชาชนต่อพรรคการเมือง และความหวังต่อสถานการณ์การเมืองภายหลังการเลือกตั้ง กรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนอายุ 18 ปีขึ้นไปใน 17 จังหวัดของประเทศ ได้แก่ กรุงเทพมหานคร สมุทรสาคร ฉะเชิงเทรา ราชบุรี นนทบุรี ชลบุรี พิจิตร เพชรบูรณ์ เชียงใหม่ หนองคาย ชัยภูมิ สุรินทร์ อุดรธานี ขอนแก่น นครราชสีมา ตรัง และนครศรีธรรมราช จำนวนทั้งสิ้น 2,318 ตัวอย่าง ดำเนินโครงการระหว่างวันที่ 15 — 23 เมษายน 2554 ที่ผ่านมา พบว่า
ประชาชนส่วนใหญ่หรือร้อยละ 65.6 ตั้งใจจะไปเลือกตั้ง โดยร้อยละ 24.0 จะไม่ไป และร้อยละ10.4 ยังไม่แน่ใจ แต่เมื่อถามถึงความหวังต่อการเลือกตั้งครั้งที่จะถึงนี้ที่จะได้รัฐบาลใหม่ที่ดีขึ้นหรือไม่ พบว่า เกินกว่าครึ่งเล็กน้อยหรือร้อยละ 52.4 ไม่ค่อยมีความหวังถึงไม่มีความหวังเลยว่าจะได้รัฐบาลที่ดีขึ้น ในขณะที่ร้อยละ 47.6 ค่อนข้างมีความหวังถึงมีความหวังมากที่สุด อย่างไรก็ตาม ร้อยละ 44.9 ไม่เชื่อว่าเลือกตั้งใหม่แล้วจะลดความขัดแย้งทางการเมืองลงได้ ในขณะที่ร้อยละ 18.0 เชื่อว่าจะลดความขัดแย้งลงได้ และร้อยละ 37.1 ไม่แน่ใจ
ผลสำรวจยังพบด้วยว่า ประชาชนส่วนใหญ่หรือร้อยละ 58.1 คิดว่า น่าจะแข่งขันกันหลายๆ พรรค เพราะจะได้มีให้เลือกหลายพรรค เปิดโอกาสให้พรรคการเมืองอื่นๆ ได้แสดงความสามารถในการบริหารประเทศ เป็นต้น ในขณะที่ร้อยละ 41.9 คิดว่าน่าจะแข่งขันกันสองพรรคใหญ่ เพราะจะได้เสียงที่ชัดเจน เด็ดขาด ไม่ทำให้เกิดความยุ่งยากในการบริหารประเทศ จะได้รัฐบาลพรรคเดียว เป็นต้น
และเมื่อถามว่าจะลงคะแนนอย่างไร ถ้านักการเมืองที่ชื่นชอบ แต่อยู่ในพรรคการเมืองที่ไม่ชอบ พบว่า ร้อยละ 44.5 จะเลือกเฉพาะคนไม่เลือกพรรค ร้อยละ 25.0 จะเลือกทั้งคนทั้งพรรค ร้อยละ 13.4 จะไม่เลือกทั้งคน ไม่เลือกทั้งพรรค และร้อยละ 17.1 จะกาช่องไม่ประสงค์ลงคะแนน ตามลำดับ
ที่น่าพิจารณาคือ ประชาชนที่ถูกศึกษามีสัดส่วนก่ำกึ่งกันคือ ร้อยละ 49.1 คิดว่า ความขัดแย้งในพรรคเพื่อไทยจะทำให้มีผลกระทบต่อการเลือกตั้ง แต่ร้อยละ 50.9 ระบุไม่มีผล และที่น่าสนใจคือ ร้อยละ 51.9 ระบุจะยังเลือกพรรคการเมืองเดิม ในขณะที่จำนวนมากหรือร้อยละ 42.6 ยังไม่ตัดสินใจ และร้อยละ 6.5 จะเปลี่ยนใจไปเลือกพรรคการเมืองอื่นที่ต่างไปจากการเลือกตั้งครั้งที่แล้ว
ผอ.สำนักวิจัยเอแบคโพลล์ กล่าวว่า ถึงแม้ประชาชนจำนวนมากจะไม่ค่อยมีความหวังว่าจะได้รัฐบาลที่ดีขึ้นและไม่ได้หวังว่าการเลือกตั้งจะช่วยลดความขัดแย้งทางการเมืองลง แต่ส่วนใหญ่ก็ตั้งใจจะไปเลือกตั้งครั้งที่จะมาถึงนี้ สะท้อนให้เห็นว่า ประชาชนตื่นตัวต้อนรับการเลือกตั้งในระบอบประชาธิปไตยที่ไม่ควรจะมีใครหรือคณะบุคคลกลุ่มใดทำลายความตั้งใจของประชาชนเหล่านี้ จึงน่าจะปล่อยให้ทุกอย่างเป็นไปตามธรรมชาติของการพัฒนาทางการเมืองของประเทศ โดยฝ่ายการเมืองและภาคประชาสังคมต้องร่วมมือกันทำให้ความหวังและความตั้งใจของประชาชนเป็นจริงขึ้นมาบนพื้นฐานของความปกติสุขร่มเย็นของสังคมไทย ดังนั้น ประชาชนทุกคนก็ต้องออกมาช่วยกันปกป้องสถาบันหลักของชาติเพื่อไม่ให้เกิด “เงื่อนไข” นำไปสู่การสะดุดหรือการถอยหลังของการพัฒนาประเทศตามระบอบประชาธิปไตยที่เปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการปกครองมากที่สุดของการปกครองที่มีอยู่ในเวลานี้
จากการพิจารณาลักษณะทั่วไปของตัวอย่าง พบว่า ตัวอย่างร้อยละ 47.3 เป็นชาย ร้อยละ 52.7 เป็นหญิง ตัวอย่างร้อยละ 3.4 อายุน้อยกว่า 20 ปี ร้อยละ 20.7 อายุระหว่าง 20—29 ปี ร้อยละ 25.3 อายุระหว่าง 30—39 ปี ร้อยละ 24.1 อายุระหว่าง 40—49 ปี และ ร้อยละ 26.5 อายุ 50 ปีขึ้นไป ตัวอย่างร้อยละ 73.2 สำเร็จการศึกษาต่ำกว่าปริญญาตรี ร้อยละ 20.2 สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี และร้อยละ 6.6 สำเร็จการศึกษาสูงกว่าปริญญาตรี ตัวอย่างร้อยละ 34.2 ระบุอาชีพเกษตรกร/รับจ้างทั่วไป ร้อยละ 28.0 ระบุอาชีพค้าขาย/ธุรกิจส่วนตัว ร้อยละ 10.3 ระบุเป็นพนักงานเอกชน ร้อยละ 9.2 ระบุข้าราชการ/พนักงานรัฐวิสาหกิจ ร้อยละ 6.3 ระบุเป็นนักเรียนนักศึกษา ร้อยละ 8.5 เป็นแม่บ้าน/พ่อบ้าน/เกษียณอายุร้อยละ 3.5 ว่างงาน/ไม่ได้ประกอบอาชีพ
ลำดับที่ ความตั้งใจจะไปเลือกตั้ง ค่าร้อยละ 1 จะไป 65.6 2 ไม่ไป 24.0 3 ไม่แน่ใจ 10.4
รวมทั้งสิ้น 100.0
ลำดับที่ ความหวังกับการเลือกตั้งครั้งใหม่ ค่าร้อยละ 1 ค่อนข้างมีความหวัง-มีความหวังมากที่สุด 47.6 2 ไม่ค่อยมีความหวัง-ไม่มีความหวังเลย 52.4 รวมทั้งสิ้น 100.0 ตารางที่ 3 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุความเชื่อว่าการเลือกตั้งครั้งใหม่นี้จะทำให้ความขัดแย้งทางการเมืองลดลง ลำดับที่ ความเชื่อ ค่าร้อยละ 1 เชื่อว่าลดความขัดแย้งทางการเมืองลงได้ 18.0 2 ไม่เชื่อ 44.9 3 ไม่แน่ใจ 37.1 รวมทั้งสิ้น 100.0 ตารางที่ 4 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุความคิดเห็นเกี่ยวกับการแข่งขันกันสองพรรคใหญ่ หรือแข่งกันหลาย ๆ พรรค ลำดับที่ ความคิดเห็น ค่าร้อยละ 1 แข่งกันสองพรรคใหญ่ เพราะ จะได้เสียงที่ชัดเจน เด็ดขาด/ไม่ทำให้เกิดความยุ่งยากในการบริหารประเทศ/ จะได้มีรัฐบาลพรรคเดียว เป็นต้น 41.9 2 แข่งกันหลาย ๆ พรรค เพราะ จะได้มีให้เลือกหลายพรรค/เปิดโอกาสให้พรรคการเมืองอื่น ๆ ได้แสดง ความสามารถในการบริหารประเทศ เป็นต้น 58.1 รวมทั้งสิ้น 100.0 ตารางที่ 5 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุความคิดเห็นเกี่ยวกับการลงคะแนนให้นักการเมืองที่ชื่นชอบ แต่อยู่ในพรรคการเมืองที่ไม่ชอบ ลำดับที่ ความคิดเห็น ค่าร้อยละ 1 เลือกเฉพาะคนไม่เลือกพรรค 44.5 2 เลือกทั้งคนทั้งพรรค 25.0 3 ไม่เลือกทั้งคนทั้งพรรค (ไปเลือกคนอื่นพรรคอื่น) 13.4 4 กาช่องไม่ประสงค์ลงคะแนน 17.1 รวมทั้งสิ้น 100.0 ตารางที่ 6 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุความคิดเห็นเกี่ยวกับการขัดแย้งในพรรคเพื่อไทย จะทำให้มีผลกระทบต่อการเลือกตั้ง ลำดับที่ ความคิดเห็น ค่าร้อยละ 1 คิดว่ามีผลกระทบต่อการเลือกตั้ง 49.1 2 ไม่มีผล 50.9 รวมทั้งสิ้น 100.0 ตารางที่ 7 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุพรรคการเมืองที่ตั้งใจจะเลือกในครั้งนี้ ลำดับที่ ความคิดเห็น ค่าร้อยละ 1 ยังเป็นพรรคเดิม 51.9 2 เปลี่ยนไปเลือกพรรคอื่นที่ต่างไปจากการเลือกตั้งครั้งที่แล้ว 6.5 3 ยังไม่ตัดสินใจ 42.6 รวมทั้งสิ้น 100.0
--เอแบคโพลล์--