เอแบคโพลล์: เปรียบเทียบจุดแข็งของพรรคการเมืองใหญ่สองพรรค และความนิยมของสาธารณชนต่อพรรคการเมืองถ้าวันนี้เป็นวันเลือกตั้ง

ข่าวผลสำรวจ Monday May 9, 2011 07:21 —เอแบคโพลล์

ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยเอแบคโพลล์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เปิดเผยผลวิจัยเชิงสำรวจ เรื่อง เปรียบเทียบจุดแข็งของพรรคการเมืองใหญ่สองพรรค และความนิยมของสาธารณชนต่อพรรคการเมือง ถ้าวันนี้เป็นวันเลือกตั้ง

กรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนอายุ 18 ปีขึ้นไปใน 17 จังหวัดของประเทศ ได้แก่ กรุงเทพมหานคร ตราด สระแก้ว พระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี พิจิตร เพชรบูรณ์ เชียงใหม่ มุกดาหาร หนองคาย ชัยภูมิ ศรีสะเกษ อุดรธานี ขอนแก่น พังงา ปัตตานี และสงขลา จำนวนทั้งสิ้น 2,143 ตัวอย่าง ดำเนินโครงการระหว่างวันที่ 1 - 7 พฤษภาคม 2554 ที่ผ่านมา พบว่า

จากการเปรียบเทียบจุดแข็งของพรรคการเมืองใหญ่สองพรรคคือ พรรคประชาธิปัตย์ และพรรคเพื่อไทย ในสายตาของสาธารณชน พบว่า พรรคเพื่อไทยได้รับการสนับสนุนจากประชาชนเหนือพรรคประชาธิปัตย์เกือบทุกตัวชี้วัด ยกเว้นเรื่องเดียว คือ ความโปร่งใส ซื่อสัตย์สุจริต โดยพบว่า ร้อยละ 51.6 ระบุความโปร่งใส ซื่อสัตย์สุจริต เป็นจุดแข็งของพรรคประชาธิปัตย์ ในขณะที่ร้อยละ 48.4 ระบุเป็นจุดแข็งของพรรคเพื่อไทยเช่นกัน อย่างไรก็ตามความแตกต่างที่ค้นพบในเรื่องนี้ไม่มีนัยสำคัญทางสถิติเพราะเป็นตัวเลขที่ไม่แตกต่างกันมากนัก

แต่เมื่อพิจารณาตัวชี้วัดจุดแข็งด้านอื่นๆ พบว่า พรรคเพื่อไทยได้รับคะแนนทิ้งห่างพรรคประชาธิปัตย์อย่างมากและมีนัยสำคัญทางสถิติ โดยพบว่า ด้านวิสัยทัศน์ แนวนโยบาย พรรคเพื่อไทยได้ร้อยละ 59.0 พรรคประชาธิปัตย์ได้ร้อยละ 41.0 ด้านความรวดเร็วในการบริหารงาน พรรคเพื่อไทยได้ร้อยละ 64.5 พรรคประชาธิปัตย์ได้ร้อยละ 35.5 ด้านอุดมการณ์ประชาธิปไตย พรรคเพื่อไทยได้ร้อยละ 55.5 พรรคประชาธิปัตย์ได้ร้อยละ 44.5 ด้านการเข้าถึงประชาชน พรรคเพื่อไทยได้ ร้อยละ 61.8 พรรคประชาธิปัตย์ได้ร้อยละ 38.2 ความสามารถด้านเศรษฐกิจ พรรคเพื่อไทยได้ร้อยละ 64.6 พรรคประชาธิปัตย์ได้ร้อยละ 35.4 ด้านการพัฒนาสังคม พรรคเพื่อไทยได้ร้อยละ 57.2 พรรคประชาธิปัตย์ได้ร้อยละ 42.8 ด้านการต่างประเทศ พรรคเพื่อไทยได้ร้อยละ 61.9 พรรคประชาธิปัตย์ได้ร้อยละ 38.1 ด้านการเป็นที่ยอมรับของประชาชน พรรคเพื่อไทยได้ร้อยละ 60.9 พรรคประชาธิปัตย์ได้ร้อยละ 39.1 ด้านการเป็นที่ยอมรับของนานาประเทศ พรรคเพื่อไทยได้ร้อยละ 58.6 พรรคประชาธิปัตย์ได้ร้อยละ 41.4 และด้านความเจนจัดทางการเมือง จัดสรรตำแหน่ง ประสานประโยชน์ เจรจาต่อรองได้ลงตัว พรรคเพื่อไทยได้ 58.9 พรรคประชาธิปัตย์ได้ร้อยละ 41.1 ตามลำดับ

และเมื่อถามว่า ถ้าวันนี้เป็นวันเลือกตั้งท่านจะเลือกพรรคการเมืองใดในบัญชีรายชื่อ พบว่า เสียงสนับสนุนของประชาชนที่ตั้งใจจะเลือก ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อจากพรรคประชาธิปัตย์ลดลงจากร้อยละ 39.6 มาอยู่ที่ร้อยละ 34.1 ในขณะที่พรรคเพื่อไทยได้เสียงโหวตไม่แตกต่างจากการสำรวจครั้งก่อนคือร้อยละ 36.2 มาอยู่ที่ร้อยละ 36.4 จึงส่งผลทำให้พรรคเพื่อไทยจะได้จำนวนที่นั่ง ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อมากกว่า พรรคประชาธิปัตย์ ถ้ามีการเลือกตั้งวันนี้ แต่ที่น่าจับตามองคือ เสียงสนับสนุนของประชาชนต่อพรรคการเมืองอื่นเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 24.2 มาอยู่ที่ร้อยละ 29.5

ผอ.เอแบคโพลล์ กล่าวว่า ถ้าวันนี้เป็นวันเลือกตั้ง พรรคการเมืองใหญ่สองพรรคคือ พรรคประชาธิปัตย์และพรรค เพื่อไทย ยังคงจะได้เสียงโหวตในสัดส่วนที่สูสีกัน โดยพรรคประชาธิปัตย์ได้รับเสียงสนับสนุนลดลงในการสำรวจล่าสุด โดยส่วนหนึ่งอาจเกิดจากดัชนีตัวชี้วัดการทำงานของพรรคประชาธิปัตย์ที่ไม่ค่อยได้รับการสนับสนุนจากประชาชน ยกเว้นเพียงเรื่อง ความโปร่งใส ซื่อสัตย์สุจริต แต่หลังจากการอนุมัติงบประมาณจำนวนมหาศาลที่ไม่ปกติ จนถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นการแบ่งเค้กและเกิดความเคลือบแคลงสงสัยในหมู่ประชาชนต่อจุดแข็งของพรรคประชาธิปัตย์ได้ เมื่อเสียงสนับสนุนของประชาชนต่อพรรคประชาธิปัตย์ตกลง พรรคเพื่อไทยจึงกลายเป็นพรรคที่มีโอกาสจัดตั้งรัฐบาลสูงกว่า ดังนั้น แนวทางการต่อสู้ทางการเมืองระหว่างสองพรรคนี้สามารถออกมาในเชิงสร้างสรรค์ไม่เป็นอันตรายต่อเสถียรภาพทางการเมืองไทยได้ ถ้าพรรคเพื่อไทยให้ความเชื่อมั่นและใช้ทุนทางการเมืองที่มีอยู่หล่อเลี้ยงฐานคะแนนเสียงของตนไว้ไม่ให้เพลี่ยงพล้ำเกิดความรุนแรงขึ้นเพราะจะสูญเสียกลุ่มคนที่เป็นกระแสไป ในขณะที่พรรคประชาธิปัตย์ยังมีโอกาสชนะเช่นกันถ้านำงบประมาณที่อนุมัติไปเร่งผลิตผลงานให้เป็นรูปธรรมจับต้องได้โดยเฉพาะเรื่องปัญหาปากท้องของประชาชนและหาแนวทางลดทัศนคติของประชาชนที่ว่า “ทุกรัฐบาลก็โกงด้วยกันทั้งนั้น”

“ถ้าพรรคเพื่อไทยสามารถทำให้สาธารณชนมั่นใจว่า จะเป็นรัฐบาลที่โปร่งใส ประกาศสงครามกับปัญหาทุจริตคอรัปชั่น ก็น่าจะทำให้ความนิยมของสาธารณชนที่ตั้งใจจะเลือกพรรคเพื่อไทยเพิ่มสูงขึ้นไปอีกได้ ในขณะที่พรรคประชาธิปัตย์จำเป็นต้องทำงานหนักขึ้นในหลายตัวชี้วัดที่ทำให้ผลงานปรากฏต่อสาธารณชนในลักษณะที่ว่าต้องทำให้สิ่งที่ประชาชนเห็น “หน้าจอทีวี” กับความเป็นจริง “หน้าบ้านและในบ้าน” ของประชาชนตรงกันก็น่าจะทำให้คะแนนนิยมของสาธารณชนต่อรัฐบาลเพิ่มสูงขึ้นเช่นกัน” ดร.นพดล กล่าว

จากการพิจารณาลักษณะทั่วไปของตัวอย่าง พบว่าตัวอย่างร้อยละ 51.8 เป็นหญิง ร้อยละ 48.2 เป็นชาย ตัวอย่างร้อยละ 4.7 อายุต่ำกว่า 20 ปี ร้อยละ 19.8 อายุ 20 — 29 ปี ร้อยละ 20.1 อายุ 30 — 39 ปี ร้อยละ 20.2 อายุ 40 — 49 ปี และร้อยละ 35.2 อายุ 50 ปีขึ้นไป โดย ร้อยละ 70.7 มีการศึกษาต่ำกว่าปริญญาตรี ร้อยละ 23.8 มีการศึกษาระดับปริญญาตรี และร้อยละ 5.5 สำเร็จการศึกษาสูงกว่าปริญญาตรีขึ้นไป ตัวอย่างร้อยละ 30.3 ระบุอาชีพเกษตรกร/รับจ้างทั่วไป ร้อยละ 25.9 ระบุอาชีพค้าขาย/ธุรกิจส่วนตัว ร้อยละ 10.1 ระบุอาชีพพนักงานบริษัทเอกชน ร้อยละ 11.6 ระบุข้าราชการ/พนักงานรัฐวิสาหกิจ ร้อยละ 8.3 เป็นแม่บ้าน/พ่อบ้าน/เกษียณอายุ ร้อยละ 9.6 เป็นนักเรียน/นักศึกษา ในขณะที่ร้อยละ 4.2 ระบุว่างงาน/ไม่ประกอบอาชีพ

ตารางที่ 1 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุความคิดเห็นเกี่ยวกับประเด็นที่เป็นจุดแข็งเมื่อเปรียบเทียบระหว่างพรรคประชาธิปัตย์ และพรรคเพื่อไทย
ลำดับที่          ประเด็นที่เป็นจุดแข็ง                    พรรคประชาธิปัตย์ค่าร้อยละ    พรรคเพื่อไทยค่าร้อยละ      รวมทั้งสิ้น
1          วิสัยทัศน์ แนวนโยบาย                              41.0                    59.0             100.0
2          ความรวดเร็วในการบริหารงาน                       35.5                    64.5             100.0
3          ความโปร่งใส ซื่อสัตย์สุจริต                          51.6                    48.4             100.0
4          อุดมการณ์ประชาธิปไตย                             44.5                    55.5             100.0
5          การเข้าถึงประชาชน                               38.2                    61.8             100.0
6          ความสามารถด้านเศรษฐกิจ                          35.4                    64.6             100.0
7          ความสามารถด้านการพัฒนาสังคม                      42.8                    57.2             100.0
8          ความสามารถด้านการต่างประเทศ                     38.1                    61.9             100.0
9          การเป็นที่ยอมรับของประชาชน                        39.1                    60.9             100.0
10          การเป็นที่ยอมรับของนานาประเทศ                    41.4                    58.6             100.0
11          ความเจนจัดทางการเมือง
          (จัดสรรตำแหน่งประสานประโยชน์ เจรจาต่อรองได้ลงตัว)    41.1                    58.9             100.0

ตารางที่ 2 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุพรรคการเมืองที่ตั้งใจจะเลือกในบัญชีรายชื่อ ถ้าวันนี้เป็นวันเลือกตั้ง
ลำดับที่          พรรคการเมือง           ต้นเม.ย. 54ค่าร้อยละ       ต้นพ.ค. 54ค่าร้อยละ
1          พรรคประชาธิปัตย์                    39.6                    34.1
2          พรรคเพื่อไทย                       36.2                    36.4
3          พรรคการเมืองอื่นๆ                   24.2                    29.5
          รวมทั้งสิ้น                          100.0                   100.0

--เอแบคโพลล์--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ