ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยเอแบคโพลล์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เปิดเผยผลวิจัยเชิงสำรวจ เรื่อง ประชันนโยบายของพรรคการเมืองในความชื่นชอบของประชาชน กรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนอายุ 18 ปีขึ้นไปใน 17 จังหวัดของประเทศ ได้แก่ กรุงเทพมหานคร กำแพงเพชร เชียงราย เชียงใหม่ สระแก้ว ราชบุรี สมุทรปราการ ชลบุรี นครพนม สกลนคร ร้อยเอ็ด ศรีสะเกษ อุดรธานี ขอนแก่น ตรัง สงขลา และนครศรีธรรมราช จำนวนทั้งสิ้น 2,447 ตัวอย่าง ดำเนินโครงการระหว่าง 8 — 14 พฤษภาคม 2554 ที่ผ่านมา โดยใช้การเลือกตัวอย่างแบบแบ่งกลุ่มเชิงชั้นภูมิหลายชั้นและช่วงความคลาดเคลื่อนบวกลบร้อยละ 7 พบว่า
ประชาชนให้ความชื่นชอบต่อนโยบายที่นำมาสอบถามประชาชนหลายนโยบายอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติเพราะทิ้งห่างเกินกว่าช่วงความคลาดเคลื่อนที่ค้นพบ โดยพบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 57.0 ชอบนโยบายส่งเสริมระบบคุณธรรมในสังคมไทยของพรรคประชาธิปัตย์ ในขณะที่ร้อยละ 35.7 ชอบของพรรคเพื่อไทย และร้อยละ 7.3 ระบุของพรรคอื่นๆ นอกจากนี้ ร้อยละ 55.9 ชอบนโยบายปรองดองแห่งชาติของพรรคประชาธิปัตย์ ในขณะที่ร้อยละ 36.2 ชอบของพรรคเพื่อไทย และร้อยละ 7.9 ระบุของพรรคอื่น ๆ
เมื่อถามถึงนโยบายการใช้แนวทางสันติวิธีในการแก้ปัญหาภาคใต้ พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 55.8 ชอบของพรรคประชาธิปัตย์ ร้อยละ 36.7 ชอบของพรรคเพื่อไทย ร้อยละ 7.5 ชอบของพรรคการเมืองอื่นๆ และนโยบายเด็กและเยาวชน พบว่า ร้อยละ 55.5 ชอบของพรรคประชาธิปัตย์ ร้อยละ 38.0 ชอบของพรรคเพื่อไทย และร้อยละ 6.5 ชอบของพรรคอื่นๆ
ที่น่าพิจารณา นโยบายเศรษฐกิจตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง พบว่า ร้อยละ 55.4 ชอบของพรรคประชาธิปัตย์ ร้อยละ 38.7 ชอบของพรรคเพื่อไทย และร้อยละ 5.9 ชอบของพรรคอื่นๆ และนโยบายการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพของกองทัพ พบว่า ร้อยละ 54.2 ชอบของพรรคประชาธิปัตย์ ร้อยละ 38.9 ชอบของพรรคเพื่อไทย และร้อยละ 6.9 ชอบของพรรคอื่นๆ
สำหรับนโยบายควบคุมพื้นที่เสี่ยงต่อความมั่นคง พบว่า ร้อยละ 52.9 ชอบของพรรคประชาธิปัตย์ ร้อยละ 40.0 ชอบของพรรคเพื่อไทย และร้อยละ 7.1 ชอบของพรรคอื่นๆ นอกจากนี้เมื่อถามถึงนโยบายแก้ปัญหาทุจริตคอรัปชั่น พบว่าร้อยละ 52.8 ชอบของพรรคประชาธิปัตย์ ร้อยละ 39.7 ชอบของพรรคเพื่อไทย และร้อยละ 7.5 ชอบของพรรคอื่นๆ
ที่น่าสนใจคือ นโยบายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า รักษาสุขภาพของประชาชน พบว่า ร้อยละ 52.0 ชอบของพรรคประชาธิปัตย์ ร้อยละ 42.5 ชอบของพรรคเพื่อไทย และร้อยละ 5.5 ชอบของพรรคอื่นๆ นอกจากนี้ นโยบายแก้ปัญหาราคาเชื้อเพลิง เช่น แก๊ส น้ำมันเชื้อเพลิง พบว่า ร้อยละ 51.7 ชอบของพรรคประชาธิปัตย์ ร้อยละ 41.3 ชอบของพรรคเพื่อไทย และร้อยละ 7.0 ชอบของพรรคอื่นๆ และนโยบายเพื่อชาวนาและเกษตรกร พบว่า ร้อยละ 51.7 ชอบของพรรคประชาธิปัตย์ ร้อยละ 42.7 ชอบของพรรคเพื่อไทย และร้อยละ 5.6 ชอบของพรรคอื่นๆ
ที่น่าพิจารณาอย่างยิ่งเพราะเสียงสนับสนุนไม่ได้ทิ้งห่างกันเกินช่วงความคลาดเคลื่อนที่ค้นพบคือ นโยบายควบคุมราคาสินค้าอุปโภคบริโภค โดยพบว่า ร้อยละ 49.0 ชอบของพรรคประชาธิปัตย์ แต่ร้อยละ 43.6 ชอบของพรรคเพื่อไทย และร้อยละ 7.4 ชอบของพรรคอื่นๆ เช่นเดียกันกับ นโยบายแก้ปัญหาหนี้สินของประชาชน ร้อยละ 49.0 ชอบของพรรคประชาธิปัตย์ แต่ร้อยละ 45.6 ชอบของพรรค เพื่อไทย และร้อยละ 5.4 ชอบของพรรคอื่นๆ และนโยบายแก้ปัญหาสังคม เช่น ยาเสพติด อาชญากรรม พบว่า ร้อยละ 47.7 ชอบของพรรคเพื่อไทย ในขณะที่ร้อยละ 46.7 ชอบของพรรคประชาธิปัตย์ และร้อยละ 5.6 ชอบของพรรคอื่นๆ
เมื่อถามว่า ถ้าวันนี้เป็นวันเลือกตั้ง ท่านตั้งใจจะเลือกพรรคการเมืองใดในระบบบัญชีรายชื่อ และวิเคราะห์เฉพาะคนที่ตัดสินใจเลือกแล้ว พบว่า สัดส่วนของคนที่จะเลือกพรรคประชาธิปัตย์เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 34.1 มาอยู่ที่ร้อยละ 45.5 และคนที่จะเลือกพรรคเพื่อไทยเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 36.4 มาอยู่ที่ร้อยละ 40.5 แต่ไปลดลงจากพรรคการเมืองอื่นๆ จากร้อยละ 29.5 มาอยู่ที่ร้อยละ 14.0 ตามลำดับ อย่างไรก็ตามสัดส่วนของคนที่จะเลือกพรรคประชาธิปัตย์กับพรรคเพื่อไทยยังอยู่ในช่วงความคลาดเคลื่อนที่ค้นพบ นั่นหมายความว่า ผลการเลือกตั้งจริงอาจเปลี่ยนแปลงไปได้จากข้อมูลที่ค้นพบในครั้งนี้
จากการพิจารณาลักษณะทั่วไปของตัวอย่าง พบว่า ตัวอย่างร้อยละ 47.9 เป็นชาย ร้อยละ 52.1 เป็นหญิง ตัวอย่างร้อยละ 4.8 อายุน้อยกว่า 20 ปี ร้อยละ 20.1 อายุระหว่าง 20—29 ปี ร้อยละ 19.7 อายุระหว่าง 30—39 ปี ร้อยละ 20.7 อายุระหว่าง 40—49 ปี และ ร้อยละ 34.7 อายุ 50 ปีขึ้นไป ตัวอย่างร้อยละ 64.5 สำเร็จการศึกษาต่ำกว่าปริญญาตรี ร้อยละ 26.7 สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี และร้อยละ 8.8 สำเร็จการศึกษาสูงกว่าปริญญาตรี ตัวอย่างร้อยละ 32.1 ระบุอาชีพเกษตรกร/รับจ้างทั่วไป ร้อยละ 27.6 ระบุอาชีพค้าขาย/ธุรกิจส่วนตัว ร้อยละ 11.6 ระบุเป็นพนักงานเอกชน ร้อยละ 10.5 ระบุข้าราชการ/พนักงานรัฐวิสาหกิจ ร้อยละ 9.0 ระบุเป็นนักเรียนนักศึกษา ร้อยละ 7.1 เป็นแม่บ้าน/พ่อบ้าน/เกษียณอายุ ร้อยละ 2.1 ว่างงาน/ไม่ได้ประกอบอาชีพ
ลำดับที่ นโยบายพรรคการเมือง พรรคประชาธิปัตย์ พรรคเพื่อไทย พรรคอื่น ๆ รวมทั้งสิ้น 1 นโยบายการส่งเสริมระบบคุณธรรมในสังคมไทย 57.0 35.7 7.3 100.0 2 นโยบายปรองดองแห่งชาติ 55.9 36.2 7.9 100.0 3 นโยบายการใช้แนวทางสันติวิธีในการแก้ปัญหาภาคใต้ 55.8 36.7 7.5 100.0 4 นโยบายแก้ปัญหาเด็กและเยาวชน 55.5 38.0 6.5 100.0 5 นโยบายดำเนินนโยบายเศรษฐกิจตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง 55.4 38.7 5.9 100.0 6 นโยบายการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพของกองทัพ 54.2 38.9 6.9 100.0 7 นโยบายการควบคุมพื้นที่ที่มีความเสี่ยงต่อความมั่นคง 52.9 40.0 7.1 100.0 8 นโยบายแก้ปัญหาการทุจริตคอรัปชั่น 52.8 39.7 7.5 100.0 9 นโยบายหลักประกันสุขภาพ รักษาสุขภาพของประชาชน 52.0 42.5 5.5 100.0 10 นโยบายแก้ปัญหาราคาเชื้อเพลิง เช่น แก๊ส น้ำมันเชื้อเพลิง เป็นต้น 51.7 41.3 7.0 100.0 11 นโยบายเพื่อชาวนาและเกษตรกร 51.7 42.7 5.6 100.0 12 นโยบายควบคุมราคาสินค้าอุปโภคบริโภค 49.0 43.6 7.4 100.0 13 นโยบายแก้ปัญหาหนี้สินของประชาชน 49.0 45.6 5.4 100.0 14 นโยบายแก้ปัญหาสังคม เช่น ยาเสพติด อาชญากรรม 46.7 47.7 5.6 100.0 ตารางที่ 2 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุ พรรคการเมืองที่ตั้งใจจะเลือกในระบบบัญชีรายชื่อ ถ้าวันนี้เป็นวันเลือกตั้ง ลำดับที่ พรรคการเมือง 7 พ.ค. 15 พ.ค. 1 พรรคประชาธิปัตย์ 34.1 45.5 2 พรรคเพื่อไทย 36.4 40.5 3 พรรคการเมืองอื่น ๆ 29.5 14.0 รวมทั้งสิ้น 100.0 100.0
--เอแบคโพลล์--