เอแบคโพลล์: การถือครอง/มีบัตรเครดิตของประชาชน กับ กรณีศึกษาการมีบัตรเครดิตและการออมเงินของเกษตรกร

ข่าวผลสำรวจ Thursday May 26, 2011 09:44 —เอแบคโพลล์

ดร.อุดม หงส์ชาติกุล ผู้อำนวยการโครงการ ABAC Consumer Index บัณฑิตวิทยาลัยบริหารธุรกิจ และนายกสมาคมศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยอัสสัมชัญร่วมกับ ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเอแบคนวัตกรรมทางสังคมการจัดการและธุรกิจ (Social Innovation Management and Business Analysis, ABAC — SIMBA) โดยการสนับสนุนของธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) เปิดเผยผลวิจัยเชิงสำรวจ โครงการดัชนีความรู้สึกผู้บริโภคประจำไตรมาสที่ 1/2554 (ABAC Consumer Index: ACI) กรณีศึกษาตัวอย่างผู้บริโภคระดับครัวเรือน อายุ 15-60 ปี จำนวน 2,453 ตัวอย่าง จาก 12 จังหวัดของประเทศ ได้แก่ กรุงเทพมหานคร ปทุมธานี ชลบุรี นครราชสีมา อุดรธานี กาฬสินธุ์ เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน นครสวรรค์ ประจวบคีรีขันธ์ ภูเก็ต และสงขลา ดำเนินโครงการระหว่างวันที่ 15-25 พฤษภาคม 2554 ที่ผ่านมา โดยผลสำรวจทั้งหมดนี้สามารถดึงข้อมูลได้ที่ www.abacpolldata.au.edu

ผลการสำรวจพบว่า ตัวอย่างส่วนใหญ่ หรือร้อยละ 85.5 ยังไม่มีบัตรเครดิต ในขณะที่ตัวอย่างร้อยละ 14.5 มีบัตรเครดิต เมื่อพิจารณาตามอาชีพ พบว่า ตัวอย่างที่ประกอบอาชีพเกษตรกร/ประมงเป็นกลุ่มที่มีการถือครองบัตรเครดิตน้อยที่สุด หรือคิดเป็นร้อยละ 2.4 ในขณะที่ตัวอย่างที่เป็นผู้ประกอบการ/เจ้าของกิจการ เป็นอาชีพที่มีการถือครองบัตรเครดิตมากที่สุด หรือคิดเป็นร้อยละ 35.2

ในขณะเดียวกัน เมื่อจำแนกตามรายได้ส่วนตัวเฉพาะตัวอย่างที่ประกอบอาชีพเกษตรกร/ประมงนั้น พบว่า ตัวอย่างที่มีรายได้ต่ำกว่า 5,000 บาท และระหว่าง 5,001-10,000 บาท มีสัดส่วนการถือครองบัตรเครดิตใกล้เคียงกัน คือร้อยละ 2.1 และ 2.9 ตามลำดับ ในขณะที่ ตัวอย่างที่มีรายได้มากกว่า 10,000 บาท มีสัดส่วนการถือครองบัตรเครดิตมากกว่า หรือคิดเป็นร้อยละ 3.8 เมื่อถามถึงประเภทบัตรเครดิตที่มีในปัจจุบัน พบว่า ตัวอย่างครึ่งหนึ่งหรือร้อยละ 51.4 มีบัตรเงินสด ร้อยละ 27.1 มีบัตรทอง ร้อยละ 24.3 มีบัตรแพลทตินั่ม และร้อยละ 20.9 มีบัตรเงิน

ที่น่าพิจารณาคือ ผลสำรวจยังพบว่า ตัวอย่างที่ประกอบอาชีพเกษตรกร/ประมงเกินกว่าร้อยละ 80.9 ไม่มีเงินออม ในขณะที่ตัวอย่างเพียงร้อยละ 19.1 มีเงินออม

ดร.อุดม ระบุ เป็นไปได้ว่าพรรคการเมืองที่กำลังขายนโยบาย “บัตรเครดิตชาวนา” ในขณะนี้จะได้รับการตอบรับจากกลุ่มเกษตรกรอย่างดีเพราะชาวนาที่มีบัตรเครดิตแล้วมีอยู่น้อยมากและอาจเป็นความหวังว่าจะช่วยลดการเป็นหนี้นอกระบบได้ แต่อาจต้องพิจารณาถึงโอกาสที่จะก่อหนี้สินเพิ่มให้กับกลุ่มเกษตรกร บัตรเครดิตชาวนาจึงน่าจะเป็นบัตรที่ถูกใช้ในขอบเขตที่จำกัดเฉพาะสินค้าและบริการด้านการทำการเกษตรและธุรกิจอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องมากกว่าจะให้บัตรเครดิตแก่เกษตรกรแบบอิสระจับจ่ายใช้สอยได้ทุกอย่างเพราะอาจส่งผลทำให้ “ฉุด” คุณภาพชีวิตของเกษตรกรให้ร่วงมากกว่าช่วยให้ “รุ่ง”

จากการพิจารณาลักษณะทั่วไปของตัวอย่าง พบว่า ร้อยละ 62.6 เป็นเพศหญิง ร้อยละ 37.4 เป็นเพศชาย ร้อยละ 13.0 ระบุอายุ 18-24 ปี ร้อยละ 27.4 อายุ 25-35 ปี ร้อยละ 27.1 ระบุอายุ 36-45 ปี ร้อยละ 32.5 ระบุอายุ 46-60 ปี ตัวอย่างร้อยละ 78.7 ระบุสำเร็จการศึกษาต่ำกว่าปริญญาตรีร้อยละ 20.4 ระบุสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี และร้อยละ 0.9 ระบุสำเร็จการศึกษาสูงกว่าระดับปริญญาตรี นอกจากนี้ร้อยละ 38.6 ระบุอาชีพค้าขายอิสระ/ส่วนตัว ร้อยละ 18.9 ระบุรับจ้างทั่วไป/ใช้แรงงาน ร้อยละ 9.2 ระบุเป็นแม่บ้าน/พ่อบ้าน/เกษียณอายุ ร้อยละ 8.5 ระบุอาชีพเกษตรกร/ประมง ร้อยละ 7.9 ระบุเป็นพนักงานบริษัท ร้อยละ 5.2 ระบุค้าขาย/ธุรกิจส่วนตัว ร้อยละ 4.6 ระบุเป็นนักเรียน/นักศึกษา ร้อยละ 4.6 ระบุเป็นข้าราชการ/รัฐวิสาหกิจ และร้อยละ 2.5 ระบุว่างงาน/ไม่ได้ประกอบอาชีพ ตามลำดับ

สนใจติดต่อร่วมสนับสนุนเครือข่ายทางสังคมปฏิรูปดัชนีผู้บริโภคได้ที่ 02-719-1550 หรือ อีเมล์ abacpoll@au.edu

ตารางที่ 1 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุการถือครอง/มีบัตรเดบิต/เครดิตในปัจจุบัน จำแนกตามอาชีพ
ลำดับที่      การถือครอง/      ข้าราชการ/   พนักงานบริษัท   ค้าขาย/      นักเรียน/    ผู้ใช้แรงงาน/    เกษตรกร/    ภาพรวม
       มีบัตรเครดิตในปัจจุบัน    รัฐวิสาหกิจ                ธุรกิจส่วนตัว    นักศึกษา     รับจ้างทั่วไป      ประมง
 1          มี                33.0         33.9       35.2        14.3         6.4           2.4       14.5
 2          ไม่มี              67.0         66.1       64.8        85.7        93.6          97.6       85.5
            รวมทั้งสิ้น         100.0        100.0      100.0       100.0       100.0         100.0      100.0

ตารางที่ 2 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุประเภทบัตรเดบิต บัตรเครดิตที่ถือครองในปัจจุบัน (เฉพาะคนที่มีบัตร)
ลำดับที่          ประเภทบัตรเดบิต บัตรเครดิตที่ถือครองในปัจจุบัน       ภาพรวม
1          บัตรเงินสด                                        51.4
2          บัตรทอง                                          27.1
3          บัตรแพลทตินั่ม                                      24.3
4          บัตรเงิน                                          20.9
5          อื่นๆ                                              5.4

ตารางที่ 3 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุการถือครอง/มีบัตรเครดิตในปัจจุบัน จำแนกตามรายได้ส่วนตัวต่อเดือน
(เฉพาะตัวอย่างที่ประกอบอาชีพเกษตรกร/ประมง)
ลำดับที่    การถือครองบัตรเครดิต   ต่ำกว่า 5,000 บาท         5,001-10,000 บาท   มากกว่า 10,000 บาท
1         มี                        2.1                      2.9                3.8
2         ไม่มี                     97.9                     97.1               96.2
          รวมทั้งสิ้น                100.0                    100.0              100.0

ตารางที่ 4 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุการออมเงิน (เฉพาะตัวอย่างที่ประกอบอาชีพเกษตรกร/ประมง)
ลำดับที่          การออมเงิน          ค่าร้อยละ
1          มีเงินออม                 19.1
2          ไม่มีเงินออม               80.9
          รวมทั้งสิ้น                 100.0

--เอแบคโพลล์--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ