ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยเอแบคโพลล์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เปิดเผยว่าผลวิจัยเชิงสำรวจ เรื่อง สำรวจภาพลักษณ์ความเป็นผู้นำระหว่างนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ กับ นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ครั้งที่สาม กรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนอายุ 18 ปีขึ้นไปใน 17 จังหวัดของประเทศ ได้แก่ กรุงเทพมหานคร ประจวบคีรีขันธ์ กาญจนบุรี สุพรรณบุรี ชลบุรี พะเยา เพชรบูรณ์ เชียงใหม่ นครพนม สกลนคร สุรินทร์ บุรีรัมย์ ขอนแก่น นครราชสีมา กระบี่ นราธิวาส และสงขลา จำนวนทั้งสิ้น 2,210 ตัวอย่าง ดำเนินโครงการระหว่าง วันที่ 30 พฤษภาคม — 4 มิถุนายน 2554 ที่ผ่านมา โดยมีช่วงความคลาดเคลื่อนบวกลบร้อยละ 7 จากการเลือกตัวอย่างและวิธีการสุ่มตัวอย่างครั้งนี้ ประเด็นสำคัญที่ค้นพบคือ
แนวโน้มฐานสนับสนุนของประชาชนต่อนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตรเพิ่มสูงขึ้นจากการศึกษาครั้งแรกอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติหลายตัว เช่น ความอดทนอดกลั้น ควบคุมอารมณ์จากร้อยละ 9.7 ในครั้งแรก มาอยู่ที่ร้อยละ 31.6 ในครั้งล่าสุด ความสุภาพอ่อนโยน จากร้อยละ 13.0 มาอยู่ที่ร้อยละ 37.4 การยอมรับจากภายในประเทศและต่างประเทศจากร้อยละ 11.3 มาอยู่ที่ร้อยละ 29.3 การประพฤติตนเป็นแบบอย่างที่ดีเพิ่มจากร้อยละ 9.8 มาอยู่ที่ร้อยละ 32.4 ความโอบอ้อมอารีเพิ่มจากร้อยละ 13.1 มาอยู่ที่ร้อยละ 34.2 ความเป็นผู้นำเพิ่มจากร้อยละ 12.9 มาอยู่ที่ร้อยละ 32.5 นอกจากนี้ยังมีอีกหลายตัวชี้วัดที่เพิ่มขึ้น เช่น ความรู้ความสามารถ มีจริยธรรมทางการเมือง มีวิสัยทัศน์ เสียสละ ซื่อสัตย์สุจริต ความเป็นคนรุ่นใหม่ ความคิดสร้างสรรค์ ความยุติธรรม กล้าคิดกล้าตัดสินใจ แก้ปัญหาความขัดแย้งได้ดี และรวดเร็วฉับไวในการแก้ปัญหา เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม เมื่อเปรียบเทียบกับนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะในการศึกษาครั้งนี้ พบว่า ฐานสนับสนุนของประชาชนที่มีต่อนายอภิสิทธิ์ ยังคงสูงกว่านางสาวยิ่งลักษณ์ ในหลายตัว เช่น ความเป็นผู้นำนายอภิสิทธิ์ ได้ร้อยละ 47.7 นางสาวยิ่งลักษณ์ได้ ร้อยละ 32.5 จริยธรรมทางการเมือง นายอภิสิทธิ์ ได้ร้อยละ 43.3 นางสาวยิ่งลักษณ์ได้ร้อยละ 29.5 และที่น่าสนใจคือ ความมีเสน่ห์น่าเลื่อมใสศรัทธาที่เพิ่มขึ้นมาอีกตัวชี้วัดหนึ่งในครั้งนี้ นายอภิสิทธิ์ ได้ร้อยละ 43.1 นางสาวยิ่งลักษณ์ได้ร้อยละ 34.3 แต่หากเปรียบเทียบผลการศึกษาครั้งแรกกับครั้งที่สามนี้จะพบว่า ตัวเลขที่นายอภิสิทธิ์ ได้รับค่อนข้างนิ่ง และมีแนวโน้มลดลงหลายตัว
ผอ.เอแบคโพลล์ ระบุ ในผลการศึกษาครั้งนี้อาจกล่าวได้ว่า ฐานสนับสนุนของสาธารณชนต่อนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตรเพิ่มสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติมาโดยตลอด จนกระทั่งมาถึงจุดที่ไม่แตกต่างกันกับฐานสนับสนุนของประชาชนต่อนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะในการสำรวจครั้งนี้ เนื่องจากตัวเลขที่เห็นต่างกันนั้นอยู่ในช่วงความคลาดเคลื่อนบวกลบ ร้อยละ 7 แนวทางที่จะเพิ่มฐานสนับสนุนของประชาชนต่อแกนนำพรรคการเมืองขนาดใหญ่ทั้งสองท่านไม่น่าจะได้มาจากการ “ดีเบต” แต่ความนิยมศรัทธาที่จะทำให้ชนะการเลือกตั้งน่าจะได้มาจากการ “ลงมือทำจริง” ให้ชาวบ้านเห็น ตัวอย่างเช่น ปัญหาเรือบรรทุกน้ำตาลล่มในแม่น้ำเจ้าพระยา ปัญหาความไม่สงบในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ปัญหายาเสพติดและอาชญากรรม และปัญหาค่าครองชีพ สินค้าราคาแพง ซึ่งนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ น่าจะได้เปรียบแต่ก็ไม่สามารถทำให้ประชาชนรับรู้ถึงผลงานได้ ตัวเลขจึงค่อนข้างนิ่งและมีแนวโน้มลดลงจากการศึกษาครั้งแรก ในขณะที่นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อาจจะใช้การระดมทรัพยากรส่วนตัวหรือกลุ่มนายทุนที่สนับสนุนทดลองพิสูจน์ฝีมือการแก้ปัญหาจริงให้ปรากฏต่อสายตาของมวลชน ผลที่ตามมาก็คือ เราจะได้เห็นภาพของการ “เทใจ” และคะแนนนิยมจากสิ่งที่ชาวบ้านได้เห็น “ของจริง” มากกว่า “คำพูด” ในเวทีดีเบตที่เป็นตัวชี้ขาดผลการเลือกตั้งจากการตัดสินใจของประชาชนในครั้งนี้
“ยกตัวอย่างเช่น กรณีเรือน้ำตาลล่มในแม่น้ำเจ้าพระยา ถ้าหากใครมีแนวทางในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว ให้ประชาชนเห็นประจักษ์อย่างรวดเร็วฉับไว มีการฟื้นฟูสภาพแวดล้อมชีวิตของสัตว์น้ำและพืชพันธุ์อาหารทางน้ำ มีการดำเนินการเอาผิดทางกฎหมาย มีระบบป้องกันในอนาคตระยะยาวได้อย่างประทับใจชาวบ้าน ก็น่าจะได้คะแนนคนในภาคกลางไปอีกจำนวนมาก เพราะกลุ่มผู้มีสิทธิเลือกตั้งในภาคกลางถือว่ามีมากเป็นอันดับสองรองจากภาคตะวันออกเฉียงเหนือ” ดร.นพดล กล่าว
จากการพิจารณาลักษณะทั่วไปของตัวอย่างพบว่า ตัวอย่าง ร้อยละ 48.1 เป็นหญิง
ร้อยละ 51.9 เป็นชาย
ตัวอย่าง ร้อยละ 4.0 อายุต่ำกว่า 20 ปี
ร้อยละ 19.4 อายุ 20 — 29 ปี
ร้อยละ 20.3 อายุ 30 — 39 ปี
ร้อยละ 20.7 อายุ 40 — 49 ปี
และร้อยละ 35.6 อายุ 50 ปีขึ้นไป
โดยตัวอย่าง ร้อยละ 71.9 มีการศึกษาต่ำกว่าปริญญาตรี
ร้อยละ 22.6 มีการศึกษาระดับปริญญาตรี
และร้อยละ 5.5 สำเร็จการศึกษาสูงกว่าปริญญาตรีขึ้นไป
นอกจากนี้ ตัวอย่าง ร้อยละ 26.6 ระบุอาชีพเกษตรกร/รับจ้างทั่วไป
ร้อยละ 30.3 ระบุอาชีพค้าขาย/ธุรกิจส่วนตัว
ร้อยละ 8.5 ระบุอาชีพพนักงานบริษัทเอกชน
ร้อยละ 13.1 ระบุข้าราชการ/พนักงานรัฐวิสาหกิจ
ร้อยละ 10.9 เป็นแม่บ้าน/พ่อบ้าน/เกษียณอายุ
ร้อยละ 7.9 เป็นนักเรียน/นักศึกษา
ในขณะที่ร้อยละ 2.7 ระบุว่างงาน/ไม่ประกอบอาชีพ
โปรดพิจารณารายละเอียดดังตาราง
ลำดับที่ ความเป็นผู้นำด้านต่างๆ อภิสิทธิ์ ยิ่งลักษณ์
ครั้งที่ 1 ครั้งที่ 2 ครั้งที่ 3 ครั้งที่ 1 ครั้งที่ 2 ครั้งที่ 3
1 มีความอดทนอดกลั้น รู้จักควบคุมอารมณ์ 53.7 51.5 46.7 9.7 16.2 31.6 2 มีความสุภาพอ่อนโยน 50.1 44.1 41.8 13.0 21.9 37.4 3 ได้รับการยอมรับภายในประเทศ และต่างประเทศ 49.6 47.0 45.2 11.3 17.7 29.3 4 ประพฤติตนเป็นแบบอย่างที่ดี 49.6 45.2 44.2 9.8 15.9 32.4 5 มีความโอบอ้อมอารี 48.2 44.9 40.8 13.1 20.6 34.2 6 มีความเป็นผู้นำ 48.1 48.5 47.7 12.9 20.4 32.5 7 มีความรู้ความสามารถ 47.9 48.1 43.4 10.9 16.7 38.9 8 มีจริยธรรมทางการเมือง 46.9 44.3 43.3 11.0 16.4 29.5 9 มีเสน่ห์น่าเลื่อมใสศรัทธา 43.1 34.3 9 มีวิสัยทัศน์ 46.8 44.7 41.0 15.2 21.7 28.2 10 เสียสละ 44.0 41.0 39.5 11.9 19.1 35.5 11 มีความซื่อสัตย์สุจริต 42.9 42.9 39.1 10.3 14.7 31.8 12 เป็นคนรุ่นใหม่ 42.8 36.0 33.3 19.6 29.3 39.7 13 มีความคิดสร้างสรรค์ 42.8 40.2 37.8 16.1 22.5 39.9 14 มีความยุติธรรม 41.4 39.7 38.8 10.6 16.3 32.6 15 กล้าคิด กล้าตัดสินใจ 40.1 40.4 38.8 19.0 25.7 38.3 16 แก้ปัญหา (บริหาร) ความขัดแย้งได้ดี 38.8 38.7 35.3 14.3 19.0 32.1 17 รวดเร็วฉับไวในการแก้ไขปัญหา 36.2 35.8 34.2 15.6 21.3 33.4 18 มีฐานะร่ำรวย ประสบความสำเร็จทางธุรกิจ 19.7 15.8 14.9 38.5 55.3 54.1
--เอแบคโพลล์--