ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการศูนย์เครือข่ายวิชาการเพื่อสังเกตการณ์และวิจัยความสุขชุมชน (ศูนย์วิจัยความสุขชุมชน) มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เปิดเผยผลวิจัยเชิงสำรวจ เรื่อง การใช้ชีวิตพอเพียง กับความสุขของประชาชน กรณีศึกษาประชาชนที่มีอายุ 18-60 ปี ใน 17 จังหวัดของประเทศ ได้แก่ กรุงเทพมหานคร ปทุมธานี สมุทรปราการ ชลบุรี กาญจนบุรี เชียงราย เชียงใหม่ สุโขทัย อุบลราชธานี อำนาจเจริญ ศรีสะเกษ นครพนม สกลนคร อุดรธานี นครศรีธรรมราช สตูล และสงขลา จำนวนทั้งสิ้น 2,270 ตัวอย่าง ดำเนินโครงการระหว่างวันที่ 1 - 18 สิงหาคม 2554 ที่ผ่านมาพบว่า
ถ้าสอบถามตรงๆ กับประชาชนว่า คุณใช้ชีวิตตามหลักเศรษฐกิจพอเพียงแล้วหรือไม่ พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 90.6 ตอบว่า ตนเองใช้ชีวิตตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง แต่เมื่อวิเคราะห์ดัชนีการใช้ชีวิตของผู้ตอบแบบสอบถาม พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 71.2 ไม่ได้ใช้ชีวิตตามหลักเศรษฐกิจพอเพียงอย่างแท้จริง มีเพียงร้อยละ 28.8 ที่ใช้ชีวิตตามหลักเศรษฐกิจพอเพียงอย่างแท้จริง
ดร.นพดล กล่าวต่อว่า ผลสำรวจพบ 5 เหตุปัจจัยของการใช้ชีวิตแบบ “ไม่” พอเพียงของประชาชน ได้แก่ ทัศนคติยอมรับรัฐบาลที่ทุจริตคอรัปชั่นแต่ขอให้ตนเองได้ผลประโยชน์ด้วย โดยพบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 61.0 คิดว่า การทุจริตคอรัปชั่นเป็นเรื่องปกติธรรมดาในการทำธุรกิจ และร้อยละ 55.2 คิดว่ารัฐบาลทุกรัฐบาลทุจริตคอรัปชั่นด้วยกันทั้งนั้น แต่บางรัฐบาลทุจริตคอรัปชั่นแล้ว ตนเองได้รับผลประโยชน์ด้วย ก็เป็นเรื่องที่ยอมรับได้ ในขณะที่ร้อยละ 43.2 คิดอยากจะซื้ออะไรก็ซื้อ ไม่ต้องวางแผนจับจ่ายใช้สอยอะไร ร้อยละ 43.0 หลังซื้อสินค้ามาแล้วมักพบว่าตนเองไม่ค่อยได้ใช้ประโยชน์เท่าใดนัก และร้อยละ 43.0 ระบุในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมายังเล่นพนัน ซื้อหวยใต้ดิน และอบายมุขอื่นๆ
นอกจากนี้ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 63.5 จะเดือดร้อนต้องพึ่งพาคนอื่น ถ้าไม่มีรายได้เดือนนี้ ในขณะที่ร้อยละ 36.5 ระบุไม่เดือดร้อนยังอยู่ได้ด้วยตนเอง
ผอ.ศูนย์วิจัยความสุขชุมชน กล่าวต่อว่า ที่น่าสนใจคือ หลังจากใช้ค่าสถิติวิจัย Odds Ratio พบว่า กลุ่มคนที่ใช้ชีวิตตามหลักเศรษฐกิจพอเพียงอย่างแท้จริง จะมีความสุขมากกว่า คนที่ไม่ใช้ชีวิตแบบพอเพียงแท้จริงสูงถึง 4 เท่า
จากการพิจารณาลักษณะทั่วไปของตัวอย่าง พบว่า ตัวอย่าง ร้อยละ 47.6 เป็นชาย
ร้อยละ 52.4 เป็นหญิง
ตัวอย่าง ร้อยละ 5.1 อายุน้อยกว่า 20 ปี
ร้อยละ 25.4 อายุระหว่าง 20—29 ปี
ร้อยละ 26.6 อายุระหว่าง 30—39 ปี
ร้อยละ 24.2 อายุระหว่าง 40—49 ปี
และร้อยละ 18.7 อายุ 50 ปีขึ้นไป
ตัวอย่าง ร้อยละ 77.6 สำเร็จการศึกษาต่ำกว่าปริญญาตรี
ร้อยละ 20.3 สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี
และร้อยละ 2.1 สำเร็จการศึกษาสูงกว่าปริญญาตรี
ตัวอย่าง ร้อยละ 34.8 ระบุอาชีพเกษตรกร/รับจ้างทั่วไป
ร้อยละ 29.4 ระบุอาชีพค้าขาย/ธุรกิจส่วนตัว
ร้อยละ 10.9 ระบุเป็นพนักงานเอกชน
ร้อยละ 7.7 ระบุข้าราชการ/พนักงานรัฐวิสาหกิจ
ร้อยละ 7.9 ระบุเป็นนักเรียนนักศึกษา
ร้อยละ 6.2 เป็นแม่บ้าน/พ่อบ้าน/เกษียณอายุ
และร้อยละ 3.1 ระบุว่างงาน/ไม่ได้ประกอบอาชีพ
ลำดับที่ ความคิดเห็น ค่าร้อยละ 1 ตนเองใช้ชีวิตตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง 90.6 2 ไม่ได้ใช้ 9.4 รวมทั้งสิ้น 100.0 ตารางที่ 2 แสดงค่าสถิติของสัดส่วนคนที่ใช้ชีวิตแบบพอเพียงแท้จริง ลำดับที่ คนที่ใช้ชีวิตแบบพอเพียงแท้จริง ค่าร้อยละ 1 ใช้ชีวิตแบบพอเพียงแท้จริง 28.8 2 ไม่ได้ใช้ชีวิตแบบพอเพียง 71.2 รวมทั้งสิ้น 100.0 ตารางที่ 3 แสดง 5 อันดับเหตุปัจจัยของการใช้ชีวิตแบบ “ไม่” พอเพียง ลำดับที่ เหตุปัจจัยของการใช้ชีวิตแบบ “ไม่” พอเพียง ค่าร้อยละ 1 คิดว่าการทุจริตคอรัปชั่นเป็นเรื่องปกติธรรมดาในการทำธุรกิจ 61.0 2 คิดว่ารัฐบาลทุกรัฐบาลมีทุจริตคอรัปชั่นทั้งนั้น ถ้าทุจริตคอรัปชั่นแล้วทำให้ ตัวผู้ตอบแบบสอบถามได้ประโยชน์ด้วย ก็พอยอมรับได้ 55.2 3 คิดอยากจะซื้ออะไร ก็ซื้อ ไม่ต้องวางแผนจับจ่ายใช้สอยอะไร 43.2 4 หลังซื้อสินค้ามาแล้วพบว่า ตนเองไม่ค่อยได้ใช้ประโยชน์เท่าใดนัก 43.0 5 ในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา ยัง “เล่นพนัน ซื้อหวย” และอบายมุขอื่นๆ 43.0 ตารางที่ 4 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุ ถ้าไม่มีรายได้เดือนนี้จะต้องเดือดร้อนพึ่งพาคนอื่น ลำดับที่ ถ้าไม่มีรายได้เดือนนี้ ค่าร้อยละ 1 เดือดร้อนต้องพึ่งพาคนอื่น 63.5 2 ไม่เดือดร้อน 36.5 รวมทั้งสิ้น 100.0 ตารางที่ 5 แสดงค่าสถิติวิจัย Odds Ratio ของการใช้ชีวิตแบบพอเพียงที่แท้จริงมีต่อความสุขของประชาชน ลำดับที่ ความสุขของประชาชน Odds Ratio(95% C I ) ค่านัยสำคัญp-value 1 มีความสุข 4.108* 0.001 2 ไม่มีความสุข อ้างอิง -
--เอแบคโพลล์--