ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยความสุขชุมชน มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เปิดเผยผลวิจัยเชิงสำรวจ เรื่อง เสียงสะท้อนจากคนที่เป็นทุกข์เหยื่อภัยพิบัติน้ำท่วมต่อรัฐบาลและหน่วยงานของรัฐ กรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนอายุ 18 ปีขึ้นไปใน 8 จังหวัดของประเทศที่ประสบภัยน้ำท่วม ได้แก่ เชียงใหม่ พิษณุโลก นครสวรรค์ อุตรดิตถ์ ชัยนาท ลพบุรี สุพรรณบุรี และปทุมธานี จำนวนทั้งสิ้น 1,083 ตัวอย่าง ดำเนินโครงการระหว่างวันที่ 25 กันยายน — 1 ตุลาคม 2554 ที่ผ่านมา โดยใช้การเลือกตัวอย่างแบบเฉพาะเจาะจงผู้ที่ประสบภัยน้ำท่วม พบว่า
ตัวอย่างประชาชนที่ประสบภัยน้ำท่วมทุกปีมีอยู่ร้อยละ16.6 และกลุ่มที่ประสบภัยน้ำท่วมเกือบทุกปีมีอยู่ร้อยละ 18.8 ในขณะที่ประชาชนผู้ประสบภัยน้ำท่วมเป็นบางปีมีอยู่ร้อยละ 44.4 และไม่เคยท่วมแต่เพิ่งจะท่วมปีนี้มีอยู่ร้อยละ 20.2
ที่น่าพิจารณาคือ ตัวอย่างร้อยละ 51.1 ระบุได้รับความช่วยเหลือจากรัฐบาลหรือองค์กรต่างๆ แล้ว แต่คาดว่าไม่เพียงพอกว่าน้ำจะลด ในขณะที่เพียงร้อยละ 16.7 ระบุได้รับความช่วยเหลือและคาดว่าเพียงพอถึงน้ำลด แต่ที่น่าเป็นห่วงคือเกือบ 1 ใน 3 หรือร้อยละ 32.2 ยังไม่ได้รับความช่วยเหลือเลย
เมื่อจำแนกตามที่ตั้งของบ้านในระยะห่างจากถนนหลัก พบแตกต่างกันของการได้รับความช่วยเหลือระหว่างประชาชนที่พักอาศัยติดถนนหลัก กับประชาชนที่มีบ้านห่างไกลจากถนนหลัก โดยพบสิ่งที่น่าเป็นห่วงคือ ประชาชนที่มีบ้านติดถนนหลักเพียงร้อยละ 24.8 และคนที่อยู่ห่างไกลจากถนนหลักเพียงร้อยละ 10.7 ได้รับความช่วยเหลือและคาดว่าเพียงพอจนถึงน้ำลด แต่ที่น่าเป็นห่วงยิ่งกว่าคือ กลุ่มคนที่มีบ้านห่างไกลจากถนนหลักร้อยละ 54.1 ได้รับความช่วยเหลือแต่คาดว่าไม่เพียงพอกว่าน้ำจะลด และร้อยละ 35.2 ยังไม่ได้รับความช่วยเหลือ ตามลำดับ
เมื่อสอบถามถึงระดับความทุกข์จากภัยพิบัติน้ำท่วม พบว่า เมื่อค่าสูงสุดอยู่ที่10 คะแนน ประชาชนในพื้นที่ภัยพิบัติโดยภาพรวมมีความทุกข์ระดับมากเกือบทุกข์มากที่สุดคืออยู่ที่ 7.99 คะแนน โดยคนที่อยู่ติดถนนหลักก็มีระดับความทุกข์มากคือ 7.04 คะแนน แต่คนที่อยู่ห่างไกลถนนหลักมีความทุกข์สูงถึง 8.59 คะแนน
นอกจากนี้ จากการสัมภาษณ์เจาะลึกพบความทุกข์ที่เกิดขึ้นกับผู้ประสบภัยน้ำท่วมมีสองประเภทคือ ความทุกข์ทางกายและทุกข์ทางใจ โดยทุกข์ทางกายที่จับต้องได้ ได้แก่ มีอาหารและน้ำสะอาดไม่เพียงพอ ขาดยารักษาโรคประจำตัว ปัญหาสุขภาพเจ็บไข้ได้ป่วย ปัญหาการขาดรายได้ ไม่สามารถประกอบอาชีพ ความไม่สะดวกในการเดินทาง ทรัพย์สินสูญหาย ปัญหาความไม่ปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน และบ้านเรือนสิ่งของเครื่องใช้ชำรุด เป็นต้น และทุกข์ทางจิตใจ ได้แก่ ความเครียด การถูกทอดทิ้ง โดดเดี่ยว ความรู้สึกถูกเลือกปฏิบัติและรู้สึกหมดหวังเคว้งคว้างหลังน้ำลด เป็นต้น
ยังพบสิ่งที่น่าพิจารณาคือ ส่วนใหญ่ระบุว่าการช่วยเหลือของทางรัฐบาลและหน่วยงานของรัฐไม่ทั่วถึง กลุ่มเครือญาติและฐานเสียงของนักการเมืองท้องถิ่นแกนนำชุมชนและคนที่อยู่ริมถนนใหญ่ได้รับของบริจาคทั้งจำนวนที่มากกว่าและคุณภาพดีกว่าโดยพวกแกนนำชุมชนจะมีโอกาสคัดเลือกของดีๆ เอาไว้ก่อน และยังมีการเวียนเทียนได้แล้วได้อีก เป็นต้น ประชาชนที่เป็นทุกข์เหล่านี้ส่งเสียงสะท้อนไปยังรัฐบาลและนักการเมืองในถ้อยคำที่สอดคล้องกันว่า อยากให้มาเคาะประตูบ้านเหมือนช่วงหาเสียงเลือกตั้งที่มายกมือไหว้พวกเราถึงหน้าบ้าน ตอนนี้พวกเราทุกข์ที่บ้านทำไมมาได้แค่กางเต้นท์แล้วให้พวกเราออกไปหา บางคนบอกว่า ถ้ามาเคาะประตูไม่ได้ก็ให้ช่วยส่งคนมาขนพวกเราไปเหมือนตอนขนคนไปลงคะแนนเลือกตั้ง บางคนแย้งว่ามีการขนคนไปเหมือนกันแต่ไม่ได้แวะรับพวกเราไปทำให้พวกเรารู้สึกว่าเป็นการเลือกปฏิบัติช่วยกลุ่มฐานเสียงหรือคนที่ใกล้ชิดพวกเขาก่อน และการช่วยเหลือก็มักจะไปเน้นกันตรงพื้นที่ที่เป็นข่าวใหญ่มากกว่า
เมื่อขอให้ประชาชนผู้ประสบภัยพิบัติน้ำท่วมประเมินความพอใจต่อการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ พบว่า เมื่อคะแนนความพอใจเต็ม 10 คะแนน ประชาชนประเมินความพอใจให้เพียง 4.67 คะแนน โดยคนที่อยู่ติดถนนหลักให้ 4.76 คะแนนสูงกว่าคนที่อยู่ห่างไกลถนนหลักที่ให้เพียง 4.52 คะแนน ถ้านำผลประเมินความพอใจของคนทั่วไปในประเทศเมื่อประมาณสองสัปดาห์ 5.80 คะแนนมาพิจารณา ก็จะพบความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติเพราะความพอใจของประชาชนผู้ประสบภัยพิบัติน้ำท่วมครั้งนี้อยู่ที่ 4.67 เท่านั้น
ผอ.เอแบคโพลล์ กล่าวว่า จากข้อมูลที่ค้นพบนี้มีนัยทางสังคมและการเมืองที่น่าพิจารณาคือ ชาวบ้านรู้สึกถึงความไม่เท่าเทียมและการเลือกปฏิบัติของมาตรการช่วยเหลือป้องกันแก้ไขปัญหาน้ำท่วมครั้งนี้ ดังนั้น แนวทางแก้ไขมีอย่างน้อยห้าประการ ได้แก่
ประการแรก ต้องทำให้ชาวบ้านเกิดความวางใจหรือ TRUST ว่าทุกคนจะได้รับการปฏิบัติช่วยเหลืออย่างเท่าเทียมและทั่วถึง เพราะภัยพิบัติน้ำท่วมจะยังคงเกิดขึ้นอีกในอนาคต เพื่อไม่ให้เป็นชนวนนำไปสู่ความขัดแย้งรุนแรงระหว่างกลุ่มประชาชนในพื้นที่ที่แตกต่างกันอีกในอนาคต
ประการที่สอง รัฐบาลน่าจะใช้สำนักงานสถิติแห่งชาติร่วมกับกลุ่มอาสาสมัครของสถาบันการศึกษาระดับภูมิภาคและท้องถิ่นออกทำสำมะโนประชากรในพื้นที่ภัยพิบัติแจงนับมาตรการความช่วยเหลือจากภาครัฐและเอกชนสอดคล้องกับความเป็นจริงของความเสียหายที่เกิดขึ้นหรือไม่ เพราะสำนักงานสถิติแห่งชาติมีหน่วยงานสถิติจังหวัดและบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญด้านระบบข้อมูลและการสำรวจเข้าถึงพื้นที่ต่างๆ อย่างครอบคลุม
ประการที่สาม ในพื้นที่ที่มีภัยพิบัติน้ำท่วมซ้ำซากน่าจะมีการกระจายความเสี่ยงภาระของรัฐบาลไปยังภาคเอกชนด้วยโครงการศึกษาพื้นที่นำร่องให้บริษัทประกันภัยพิบัติทางธรรมชาติเข้ามาร่วมประกันความเสี่ยง และน่าจะมีการตรวจสอบการทำงานของเจ้าหน้าที่รัฐบางรายว่าปล่อยปละละเลยให้เกิดภัยพิบัติซ้ำซากเพื่อจะได้งบประมาณภัยพิบัติมาใช้ในพื้นที่หรือไม่ ในขณะที่กลุ่มนายทุนผู้ประกอบการธุรกิจโดยเฉพาะกลุ่มทุนที่ได้รับสัมปทานขนาดใหญ่จากรัฐหรือมีผลกำไรจากสินค้ามวลชนน่าจะใช้โอกาสนี้ทำกิจกรรมเพื่อสังคมแสดงความรับผิดชอบทางสังคมหรือ Corporate Social Responsibility (CSR) ออกมาช่วยเหลือชาวบ้านร่วมกับรัฐบาลอย่างจริงจังไม่ใช่แค่แผนการตลาดโฆษณาชวนเชื่อเพียงอย่างเดียว
ประการที่สี่ ในขณะที่มีความเคลือบแคลงสงสัยปัญหาทุจริตคอรัปชั่นการช่วยเหลือจากภาคส่วนต่างๆ เวลานี้ รัฐบาลและหน่วยงานรัฐทั้งส่วนกลาง ภูมิภาคและท้องถิ่นน่าจะประกาศรายรับรายจ่าย การบริจาคสิ่งของต่างๆ ได้ถูกจำหน่ายจ่ายแจกไปแล้วเท่าไหร่อย่างไรโดยแจกแจงให้สาธารณชนทั้งประเทศและประชาชนในท้องถิ่นที่ประสบภัยพิบัติรับทราบอย่างทั่วถึง เพราะหากเกิดเหตุภัยพิบัติต่างๆ อีกในอนาคตคนที่ให้จะได้มั่นใจและคนที่จะได้รับก็จะได้วางใจในความช่วยเหลือต่างๆ เช่นกันเพื่อป้องกันความตื่นตระหนกหรือ PANIC ได้
ประการที่ห้า รัฐมนตรีที่ลงพื้นที่ในแต่ละจังหวัดน่าจะเข้าถึงประชาชนที่อยู่ห่างไกลถนนหลักแบบเคาะประตูบ้านเหมือนช่วงหาเสียง หรือมีวิธีตรวจสอบว่าการช่วยเหลือครอบคลุมไม่มีชาวบ้านตกสำรวจและประกาศให้ชาวบ้านเกิดความมั่นใจต่อแนวทางช่วยเหลือในสามระยะได้แก่ ระยะสั้นขณะน้ำท่วม ระยะที่สองภายหลังน้ำลด และระยะยาว เช่น ปัญหาสุขภาพ การเพิ่มรายได้ลดรายจ่าย การประกอบอาชีพ เส้นทางคมนาคม สาธารณูปโภคต่างๆ และแนวทางขุดลอกคลองที่จะป้องกันน้ำท่วมในอนาคต เป็นต้น เพื่อทำให้ “หน้าจอกับหน้าบ้าน” ของประชาชนเหมือนกัน ผลที่คาดว่าจะได้รับคือ ประชาชนผู้ประสบภัยพิบัติน้ำท่วมเกิดความพอใจและวางใจต่อการทำงานของรัฐบาลได้
จากการพิจารณาลักษณะทั่วไปของตัวอย่าง พบว่า ตัวอย่างร้อยละ 48.6 เป็นชาย
ร้อยละ 51.4 เป็นหญิง
ตัวอย่างร้อยละ 8.5 อายุน้อยกว่า 20 ปี
ร้อยละ 25.8 อายุระหว่าง 20—29 ปี
ร้อยละ 25.0 อายุระหว่าง 30—39 ปี
ร้อยละ 24.5 อายุระหว่าง 40—49 ปี และ
ร้อยละ 16.2 อายุ 50 ปีขึ้นไป
ตัวอย่างร้อยละ 77.5 สำเร็จการศึกษาต่ำกว่าปริญญาตรี
ร้อยละ 20.1 สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี
และร้อยละ 2.4 สำเร็จการศึกษาสูงกว่าปริญญาตรี
ตัวอย่างร้อยละ 32.3 ระบุอาชีพเกษตรกร/รับจ้างทั่วไป
ร้อยละ 36.0 ระบุอาชีพค้าขาย/ธุรกิจส่วนตัว
ร้อยละ 7.2 ระบุเป็นพนักงานเอกชน
ร้อยละ 8.6 ระบุข้าราชการ/พนักงานรัฐวิสาหกิจ
ร้อยละ 6.7 ระบุเป็นนักเรียนนักศึกษา
ร้อยละ 5.3 เป็นแม่บ้าน/พ่อบ้าน/เกษียณอายุ
ร้อยละ 3.9 ว่างงาน/ไม่ได้ประกอบอาชีพ
ลำดับที่ ความบ่อยที่ประสบภัยน้ำท่วม ค่าร้อยละ 1 น้ำท่วมทุกปี 16.6 2 เกือบทุกปี 18.8 3 บางปี 44.4 4 ไม่เคยท่วม เพิ่งจะท่วมปีนี้ 20.2 รวมทั้งสิ้น 100.0 ตารางที่ 2 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุ การได้รับความช่วยเหลือจากรัฐบาลหรือองค์กรต่างๆ ลำดับที่ การได้รับความช่วยเหลือ ค่าร้อยละ 1 ได้รับความช่วยเหลือและคาดว่าเพียงพอถึงน้ำลด 16.7 2 ได้รับความช่วยเหลือแต่คาดว่าไม่เพียงพอกว่าน้ำจะลด 51.1 3 ยังไม่ได้รับความช่วยเหลือ 32.2 รวมทั้งสิ้น 100.0 ตารางที่ 3 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุ การได้รับความช่วยเหลือจากรัฐบาลหรือองค์กรต่างๆ จำแนกตามที่ตั้งของบ้านในระยะห่างถนนหลัก ลำดับที่ การได้รับความช่วยเหลือ ติดถนนหลัก ห่างไกลถนนหลัก 1 ได้รับความช่วยเหลือและคาดว่าเพียงพอถึงน้ำลด 24.8 10.7 2 ได้รับความช่วยเหลือแต่คาดว่าไม่เพียงพอกว่าน้ำจะลด 45.9 54.1 3 ยังไม่ได้รับความช่วยเหลือ 29.3 35.2 รวมทั้งสิ้น 100.0 100.0 ตารางที่ 4 แสดงค่าระดับความทุกข์เฉลี่ยของประชาชนที่ประสบภัยพิบัติน้ำท่วม จำแนกตามที่ตั้งของบ้านในระยะห่างถนนหลัก ลำดับที่ ค่าระดับความทุกข์เฉลี่ย ติดถนนหลัก ห่างไกลถนนหลัก ภาพรวม ค่าระดับความทุกข์ เมื่อระดับสูงสุดอยู่ที่10 คะแนน 7.04 8.59 7.99 ตารางที่ 5 แสดงค่าคะแนนความพอใจของประชาชนต่อการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ เมื่อคะแนนเต็ม 10 คะแนน ลำดับที่ คะแนนความพอใจ ติดถนนหลัก ห่างไกลถนนหลัก ภาพรวม คะแนนความพอใจต่อการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมของรัฐบาล 4.76 4.52 4.67
--เอแบคโพลล์--