เอแบคโพลล์: สำรวจวิกฤตภัยพิบัติกับโอกาสที่ดีของคนไทย

ข่าวผลสำรวจ Monday October 17, 2011 06:37 —เอแบคโพลล์

ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยความสุขชุมชน สำนักวิจัยเอแบคโพลล์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เปิดเผยผลวิจัยเชิงสำรวจ เรื่อง วิกฤตภัยพิบัติกับโอกาสที่ดีของคนไทย กรณีศึกษามุมมองของประชาชนผู้ไม่ได้ประสบภัยน้ำท่วมใน 19 จังหวัดของประเทศ ได้แก่ กรุงเทพมหานคร สมุทรปราการ ราชบุรี เพชรบุรี ระยอง ชลบุรี เชียงใหม่ เชียงราย พิษณุโลก ขอนแก่น เลย หนองคาย บึงกาฬ อุดรธานี บุรีรัมย์ เพชรบูรณ์ ยโสธร สงขลา และนครศรีธรรมราช จำนวนทั้งสิ้น 2,513 ตัวอย่าง โดยการเลือกตัวอย่างแบบแบ่งกลุ่มเชิงชั้นภูมิหลายชั้น สุ่มจังหวัด อำเภอ ตำบลและหมู่บ้าน ค่าความคลาดเคลื่อนบวกลบร้อยละ 7 ดำเนินโครงการระหว่างวันที่ 1 — 15 ตุลาคม ที่ผ่านมา พบว่า

ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 80.0 ของคนไทยที่ถูกศึกษารู้สึกดีขึ้นเมื่อเห็นภาพนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีและนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรีร่วมกันแก้ปัญหาภัยพิบัติน้ำท่วมให้ชาวบ้าน และส่วนใหญ่หรือร้อยละ 85.6 มีความหวังต่อจุดเริ่มต้นของความปรองดองของคนในชาติ หลังเห็นภาพนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร กับนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ร่วมกันแก้ปัญหาภัยพิบัติน้ำท่วม

นอกจากนี้ เมื่อถามถึงสิ่งดีๆ ที่พบเห็นในวิกฤตปัญหาน้ำท่วมครั้งนี้ พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 82.9 ระบุเป็นความช่วยเหลือเกื้อกูลกันของคนในชาติ ร้อยละ 80.7 ระบุความมีน้ำใจ ร้อยละ 76.7 ระบุคนไทยไม่ทิ้งกัน ร้อยละ 67.2 ระบุความสามัคคีไม่แบ่งฝ่าย และร้อยละ 67.8 ระบุความเสียสละของคนในชาติ ตามลำดับ

เมื่อถามถึงกิจกรรมที่ศูนย์พักพิงปลอดภัยของผู้ประสบภัยน้ำท่วมควรมี พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 74.7 ระบุการทำฐานข้อมูลช่วยเหลือด้านที่ทำกิน รองลงมาคือร้อยละ 72.6 ทำฐานข้อมูลช่วยเหลือด้านการเงินหลังน้ำลด ร้อยละ 64.6 ระบุฟื้นฟูอุตสาหกรรมธุรกิจต่างๆ ร้อยละ 57.3 จัดให้มีสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ในศูนย์ที่พักพิงปลอดภัย ร้อยละ 56.8 ส่งเสริมศิลปาชีพ ร้อยละ 55.1 จัดเวรยามในการตรวจตราทรัพย์สินของประชาชนในพื้นที่น้ำท่วม ร้อยละ 53.8 จัดกิจกรรมให้ความรู้ความปลอดภัยเมื่อมีภัยพิบัติ ร้อยละ 47.6 ทำบุญกิจกรรมทางศาสนา และร้อยละ 42.7 ทำกิจกรรมด้านบันเทิง แสดงดนตรี ภาพยนตร์ เป็นต้น

ส่วนรูปแบบความต้องการใดในการช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วม พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 81.9 ระบุเป็นการบริจาคเงิน ร้อยละ 66.4 ระบุอาหารแห้ง ร้อยละ 56.6 ระบุน้ำสะอาด ร้อยละ 48.1 ระบุเสื้อผ้า ร้อยละ 27.2 ช่วยบรรจุหีบห่อสิ่งของบริจาค ร้อยละ 18.1 ระบุ เข้าไปช่วยเหลือในพื้นที่ ร้อยละ 17.8 จัดกิจกรรมฟื้นฟูสภาพจิตใจ และร้อยละ 15.9 ระบุช่วยให้ที่พักพิงกับผู้ประสบภัย ตามลำดับ

อย่างไรก็ตาม ลำดับความต้องการที่เสนอต่อการบริหารจัดการแก้ปัญหาน้ำท่วมต่อรัฐบาลและหน่วยงานต่างๆ เมื่อคะแนนเต็ม 10 คะแนน พบว่า อันดับแรกได้แก่ ด้านความโปร่งใสในการใช้งบประมาณและเงินบริจาคได้ 9.89 คะแนน อันดับที่สองได้แก่ ด้านการสนับสนุนงบประมาณในการแก้ปัญหาได้ 9.80 คะแนน อันดับที่สาม ได้แก่ ด้านมาตรการชดเชยเยียวยา ได้ 9.72 คะแนน อันดับรองๆ ลงไป ได้แก่ การแก้ปัญหาที่ครอบคลุมทั่วถึง และความรวดเร็วในการช่วยเหลือ ตามลำดับ

ที่น่าสนใจคือ เมื่อถามถึงความคิดเห็นว่าคนไทยจะสามารถเปลี่ยนจากวิกฤตปัญหาให้เป็นโอกาสที่ดีทำให้คนไทยส่วนใหญ่มีน้ำใจช่วยเหลือเกื้อกูลกันได้หรือไม่ พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 89.3 คิดว่าเป็นโอกาสที่ดีได้ มีเพียงร้อยละ 10.7 ที่ไม่คิดเช่นนั้น

และถ้าหลังน้ำลด สิ่งที่คนไทยอยากเห็น พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 82.8 สานต่อโครงการพระราชดำริ เช่น โครงการแก้มลิง ขุดลอกคูคลอง ร้อยละ 76.3 เร่งฟื้นฟูพื้นที่ประสบภัย ร้อยละ 67.1 คนไทยรักกันไม่แตกแยก เลิกขัดแย้งทางการเมือง ร้อยละ 66.7 สร้างเขื่อน ร้อยละ 64.5 มีแผนป้องกันน้ำท่วมระยะยาวจากรัฐบาล ร้อยละ 62.9 ปราบปรามขบวนการตัดไม้ทำลายป่า และร้อยละ 56.6 ตรวจสอบความโปร่งใสในการใช้งบประมาณและเงินบริจาคช่วยผู้ประสบภัย

นอกจากนี้ เมื่อถามถึงความพอใจต่อหน่วยงานและคณะบุคคลต่างๆ ที่ช่วยแก้ปัญหาน้ำท่วมของประชาชน เมื่อคะแนนเต็ม 10 คะแนน พบว่า ประชาชนพอใจมากที่สุดต่อการทำงานของทหาร ได้ 9.47 คะแนนและไม่แตกต่างกันในอันดับที่สองได้แก่ กลุ่มอาสาสมัครได้ 9.44 คะแนน อันดับที่สามได้แก่ สื่อมวลชน ได้ 9.12 คะแนน รองๆ ลงไป ได้แก่ ดารานักร้อง นักแสดง ฝ่ายปกครอง เช่น ผู้ว่า อบจ. อบต. กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน กรมชลประทาน ฝ่ายรัฐบาล ตำรวจ และฝ่ายค้าน ตามลำดับ

ประเด็นสำคัญคือ คะแนนเฉลี่ยความเห็นใจ ให้กำลังใจ นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีในการแก้ปัญหาภัยพิบัติน้ำท่วม เมื่อคะแนนเต็ม 10 คะแนน นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีได้ 9.00 คะแนน และส่วนใหญ่หรือร้อยละ 56.8 ต้องการให้โอกาสรัฐบาลทำงานอยู่จนครบวาระ

ผอ.ศูนย์วิจัยความสุขชุมชน เอแบคโพลล์ กล่าวว่า ในท่ามกลางวิกฤตภัยพิบัติน้ำท่วมครั้งใหญ่นี้สิ่งที่ผลวิจัยค้นพบคือ คนไทยส่วนใหญ่ยังมีความหวังว่าจะเป็นโอกาสที่ดีทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง ในด้านเศรษฐกิจคือการจัดทำฐานข้อมูลช่วยเหลือที่ทำกินและด้านการเงิน การประกอบอาชีพของประชาชนอย่างจริงจังต่อเนื่อง และด้านสังคมคือได้พบเห็นความช่วยเหลือเกื้อกูลกันที่ประชาชนทุกเชื้อชาติที่อยู่ในพื้นแผ่นดินไทยน่าจะช่วยกันรักษาไว้เพื่อความสุขที่ยั่งยืน และด้านการเมืองที่คนไทยส่วนใหญ่มีความหวังว่าจะเป็นจุดเริ่มต้นของความปรองดองไม่แตกแยก และทำงานทางการเมืองที่สร้างสรรค์ต่อไป

จากการพิจารณาลักษณะทั่วไปของตัวอย่าง พบว่า ร้อยละ 51.6 เป็นหญิง ร้อยละ 48.4 เป็นชาย ร้อยละ 5.4 อายุต่ำกว่า 20 ปี ร้อยละ 21.5 อายุระหว่าง 20 — 29 ปี ร้อยละ 20.8 อายุระหว่าง 30 — 39 ปี ร้อยละ 18.9 อายุระหว่าง 40 — 49 ปี และร้อยละ 33.4 อายุ 50 ปีขึ้นไป ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 71.4 การศึกษาต่ำกว่าปริญญาตรี ในขณะที่ร้อยละ 28.6 ปริญญาตรีขึ้นไป ร้อยละ 32.8 อาชีพเกษตรกรและรับจ้างใช้แรงงานทั่วไป ร้อยละ 25.1 ค้าขายส่วนตัว/อาชีพอิสระ ร้อยละ 15.9 พนักงานบริษัทเอกชน ร้อยละ 10.2 ข้าราชการ พนักงานรัฐวิสาหกิจ ร้อยละ 6.4 นักเรียนนักศึกษา ร้อยละ 5.9 แม่บ้าน เกษียณอายุ และร้อยละ 3.7 ไม่ได้ประกอบอาชีพ

ตารางที่ 1 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุ ความรู้สึกที่เห็นภาพ นายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ชินวัตร และอดีตนายกรัฐมนตรีอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะร่วมกันแก้ไขปัญหาภัยพิบัติน้ำท่วมให้ชาวบ้าน
ลำดับที่          ความรู้สึก             ค่าร้อยละ
1          รู้สึกดีขึ้น                    80.0
2          เหมือนเดิม                  16.8
3          แย่ลง                       3.2
          รวมทั้งสิ้น                   100.0

ตารางที่ 2 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุ ความหวังต่อจุดเริ่มต้นของความปรองดองของคนในชาติ หลังเห็น นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร กับ         นายอภิสิทธิ์  เวชชาชีวะ ร่วมกันแก้ปัญหาน้ำท่วมให้ชาวบ้าน
ลำดับที่          ความคิดเห็น                                    ค่าร้อยละ
1          มีความหวังต่อจุดเริ่มต้นของความปรองดองของคนในชาติ          85.6
2          ไม่รู้สึกเช่นนั้น                                         14.4
          รวมทั้งสิ้น                                            100.0


ตารางที่ 3 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุ สิ่งดีๆ ที่พบเห็นในวิกฤตปัญหาน้ำท่วมในขณะนี้ (ตอบได้มากกว่า 1 ข้อ)
ลำดับที่          สิ่งดีๆ ที่พบเห็นในวิกฤตปัญหาน้ำท่วมในขณะนี้              ค่าร้อยละ
1          ความช่วยเหลือเกื้อกูล                                   82.9
2          ความมีน้ำใจ                                          80.7
3          คนไทยไม่ทิ้งกัน                                        76.7
4          ความสามัคคีไม่แบ่งฝ่าย                                  67.2
5          ความเสียสละ                                         67.8

ตารางที่ 4 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุ ว่าควรจัดกิจกรรมต่อไปนี้ในศูนย์พักพิงปลอดภัยของผู้ประสบภัยน้ำท่วม (ตอบได้มากกว่า 1 ข้อ)
ลำดับที่          กิจกรรม                                          ค่าร้อยละ
1          ทำฐานข้อมูลช่วยเหลือผู้ประสบภัยด้านที่ทำกิน                     74.7
2          ทำฐานข้อมูลช่วยด้านการเงินภายหลังน้ำลด                      72.6
3          ฟื้นฟูอุตสาหกรรมธุรกิจต่างๆ                                 64.6
4          จัดให้มีสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ในศูนย์ที่พักพิงปลอดภัย          57.3
5          ส่งเสริมศิลปาชีพ                                         56.8
6          จัดเวรยามในการตรวจตราทรัพย์สินของประชาชนในพื้นที่น้ำท่วม       55.1
7          จัดกิจกรรมให้ความรู้ด้านความปลอดภัยเมื่อมีภัยพิบัติ                53.8
8          ทำบุญกิจกรรมทางศาสนา                                   47.6
9          จัดกิจกรรมด้านความบันเทิง จัดแสดงดนตรี ฉายภาพยนตร์ เป็นต้น     42.7

ตารางที่ 5 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุ รูปแบบความต้องการใดในการช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วม (ตอบได้มากกว่า 1 ข้อ)
ลำดับที่          รูปแบบความต้องการ                                ค่าร้อยละ
1          บริจาคเงิน                                             81.9
2          บริจาคอาหารแห้ง                                        66.4
3          บริจาคน้ำสะอาด                                         56.6
4          บริจาคเสื้อผ้า                                           48.1
5          ช่วยบรรจุหีบห่อสิ่งของที่เอาไปบริจาคร่วมกับหน่วยงานรัฐและเอกชน    27.2
6          เข้าไปช่วยเหลือในพื้นที่                                    18.1
7          จัดกิจกรรมฟื้นฟูสภาพจิตใจ                                  17.8
8          ช่วยให้ที่พักพิงกับผู้ประสบภัย                                 15.9

ตารางที่ 6  แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุ ความคิดเห็นต่อการบริหารจัดการแก้ปัญหาน้ำท่วมต่อรัฐบาลและหน่วยงานต่างๆ (เมื่อคะแนนเต็ม 10)
ลำดับที่          ความต้องการด้านการบริหารจัดการแก้ปัญหาน้ำท่วมต่อรัฐบาลและหน่วยงานต่างๆ ขณะน้ำท่วม       ค่าคะแนน
1          ด้านความโปร่งใสในการใช้งบประมาณและเงินบริจาค                                        9.89
2          ด้านการสนับสนุนงบประมาณในการแก้ปัญหา                                                9.80
3          ด้านมาตรการในการชดเชยเยียวยา                                                     9.72
4          ด้านการแก้ปัญหาที่ครอบคลุมทั่วถึง                                                       9.23
5          ด้านความรวดเร็วในการให้ความช่วยเหลือ                                                8.49

ตารางที่ 7 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุ ความคิดเห็นว่าคนไทยจะสามารถเปลี่ยนจากวิกฤตปัญหาให้เป็นโอกาสที่ดีทำให้คนไทยส่วนใหญ่มีน้ำใจช่วยเหลือเกื้อกูลกัน
ลำดับที่          ความคิดเห็น             ค่าร้อยละ
1          คิดว่าเป็นโอกาสที่ดีได้           89.3
2          ไม่คิดเช่นนั้น                  10.7
          รวมทั้งสิ้น                    100.0

ตารางที่ 8 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุ สิ่งที่อยากเห็นภายหลังน้ำลด (ตอบได้มากกว่า 1 ข้อ)
ลำดับที่          สิ่งที่อยากเห็นภายหลังน้ำลด                                   ค่าร้อยละ
1          สานต่อโครงการพระราชดำริ เช่น โครงการแก้มลิง ขุดลอกคูคลอง           82.8
2          รัฐบาลเร่งฟื้นฟูพื้นที่ประสบภัย                                       76.3
3          คนไทยรักกันไม่แตกแยก เลิกขัดแย้งทางการเมือง                        67.1
4          สร้างเขื่อน                                                    66.7
5          แผนป้องกันน้ำท่วมระยะยาวจากรัฐบาล                                64.5
6          ปราบปรามขบวนการตัดไม้ทำลายป่า                                  62.9
7          ตรวจสอบความโปร่งใสในการใช้งบประมาณและเงินบริจาคช่วยผูประสบภัย      56.6

ตารางที่ 9 แสดงค่าเฉลี่ยคะแนนความพอใจต่อหน่วยงานและคณะบุคคลต่างๆ ที่ช่วยแก้ปัญหาน้ำท่วมของประชาชน
(เมื่อคะแนนเต็ม 10 คะแนน)
ลำดับที่          หน่วยงานและคณะบุคคลต่างๆ                     ค่าคะแนน
1          ทหาร                                           9.47
2          อาสาสมัคร                                       9.44
3          สื่อมวลชน                                        9.12
4          ดารานักร้อง นักแสดง                               9.01
5          ฝ่ายปกครอง ผู้ว่าฯ อบจ. อบต. กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน          8.86
6          กรมชลประทาน                                    8.72
7          ฝ่ายรัฐบาล                                       8.60
8          ตำรวจ                                          8.49
9          ฝ่ายค้าน                                         7.17

ตารางที่ 10 แสดงค่าคะแนนเฉลี่ยความเห็นใจให้กำลังใจ นางสาวยิ่งลักษณ์  ชินวัตร นายกรัฐมนตรีในการแก้ปัญหาภัยพิบัติน้ำท่วม
เมื่อคะแนนเต็ม 10 คะแนน
ลำดับที่          ความเห็นใจ ให้กำลังใจ                                 ค่าคะแนน
1          นางสาว ยิ่งลักษณ์  ชินวัตร นายกรัฐมนตรีในการแก้ปัญหาภัยพิบัติ          9.00

ตารางที่ 11 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุ การโอกาสการทำงานของรัฐบาลภายใต้แกนนำของ นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี
ลำดับที่          ระยะเวลาที่ให้โอกาสรัฐบาลทำงาน          ค่าร้อยละ
1          ไม่เกิน 6 เดือน                               8.5
2          6 เดือน — 1 ปี                              14.9
3          1 — 2 ปี                                   11.8
4          2 — 3 ปี                                    8.0
5          อยู่จนครบวาระ                               56.8
        รวมทั้งสิ้น                                     100.0

--เอแบคโพลล์--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ