ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยเอแบคโพลล์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เปิดเผยผลวิจัยเชิงสำรวจ เรื่อง ถอดบทเรียนวิกฤตการณ์น้ำท่วมประเทศไทย กรณีศึกษาประชาชนในเขตกรุงเทพมหานคร จำนวนทั้งสิ้น 1,305 ตัวอย่าง ค่าความคลาดเคลื่อนบวกลบร้อยละ 7 ดำเนินโครงการระหว่างวันที่ 15 - 22 ตุลาคม ที่ผ่านมา พบว่า
ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 66.3 ได้เรียนรู้มากขึ้นในเรื่องการปรับตัวสู้กับวิกฤตการณ์ภัยพิบัติน้ำท่วมครั้งนี้ โดยให้เหตุผลว่า ต้องเตรียมตัวรับมือกับน้ำท่วม เห็นความรักความสามัคคีของคนในชาติ ทำให้รู้ถึงผลกระทบของการทำลายธรรมชาติ ประสิทธิภาพการสื่อสารความถูกต้องชัดเจนให้กับสาธารณชนและการบริหารจัดการน้ำของรัฐบาลและประชาชน เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 67.2 ต้องใช้จ่ายมากขึ้นในช่วงเผชิญกับวิกฤตการณ์ภัยพิบัติน้ำท่วม ได้แก่ การใช้จ่ายเพราะต้องกักตุนอาหาร น้ำดื่ม ไฟฉาย ถ่านไฟฉาย และอุปกรณ์ป้องกันน้ำท่วม เป็นต้น นอกจากนี้ ร้อยละ 55.9 ยังระบุว่าจะใช้จ่ายมากขึ้นอีกภายหลังน้ำลด เพราะต้องซ่อมแซมบ้าน รถ เครื่องใช้ไฟฟ้า ราคาสินค้าสูงขึ้น และปัญหาสุขภาพ เป็นต้น ในขณะที่ร้อยละ 30.4 จะใช้จ่ายเหมือนเดิม และร้อยละ 13.7 จะใช้จ่ายลดลง
แต่เมื่อถามถึงการคาดการต่อรายได้ที่จะได้รับในอีก 3 เดือนข้างหน้า พบว่า เกินครึ่งเล็กน้อยหรือร้อยละ 53.8 ระบุรายได้จะเหมือนเดิม ในขณะที่ร้อยละ 31.4 คาดว่าจะลดลง และร้อยละ 14.8 เท่านั้นที่ระบุรายได้จะเพิ่มขึ้น
ที่น่าเป็นห่วงคือ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 83.6 เป็นทุกข์ใจมาก ถึงมากที่สุด เมื่อได้ข่าวความขัดแย้งทางการเมืองในช่วงที่ชาวบ้านประสบภัยน้ำท่วม และร้อยละ 81.1 อยากเห็นความร่วมมือกันแก้ปัญหาภัยพิบัติน้ำท่วมระหว่างแกนนำพรรคเพื่อไทยกับ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครจากพรรคประชาธิปัตย์
และเมื่อถามการคาดการณ์ระยะเวลาปัญหาภัยพิบัติน้ำท่วมจะเริ่มคลี่คลาย พบว่า ร้อยละ 48.9 คาดว่าไม่เกิน 1 เดือน ในขณะที่ร้อยละ 21.6 อยู่ระหว่าง 1 — 2 เดือน และร้อยละ 29.5 ระบุคาดว่าตั้งแต่ 3 เดือนขึ้นไป
เมื่อถามถึงความสำคัญที่จำเป็นเร่งด่วนในแผนฟื้นฟูหลังภัยพิบัติน้ำท่วมจากรัฐบาล พบว่า ร้อยละ 95.5 ระบุซ่อมแซมที่พักอาศัย ทำความสะอาดเมืองและชุมชน รองลงมาคือร้อยละ 91.3 ระบุที่ทำกิน ส่งเสริมการประกอบอาชีพ ร้อยละ 90.8 ระบุสาธารณูปโภค ถนน ไฟฟ้า และน้ำปะปา ร้อยละ 90.2 ระบุ มาตรการป้องกันแก้ไขปัญหาซ้ำซาก และร้อยละ 87.8 ระบุเร่งแก้ปัญหาสุขภาพจิต และรองๆ ลงไปคือ ช่วยลดรายจ่ายของประชาชน การแก้ปัญหาว่างงาน ทีมงานให้คำแนะนำปรึกษาประจำชุมชน พัฒนาฐานข้อมูลและการสื่อสารภัยพิบัติ และการจัดระเบียบ และวางผังเมืองใหม่ ตามลำดับ
ดร.นพดล กล่าวว่า เป็นที่ชัดเจนว่า ชาวบ้านปฏิเสธภาพของความขัดแย้งทางการเมืองในขณะที่ชาวบ้านกำลังประสบปัญหาภัยพิบัติน้ำท่วมอยู่ในขณะนี้ แต่ชาวบ้านอยากเห็นความเป็นเอกภาพในการแก้ปัญหาภัยพิบัติครั้งนี้จากพรรคเพื่อไทยและพรรคประชาธิปัตย์ มิฉะนั้นมันอาจเป็นความตั้งใจโดยเจตนาของกลุ่มนักการเมืองและแนวร่วมที่จะซ้ำเติมความทุกข์และความน่าเวทนาของประชาชนผู้ประสบภัยน้ำท่วม คนเฒ่าคนแก่ คนเจ็บป่วยและพิการต่างๆ จึงขอให้ทุกภาคส่วนยอมรับความเป็นจริงและมองไปข้างหน้าช่วยกันสร้างโรดแมปฟื้นฟูเยียวยาผู้ประสบภัยพิบัติครั้งนี้ ได้แก่
ประการแรก ปฏิรูปและจัดระเบียบฐานข้อมูลสาธารณะแบบ “สองทาง” คือให้พื้นที่เสี่ยงและกลุ่มผู้ประสบภัยพิบัติเข้าถึงข้อมูลที่ถูกต้อง ชัดเจน ไม่ซับซ้อน และฝ่ายรัฐเข้าถึงกลุ่มผู้ประสบภัยแบบถึงตัวเพื่อแจ้งเตือนภัยก่อนล่วงหน้า โดยเข้าช่วยเหลือให้พ้นภัยอย่างทั่วถึง และสนับสนุนการซ่อมแซมที่พักอาศัย ที่ทำกินและการประกอบอาชีพหลังน้ำลด
ประการที่สอง ได้แก่ เปิดศูนย์บริการแบบจุดเดียวเบ็ดเสร็จในภูมิภาคและจังหวัดต่างๆ โดยผสานความร่วมมือระหว่างฝ่ายรัฐบาล ฝ่ายค้าน ฝ่ายราชการและภาคประชาชนผู้มีจิตอาสาช่วยกัน เพื่อบำบัดฟื้นฟูลดความทุกข์ทางกาย ปัญหาที่จับต้องได้และความทุกข์ทางใจ สุขภาพจิต ความเครียดและความวิตกกังวลต่างๆ
ประการที่สาม ได้แก่ จัดหาแหล่งทุนฟื้นฟูเป็นกองทุนหมู่บ้าน ชุมชนที่ประสบภัยพิบัติต่างๆ เสริมความเข้มแข็งของชุมชนในมิติของการพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน
ประการที่สี่ ได้แก่ การมีคณะกรรมการอิสระหรือใช้กลไกของรัฐเพิ่มความเข้มในการติดตามประเมินผลการทำงานและความโปร่งใสในการใช้จ่ายงบประมาณ เงินบริจาคช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติต่างๆ อย่างเป็นธรรมและทั่วถึงตามเจตนารมย์ของหลักธรรมาภิบาลและเจตนาของกลุ่มผู้บริจาค โดยแจกแจงรายละเอียดของการใช้จ่ายต่อสาธารณชนให้สามารถแกะรอยการใช้จ่ายไปถึงมือของกลุ่มผู้ประสบภัยและพื้นที่หมู่บ้านชุมชนของผู้เสียหายเหล่านั้น
ประการที่ห้า ได้แก่ รัฐบาลและกลไกของรัฐ น่าจะพิจารณาสร้างความไว้วางใจให้เกิดขึ้นในหมู่ประชาชนด้วยมาตการรองรับปัญหาภัยพิบัติว่า ประชาชนทุกคน ทุกเชื้อชาติจะได้รับการปฏิบัติช่วยเหลือเยียวยาอย่างทั่วถึง เพื่อเสริมสร้างวินัยและลดทอนความตื่นตระหนกจนกลายเป็นความขัดแย้ง ความเห็นแก่ตัวและการทำร้ายทำลายกันในหมู่ประชาชนเพื่อแย่งชิงสิ่งของบริจาคหรือถุงยังชีพต่างๆ โดยอาจพิจารณาเปิดโอกาสให้กลุ่มบริษัทเอกชนมาร่วมรับประกันความเสี่ยงภัยพิบัติอื่นๆ ในอนาคตได้อีกด้วย
จากการพิจารณาลักษณะทั่วไปของตัวอย่าง พบว่า ร้อยละ 53.9 เป็นหญิง ร้อยละ 46.1 เป็นชาย ร้อยละ 3.7 อายุต่ำกว่า 20 ปี ร้อยละ 18.4 อายุระหว่าง 20 — 29 ปี ร้อยละ 22.0 อายุระหว่าง 30 — 39 ปี ร้อยละ 22.2 อายุระหว่าง 40 — 49 ปี และร้อยละ 33.7 อายุ 50 ปีขึ้นไป ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 71.4 การศึกษาต่ำกว่าปริญญาตรี ในขณะที่ร้อยละ 28.6 ปริญญาตรีขึ้นไป ร้อยละ 29.1 ค้าขายส่วนตัว/อาชีพอิสระ ร้อยละ 28.8 อาชีพรับจ้างใช้แรงงานทั่วไป/ เกษตรกร ร้อยละ 15.9 พนักงานบริษัทเอกชน ร้อยละ 10.2 ข้าราชการ พนักงานรัฐวิสาหกิจ ร้อยละ 6.4 นักเรียนนักศึกษา ร้อยละ 5.9 แม่บ้าน เกษียณอายุ และร้อยละ 3.7 ไม่ได้ประกอบอาชีพ
ลำดับที่ ระดับการศึกษาเรียนรู้เพื่อปรับตัวสู้กับวิกฤตการณ์ภัยพิบัติน้ำท่วม ค่าร้อยละ 1 เรียนรู้ได้มากขึ้น 66.3 2 เหมือนเดิม 25.9 3 น้อยลง 7.8 รวมทั้งสิ้น 100.0 ตารางที่ 2 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุ ค่าใช้จ่ายที่ได้ใช้ในช่วงเผชิญกับวิกฤตการณ์ภัยพิบัติน้ำท่วม ลำดับที่ ค่าใช้จ่ายที่ได้ใช้ในช่วงเผชิญกับวิกฤตการณ์ภัยพิบัติน้ำท่วม ค่าร้อยละ 1 ใช้จ่ายมากขึ้น ได้แก่ กักตุนอาหาร น้ำดื่ม ไฟฉาย ถ่านไฟฉาย และอุปกรณ์ป้องกันน้ำท่วม เป็นต้น 67.2 2 เหมือนเดิม 21.6 3 ลดลง 11.2 รวมทั้งสิ้น 100.0 ตารางที่ 3 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุ ค่าใช้จ่ายที่จะใช้หลังน้ำลด ลำดับที่ ค่าใช้จ่ายที่จะใช้หลังน้ำลด ค่าร้อยละ 1 ใช้จ่ายมากขึ้น เพราะต้องซ่อมแซมบ้าน รถ เครื่องใช้ไฟฟ้า ราคาสินค้าสูงขึ้น และปัญหาสุขภาพ เป็นต้น 55.9 2 เหมือนเดิม 30.4 3 ลดลง 13.7 รวมทั้งสิ้น 100.0 ตารางที่ 4 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุ รายได้ที่คาดว่าจะได้ในอีก 3 เดือนข้างหน้า ลำดับที่ รายได้ที่คาดว่าจะได้ในอีก 3 เดือนข้างหน้า ค่าร้อยละ 1 เพิ่มขึ้น 14.8 2 เหมือนเดิม 53.8 3 ลดลง 31.4 รวมทั้งสิ้น 100.0 ตารางที่ 5 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุ ความรู้สึกเมื่อได้ข่าวความขัดแย้งทางการเมืองในช่วงที่ชาวบ้านประสบภัยน้ำท่วม ลำดับที่ ความรู้สึก ค่าร้อยละ 1 ทุกข์ใจมาก ถึงมากที่สุด 83.6 2 เฉยๆ 12.9 3 มีความสุข 3.5 รวมทั้งสิ้น 100.0 ตารางที่ 6 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุ ความรู้สึกอยากเห็นภาพการลงพื้นที่ช่วยกันแก้ปัญหาภัยพิบัติน้ำท่วมระหว่างแกนนำพรรคเพื่อไทย กับผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร จากพรรคประชาธิปัตย์ ลำดับที่ ความรู้สึก ค่าร้อยละ 1 อยากเห็นมากถึงมากที่สุด 81.1 2 เฉยๆ 10.4 3 น้อยถึงน้อยที่สุด 8.5 รวมทั้งสิ้น 100.0 ตารางที่ 7 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุ การคาดการณ์ระยะเวลาปัญหาภัยพิบัติน้ำท่วมจะเริ่มคลี่คลาย ลำดับที่ การคาดการณ์ระยะเวลา ค่าร้อยละ 1 ไม่เกิน 1 เดือน 48.9 2 1 — 2 เดือน 21.6 3 3 เดือนขึ้นไป 29.5 รวมทั้งสิ้น 100.0 ตารางที่ 8 แสดงการจัด 10 อันดับความสำคัญที่จำเป็นเร่งด่วนในแผนฟื้นฟูหลังภัยพิบัติน้ำท่วมที่ต้องการจากรัฐบาล (ตอบได้มากกว่า 1 ข้อ) ลำดับที่ ความสำคัญจำเป็นเร่งด่วนในแผนฟื้นฟูหลังภัยพิบัติน้ำท่วมจากรัฐบาล ค่าร้อยละ 1 ซ่อมแซมที่พักอาศัย ทำความสะอาดเมืองและชุมชน 95.5 2 ที่ทำกิน ส่งเสริมการประกอบอาชีพ 91.3 3 สาธารณูปโภค ถนน ไฟฟ้า น้ำปะปา 90.8 4 มาตรการป้องกันแก้ไขปัญหาซ้ำซาก 90.2 5 เร่งแก้ปัญหาสุขภาพจิต 87.8 6 ช่วยลดรายจ่ายของประชาชน 84.2 7 แก้ปัญหาว่างงาน 74.5 8 ทีมงานให้คำแนะนำปรึกษาประจำชุมชน 62.9 9 พัฒนาฐานข้อมูลและการสื่อสารภัยพิบัติ 56.1 10 จัดระเบียบและวางผังเมืองใหม่ 52.7
--เอแบคโพลล์--