ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการศูนย์เครือข่ายวิชาการเพื่อสังเกตการณ์และวิจัยความสุขชุมชน หรือศูนย์วิจัยความสุขชุมชน(Academic Network for Community Happiness Observation and Research, ANCHOR) หรือ ศูนย์วิจัยความสุขชุมชน มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เปิดเผยผลวิจัยเชิงสำรวจ เรื่อง เสียงสะท้อนของผู้ประสบภัยพิบัติน้ำท่วมต่อผู้เข้าให้ความช่วยเหลือ กรณีศึกษาตัวอย่างในเขตกรุงเทพมหานคร และปริมณฑล จำนวนทั้งสิ้น 1,478 ตัวอย่าง ดำเนินโครงการระหว่างวันที่ 1 — 5 พฤศจิกายน 2554 ที่ผ่านมา
ประเด็นสำคัญที่ค้นพบคือ เกินกว่าครึ่งหรือร้อยละ 53.2 มีเวลาเตรียมตัวรับมือกับปัญหาน้ำท่วมน้อยกว่า 1 สัปดาห์ ในขณะที่ร้อยละ 32.2 มีเวลาตั้งแต่ 1 สัปดาห์ขึ้นไป อย่างไรก็ตามที่น่าเป็นห่วงคือร้อยละ 14.6 เป็นกลุ่มคนที่ไม่มีเวลาเตรียมตัวเลย
เมื่อจัด 5 อันดับแรกความพอใจของผู้ประสบภัยต่อศูนย์รับเรื่องร้องทุกข์และสายด่วนต่างๆ เฉพาะคนที่เคยโทร เมื่อคะแนนเต็ม 10 คะแนน พบว่า อันดับที่ 1 ได้แก่ สายด่วนบริการแพทย์ฉุกเฉิน 1669 ได้ 6.83 คะแนน อันดับที่สอง ได้แก่ สายด่วนรถไฟแห่งประเทศไทย 1690 ได้ 5.86 อันดับที่สามได้แก่ สายด่วนแจ้งเหตุด่วนเหตุร้าย 191 ได้ 5.83 คะแนน อันดับที่สี่ได้แก่ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค โทร 1129 ได้ 5.75 ในขณะที่ ศูนย์ ศปภ. โทร 1111 กด 5 ได้เพียง 5.51 เท่านั้น โดยปัญหาที่ค้นพบคือ โทรแล้วสายไม่ว่าง ถ้าโทรติดก็ไม่มีคนรับสาย หรือเมื่อมีคนรับสายมีแต่รับเรื่องไว้โดยไม่มีการดำเนินการช่วยเหลืออะไร หรือถ้ามีก็ล่าช้ามากและสายเกินไป
อย่างไรก็ตาม ความช่วยเหลือจาก “ทหาร” ยังครองใจได้ใจในความพึงพอใจของประชาชนผู้ประสบภัยพิบัติ ได้ 9.56 คะแนน หลังจากที่เคยสำรวจในช่วงต้นเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ในขณะที่ “ตำรวจ” ได้รับความพึงพอใจมากขึ้นจากอันดับที่ 8 มาเป็นอันดับที่สี่ได้ 9.05 คะแนน รองจากกลุ่มอาสาสมัครและสื่อมวลชนได้ 9.10 และ 9.08 คะแนน ตามลำดับ
ที่น่าพิจารณาคือ กรุงเทพมหานครและรัฐบาลได้รับความพึงพอใจจากประชาชนไม่แตกต่างกันคือ ได้ 8.34 กับ 8.30 คะแนน รองๆ ลงไปได้แก่ ดารานักร้องนักแสดง กรมชลประทาน ฝ่ายค้าน และผู้แทนราษฎร ส.ส. สก. และสข.
ที่น่าเป็นห่วงคือ ความเดือดร้อนของประชาชนผู้ประสบภัยพิบัติในเรื่องค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้น แต่รายได้หรือเงินเดือนเท่าเดิมในช่วงวิกฤตน้ำท่วมขณะนี้ พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 72.6 เดือดร้อนในเรื่องราคาอาหาร รองลงไปคือ ร้อยละ 65.7 ระบุราคาน้ำดื่ม ในขณะที่รองๆ ลงไปคือ ยารักษาโรค ค่าโดยสารเรือ กระสอบทราย อิฐบล็อก ปูน ค่าเช่าที่พักอาศัย คอนโดมิเนี่ยม โรงแรม อพาร์ทเมนท์ ถังน้ำ ที่จอดรถ เรือ เสื้อชูชีพ เป็นต้น
สำหรับเสียงสะท้อนของผู้ที่อยู่ในศูนย์พักพิง ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 66.3 อยากให้ทำฐานข้อมูลช่วยเหลือด้านการเงินหลังน้ำลด รองลงมาคือร้อยละ 47.1 อยากให้ปรับปรุงเรื่องห้องน้ำ ร้อยละ 43.4 ให้แก้ไขเรื่องความปลอดภัย นอกจากนี้ เป็นเรื่องทำฐานข้อมูลช่วยเหลือด้านที่ทำกินร้อยละ 42.6 และร้อยละ 41.5 ระบุการฝึกวิชาชีพ และรองๆ ลงไป คือ จัดระบบงานภายในศูนย์พักพิงให้มีความยุติธรรม ไม่เลือกปฏิบัติ ให้มีแพทย์เข้ามาดูแล ให้มีกิจกรรมนันทนาการ การสอนหนังสือเด็กนักเรียน ไม่ใช่เอาแต่เล่นเกมส์อย่างเดียว และจัดเตรียมระบบรถรับส่งกลับบ้าน ไม่ทอดทิ้งประชาชน
ที่น่าสนใจคือ สิ่งที่อยากได้เป็นของขวัญปีใหม่จากรัฐบาลหลังน้ำลด พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 65.0 อยากให้ซ่อมแซมที่พักอาศัย ร้อยละ 59.3 แก้ปัญหาราคาสินค้า ร้อยละ 54.6 แก้ปัญหาคนว่างงาน ร้อยละ 52.4 หาแนวทางป้องกันน้ำท่วมในอนาคต ร้อยละ 50.4 ระบุสภาพคล่องทางการเงิน รองๆ ลงไปได้แก่ ซ่อมแซมเครื่องใช้ไฟฟ้า ปรับปรุงระบบสาธารณูปโภค เช่น ไฟฟ้า น้ำปะปา ซ่อมแซมรถยนต์ รถมอเตอร์ไซด์ ถนนหนทาง และแก้ปัญหาที่ทำกิน เป็นต้น
ที่น่าพิจารณาอย่างยิ่ง คือ เสียงสะท้อนข้อเสนอของผู้ประสบภัยพิบัติน้ำท่วมต่อรัฐบาลและฝ่ายค้านในการแก้ไขปัญหาภัยพิบัติในอนาคต พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 93.8 ขอให้หยุดขัดแย้ง หยุดโจมตีกัน ร้อยละ 63.0 ขอให้บอกความจริงที่ครบถ้วนกับประชาชน ร้อยละ 58.0 ขอให้ดูแลความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ร้อยละ 55.9 ขอให้ปรับปรุงเรื่องระบบเตือนภัย ร้อยละ 54.9 ขอให้ปรับปรุงเรื่องการสื่อสารกับประชาชน ร้อยละ 49.0 ขอให้รัฐบาลกับภาคเอกชนจับมือทำประกันภัยให้กับชุมชน สังคมและประเทศ และร้อยละ 48.2 ขอให้จัดวางระบบผังเมืองใหม่
ผอ.ศูนย์วิจัยความสุขชุมชน กล่าวว่า ข้อมูลที่ค้นพบครั้งนี้สอดคล้องกับเสียงสะท้อนของเหยื่อภัยพิบัติในงานวิจัยของต่างประเทศเช่นกันว่า สิ่งสำคัญที่ประชาชนต้องการคือ อาหาร น้ำสะอาด ที่พักอาศัย แต่สำหรับคนไทยที่ค้นพบชัดเจนแตกต่างไปจากงานวิจัยของต่างประเทศคือ ชาวบ้านขอให้นักการเมืองและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหยุดขัดแย้ง หยุดโจมตีกันในขณะที่ประชาชนกำลังเดือดร้อนจากภัยพิบัติ แต่ขอให้ทุกฝ่ายบอกความจริงที่ครบถ้วนกับประชาชน หันมาปรับปรุงข้อบกพร่องที่เกิดขึ้นในการช่วยเหลือประชาชนเป็นสิ่งที่ดีที่สุด และค้นพบว่า “ทหาร” ยังคงครองใจในอันดับแรกของกลุ่มผู้ประสบภัยในขณะที่ “ตำรวจ” ได้รับความพอใจเพิ่มขึ้นจากการสำรวจครั้งก่อน แต่สิ่งที่เป็นความเดือดร้อนในหมู่ประชาชนเวลานี้คือ ค่าใช้จ่ายที่เพิ่มสูงขึ้นแต่รายได้หรือเงินเดือนเท่าเดิม ซึ่งเป็นเรื่องที่รัฐบาลและทุกภาคส่วนต้องช่วยกันคิดหาทางออก และทางออกที่น่าพิจารณา คือ เสนอให้พื้นที่ภัยพิบัติเป็นพื้นที่ปฏิรูประบบเศรษฐกิจพิเศษ โดยเร่งฟื้นฟูความเชื่อมั่นในหมู่ประชาชนต่อมาตรการรับมือภัยพิบัติ และการเยียวยาที่ชาวบ้านทั่วไปเข้าใจง่ายเห็นภาพชัดเจน ไม่สับสนทั้งในเนื้อหาสาระและกรอบเวลาเป็นโรดแมปจากวันนี้เป็นต้นไป เพื่อลดทอนความตื่นตระหนกทั้งปัจจุบันและอนาคตได้
ประการแรก กระทรวงสำคัญด้านเศรษฐกิจและกลุ่มนายทุนน่าจะออกมาจับมือกันสร้างความเชื่อมั่นในมาตรการเฉพาะหน้าและระยะยาวที่เกี่ยวกับความเดือดร้อนเรื่องค่าใช้จ่ายของประชาชนที่พุ่งสูงขึ้น แต่รายได้หรือเงินเดือนเท่าเดิมและหลายคนที่สูญเสียรายได้ไป
ประการที่สอง กระทรวงสำคัญด้านสังคม เช่น กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงพัฒนาสังคมฯ อาจระดมอาสาสมัครจากสถาบันการศึกษาจากภาครัฐและภาคเอกชน คณาจารย์ นักศึกษา ผู้เชี่ยวชาญด้านอาชีวะ ช่างไฟฟ้า รถยนต์ ลงพื้นที่ช่วยเหลือชาวบ้านทำงานเป็นผู้ช่วยการไฟฟ้าขณะน้ำท่วม และเตรียมพร้อมลงพื้นที่ช่วยเหลือชาวบ้านแบบองค์รวมได้ทันทีหลังน้ำลดเป็นของขวัญปีใหม่ให้กับชาวบ้านในการซ่อมแซมที่พักอาศัย เครื่องใช้ไฟฟ้า รถยนต์ ปรับสภาพแวดล้อมให้น่าอยู่ และให้ความรู้แก่ประชาชนเอาไว้พึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน
ประการที่สาม ได้แก่ ฝ่ายการเมืองน่าจะใช้จังหวะเวลานี้เป็นบทพิสูจน์ความเป็นผู้นำปฏิรูปตนเอง ฟื้นฟูความเชื่อมั่นศรัทธาของสาธารณชนต่อนักการเมืองที่ตกต่ำมานาน เลิกทะเลาะกัน แต่หันกลับมาดำรงตนให้เป็นสถาบันหลักของประเทศ ด้วยการเปิดสายด่วน สร้างฐานข้อมูลผู้ประสบภัยพิบัติลงพื้นที่โดยไม่เลือกข้าง ไม่เลือกสี และมีระบบติดตาม ประเมินความพึงพอใจจากการช่วยเหลือและเสริมสร้างให้ชาวบ้านเข้มแข็งอยู่ได้ด้วยตนเอง ไม่ต้องพึ่งพางบประมาณของรัฐบาล เพราะรัฐบาลก็จะต้องหาแหล่งเงินกู้ยืมที่จะนำไปสู่หนี้สินสาธารณะของประเทศและตกอยู่ภายใต้การครอบงำของกลุ่มนายทุนและองค์กรทุนต่างชาติ ส่งผลให้การกำหนดนโยบายสาธารณะเพื่อประชาชนของประเทศไทยอาจขาดความเป็นอิสระได้
จากการพิจารณาลักษณะทั่วไปของตัวอย่าง พบว่า ร้อยละ 55.3 เป็นหญิง ร้อยละ 44.7 เป็นชาย ร้อยละ 11.3 อายุต่ำกว่า 20 ปี ร้อยละ 16.0 อายุระหว่าง 20 — 29 ปี ร้อยละ 20.6 อายุระหว่าง 30 — 39 ปี ร้อยละ 20.4 อายุระหว่าง 40 — 49 ปี และร้อยละ 31.7 อายุ 50 ปีขึ้นไป ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 76.3 การศึกษาต่ำกว่าปริญญาตรี ในขณะที่ร้อยละ 23.7 การศึกษาปริญญาตรีขึ้นไป นอกจากนี้ ร้อยละ 33.5 เป็นเกษตรกรและรับจ้างใช้แรงงานทั่วไป ร้อยละ 24.8 ค้าขายและอาชีพอิสระ ร้อยละ 16.8 บริษัทเอกชน ร้อยละ 10.9 ข้าราชการ พนักงานรัฐวิสาหกิจ ร้อยละ 7.3 นักศึกษา และร้อยละ 6.7 อื่นๆ เช่น แม่บ้าน พ่อบ้าน เกษียณอายุ ว่างงาน เป็นต้น
ลำดับที่ ระยะเวลา ค่าร้อยละ 1 น้อยกว่า 1 สัปดาห์ 53.2 2 ตั้งแต่ 1 สัปดาห์ขึ้นไป 32.2 3 ไม่มีเวลาเตรียมตัว 14.6 รวมทั้งสิ้น 100.0 ตารางที่ 2 แสดง 5 อันดับแรก ค่าเฉลี่ยคะแนนความพึงพอใจต่อศูนย์รับเรื่องร้องทุกข์สายด่วน (เมื่อคะแนนเต็ม 10 คะแนน) เฉพาะผู้เคยโทร ลำดับที่ เบอร์โทรสายด่วน ค่าคะแนน 1 สายด่วนบริการแพทย์ฉุกเฉิน โทร 1669 6.83 2 สายด่วนรถไฟแห่งประเทศไทย โทร 1690 5.86 3 สายด่วนแจ้งเหตุด่วนเหตุร้าย โทร 191 5.83 4 การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค โทร 1129 5.75 5 ศูนย์ ศปภ. โทร 1111 กด 5 5.51 ตารางที่ 3 แสดงค่าเฉลี่ยคะแนนความพอใจต่อหน่วยงานและคณะบุคคลต่างๆ ที่ช่วยแก้ปัญหาน้ำท่วมของประชาชน เมื่อคะแนนเต็ม 10 ลำดับที่ หน่วยงานและคณะบุคคลต่างๆ ค่าคะแนน 1 ทหาร 9.56 2 อาสาสมัคร 9.10 3 สื่อมวลชน 9.08 4 ตำรวจ 9.05 5 กรุงเทพมหานคร 8.34 6 รัฐบาล 8.30 7 ดารานักร้อง นักแสดง 8.25 8 กรมชลประทาน 7.35 9 ฝ่ายค้าน 7.26 10 ผู้แทนราษฎร ส.ส. สก. สข. เป็นต้น 7.03 ตารางที่ 4 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุ ความเดือดร้อนจากค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้นแต่รายได้หรือเงินเดือนเท่าเดิมในช่วงวิกฤตน้ำท่วมขณะนี้ (ตอบได้มากกว่า 1 ข้อ) ลำดับที่ ความเดือดร้อน ค่าร้อยละ 1 ราคาอาหาร 72.6 2 ราคาน้ำดื่ม 65.7 3 ยารักษาโรค 28.5 4 เสียค่าโดยสารเรือ 27.8 5 ซื้อกระสอบทราย 27.0 6 ซื้ออิฐบล๊อก ปูน 25.9 7 เสียค่าที่พักอาศัย เช่น คอนโดมิเนี่ยม โรงแรม อพาร์ตเมนต์ เป็นต้น 23.0 8 ซื้อถังน้ำสำหรับรองน้ำสะอาด 21.2 9 เสียค่าที่จอดรถ 13.7 10 ซื้อเรือ 11.9 11 ซื้อเสื้อชูชีพ 10.0 ตารางที่ 5 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุ ความต้องการ/สิ่งอำนวยความสะดวกที่อยากให้มีในศูนย์พักพิง (ตอบได้มากกว่า 1 ข้อ) ลำดับที่ สิ่งอำนวยความสะดวก ค่าร้อยละ 1 การทำฐานข้อมูลช่วยด้านการเงินภายหลังน้ำลด 66.3 2 ปรับปรุงห้องน้ำสะอาด 47.1 3 แก้ไขเรื่องความปลอดภัย 43.4 4 การทำฐานข้อมูลช่วยเหลือผู้ประสบภัยด้านที่ทำกิน 42.6 5 การจัดฝึกวิชาชีพ 41.5 6 จัดระบบงานภายในศูนย์พักพิงให้มีความยุติธรรม ไม่เลือกปฏิบัติ 37.1 7 ให้มีแพทย์เข้ามาดูแลในเรื่องของสุขภาพกาย — ใจ 36.9 8 ให้มีการจัดกิจกรรมนันทนาการ 33.9 9 ให้มีการสอนหนังสือสำหรับเด็กๆ ไม่ใช่เอาแต่เล่นเกมส์อย่างเดียว 29.9 10 อื่นๆ ระบุต้องการรถรับ — ส่งกลับบ้านเวลาน้ำลด ไม่ทอดทิ้งประชาชน 10.5 ตารางที่ 6 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุ ของขวัญปีใหม่ที่อยากได้จากรัฐบาลหลังน้ำลด (ตอบได้มากกว่า 1 ข้อ) ลำดับที่ ของขวัญปีใหม่ที่อยากได้จากรัฐบาลหลังน้ำลด ค่าร้อยละ 1 ซ่อมแซมที่พักอาศัย 65.0 2 แก้ปัญหาราคาสินค้า 59.3 3 แก้ปัญหาคนว่างงาน 54.6 4 หาแนวทางในการป้องกันปัญหาน้ำท่วมในอนาคต 52.4 5 สภาพคล่องทางการเงิน 50.4 6 ซ่อมแซมเครื่องใช้ไฟฟ้า 41.5 7 ปรับปรุงด้านสาธารณูปโภค เช่น ไฟฟ้า น้ำประปา 40.7 8 ซ่อมแซมรถยนต์ มอเตอร์ไซต์ 39.5 9 ปรับปรุงถนนหนทาง 38.0 10 แก้ปัญหาที่ทำกิน 37.3 ตารางที่ 7 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุ ข้อเสนอต่อรัฐบาลและฝ่ายค้านในการแก้ไขปัญหาภัยพิบัติในอนาคต (ตอบได้มากกว่า 1 ข้อ) ลำดับที่ ข้อเสนอต่อรัฐบาล และฝ่ายค้าน ค่าร้อยละ 1 หยุดขัดแย้ง หยุดโจมตีกัน 93.8 2 บอกความจริงที่ครบถ้วนกับประชาชน 63.0 3 ดูแลความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน 58.0 4 ปรับปรุงเรื่องระบบเตือนภัย 55.9 5 ปรับปรุงเรื่องการสื่อสารกับประชาชน 54.9 6 รัฐบาลกับภาคเอกชนจับมือทำประกันภัยให้กับชุมชน สังคมและประเทศ 49.0 7 จัดวางระบบผังเมืองใหม่ 48.2
--เอแบคโพลล์--