เอแบคโพลล์: การปรับ ครม. ความขัดแย้ง และปัญหาทุจริตคอรัปชั่น ในสายตาประชาชน

ข่าวผลสำรวจ Monday December 19, 2011 07:32 —เอแบคโพลล์

ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยเอแบคโพลล์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เสนอผลวิจัยเชิงสำรวจเรื่อง การปรับ ครม. ความขัดแย้ง และปัญหาทุจริตคอรัปชั่นในสายตาประชาชน กรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนอายุ 18 ปีขึ้นไป จำนวน 1,965 ตัวอย่าง จาก 17 จังหวัดของประเทศ ได้แก่ กรุงเทพมหานคร จันทบุรี กาญจนบุรี สมุทรปราการ ชลบุรี น่าน พิษณุโลก เชียงใหม่ หนองคาย ชัยภูมิ ศรีสะเกษ อุดรธานี ขอนแก่น นครราชสีมา พัทลุง นครศรีธรรมราช และสงขลา ดำเนินโครงการระหว่างวันที่ 12 — 17 ธันวาคม 2554 โดยใช้การเลือกตัวอย่างแบบแบ่งกลุ่มเชิงชั้นภูมิหลายชั้นในการเข้าถึงผู้ตอบแบบสอบถามและความคลาดเคลื่อนบวกลบร้อยละ 7 โดยผลสำรวจที่สำคัญค้นพบว่า

เมื่อถามถึงช่วงเวลานี้เหมาะสมหรือไม่ในการปรับคณะรัฐมนตรี พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 62.5 ระบุยังไม่เหมาะสม เพราะ เร็วเกินไป เกรงจะเกิดความวุ่นวาย เร่งทำงานหนักสร้างผลงานดีกว่า ควรให้โอกาสพิสูจน์ผลงาน ปรับคณะรัฐมนตรีไปก็ไม่มีอะไรดีขึ้น ยังไม่เห็นว่าใครจะมีฝีมือ ยังไม่ถึงเวลา และให้รอสมาชิกบ้านเลขที่ 111 เป็นต้น ในขณะที่ร้อยละ 37.5 เห็นว่า เหมาะสมแล้ว เพราะ รัฐมนตรีบางคนไม่มีประสิทธิภาพ บางคนรวบอำนาจไว้คนเดียว บางคนทำงานไม่เป็น ไม่มีประสบการณ์ เป็นต้น

เมื่อถามถึง การคาดการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองในหมู่ประชาชนในอีก 3 เดือนข้างหน้า พบว่า ร้อยละ 47.3 คาดว่าจะรุนแรงมากขึ้น ในขณะที่ร้อยละ 38.9 จะเท่าเดิม และร้อยละ 13.8 คาดว่าจะลดลง

เมื่อถามถึงความกังวลต่อสถานการณ์รุนแรงบานปลายในช่วงเทศกาลปีใหม่ พบว่า เกินครึ่งหรือร้อยละ 52.9 กังวล ในขณะที่ร้อยละ 47.1 ไม่กังวล

ที่น่าเป็นห่วงคือ เมื่อถามถึง การคาดการณ์ปัญหาทุจริตคอรัปชั่นในโครงการต่างๆ ของรัฐบาลในอีก 6 เดือนข้างหน้า พบว่า เกินครึ่งหรือร้อยละ 54.8 คาดว่าจะมากขึ้น ร้อยละ 31.8 จะเท่าเดิม และร้อยละ 13.4 คาดว่าจะน้อยลง

นอกจากนี้ เกินครึ่งเช่นกัน หรือร้อยละ 54.2 คาดว่า ปัญหาการทุจริตคอรัปชั่นและการเรียกเงินใต้โต๊ะในกลุ่มข้าราชการในอีก 6 เดือนข้างหน้า จะเพิ่มมากขึ้น ในขณะที่ร้อยละ 32.4 จะเท่าเดิม และร้อยละ 13.4 คาดว่าจะน้อยลง

ที่น่าพิจารณาคือ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 67.9 ระบุพบเห็นเจ้าหน้าที่รัฐและนักการเมืองที่ทุจริต คอรัปชั่นแล้วถูกลงโทษลงทัณฑ์ ตกระกำลำบากค่อนข้างน้อยถึงน้อยที่สุด มีเพียงร้อยละ 32.1 ที่ระบุเคยพบเห็นค่อนข้างมาก ถึงมากที่สุด อย่างไรก็ตาม ตรงกันข้ามส่วนใหญ่หรือร้อยละ 71.7 พบเห็นเจ้าหน้าที่รัฐและนักการเมืองที่ทุจริตคอรัปชั่นแล้วร่ำรวย เอาตัวรอด พ้นความผิดค่อนข้างมากถึงมากที่สุด ในขณะที่ร้อยละ 28.3 ที่พบเห็นค่อนข้างน้อยถึงน้อยที่สุด

ที่น่าพิจารณาอย่างยิ่งสำหรับรัฐบาลเนื่องจากมีสัดส่วนสูงมากหรือร้อยละ 83.7 ระบุถึงเวลาแล้วที่รัฐบาลจะประกาศทำสงครามคอรัปชั่นทุกรูปแบบ ในขณะที่ร้อยละ 16.3 ไม่คิดเช่นนั้น

ดร.นพดล ชี้ให้เห็นว่า ในช่วงเวลานี้ ประชาชนส่วนใหญ่เห็นว่า ยังไม่ใช่เวลาที่เหมาะสมในการปรับคณะรัฐมนตรี ซึ่งอาจสวนทางกับความรู้สึกของบรรดานักการเมืองฝ่ายรัฐบาลบางคนที่อยากขึ้นมามีอำนาจเป็นรัฐมนตรี ดังนั้นข้อเสนอแนะคือ ถ้าจะปรับคณะรัฐมนตรีก็น่าจะปรับเอาคนที่มีพยานหลักฐานชัดเจนว่าไม่สุจริต เป็นตัวตั้งในการตัดสินใจปรับคณะรัฐมนตรี เพราะประชาชนยังเห็นว่าการปรับคณะรัฐมนตรีไม่ได้ทำให้ประชาชนได้อะไรหรือไม่เห็นมีอะไรดีขึ้นมากกว่าเดิม

          ผอ.เอแบคโพลล์ กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ ยังมีประเด็นที่น่าเป็นห่วงคือ ความกังวลของประชาชนต่อการสร้างสถานการณ์รุนแรงในช่วงปีใหม่ที่รัฐบาลจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากภาคประชาชนและการบูรณาการด้านการข่าวทุกภาคส่วนอย่างมีประสิทธิภาพ ที่เห็นได้ชัดในกรณี การเก็บกู้วัตถุระเบิดได้อย่างปลอดภัยของหน่วยงานด้านความมั่นคงโดยไม่มีการสูญเสียในชีวิตและทรัพย์ของประชาช ซึ่งในประเทศที่พัฒนาแล้วจะถือว่า “เป็นความสำเร็จ” ของการเชื่อมประสานการทำงานระหว่างภาคประชาชนและเจ้าหน้าที่รัฐ แต่ในประเทศไทยกลับมีการมองกันว่า              “เป็นการจัดฉาก” แสดงว่า หน่วยงานของรัฐต้องทำงานอย่างจริงจังต่อเนื่องเพื่อสร้างความวางใจในหมู่ประชาชนและสังคมระดับกว้างให้มากยิ่งขึ้น ทางออกคือ การปรากฎตัวของเจ้าหน้าที่ด้านความมั่นคงทั้ง ภาคประชาชน ทหาร ตำรวจ รถสายตรวจที่เปิดไฟไซเรนพร้อมปฏิบัติการอย่างรวดเร็วฉับไว หรือ Stand by ในจุดล่อแหลม จุดเสี่ยง และการข่าวในระบบโซเชียลเน็ตเวิร์คลดอาชญากรรมสร้างความอบอุ่นใจในหมู่ประชาชน

“ผลสำรวจยังพบด้วยว่า ปัญหาคอรัปชั่นเป็นปัญหาใหญ่ที่ยังไม่มีสัญญาณที่ดีในการแก้ไขได้อย่างจริงจังต่อเนื่อง ดังนั้น ข้อเสนอแนะคือ ฝ่ายการเมืองอาจช่วยกันแก้ไขกฎหมายเพิ่มเติมบางประการเพื่อแก้ไขปัญหาการรีดไถ ส่งส่วย ภาษีใต้ดิน นำขึ้นมาเข้าสู่ระบบกระบวนการที่ถูกต้อง ยกตัวอย่าง คนที่ทำผิดกฎจราจร ก็ต้องเสียค่าปรับที่ศาล มีใบเสร็จรับเงินระบุชัดเจนว่า ต้องจ่ายให้ชุมชนท้องถิ่นเจ้าของพื้นที่เพื่อสุขภาวะของคนในชุมชนเท่าไหร่ ต้องจ่ายให้ห้องสมุดประชาชนเพื่อการศึกษาของคนในชุมชนท้องที่เกิดเหตุเท่าไหร่ ต้องจ่ายให้ตำรวจเท่าไหร่ ต้องจ่ายให้รัฐบาลกลางในการพัฒนาประเทศเท่าไหร่ และต้องจ่ายเป็นค่างานธุรการของศาล เป็นต้น นั่นคือการทำทุกอย่างให้เห็นอย่างโปร่งใสน่าจะช่วยลดทอนความเคลือบแคลงสงสัยในหมู่ประชาชน และควบคุมพฤติกรรมการทำผิดของคนไปได้บ้าง มิฉะนั้น อาจมีคำถามว่าถูกรีดไถหรือโดนปรับแล้วเงินเอาไปทำอะไรเอาไปให้ใคร นอกจากนี้ น่าจะนำเอาเรื่องเงินบริจาคช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมมาแจกแจงให้สาธารณชนสามารถแกะรอยไปได้ว่าเงินถึงมือผู้ประสบภัยที่ไหนบ้างผ่านเว็บไซต์ทำเนียบรัฐบาลและหน่วยงานต่างๆ ของรัฐทั้งส่วนกลางและท้องถิ่น การทำทุกอย่างให้โปร่งใสน่าจะช่วยลดปัจจัยสำคัญที่จะถูกอ้างมาเป็นเงื่อนไขใช้อำนาจพิเศษเปลี่ยนแปลงรัฐบาลได้ไปอีกหนึ่งองค์ประกอบ” ดร.นพดล กล่าว

          จากการพิจารณาลักษณะทั่วไปของตัวอย่าง พบว่า     ตัวอย่าง    ร้อยละ 47.4 เป็นชาย

ร้อยละ 52.6 เป็นหญิง

ตัวอย่าง ร้อยละ 4.7 อายุน้อยกว่า 20 ปี

ร้อยละ 23.8 อายุระหว่าง 20—29 ปี

ร้อยละ 20.5 อายุระหว่าง 30—39 ปี

ร้อยละ 23.0 อายุระหว่าง 40—49 ปี

และร้อยละ 28.0 อายุ 50 ปีขึ้นไป

ตัวอย่าง ร้อยละ 64.8 สำเร็จการศึกษาต่ำกว่าปริญญาตรี

ร้อยละ 30.4 สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี

และร้อยละ 4.8 สำเร็จการศึกษาสูงกว่าปริญญาตรี

ตัวอย่าง ร้อยละ 32.4 ระบุอาชีพเกษตรกร/รับจ้างทั่วไป

ร้อยละ 30.2 ระบุอาชีพค้าขาย/ธุรกิจส่วนตัว

ร้อยละ 9.5 ระบุเป็นพนักงานเอกชน

ร้อยละ 10.9 ระบุข้าราชการ/พนักงานรัฐวิสาหกิจ

ร้อยละ 7.0 ระบุเป็นนักเรียนนักศึกษา

ร้อยละ 7.2 เป็นแม่บ้าน/พ่อบ้าน/เกษียณอายุ

ร้อยละ 2.8 ว่างงาน/ไม่ได้ประกอบอาชีพ

ตารางที่ 1 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุ ความคิดเห็นต่อความเหมาะสมในการปรับคณะรัฐมนตรีช่วงเวลานี้
ลำดับที่          ความคิดเห็น                                                    ค่าร้อยละ
1          ไม่เหมาะสม เพราะ เร็วเกินไป เกรงจะเกิดความวุ่นวาย เร่งทำงานหนักสร้างผลงานดีกว่า ควรให้โอกาสพิสูจน์ผลงาน ปรับคณะรัฐมนตรีไปก็ไม่มีอะไรดีขึ้น ยังไม่เห็นว่าใครจะมีฝีมือ ยังไม่ถึงเวลา และให้รอสมาชิกบ้านเลขที่ 111 เป็นต้น           62.5
2          เหมาะสม เพราะ รัฐมนตรีบางคนไม่มีประสิทธิภาพ บางคนรวบอำนาจไว้คนเดียว บางคนทำงานไม่เป็น ไม่มีประสบการณ์ เป็นต้น          37.5
          รวมทั้งสิ้น                                                            100.0


ตารางที่ 2 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุความขัดแย้งทางการเมืองในหมู่ประชาชน ในอีก 3 เดือนข้างหน้า
ลำดับที่          ความขัดแย้งทางการเมืองในหมู่ประชาชน ในอีก 3 เดือนข้างหน้า             ค่าร้อยละ
1          รุนแรงมากขึ้น                                                         47.3
2          เท่าเดิม                                                             38.9
3          ลดลง                                                               13.8
          รวมทั้งสิ้น                                                            100.0

ตารางที่ 3 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุความกังวลต่อสถานการณ์รุนแรงบานปลายในช่วงเทศกาลปีใหม่
ลำดับที่          ความกังวล                                                     ค่าร้อยละ
1          กังวล                                                               52.9
2          ไม่กังวล                                                             47.1
          รวมทั้งสิ้น                                                            100.0

ตารางที่ 4 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุปัญหาการทุจริตคอรัปชั่นในโครงการต่าง ๆ ของรัฐบาล ในอีก 6 เดือนข้างหน้า
ลำดับที่          ปัญหาการทุจริตคอรัปชั่นในโครงการต่าง ๆ ของรัฐบาล ในอีก 6 เดือนข้างหน้า    ค่าร้อยละ
1          มากขึ้น                                                              54.8
2          เท่าเดิม                                                             31.8
3          น้อยลง                                                              13.4
          รวมทั้งสิ้น                                                            100.0

ตารางที่ 5 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุปัญหาการทุจริตคอรัปชั่นและการเรียกเงินใต้โต๊ะในกลุ่มข้าราชการ ในอีก 6 เดือนข้างหน้า
ลำดับที่          ปัญหาการทุจริตคอรัปชั่นและการเรียกเงินใต้โต๊ะในกลุ่มข้าราชการ ในอีก 6 เดือนข้างหน้า    ค่าร้อยละ
1          มากขึ้น                                                                      54.2
2          เท่าเดิม                                                                     32.4
3          น้อยลง                                                                      13.4
          รวมทั้งสิ้น                                                                    100.0

ตารางที่ 6 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุ การพบเห็นต่อเจ้าหน้าที่รัฐและนักการเมืองที่ทุจริตคอรัปชั่นแล้วถูกลงโทษลงทัณฑ์ ตกระกำลำบาก
ลำดับที่          การพบเห็น                                                             ค่าร้อยละ
1          ค่อนข้างน้อย ถึง น้อยที่สุด                                                        67.9
2          ค่อนข้างมาก ถึง มากที่สุด                                                        32.1
          รวมทั้งสิ้น                                                                    100.0

ตารางที่ 7 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุ การพบเห็นเจ้าหน้าที่รัฐและนักการเมืองที่ทุจริตคอรัปชั่นแล้วร่ำรวย เอาตัวรอด พ้นความผิด
ลำดับที่          การพบเห็น                                                             ค่าร้อยละ
1          พบเห็นค่อนข้างมาก ถึง มากที่สุด                                                   71.7
2          ค่อนข้างน้อย ถึง น้อยที่สุด                                                        28.3
          รวมทั้งสิ้น                                                                    100.0

ตารางที่ 8 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุ ถึงเวลาหรือไม่ที่รัฐบาลจะประกาศสงครามคอรัปชั่นทุกรูปแบบ
ลำดับที่          ความคิดเห็น                                                            ค่าร้อยละ
1          ถึงเวลาแล้ว                                                                  83.7
2          ไม่คิดเช่นนั้น                                                                  16.3
          รวมทั้งสิ้น                                                                    100.0

--เอแบคโพลล์--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ