เอแบคโพลล์: ภาระค่าใช้จ่ายในการฟื้นฟูบ้านและทรัพย์สินภายในครัวเรือนหลังน้ำลดของประชาชน

ข่าวผลสำรวจ Monday January 9, 2012 07:19 —เอแบคโพลล์

ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเอแบคนวัตกรรมทางสังคม การจัดการและธุรกิจ (Social Innovation in Management and Business Analysis, SIMBA) หรือศูนย์วิจัยธุรกิจ สำนักวิจัยเอแบคโพลล์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ โดยการสนับสนุนทุนวิจัยของธนาคารกรุงศรีฯ เปิดเผยผลวิจัยเชิงสำรวจเรื่อง ภาระค่าใช้จ่ายในการฟื้นฟูบ้านและทรัพย์สินภายในครัวเรือนหลังน้ำลดของประชาชน: กรณีศึกษาประชาชนผู้ประสบภัยพิบัติน้ำท่วมในพื้นที่ 9 จังหวัดของประเทศ ได้แก่ กรุงเทพมหานคร ปทุมธานี อยุธยา นนทบุรี นครปฐม อ่างทอง สุพรรณบุรี ลพบุรี และนครสวรรค์ จำนวนทั้งสิ้น 1,738 ตัวอย่าง ดำเนินโครงการระหว่างวันที่ 15 ธันวาคม — 7 มกราคมที่ผ่านมา โดยผลสำรวจทั้งหมดนี้สามารถดึงข้อมูลฟรีได้ที่ www.abacpolldata.au.edu พบว่า ประชาชนที่ถูกศึกษาส่วนใหญ่หรือร้อยละ 95.3 ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติน้ำท่วมครั้งที่ผ่านมา เมื่อถามถึงปัญหาผลกระทบจากภัยพิบัติ พบว่าผู้ประสบภัยส่วนใหญ่หรือร้อยละ 86.5 มีค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวันที่สูงขึ้น เช่น ค่าเดินทาง ของกินของใช้แพงขึ้น รองลงมาคือ ร้อยละ 81.6 อาคาร/บ้านเรือนได้รับความเสียหาย และร้อยละ 61.7 ทรัพย์สินได้รับความเสียหาย เช่น รถยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า เฟอร์นิเจอร์

เมื่อสอบถามถึงค่าใช้จ่ายเป็นจำนวนเงินที่ต้องจัดหาไว้ในการฟื้นฟูอาคารบ้านเรือนและทรัพย์สินของตนเอง พบว่า กว่า 2 ใน 3 หรือร้อยละ 68.4 ต้องซ่อมแซมอาคารบ้านเรือน โดยมีค่าใช้จ่ายเฉลี่ยจำนวน 37,022 บาท ค่าใช้จ่ายสูงสุดอยู่ที่ 500,000 บาท รองลงมาคือ ร้อยละ 40.6 ต้องซื้อ/ซ่อมแซมเครื่องใช้ไฟฟ้าและเฟอร์นิเจอร์ เฉลี่ยอยู่ที่ 20,745 บาท ค่าใช้จ่ายสูงสุดอยู่ที่ 200,000 บาท ร้อยละ 20.6 ต้องซ่อมแซมระบบไฟฟ้า ประปา โทรศัพท์ในบ้าน เฉลี่ยอยู่ที่ 7,096 บาท ค่าใช้จ่ายสูงสุดอยู่ที่ 50,000 บาท ร้อยละ 13.6 ต้องซ่อมแซมรถยนต์ เฉลี่ยอยู่ที่ 22,603 บาท ค่าใช้จ่ายสูงสุดอยู่ที่ 250,000 บาท และร้อยละ 8.2 ต้องรักษาอาการเจ็บป่วยของตนเองและครอบครัว เฉลี่ยอยู่ที่ 5,611 บาท ค่าใช้จ่ายสูงสุดอยู่ที่ 40,000 บาท

ทั้งนี้ เงินที่นำมาใช้เพื่อฟื้นฟู ตัวอย่างผู้ประสบภัยส่วนใหญ่ หรือร้อยละ 84.2 จะใช้เงินเก็บของตนเอง ขณะที่ร้อยละ 40.8 มีความจำเป็นต้องยืม/กู้เงินนอกระบบ และร้อยละ 16.4 จะกู้จากสถาบันการเงิน

เมื่อสอบถามความเหมาะสมของวงเงินเยียวยา 5,000 บาทของรัฐบาล พบว่าตัวอย่างกว่าครึ่งหรือร้อยละ 59.5 คิดว่าต้องมากกว่า 5,000 บาท ขณะที่ร้อยละ 40.5 เห็นว่าเหมาะสมแล้ว

ผอ.เอแบคโพลล์ กล่าวว่า ผลสำรวจครั้งนี้ชี้ชัดว่า ชาวบ้านเหยื่อน้ำท่วมกำลังเดือดร้อนเป็นทุกข์ในภาระค่าใช้จ่ายต้องหยิบยืมและพึ่งพากู้เงินนอกระบบอย่างแน่นอน เงินเยียวยาของรัฐบาลจำนวนห้าพันบาทไม่เพียงพอต่อการช่วยเหลือประชาชนผู้ประสบภัยพิบัติน้ำท่วมส่วนใหญ่ของพื้นที่ภัยพิบัติทั้งหมด จึงจำเป็นต้องทบทวนมาตรการฟื้นฟูเยียวยาเพิ่มเติมโดยเสนอให้พิจารณาแนวคิดและงานวิจัยมาตรการรับมือภัยพิบัติที่ค้นพบในต่างประเทศดังต่อไปนี้

ประการแรก เสนอให้สำนักงานสถิติแห่งชาติทำการสำรวจสำมะโนครัวเรือนในแต่ละพื้นที่หาความเป็นจริงของมูลค่าความเสียหายแต่ละครัวเรือนเนื่องจากสำนักงานสถิติแห่งชาติมีความชำนาญด้านนี้จะทำให้รัฐบาลได้ข้อมูลที่ใกล้เคียงความเป็นจริงมากขึ้นเพราะเห็นได้ชัดเจนว่าวงเงินที่ประมาณออกมาในเบื้องต้นห่างไกลกับความเสียหายที่เกิดขึ้นจริงในความทุกข์ เดือดร้อนของประชาชนอย่างมาก

ประการที่สอง เสนอให้ทำแผนรับมือภัยพิบัติทุกประเภทอย่างยั่งยืนเพราะภัยพิบัติมีทั้งภัยพิบัติทางธรรมชาติและภัยพิบัติจากการก่อการร้ายที่ประเทศไทยกำลังเป็นประเทศที่ตกอยู่ในกลุ่มเสี่ยงของขบวนการก่อการร้ายเช่นกัน เนื่องจากระบบการตรวจสอบการเข้าออกของชาวต่างชาติยังไม่มีประสิทธิภาพมากเพียงพอ ยกตัวอย่างที่เข้าใจง่ายๆ คือ ถ้าเกิดโจรขึ้นบ้านและเป็นแรงงานต่างชาติ ตำรวจก็แทบจะหมดทางที่จะตามตัวได้เนื่องจากไม่มีประวัติและการพิมพ์ลายนิ้วมือในระบบฐานข้อมูล

ประการที่สาม “แผนหรือนโยบายรัฐบาลว่าด้วยเรื่องภัยพิบัติ” ต้องเปิดโอกาสให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการวางแผนตั้งแต่ต้น รัฐบาลและเจ้าหน้าที่รัฐต้องไม่ใช่เจ้าภาพหรือฮีโร่เพื่อเรียนรู้เห็นพ้องต้องกันและลดความขัดแย้งแตกแยกรุนแรงจากปัญหาภัยพิบัติ

ประการที่สี่ เสนอให้มี “ข้อมูลข่าวสาร” ที่แม่นยำเชื่อถือได้และเข้าถึงประชาชนโดยการพัฒนาประสิทธิภาพของหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องร่วมมือกับสื่อมวลชนโดยเฉพาะสื่อโทรทัศน์ทั้งฟรีทีวีและเคเบิลทีวี ทำตัววิ่งและแผนที่โดยใช้ระบบ Geographic Information System (GIS) ที่ประสบภัยพิบัติและกำลังจะประสบภัยพิบัติทำให้ประชาชนมีข้อมูลชัดเจนประกอบการพิจารณาตัดสินใจหาที่ที่ปลอดภัยว่า ชุมชนใด ตำบล อำเภอและจังหวัดใดมีภัยพิบัติรุนแรงเพียงใดและอีกกี่ชั่วโมงข้างหน้าที่จะเกิดขึ้นในพื้นที่ใดอีก เป็นต้น

ประการที่ห้า เสนอให้มีการฝึกอบรมและเพิ่มเนื้อหาด้านการศึกษาภัยพิบัติลงในหลักสูตรให้แก่นักเรียนตั้งแต่ชั้นประถมศึกษาสามารถสังเกตสัญญาณเตือนภัย และสามารถเอาตัวรอดได้จากภัยพิบัติทุกรูปแบบ ทั้งเพลิงไหม้ น้ำท่วม แผ่นดินไหว และการก่อการร้าย เป็นต้น

ประการที่หก เสนอให้มีความร่วมมืออย่างแท้จริงทั้งรัฐบาล องค์กรไม่หวังผลกำไร และบริษัทเอกชนพิจารณาระบบรับประกันความเสี่ยงภัยพิบัติทุกรูปแบบที่ถาวรครอบคลุมทั่วประเทศ มีความรวดเร็วฉับไว (Responsiveness) และตระหนักในความรับผิดชอบ (Accountability) โดยไม่สร้างความเคลือบแคลงสงสัยในหมู่ประชาชนว่ามีการเลือกปฏิบัติ ทำให้เกิดความวางใจหรือ (TRUST) ว่าทุกคนจะได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียมและทั่วถึง ก็น่าจะช่วยลดความตื่นตระหนกหรือ PANIC เวลาเกิดเหตุภัยพิบัติลงไปได้

ประการที่สำคัญคือ รัฐบาลและเจ้าหน้าที่รัฐต้องไม่สร้างภาพที่ทำไม่ได้จริง ถ้าจะประกาศอะไรที่ทำให้รัฐบาลหรือเจ้าหน้าที่รัฐผู้ประกาศดูดีต้องทำให้ “หน้าจอทีวีกับหน้าบ้านในบ้าน” ของประชาชนผู้ประสบภัยตรงกัน เพราะภัยพิบัติที่ผ่านมาจะเห็นว่าหลายครั้งข้อมูลที่ออกมาจากภาครัฐและเจ้าหน้าที่รัฐดูดี แต่ในความเป็นจริงไม่ได้เป็นตามที่พูดหรืออยู่ในสภาวะที่เคยโจมตีผู้อื่นว่า “ดีแต่พูด” ทำนองเดียวกัน ซึ่งเรื่องนี้น่าจะนำไปใช้แก้ปัญหาและลดความเดือดร้อนของประชาชนได้ในทุกเรื่อง

จากการพิจารณาลักษณะทั่วไปของตัวอย่าง พบว่าตัวอย่าง ร้อยละ 56.9 เป็นหญิง

และร้อยละ 43.1 เป็นชาย

ร้อยละ 5.8 มีอายุ 18-24 ปี

ร้อยละ 15.0 มีอายุ 25-35 ปี

ร้อยละ 17.8 มีอายุ 36-45 ปี

ร้อยละ 20.7 มีอายุ 46-55 ปี

ร้อยละ 22.3 มีอายุ 56-65 ปี

และร้อยละ 18.4 มีอายุ 66 ปีขึ้นไป

ด้านรายได้ พบว่า ร้อยละ 27.8 ระบุรายได้ไม่เกิน 5,000 บาท

ร้อยละ 27.5 ระบุ 5,001—10,000

ร้อยละ 24.6 ระบุ 10,001—20,000

ร้อยละ 8.4 ระบุ 20,001—30,000

ร้อยละ 3.2 ระบุ 30,001—40,000 บาท

ร้อยละ 3.4 ระบุ 40,001-50,000 บาท

และร้อยละ 5.1 ระบุ 50,001 บาทขึ้นไป

เมื่อจำแนกตามการศึกษา พบว่า ร้อยละ 73.6 สำเร็จการศึกษาต่ำกว่าปริญญาตรี

ร้อยละ 22.5 สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี

และร้อยละ 3.9 สำเร็จการศึกษาสูงกว่าปริญญาตรี

โปรดพิจารณารายละเอียดดังตาราง

ตารางที่ 1 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์น้ำท่วมที่ผ่านมา
ลำดับที่          ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์น้ำท่วม           ร้อยละ
1          ได้รับผลกระทบ                              95.3
2          ไม่ได้รับผลกระทบ                             4.7
          รวมทั้งสิ้น                                  100.0

ตารางที่ 2 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างผู้ประสบภัยน้ำท่วมที่ระบุผลกระทบที่ได้รับ
ลำดับที่          ผลกระทบที่ได้รับจากเหตุการณ์น้ำท่วม                                ร้อยละ
1          ค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวันที่สูงขึ้น เช่น ค่าเดินทาง ของกินของใช้แพงขึ้น          86.5
2          อาคาร/บ้านเรือนได้รับความเสียหาย                                    81.6
3          ทรัพย์สินได้รับความเสียหาย เช่น รถยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า เฟอร์นิเจอร์           61.7
4          ไม่สามารถเดินทางไปทำงานได้                                        46.7
5          ไม่สามารถประกอบอาชีพ เช่น ค้าขาย ทำนา ได้ตามปกติ                     39.8
6          ร้านค้า/ธุรกิจของตนเองต้องหยุดชั่วคราว                                 37.9
7          เกิดหนี้สิน (จากภาวะน้ำท่วม)                                         36.9
8          ระบบไฟฟ้า-ประปา-โทรศัพท์ในบ้านเสียหาย                               34.8
9          นายจ้างให้หยุดงานชั่วคราว                                           34.2
10          พืชผลทางการเกษตรเสียหาย                                         26.6

ตารางที่ 3 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างผู้ประสบภัยน้ำท่วม ที่ระบุรายการฟื้นฟูหลังน้ำลด (ตอบได้มากกว่า 1 ข้อ)
ลำดับที่          รายการฟื้นฟูหลังน้ำลด                    ร้อยละ      ค่าใช้จ่ายเฉลี่ย     ค่าใช้จ่ายสูงสุด
1          ซ่อมแซมบ้านเรือน                           68.4          37,022         500,000
2          ซื้อ/ซ่อมแซมเครื่องใช้ไฟฟ้า เฟอร์นิเจอร์          40.6          20,745         200,000
3          ซ่อมแซมระบบไฟฟ้า ประปา โทรศัพท์ในบ้าน        20.6           7,096          50,000
4          ซ่อมแซมรถยนต์                             13.6          22,603         250,000
5          รักษาอาการเจ็บป่วยของตนเองและครอบครัว        8.2           5,611          40,000

ตารางที่ 4 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างผู้ประสบภัยน้ำท่วมที่ระบุแผนการเงินเพื่อฟื้นฟูบ้าน/ธุรกิจหลังน้ำลด
ลำดับที่          แผนการเงินเพื่อฟื้นฟูบ้าน/ธุรกิจหลังน้ำลด          ร้อยละ
1          ใช้เงินของตนเอง                               84.2
2          ยืม/กู้เงินนอกระบบ                              40.8
3          กู้จากสถาบันการเงิน                             16.4
4          กำไรที่ได้จากธุรกิจ                               8.3
5          จำนำ จำนอง/ขายทรัพย์สิน                         3.5

ตารางที่ 5 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุ ความเหมาะสมของวงเงินเยียวยา 5,000 บาทของรัฐบาล
ลำดับที่          ความคิดเห็น                              ร้อยละ
1          เหมาะสมแล้ว                                  40.5
2          ต้องมากกว่า 5,000 บาท                         59.5
          รวมทั้งสิ้น                                     100.0

--เอแบคโพลล์--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ