เอแบคโพลล์: เสียงสะท้อนของกลุ่ม SMEs ต่อนโยบายรัฐบาลค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาทต่อวัน และผลกระทบต่อการประกอบธุรกิจ

ข่าวผลสำรวจ Friday February 10, 2012 10:33 —เอแบคโพลล์

ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเอแบคนวัตกรรมทางสังคม การจัดการและธุรกิจ (Social Innovation Management and Business Analysis, ABAC — SIMBA) มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ ร่วมกับ นายวีรศักดิ์ อนุสนธิวงษ์ นายกสมาคมการบริหารงานบุคคล (PAAs) โดยการสนับสนุนทุนวิจัยของธนาคารกรุงศรีฯ เปิดเผยผลวิจัยเชิงสำรวจ เรื่อง เสียงสะท้อนของกลุ่ม SMEs ต่อนโยบายรัฐบาลค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาทต่อวัน และผลกระทบต่อการประกอบธุรกิจ กรณีศึกษาตัวอย่างกลุ่ม SMEs ทั่วประเทศ จำนวน 715 บริษัท ค่าความคลาดเคลื่อนบวกลบร้อยละ 7 ดำเนินโครงการระหว่างวันที่ 6 — 9 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา โดยผลสำรวจทั้งหมดนี้สามารถดึงข้อมูลได้ทั้งหมดที่ www.abacpolldata.au.edu

ผลการสำรวจพบว่า ตัวอย่างเกินกว่าครึ่งหรือร้อยละ 56.9 ยังไม่ปรับค่าแรงขั้นต่ำสนองต่อนโยบายรัฐบาล ร้อยละ 38.7 ระบุปรับค่าแรงขั้นต่ำสนองต่อนโยบายรัฐบาล โดยไม่มีการปลดพนักงานออก ในขณะที่ ร้อยละ 4.4 ระบุปรับค่าแรงขั้นต่ำสนองตอบนโยบายรัฐบาล แต่ต้องปลดพนักงานบางส่วนออก

เมื่อสอบถามถึงปัจจัยที่ส่งผลต่อธุรกิจ จากนโยบายการขึ้นเงินเดือน พบว่า อันดับแรกหรือร้อยละ 89.0 ระบุทำให้ราคาสินค้าและบริการสูงขึ้น รองลงมาหรือร้อยละ 70.8 ระบุกังวลว่าจะส่งผลกระทบในทางลบต่อการทำธุรกิจ ร้อยละ 70.8 เท่ากันระบุการขยายตัวลดลงของเศรษฐกิจในประเทศโดยภาพรวม ร้อยละ 68.5 ระบุความเชื่อมั่นต่อการเข้ามาลงทุนของชาวต่างชาติลดลง

ในขณะที่ร้อยละ 67.8 ระบุว่าทำให้ได้แรงงานที่มีคุณภาพดีขึ้น ร้อยละ 62.9 ระบุการส่งออกลดลง ร้อยละ 62.1 การนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศเพิ่มขึ้น ร้อยละ 61.5 ระบุจำนวนแรงงานต่างด้าวเพิ่มขึ้น ร้อยละ 59.6 ระบุการจ้างงาน แรงงานไทยลดลง / เลิกจ้าง และที่น่าพิจารณาคือตัวอย่างเกินกว่าครึ่งหรือร้อยละ 57.3 จะมีการย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศเพื่อนบ้าน

ประเด็นที่น่าพิจารณาคือ เมื่อถามถึงการปรับตัวของธุรกิจ จากนโยบายการขึ้นเงินเดือน พบว่า ตัวอย่างเกือบ 3 ใน 4 หรือร้อยละ 72.3 ระบุมีการปรับระบบให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เน้นคุณภาพมากขึ้น ร้อยละ 66.7 ระบุมีการจัดทำแผนเพื่อพัฒนา ความรู้ ทักษะพนักงานให้มีมากขึ้น ร้อยละ 65.6 ระบุมีการหาตลาดเพิ่มมากขึ้น ร้อยละ 63.4 ระบุมีการปรับโครงสร้างฐานเงินเดือน

ที่น่าเป็นห่วงคือ กลุ่ม SMEs เกือบครึ่งหนึ่งหรือร้อยละ 48.4 ระบุอาจจะใช้เทคโนโลยีแทนการว่าจ้างแรงงาน ร้อยละ 30.9 ระบุยอมขาดทุนกำไร ร้อยละ 18.0 ระบุจะลดต้นทุนโดยการจ้างแรงงานต่างด้าวมาทดแทนแรงงานไทย ร้อยละ 12.2 ระบุจะย้ายฐานการลงทุนไปยังประเทศเพื่อนบ้าน ร้อยละ 8.4 ระบุจะเปลี่ยนไปทำธุรกิจอย่างอื่น และร้อยละ 3.2 ระบุจะหยุด/เลิกกิจการ

ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายต่อรัฐบาล ได้แก่ ร้อยละ 64.9 อยากให้มีการปรับค่อยเป็นค่อยไป ในกลุ่มที่มีความพร้อมก่อน ร้อยละ 21.8 อยากให้มีการลดภาษีรายได้นิติบุคคลลงมากกว่าที่เป็นอยู่ ร้อยละ 8.4 อยากให้รัฐบาลจัดอบรมเฉพาะทางให้กับ SMEs เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพแรงงาน และร้อยละ 4.9 ระบุการหักคืนภาษี

จากการพิจารณาลักษณะทั่วไปของตัวอย่าง พบว่า ร้อยละ 62.0 ประกอบธุรกิจผลิต/อุตสาหกรรม

ร้อยละ 16.2 ระบุธุรกิจค้าส่ง

ร้อยละ 16.0 ระบุธุรกิจบริการ

และร้อยละ 5.8 ระบุธุรกิจค้าปลีก

และเมื่อจำแนกตามจำนวนพนักงาน พบว่า ตัวอย่าง ร้อยละ 39.8 ระบุไม่เกิน 50 คน

ร้อยละ 34.6 ระบุ 51-200 คน

ร้อยละ 25.6 ระบุ 201 คนขึ้นไป

สำหรับตำแหน่งงานในปัจจุบัน พบว่า ร้อยละ 43.7 ระบุระดับปฏิบัติการ

ร้อยละ 34.5 ระบุหัวหน้า

ร้อยละ 11.9 ระบุผู้บริหารระดับสูง

ร้อยละ 9.9 ระบุเจ้าของกิจการ

ตารางที่ 1 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุการดำเนินการตามนโยบายการขึ้นเงินเดือนของธุรกิจ
ลำดับที่          การดำเนินการตามนโยบาย                                        ค่าร้อยละ
1          ปรับค่าแรงขั้นต่ำสนองตอบนโยบาลรัฐบาล โดยไม่มีการปลดพนักงานออก             38.7
2          ปรับค่าแรงขั้นต่ำสนองตอบนโยบายรัฐบาล แต่ต้องปลดพนักงานบางส่วนออก            4.4
3          ยังไม่ปรับค่าแรง                                                     56.9
          รวมทั้งสิ้น                                                          100.0

ตารางที่ 2 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุปัจจัยที่ส่งผลต่อธุรกิจ จากนโยบายขึ้นเงินเดือน (ตอบได้มากกว่า 1 ข้อ)
ลำดับที่          ปัจจัยที่ส่งผล                                   ค่าร้อยละ
1          ราคาสินค้าและบริการสูงขึ้น                              89.0
2          กังวลว่าจะส่งผลกระทบในทางลบต่อการทำธุรกิจ               70.8
3          การขยายตัวลดลงของเศรษฐกิจในประเทศโดยภาพรวม          70.8
4          ความเชื่อมั่นต่อการเข้ามาลงทุนของชาวต่างชาติลดลง           68.5
5          ทำให้ได้แรงงานที่มีคุณภาพดีขึ้น                            67.8
6          การส่งออกลดลง                                      62.9
7          การนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศเพิ่มขึ้น                     62.1
8          จำนวนแรงงานต่างด้าวเพิ่มขึ้น                            61.5
9          การจ้างงาน แรงงานไทยลดลง/เลิกจ้าง                    59.6
10          มีการย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศเพื่อนบ้าน                57.3

ตารางที่ 3 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุการปรับตัวของธุรกิจ จากนโยบายการขึ้นเงินเดือน (ตอบได้มากกว่า 1 ข้อ)
ลำดับที่          การปรับตัวของธุรกิจ                                              ค่าร้อยละ
1          การปรับระบบให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เน้นคุณภาพมากขึ้น (Reengineering)          72.3
2          จัดทำแผนเพื่อพัฒนา ความรู้ ทักษะพนักงานให้มีมากขึ้น                            66.7
3          หาตลาดเพิ่มมากขึ้น                                                     65.6
4          มีการปรับโครงสร้างฐานเงินเดือน                                          63.4
5          มองหาเทคโนโลยีเข้ามาช่วย ทดแทนกำลังคน                                  48.4
6          ยอมขาดทุนกำไร                                                       30.9
7          ลดต้นทุน โดยการจ้างแรงงานต่างด้าวมาทดแทน                                18.0
8          ย้ายฐานการลงทุนไปยังประเทศเพื่อนบ้าน                                     12.2
9          เปลี่ยนไปทำธุรกิจอย่างอื่น                                                 8.4
10          หยุด/เลิกกิจการ                                                       3.2

ตารางที่ 4 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุข้อเสนอแนะเชิงนโยบายจากรัฐบาล
ลำดับที่          ข้อเสนอแนะ                                                      ร้อยละ
1          อยากให้มีการปรับค่อยเป็นค่อยไป ในกลุ่มที่มีความพร้อมก่อน                        64.9
2          อยากให้มีการลดภาษีรายได้นิติบุคคลมากกว่าที่เป็นอยู่                             21.8
3          อยากให้รัฐบาลจัดอบรมเฉพาะทางให้กับ SMEs เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพแรงงาน            8.4
4          การหักคืนภาษี                                                          4.9
          รวมทั้งสิ้น                                                            100.0

--เอแบคโพลล์--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ