เอแบคโพลล์: การลงพื้นที่ป้องกันน้ำท่วม ปัญหาก่อการร้าย ความต้องการให้นายกฯ เดินจ่ายตลาดและความนิยมของสาธารณชนต่อ นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตรในตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

ข่าวผลสำรวจ Monday February 20, 2012 07:11 —เอแบคโพลล์

นางสาวปุณฑรีก์ อิศรางกูร ณ อยุธยา นักวิจัยประจำ สำนักวิจัยเอแบคโพลล์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เปิดเผยผลวิจัยเชิงสำรวจ เรื่อง การลงพื้นที่ป้องกันน้ำท่วม ปัญหาก่อการร้าย ความต้องการให้นายกฯ เดินจ่ายตลาด และความนิยมของสาธารณชนต่อ นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตรในตำแหน่งนายกรัฐมนตรี กรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนอายุ 18 ปีขึ้นไปใน 17 จังหวัดของประเทศ ได้แก่ กรุงเทพมหานคร ปทุมธานี สมุทรปราการ ฉะเชิงเทรา สุพรรณบุรี น่าน เชียงราย เชียงใหม่ อำนาจเจริญ ศรีสะเกษ เลย สกลนคร อุดรธานี นครราชสีมา สุราษฎร์ธานี ยะลา และสงขลา จำนวนทั้งสิ้น 2,585 ตัวอย่าง ดำเนินโครงการระหว่างวันที่ 15 — 18 กุมภาพันธ์ 2555 ที่ผ่านมา โดยใช้การเลือกตัวอย่างแบบแบ่งกลุ่มเชิงชั้นภูมิหลายชั้น ที่สุ่มเลือกจังหวัด อำเภอ ตำบล ชุมชน ครัวเรือน และประชาชนที่ตอบแบบสอบถามระดับครัวเรือน โดยมีช่วงความคลาดเคลื่อนบวกลบร้อยละ 7 พบว่า

เมื่อสอบถามถึงคะแนน ความมั่นใจ ของประชาชนต่อการป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วมของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ เมื่อคะแนนเต็ม 10 คะแนน พบว่า ได้ 5.28 แสดงให้เห็นว่าผ่านครึ่งหนึ่งแต่ยังอยู่ในระดับที่ชาวบ้านยังไม่ค่อยมั่นใจ อย่างไรก็ตาม เมื่อถามถึงคะแนนความพอใจของประชาชนต่อนายกรัฐมนตรีนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตรในการลงพื้นที่จังหวัดต่างๆ ในการป้องกันปัญหาน้ำท่วม พบว่าได้สูงถึง 7.39 คะแนน

แต่ที่น่าพิจารณาคือ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 76.9 ต้องการให้นายกรัฐมนตรีหญิง นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เดินจ่ายตลาดสด “เข้าถึง” หัวอกปัญหาราคาสินค้าของชาวบ้าน ในขณะที่ร้อยละ 23.1 ไม่ต้องการ แต่ที่น่าเป็นห่วงคือ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 64.7 รู้สึกกังวลต่อข่าวการก่อการร้ายภายในประเทศไทย โดยพบว่า ความรู้สึกเชื่อถือต่อข้อมูลคำเตือนของสหรัฐอเมริกาได้รับความน่าเชื่อถือสูงขึ้นในหมู่ประชาชนจากร้อยละ 55.9 ในเดือนมกราคม มาอยู่ที่ร้อยละ 65.1 ในการสำรวจครั้งล่าสุด ในขณะที่ความน่าเชื่อถือต่อข้อมูลของรัฐบาลไทยลดลงจากร้อยละ 44.1 มาอยู่ที่ร้อยละ 34.9

นางสาวปุณฑรีก์ กล่าวต่อว่า เกินครึ่งหรือร้อยละ 51.2 คาดการณ์ว่าข่าวการก่อการร้ายจะส่งผลกระทบต่อบรรยากาศการท่องเที่ยวระดับมากถึงมากที่สุด ในขณะที่ร้อยละ 32.7 ส่งผลระดับปานกลาง และร้อยละ 16.1 ระบุกระทบน้อยถึงน้อยที่สุด โดยส่วนใหญ่หรือร้อยละ 93.4 เห็นด้วยที่ควรมีการตั้งวอร์รูม หรือห้องปฏิบัติการตลอด 24 ชั่วโมงด้านความมั่นคงและลดอาชญากรรมในกรุงเทพมหานครและหัวเมืองใหญ่

เมื่อสอบถามถึงนักการเมืองที่ประชาชนเชื่อมั่นว่าจะสามารถแก้ไขปัญหาการก่อการร้ายภายในประเทศ พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 63.8 ระบุ ร.ต.อ.ดร.เฉลิม อยู่บำรุง รองลงมาคือร้อยละ 21.2 ระบุ พล.อ.ยุทธศักดิ์ ศศิประภา ร้อยละ 11.9 ระบุ พล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต และร้อยละ 3.1 ระบุอื่นๆ เช่น พล.ต.อ. ประชา พรหมนอก พล.อ. พัลลภ ปิ่นมณี นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ์ และนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม เมื่อสอบถามถึงคะแนนนิยมของสาธารณชนต่อ นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ในตำแหน่งนายกรัฐมนตรี พบว่า คะแนนนิยมของประชาชนต่อนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เพิ่มสูงขึ้นหลังจากตกลงไปในในช่วงเดือนมกราคมที่ร้อยละ 34.7 กลับสูงขึ้นมาอยู่ที่ร้อยละ 41.8 ในการสำรวจครั้งล่าสุด ในขณะที่ความนิยมของประชาชนต่อนายอภิสิทธิ์ อยู่ที่ร้อยละ 15.1 แต่กลุ่มคนที่มีจำนวนมากสุดในการสำรวจครั้งนี้เป็นกลุ่มคนที่ยังไม่นิยมศรัทธาใครเลยอยู่ที่ร้อยละ 43.1 โดยลดลงจากร้อยละ 51.1 ในการสำรวจช่วงเดือนที่แล้ว

ที่น่าสนใจคือ นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีได้รับความนิยมจากลุ่มผู้ชายสูงถึงร้อยละ 44.9 แตกต่างอย่างชัดเจนเมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มผู้หญิงที่นิยมชอบนางสาวยิ่งลักษณ์อยู่ที่ร้อยละ 39.0 กล่าวได้ว่า กลุ่มผู้ชายให้ความนิยมต่อนางสาวยิ่งลักษณ์มากกว่ากลุ่มผู้หญิงในการสำรวจครั้งนี้

และเมื่อจำแนกตามระดับการศึกษาพบว่า กลุ่มที่มีการศึกษาต่ำกว่าปริญญาตรีมีสัดส่วนของคนที่นิยมนางสาวยิ่งลักษณ์สูงที่สุดคือร้อยละ 42.5 มากกว่ากลุ่มที่มีการศึกษาระดับปริญญาตรีและสูงกว่าปริญญาตรีอยู่ที่ร้อยละ 36.2 และ 30.7 ตามลำดับ หมายความว่า คนยิ่งมีการศึกษาสูงขึ้นมีแนวโน้มสัดส่วนของคนที่นิยมต่อนางสาวยิ่งลักษณ์ลดน้อยลง แต่ก็ยังมีสัดส่วนสูงกว่ากลุ่มคนที่นิยมนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะถึงแม้ว่ากลุ่มคนที่นิยมนายอภิสิทธิ์ มีแนวโน้มสูงขึ้นในกลุ่มคนที่มีการศึกษาสูงกว่าปริญญาตรีคือ ร้อยละ 14.4 ในกลุ่มต่ำกว่าปริญญาตรี ร้อยละ 17.9 ในกลุ่มปริญญาตรี และร้อยละ 22.6 ในกลุ่มที่สูงกว่าปริญญาตรี

ที่น่าพิจารณาคือ เมื่อจำแนกออกตามภูมิภาค พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 56.8 ของคนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือนิยมนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร รองลงมาคือคนในภาคเหนือร้อยละ 37.2 ตามด้วยคนในกรุงเทพมหานครร้อยละ 34.7 ภาคกลางร้อยละ 26.9 แต่คนในภาคใต้มีเพียงร้อยละ 3.1 เท่านั้น ทั้งนี้จำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งในภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือรวมกันเกินครึ่งของจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งทั้งหมดทั่วประเทศที่มีอยู่ประมาณ 47 ล้านคน ดังนั้นเมื่อได้ฐานเสียงของคนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือกับภาคเหนือเป็นส่วนใหญ่ก็ย่อมจะสามารถชนะการเลือกตั้งได้ไม่ว่าจะเลือกตั้งกันใหม่กี่ครั้งก็ตาม

นางสาวปุณฑรีก์ หัวหน้าโครงการวิจัยสำนักวิจัยเอแบคโพลล์ กล่าวต่อว่า ผลสัมภาษณ์เจาะลึกพบด้วยว่า ยิ่งนางสาวยิ่งลักษณ์ถูกโจมตีในเรื่องส่วนตัวกลับไม่มีผลต่อคะแนนนิยม และเห็นด้วยว่าการมุ่งมั่นทำงานหนัก การลงพื้นที่ตามจังหวัดต่างๆ ในการป้องกันน้ำท่วมของนายกรัฐมนตรีนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร มีผลทำให้คะแนนนิยมของประชาชนต่อนายกรัฐมนตรีเพิ่มสูงขึ้น แต่ถ้าต้องการให้เพิ่มขึ้นในระดับที่มั่นคงต่อเสถียรภาพและแรงสนับสนุนของสาธารณชนต่อนโยบายของรัฐบาลให้ขับเคลื่อนต่อไปได้ นายกรัฐมนตรีต้องลงพื้นที่อย่างสม่ำเสมอและ “เข้าถึง” หัวอกปัญหาราคาสินค้าต่างๆ ที่เป็นความเดือดร้อนของชาวบ้าน แสดงชีวิตนายกรัฐมนตรีที่เป็นวิถีของคนส่วนใหญ่ให้มากกว่าวิถีชีวิตของคนกลุ่มน้อยบนส่วนยอดปิระมิดในสถานภาพทางสังคม เช่น การเดินจ่ายตลาดสดย่านบางกะปิ ตลาดมีนบุรี ตลาด อตก. ให้ได้สัมผัสปัญหาราคาสินค้าที่ชาวบ้านประสบในชีวิตประจำวัน และบางครั้งอาจลองนั่งรถที่ไม่มีขบวนตำรวจนำเพื่อเข้าใจถึงสภาพของคนชั้นกลางหรือมนุษย์เงินเดือนที่ติดอยู่บนท้องถนนดูบ้าง โดยบางครั้งน่าจะแสดงให้เห็นว่า ถึงแม้ได้เป็นนายกรัฐมนตรีแต่วิถีชีวิตไม่ได้แตกต่าง ไม่ได้ห่างเหินไปจากวิถีชีวิตของชาวบ้านทั่วไป

“อย่างไรก็ตาม นายกรัฐมนตรีน่าจะแสดงความเป็นผู้นำ “หญิงเหล็ก” ที่นั่งหัวโต๊ะสั่งการในห้องวอร์รูมที่เป็นห้องปฏิบัติการ 24 ชั่วโมง โดยแต่ละพื้นที่ของกองบัญชาการตำรวจนครบาลและจังหวัดต่างๆ น่าจะศึกษาห้องวอร์รูมของสำนักงาน ป.ป.ส. เป็นต้นแบบ พร้อมให้บรรดาทูตและนักธุรกิจประเทศต่างๆ เข้าสังเกตการณ์เพื่อลดความหวาดกลัวในอาชญากรรมและการก่อการร้ายภายในประเทศดูบ้าง น่าจะทำให้ได้ใจและดึงความเชื่อมั่นทั้งจากชาวต่างชาติและประชาชนคนไทยทั้งประเทศได้” นางสาวปุณฑรีก์ กล่าว

จากการพิจารณาลักษณะทั่วไปของตัวอย่างพบว่าตัวอย่าง ร้อยละ 48.5 เป็นชาย

ร้อยละ 51.5 เป็นหญิง

ตัวอย่าง ร้อยละ 5.0 อายุน้อยกว่า 20 ปี

ร้อยละ 21.5 อายุระหว่าง 20—29 ปี

ร้อยละ 20.1 อายุระหว่าง 30—39 ปี

ร้อยละ 20.0 อายุระหว่าง 40—49 ปี

และร้อยละ 33.4 อายุ 50 ปีขึ้นไป

ตัวอย่าง ร้อยละ 70.9 สำเร็จการศึกษาต่ำกว่าปริญญาตรี

ร้อยละ 23.9 สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี

และร้อยละ 5.2 สำเร็จการศึกษาสูงกว่าปริญญาตรี

ตัวอย่าง ร้อยละ 34.8 ระบุอาชีพเกษตรกร/รับจ้างทั่วไป

ร้อยละ 31.7 ระบุอาชีพค้าขาย/ธุรกิจส่วนตัว

ร้อยละ 8.4 ระบุเป็นพนักงานเอกชน

ร้อยละ 8.2 ระบุข้าราชการ/พนักงานรัฐวิสาหกิจ

ร้อยละ 7.4 ระบุเป็นนักเรียนนักศึกษา

ร้อยละ 6.5 เป็นแม่บ้าน/พ่อบ้าน/เกษียณอายุ

ร้อยละ 3.0 ว่างงาน/ไม่ได้ประกอบอาชีพ

ตารางที่ 1 แสดงค่าคะแนน “ความมั่นใจ” ของประชาชนต่อการป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วมของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ เมื่อคะแนนเต็ม 10 คะแนน
ลำดับที่          คะแนนความ มั่นใจ                                          ค่าเฉลี่ย
1          คะแนนความ “มั่นใจ” ต่อการป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วมของรัฐบาล          5.28

ตารางที่ 2 แสดงค่าคะแนนความพอใจของประชาชนต่อ นายกรัฐมนตรีในการลงพื้นที่ตามจังหวัดต่างๆ ในการป้องกันปัญหาน้ำท่วม เมื่อคะแนนเต็ม 10 คะแนน
ลำดับที่          คะแนนความพอใจ                                           ค่าเฉลี่ย
1          คะแนนความพอใจต่อ นายกรัฐมนตรีในการลงพื้นที่ป้องกันปัญหาน้ำท่วม           7.39

ตารางที่ 3 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุ ความต้องการให้ นายกรัฐมนตรีเดินจ่ายตลาดสด “เข้าถึง” หัวอกปัญหาราคาสินค้าของชาวบ้าน
ลำดับที่          ความต้องการ                                                                  ค่าร้อยละ
1          ต้องการให้นายกรัฐมนตรี นางสาวยิ่งลักษณ์  ชินวัตร เดินจ่ายตลาดสด “เข้าถึง” หัวอกชาวบ้าน           76.9
2          ไม่ต้องการ                                                                         23.1
          รวมทั้งสิ้น                                                                          100.0

ตารางที่ 4 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุความวิตกกังวลต่อการก่อการร้ายภายในประเทศ
ลำดับที่          ความรู้สึก                   ค่าร้อยละ
1          รู้สึกกังวล                        64.7
2          ไม่รู้สึกกังวล                      35.3
          รวมทั้งสิ้น                        100.0

ตารางที่ 5 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุ ความน่าเชื่อถือต่อข้อมูลระหว่างรัฐบาลไทย กับคำเตือนของสหรัฐอเมริกา
ลำดับที่          ความน่าเชื่อถือ                   มกราคม                    ค่าร้อยละ
1          ข้อมูลคำเตือนของสหรัฐอเมริกา            55.9                       65.1
2          ข้อมูลรัฐบาลไทย                       44.1                       34.9
          รวมทั้งสิ้น                            100.0                      100.0

ตารางที่ 6 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุ การคาดการณ์ผลกระทบต่อบรรยากาศการท่องเที่ยว
ลำดับที่          การคาดการณ์                        ค่าร้อยละ
1          กระทบมาก ถึงมากที่สุด                      51.2
2          ปานกลาง                                32.7
3          กระทบน้อย ถึงน้อยที่สุด                      16.1
          รวมทั้งสิ้น                                100.0

ตารางที่ 7 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุความคิดเห็นเกี่ยวกับการจัดตั้งวอร์รูม (ห้องปฏิบัติการ 24 ชั่วโมง) ด้านความมั่นคง ลดอาชญากรรม ในกรุงเทพมหานครและหัวเมืองใหญ่
ลำดับที่          ความคิดเห็น                        ค่าร้อยละ
1          เห็นด้วย                                93.4
2          ไม่เห็นด้วย                               6.6
          รวมทั้งสิ้น                               100.0

ตารางที่ 8 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุ นักการเมืองที่เชื่อมั่นว่าจะสามารถแก้ไขปัญหาการก่อการร้ายภายในประเทศ (ตอบเพียงข้อเดียว)
ลำดับที่          นักการเมืองที่เชื่อมั่นว่าจะสามารถแก้ไขปัญหาการก่อการร้ายภายในประเทศ   ค่าร้อยละ
1          ร.ต.อ. ดร. เฉลิม  อยู่บำรุง                                         63.8
2          พล.อ.ยุทธศักดิ์  ศศิประภา                                            21.2
2          พล.อ.อ. สุกำพล  สุวรรณทัต                                          11.9
3          อื่นๆ เช่น พล.ต.อ. ประชา  พรหมนอก  พล.อ. พัลลภ  ปิ่นมณี
           นายยงยุทธ  วิชัยดิษฐ์ และนางสาวยิ่งลักษณ์  ชินวัตร เป็นต้น                    3.1
          รวมทั้งสิ้น                                                         100.0
ตารางที่ 9 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุ ความนิยมศรัทธาต่อ นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร กับ นายอภิสิทธิ์  เวชชาชีวะ
ลำดับที่          ความนิยมศรัทธา      กันยายน 54ค่าร้อยละ       มกราคม 55ค่าร้อยละ        กุมภาพันธ์ 55ค่าร้อยละ
1          นางสาวยิ่งลักษณ์  ชินวัตร         38.6                    34.7                    41.8
2          นายอภิสิทธิ์  เวชชาชีวะ          12.9                    14.2                    15.1
3          ไม่นิยมศรัทธาใครเลย            48.5                    51.1                    43.1
          รวมทั้งสิ้น                     100.0                   100.0                   100.0
ตารางที่ 10 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุ ความนิยมศรัทธาต่อ นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร  กับ นายอภิสิทธิ์  เวชชาชีวะ จำแนกตามเพศ
ลำดับที่          ความนิยมศรัทธา          ชายค่าร้อยละ    หญิงค่าร้อยละ
1          นางสาวยิ่งลักษณ์  ชินวัตร          44.9          39.0
2          นายอภิสิทธิ์  เวชชาชีวะ           13.2          16.3
3          ไม่นิยมศรัทธาใครเลย             41.9          44.7
          รวมทั้งสิ้น                      100.0         100.0

ตารางที่ 11 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุ ความนิยมศรัทธาต่อ นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร กับ นายอภิสิทธิ์  เวชชาชีวะ ในตำแหน่งนายกรัฐมนตรี จำแนกตามการศึกษา
ลำดับที่          ความนิยมศรัทธา       ต่ำกว่า ป.ตรีค่าร้อยละ        ปริญญาตรีค่าร้อยละ        สูงกว่า ป.ตรีค่าร้อยละ
1          นางสาวยิ่งลักษณ์  ชินวัตร          42.5                    36.2                    30.7
2          นายอภิสิทธิ์  เวชชาชีวะ           14.4                    17.9                    22.6
3          ไม่นิยมศรัทธาใครเลย             43.1                    45.9                    46.7
          รวมทั้งสิ้น                      100.0                   100.0                   100.0

ตารางที่ 12 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุ ความนิยมศรัทธาต่อ นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร  กับ นายอภิสิทธิ์  เวชชาชีวะ จำแนกตามภูมิภาค
ลำดับที่          ความนิยมศรัทธา          ภาคเหนือ         ภาคกลาง  ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ     ภาคใต้     กรุงเทพฯ
1          นางสาวยิ่งลักษณ์  ชินวัตร          37.2          26.9          56.8              3.1        34.7
2          นายอภิสิทธิ์  เวชชาชีวะ           15.0          13.4          5.5              46.9        17.8
3          ไม่นิยมศรัทธาใครเลย             47.8          59.7          37.7             50.0        47.5
          รวมทั้งสิ้น                      100.0         100.0         100.0            100.0       100.0

--เอแบคโพลล์--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ