ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยเอแบคโพลล์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เปิดเผยผลวิจัยเชิงสำรวจ เรื่อง เสียงสะท้อนของสาธารณชนต่อนักการเมือง กับภารกิจเฉียบพลันที่ชาวบ้านอยากให้นายกรัฐมนตรีนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ทำเพื่อประชาชน กรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนอายุ 18 ปีขึ้นไปใน 17 จังหวัดของประเทศ ได้แก่ กรุงเทพมหานคร ตราด สระแก้ว พระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี พิจิตร เพชรบูรณ์ เชียงใหม่ มุกดาหาร หนองคาย ชัยภูมิ ศรีสะเกษ อุดรธานี ขอนแก่น พังงา ปัตตานีและสงขลา จำนวนทั้งสิ้น 2,153 ตัวอย่าง ดำเนินโครงการระหว่างวันที่ 15 - 17 มีนาคม 2555 ที่ผ่านมา โดยใช้การเลือกตัวอย่างแบบแบ่งกลุ่มเชิงชั้นภูมิหลายชั้น ที่สุ่มเลือกจังหวัด อำเภอ ตำบล ชุมชน ครัวเรือน และประชาชนที่ตอบแบบสอบถามระดับครัวเรือน โดยมีช่วงความคลาดเคลื่อนบวกลบร้อยละ 7 พบว่า
ประชาชนส่วนใหญ่หรือร้อยละ 62.8 มองว่านักการเมืองมุ่งแต่ผลประโยชน์ส่วนตัวและพวกพ้อง ในขณะที่ร้อยละ 37.2 มองว่านักการเมืองมุ่งทำงานแก้ปัญหาเดือดร้อนของประชาชน และที่น่าเป็นห่วงคือ เมื่อถามว่า กลุ่มบุคคลใดที่จริงใจช่วยแก้ปัญหาเดือดร้อนของประชาชนได้อย่างแท้จริงมากที่สุด (ตอบได้เพียงข้อเดียว) พบว่า ร้อยละ 45.7 ระบุไม่มีใครเลย ในขณะที่ร้อยละ 32.8 ระบุเป็นนักการเมือง ร้อยละ 19.5 ระบุเป็นข้าราชการประจำ และเพียงร้อยละ 2.0 เท่านั้นที่ระบุเป็นกลุ่มนายทุน
อย่างไรก็ตาม ประชาชนส่วนใหญ่หรือร้อยละ 86.1 ยังคงเชื่อมั่นต่อการปกครองแบบประชาธิปไตย ถึงแม้ในขณะนี้ประเทศไทยกำลังประสบปัญหาขัดแย้ง แตกแยกต่างๆ มากมาย นอกจากนี้ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 79.7 ยังคงต้องการนักการเมืองอยู่ เพราะมองว่าสามารถช่วยเหลือประชาชนที่เดือดร้อน เป็นตัวแทน เป็นปากเป็นเสียงให้กับประชาชน เป็นต้น
นอกจากนี้ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 80.6 ระบุถึงเวลาแล้วที่ต้องมีนักการเมืองอัศวินหรือฮีโร่ นารีขี่ม้าขาวมาช่วยกอบกู้ความเชื่อมั่นศรัทธาของคนไทยต่อการปกครองแบบประชาธิปไตย ในขณะที่ร้อยละ 19.4 มองว่า สายเกินไปแล้ว ขอให้คนไทยทำใจยอมรับสภาพให้เป็นไปตามธรรมชาติของสังคมประชาธิปไตย
ที่น่าสนใจคือ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 92.2 เลยทีเดียวที่มองว่า ทั้งศาลปกครองและศาลรัฐธรรมนูญ ยังคงเป็นสถาบันหลักที่จำเป็นต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตย
นอกจากนี้ ที่น่าพิจารณาคือ เมื่อสอบถามถึงความรู้สึกต่อนายกรัฐมนตรี นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่ลงพื้นที่แบบเฉียบพลัน โดยไม่แจ้งให้ผู้บริหารและเจ้าหน้าที่รัฐของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทราบล่วงหน้า พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 67.4 ชอบ เพราะ จะได้เห็นการทำงานที่แท้จริง ทำให้ข้าราชการตื่นตัวในการทำงาน ไม่ทำงานแบบผักชีโรยหน้า และช่วยประกอบการตัดสินใจแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการและรวมถึงการปรับคณะรัฐมนตรีได้ด้วย เป็นต้น ในขณะที่ร้อยละ 32.6 ไม่ชอบ เพราะถึงไม่แจ้งก็รู้กันอยู่แล้ว เป็นการสร้างภาพลักษณ์ให้ตนเองดูดี เป็นต้น
เมื่อถามถึงเรื่องที่อยากให้นายกรัฐมนตรีลงพื้นที่แบบเฉียบพลันไม่ต้องแจ้งล่วงหน้า พบว่า ร้อยละ 77.7 ระบุอยากให้ลงพื้นที่ชุมชนที่มีปัญหายาเสพติดรุนแรง ช่วยเหลือชาวบ้านให้พ้นทุกข์จากปัญหายาเสพติดจริงๆ ไม่ใช่แค่หน้าจอทีวีหรือมีผลงานในสื่อมวลชนอย่างเดียว รองลงมาคือ ร้อยละ 76.5 อยากให้นายกรัฐมนตรีตรวจราชการเจ้าหน้าที่รัฐที่บริการประชาชนรากหญ้าจำนวนมาก เช่น รถเมล์ สถานีขนส่ง โรงพยาบาลรัฐ โรงพยาบาล กทม. สถานีตำรวจ เป็นต้น ร้อยละ 74.3 อยากให้เดินตลาดสด เดินห้าง ร้านค้าชุมชน ตรวจสอบราคาสินค้า ร้อยละ 67.3 อยากให้ตรวจสอบการทำงานป้องกันน้ำท่วม การใช้เงินเยียวยาผู้ประสบภัยของท้องถิ่นต่างๆ ร้อยละ 60.2 อยากให้ตรวจคุณภาพการศึกษาโรงเรียนต่างๆ ร้อยละ 49.5 อยากให้ลงพื้นที่ตรวจสภาพปัญหาการจราจร และที่เหลืออยากให้ลงพื้นที่ชุมชนแออัด แหล่งสลัม เข้าถึงชาวบ้าน เข้าถึงวิถีชีวิตชาวบ้าน เป็นต้น
ในสถานการณ์การเมืองและสังคมไทยเวลานี้ ดร.นพดล กล่าวว่า ผลสำรวจครั้งนี้ชี้ให้เห็นว่า ถึงแม้ชาวบ้านจะยี้กับพฤติกรรมของนักการเมืองที่มุ่งผลประโยชน์ส่วนตัวและพวกพ้อง แต่ก็ยังคงเห็นความสำคัญที่ต้องมีนักการเมืองในระบอบประชาธิปไตยเพื่อเป็นตัวแทนช่วยบรรเทาเยียวยาพวกเขาในยามเดือดร้อน และอยากให้คนไทยลองพิจารณาความขัดแย้งต่างๆ ที่เกิดขึ้นเป็นธรรมชาติของสังคมขนาดใหญ่ทุกประเทศทั่วโลกที่ต้องมีความขัดแย้งและความเห็นที่แตกต่าง แต่มีบางประเทศที่ความขัดแย้งนั้นอาจลุกลามบานปลายไปถึงขั้นความแตกแยกรุนแรงเพราะไม่มีสถาบันที่เป็นศูนย์รวมความเป็นหนึ่งเดียวกันของคนในชาติและไม่มีสถาบันที่เป็นหลักในระบอบประชาธิปไตย ยิ่งไปกว่านั้น เมื่อมีแนวคิดกระแสข่าวว่าจะยุบศาลปกครองและศาลรัฐธรรมนูญในการแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้น
ดร.นพดล เป็นห่วงว่า ถ้าไม่มีศาลปกครองและศาลรัฐธรรมนูญ อาจทำให้ความขัดแย้งของคนในชาติกลายเป็น “สงครามกลางเมือง” และคนไทยจะฆ่ากันเพื่อตัดสินกันเองในเรื่องความขัดแย้งทางการปกครองมากขึ้น แต่สถาบันทั้งสองเหล่านี้ต้องเป็นที่ไว้วางใจได้ของสาธารณชน และเป็นสถาบันที่ทำหน้าที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพในเป้าหมายเพื่อลดความขัดแย้ง ผ่อนหนักผ่อนเบา และปรองดองกันบนพื้นฐานของกระบวนการยุติธรรมที่มักจะมีช่องทางให้เกิดสันติภาพขึ้นในสังคม จึงน่าจะถึงเวลาแล้วที่จะกล่าวว่า “ใครที่คิดว่าตนเองไม่เคยผิดพลาด หรือไม่เคยกระทำความผิดใดๆ ก็ให้ก้าวเดินออกมาเป็นคนแรกที่จะลงโทษลงทัณฑ์นักการเมืองและผู้หลงผิดกลุ่มต่างๆ เสีย แต่ถ้าให้โอกาสพวกเขาแก้ไขปรับปรุงตัวแล้วยังทำผิดซ้ำซากหรือเป็นอันตรายต่อความสงบสุขของบ้านเมือง ก็สมควรแก่การลงโทษทัณฑ์ตามที่พวกเขาจะได้รับในกระบวนการยุติธรรม” ผลวิจัยในบางประเทศพบว่า เมื่อไม่มีสถาบันให้เป็นที่พึ่งได้ พวกเขาจะใช้กองกำลังและอาวุธเข้ามาแทนการไกล่เกลี่ยความขัดแย้งที่เกิดขึ้นทั้งในทางการเมืองและสังคม
ดร.นพดล กล่าวต่อว่า ในท่ามกลางความทุกข์ของชาวบ้านรากหญ้าของสังคมไทยเวลานี้ ชาวบ้านส่วนใหญ่กำลังต้องการนักการเมืองผู้ที่เป็นอัศวินหรือฮีโร่ นารีขี่ม้าขาวมาช่วยพวกเขา แสดงให้เห็นว่าที่ผ่านมา กลยุทธเดิมช่วงหาเสียงเลือกตั้ง คิดใหม่ทำใหม่ ทักษิณคิดเพื่อไทยทำ และการโจมตีคู่แข่งทางการเมืองว่า “ดีแต่พูด” กำลังถูกท้าทายว่า ไม่แตกต่าง ไม่มีอะไรใหม่ และจะทำให้แตกต่างไปจากรัฐบาลก่อนหน้านี้ได้อย่างไร (Make Difference ?) เพราะกลุ่มผู้มีอำนาจทางการเมืองและหน่วยงานของรัฐตั้งแต่ยอดพีระมิดจนถึงระดับหน่วยงานรัฐใกล้ชิดประชาชนยังต้องวิ่งเต้นเข้าหาศูนย์รวมอำนาจทั้งในประเทศและต่างประเทศ แทนการมุ่งมั่นทำงานหนักให้กับสาธารณชน น่าจะเอาผลงานขวัญใจมหาชนเป็นตัวชี้วัดความก้าวหน้าและความสำเร็จ
ดร.นพดล ชี้ให้เห็นด้วยว่า ชาวบ้านจำนวนมากที่ยังพึ่งพาตนเองไม่ได้ในหลายเรื่องจึงได้สะท้อนออกมาในผลสำรวจถึงความต้องการให้นายกรัฐมนตรีนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ลงพื้นที่ตรวจราชการแบบเฉียบพลันไม่ต้องบอกใครล่วงหน้า เพื่อเข้าถึงความเป็นจริงในภาคปฏิบัติที่แปลงนโยบายของรัฐบาลไปสู่วิถีชีวิตของประชาชน นายกรัฐมนตรีจะได้มีข้อมูลประกอบการตัดสินใจด้วยตนเองว่าจะปรับหรือแต่งตั้งใครเป็นรัฐมนตรี เพื่อรัฐมนตรีและข้าราชการระดับสูงจะได้ไปเฟ้นหาเจ้าหน้าที่รัฐที่ “ทั้งเก่งทั้งดี” มาทำงานเสียสละช่วยเหลือประชาชนอย่างแท้จริง ไม่ใช่ภาพลวงตา
“หรืออาจลองพิจารณา หักมุมเปลี่ยนแนวลงพื้นที่พบปะกลุ่มคนสามวัย คือ เด็กเยาวชน คนวัยทำงาน และผู้สูงอายุ ไปลองเล่นดนตรี ร้องเพลงและร่วมทำกิจกรรมแบบ คอลเลคทีฟ แอคชั่น (collective action) กับพวกเขาในบรรยากาศเบาๆ ตาม คอมมูนนิตี้มอลล์ (Community Mall) ที่ไม่มีเหล้า บุหรี่และสิ่งเสพติดร่วมกับ หน่วยงานด้านสุขภาวะ เช่น สสส. กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข ซึ่งอาจช่วยลดกระแสตึงเครียดทางสังคมและการเมืองได้บ้างในเวลานี้ เหตุเพราะเรื่องบันเทิงรื่นเริงกับวิถีของคนไทยเป็นของคู่กันมาช้านาน เพราะเมื่อคนไทยได้เห็นภาพที่ผ่อนคลายอาจช่วยทำให้คิดหาทางออกที่ดีได้กับสังคม” ผอ.เอแบคโพลล์ กล่าว
จากการพิจารณาลักษณะทั่วไปของตัวอย่าง พบว่า ตัวอย่างร้อยละ 49.7 เป็นชาย ร้อยละ 50.3 เป็นหญิง ตัวอย่างร้อยละ 3.7 อายุน้อยกว่า 20 ปี ร้อยละ 19.9 อายุระหว่าง 20—29 ปี ร้อยละ 20.2 อายุระหว่าง 30—39 ปี ร้อยละ 20.7 อายุระหว่าง 40—49 ปี และ ร้อยละ 35.5 อายุ 50 ปีขึ้นไป ตัวอย่างร้อยละ 58.7 สำเร็จการศึกษาต่ำกว่าปริญญาตรี ในขณะที่ ร้อยละ 41.3 สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีขึ้นไป ตัวอย่างร้อยละ 32.9 ระบุอาชีพเกษตรกร/รับจ้างทั่วไป ร้อยละ 27.1 ระบุอาชีพค้าขาย/ธุรกิจส่วนตัว ร้อยละ 10.6 ระบุอาชีพพนักงานเอกชน ร้อยละ 8.0 ระบุอาชีพข้าราชการ/พนักงานรัฐวิสาหกิจ ร้อยละ 8.3 ระบุเป็นนักเรียนนักศึกษา ร้อยละ 9.8 ระบุเป็นแม่บ้าน/พ่อบ้าน/เกษียณอายุ ร้อยละ 3.3 ว่างงาน/ไม่ได้ประกอบอาชีพ
ลำดับที่ ความคิดเห็น ค่าร้อยละ 1 มองว่านักการเมืองมุ่งแต่ผลประโยชน์ส่วนตัวและพวกพ้อง 62.8 2 มองว่านักการเมืองมุ่งทำงานแก้ปัญหาเดือดร้อนของประชาชน 37.2 รวมทั้งสิ้น 100.0 ตารางที่ 2 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุความคิดเห็นเกี่ยวกับกลุ่มบุคคลที่ช่วยแก้ปัญหาเดือนร้อนของประชาชนได้อย่างแท้จริง ลำดับที่ กลุ่มบุคคลที่ช่วยแก้ปัญหาเดือนร้อนของประชาชนได้อย่างแท้จริง ค่าร้อยละ 1 ไม่มีใครเลย 45.7 2 นักการเมือง 32.8 3 ข้าราชการประจำ 19.5 4 กลุ่มนายทุน 2.0 รวมทั้งสิ้น 100.0 ตารางที่ 3 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุความเชื่อมั่นต่อการปกครองแบบประชาธิปไตย ถึงแม้ในขณะนี้ประเทศไทยกำลังประสบปัญหาต่างๆ มากมาย ลำดับที่ ความเชื่อมั่นต่อการปกครองแบบประชาธิปไตย ค่าร้อยละ 1 ยังเชื่อมั่นอยู่ 86.1 2 ไม่เชื่อมั่นแล้ว 13.9 รวมทั้งสิ้น 100.0 ตารางที่ 4 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุความคิดเห็นเกี่ยวกับนักการเมืองว่ายังคงเป็นกลุ่มคนที่คุณต้องการให้มีไว้ในระบอบประชาธิปไตย ลำดับที่ ความคิดเห็น ค่าร้อยละ 1 ยังต้องการอยู่ เพราะ สามารถช่วยเหลือประชาชนที่เดือดร้อน เป็นตัวแทน เป็นปากเป็นเสียงให้กับประชาชน เป็นต้น 79.7 2 ไม่ต้องการแล้ว เพราะ เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตนและพวกพ้อง ทุจริตคอรัปชั่น เป็นต้น 20.3 รวมทั้งสิ้น 100.0 ตารางที่ 5 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุความคิดเห็นต่อช่วงเวลาที่เหมาะสมต้องมีนักการเมืองอัศวินหรือ ฮีโร่ นารีขี่ม้าขาวมาช่วยกอบกู้ความเชื่อมั่นศรัทธาของคนไทยต่อการปกครองแบบประชาธิปไตย ลำดับที่ ความคิดเห็น ค่าร้อยละ 1 ถึงเวลาแล้วที่ต้องมีนักการเมืองอัศวินหรือฮีโร่ นารีขี่ม้าขาวมาช่วยกอบกู้ความเชื่อมั่นศรัทธา ของคนไทยต่อการปกครองแบบประชาธิปไตย 80.6 2 สายเกินไปแล้ว ขอให้คนไทยทำใจยอมรับสภาพให้เป็นไปตามธรรมชาติของสังคมประชาธิปไตย 19.4 รวมทั้งสิ้น 100.0 ตารางที่ 6 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุความคิดเห็นเกี่ยวกับสถาบันหลัก อาทิ ศาลปกครอง ศาลรัฐธรรมนูญ เป็นสถาบันหลักที่จำเป็นต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ลำดับที่ ความคิดเห็น ค่าร้อยละ 1 ทั้งศาลปกครอง และศาลรัฐธรรมนูญ ยังเป็นสถาบันหลักที่จำเป็น 92.2 2 ไม่มีความจำเป็นต้องมีทั้งสองสถาบันเหล่านี้ 7.8 รวมทั้งสิ้น 100.0 ตารางที่ 7 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุความรู้สึกต่อนายกรัฐมนตรี นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่ลงพื้นที่แบบเฉียบพลัน โดยไม่ได้แจ้งให้ผู้บริหารและเจ้าหน้าที่รัฐของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทราบล่วงหน้า ลำดับที่ ความรู้สึก ค่าร้อยละ 1 ชอบ เพราะ จะได้เห็นการทำงานที่แท้จริง ทำให้ข้าราชการตื่นตัวในการทำงาน ไม่ทำงานแบบผักชีโรยหน้า
และช่วยประกอบการตัดสินใจแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการและรวมถึงการปรับคณะรัฐมนตรีได้ด้วย เป็นต้น 67.4
2 ไม่ชอบ เพราะ ถึงไม่แจ้งก็รู้กันอยู่แล้ว เป็นการสร้างภาพลักษณ์ให้ตนเองดูดี เป็นต้น 32.6 รวมทั้งสิ้น 100.0 ตารางที่ 8 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุเรื่องที่อยากให้นายกรัฐมนตรีลงพื้นที่ตรวจราชการแบบเฉียบพลันไม่ต้องแจ้งล่วงหน้า (ตอบได้มากกว่า 1 ข้อ และเป็นค่าร้อยละของกลุ่มคนที่ชอบให้ลงพื้นที่ตรวจราชการแบบเฉียบพลัน) ลำดับที่ เรื่องที่อยากให้ นายกรัฐมนตรี ตรวจราชการแบบเฉียบพลัน ไม่แจ้งล่วงหน้า ค่าร้อยละ 1 ลงชุมชนพื้นที่ปัญหายาเสพติดรุนแรง ช่วยเหลือชาวบ้านให้พ้นทุกข์ยาเสพติดจริงๆ ไม่ใช่แค่หน้าจอทีวี หรือมีผลงานในสื่อมวลชนอย่างเดียว 77.7 2 ตรวจราชการเจ้าหน้าที่รัฐที่บริการประชาชนรากหญ้าจำนวนมาก เช่น รถเมล์ สถานีขนส่ง โรงพยาบาลรัฐ โรงพยาบาล กทม. สถานีตำรวจ เป็นต้น 76.5 3 เดินตลาดสด เดินห้าง ร้านค้าชุมชน ตรวจสอบราคาสินค้า 74.3 4 ตรวจสอบการทำงานป้องกันน้ำท่วม /การใช้เงินเยียวยาผู้ประสบภัยของท้องถิ่นต่างๆ 67.3 5 ตรวจคุณภาพการศึกษา โรงเรียนต่างๆ 60.2 6 สภาพปัญหาการจราจร 49.5 7 อื่น ๆ ลงชุมชนแออัด แหล่งสลัม เข้าถึงชาวบ้าน เข้าถึงวิถีชีวิตชาวบ้าน เป็นต้น 12.5
--เอแบคโพลล์--