เอแบคโพลล์: สถานการณ์การเมืองไทย ปัญหาปากท้อง ค่าครองชีพของคนกรุงเทพมหานคร และบันทึกเชิงนโยบายโครงการ “คืนพื้นที่เกษตรกรรมให้บางกอก”

ข่าวผลสำรวจ Monday March 26, 2012 07:20 —เอแบคโพลล์

ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยเอแบคโพลล์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เปิดเผยผลวิจัยเชิงสำรวจ เรื่อง สถานการณ์การเมืองไทย ปัญหาปากท้อง ค่าครองชีพของคนกรุงเทพมหานคร และบันทึกเชิงนโยบายโครงการ “คืนพื้นที่เกษตรกรรมให้บางกอก” กรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนอายุ 18 ปีขึ้นไปในเขตกรุงเทพมหานคร จำนวนทั้งสิ้น 2,245 ตัวอย่าง ดำเนินโครงการระหว่างวันที่ 20-24 มีนาคม 2555 ที่ผ่านมา ด้วยการเลือกตัวอย่างแบบแบ่งกลุ่มเชิงชั้นภูมิหลายชั้น โดยมีช่วงความคลาดเคลื่อนบวกลบร้อยละ 7 พบว่า

ก้ำกึ่งกันหรือร้อยละ 50.8 ต่อร้อยละ 49.2 ที่เชื่อมั่นต่อสถานการณ์การเมืองของประเทศไทย ว่าจะสามารถเป็นไปตามระบอบประชาธิปไตยได้ โดยถือว่าความขัดแย้งเป็นเรื่องปกติธรรมดา แต่ที่น่าพิจารณาคือ ร้อยละ 50.0 วิตกกังวลเรื่องปัญหาเศรษฐกิจและปากท้อง ค่าครองชีพมากกว่าปัญหาขัดแย้งทางการเมือง ในขณะที่ร้อยละ 12.9 วิตกกังวลเรื่องปัญหาขัดแย้งทางการเมืองมากกว่า และร้อยละ 32.4 วิตกกังวลทั้งสองเรื่อง มีเพียงร้อยละ 4.7 ที่ไม่วิตกกังวลทั้งสองเรื่อง

สำหรับปัญหาเดือดร้อนที่ประชาชนประสบในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 88.7 ระบุราคาสินค้าสูงขึ้น ร้อยละ 82.8 ราคาน้ำมัน ร้อยละ 56.9 ระบุรายได้ไม่เพียงพอกับรายจ่าย ร้อยละ 45.3 ระบุภัยธรรมชาติ ร้อยละ 43.1 ระบุปัญหายาเสพติด ร้อยละ 31.5 ปัญหาความไม่ปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ร้อยละ 22.8 ระบุไม่ได้รับความเป็นธรรม ร้อยละ 18.4 ระบุปัญหาถูกเลิกจ้าง ว่างงาน และร้อยละ 13.1 ระบุเงินกู้นอกระบบ

ผลสำรวจยังพบว่า ประชาชนส่วนใหญ่หรือร้อยละ 82.1 หาซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคเป็นประจำที่ตลาดสด ตลาดนัด ร้อยละ 52.2 ระบุห้างสรรพสินค้า ร้อยละ 51.1 ระบุซุปเปอร์มาร์เก็ต ร้อยละ 50.7 จากร้านโชว์ห่วยในหมู่บ้าน ชุมชน ที่น่าเป็นห่วงคือมีเพียงร้อยละ 10.2 เท่านั้นที่ซื้อสินค้าจากร้านธงฟ้า ยิ่งไปกว่านั้น สำหรับปัญหาที่ประชาชนประสบในการซื้อสินค้าช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 82.4 ระบุราคาสินค้าสูงเกินไป นอกจากนี้ เกินครึ่งหรือร้อยละ 55.0 ระบุสินค้าขาดตลาด ไม่มีจำหน่าย และร้อยละ 39.3 ระบุสินค้าไม่มีคุณภาพ เป็นต้น

นอกจากนี้ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 65.4 เคยโทรร้องเรียนเรื่องราคาสินค้ากับสายด่วนของ กรมการค้าภายใน 1569 ในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม ร้อยละ 60.6 ของคนที่เคยโทรร้องเรียนระบุว่า ราคายังสูงเหมือนเดิม ไม่มีการแก้ไขช่วยเหลือใดๆ ในขณะที่ เกือบ 1 ใน 4 หรือร้อยละ 24.2 ระบุราคากลับเพิ่มสูงขึ้น และร้อยละ 15.2 เท่านั้นที่ระบุราคาลดลง

ดร.นพดล กล่าวว่า คนกรุงเทพมหานครส่วนใหญ่วิตกกังวลเป็นห่วงปัญหาปากท้อง ค่าครองชีพมากกว่าปัญหาขัดแย้งทางการเมือง ในขณะที่นโยบายหรือมาตรการเดิมๆ ของรัฐบาลปัจจุบันและในอดีต เช่น ร้านธงฟ้า ไข่ชั่งกิโล ไม่สามารถแก้ปัญหาได้ครอบคลุมและยั่งยืน จึงมีข้อเสนอเป็นบันทึกเชิงนโยบายบรรเทาความเดือดร้อนค่าใช้จ่ายประจำวันของคนกรุงเทพฯ ภายใต้โครงการ “คืนพื้นที่เกษตรกรรมให้บางกอกเพื่อบรรเทาภาระค่าครองชีพของคนเมืองกรุง” แนวคิดนี้ไม่ใช่การย้ายเมืองหลวงของประเทศ แต่ชี้ให้เห็นถึงความเป็นไปได้ว่า คนกรุงเทพมหานครสามารถใช้สอยเก็บเกี่ยวผลประโยชน์จากการปลูกพืชผัก ผลไม้ เลี้ยงสัตว์ เลี้ยงปลา ที่รับประทานได้โดยแบ่งสัดส่วนพื้นที่จาก “ลานจอดรถ” “ลานกีฬา” และ “การปลูกไม้ดอกไม้ประดับ” มาเป็นพื้นที่ด้านการเกษตรที่ “กินได้” ตรงกับลักษณะธรรมชาติดินของกรุงเทพมหานครในพื้นที่ว่างเปล่าของหน่วยงานต่างๆ ผ่านข้อเสนอดังต่อไปนี้

          1)          ให้แต่ละชุมชนมีพื้นที่ทำเกษตรกรรมเล็กๆ ที่จะเก็บเกี่ยวเก็บกินได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายในที่ว่างเปล่า เช่น พื้นที่ใต้ทางด่วน พื้นที่ริมถนนข้างฟุตบาทหรือทางเดินเท้า ที่ว่างเปล่าในชุมชน ลำน้ำคูคลอง และที่ว่างเปล่าของหน่วยงานที่รัฐเป็นเจ้าของ โดยจะมีระเบียบกฎเกณฑ์การทำเกษตรกรรมที่เหมาะสมในแต่ละชุมชน
          2)          ปลูกพืชผัก ผลไม้ตามไหล่ทางที่สาธารณะแบ่งสัดส่วนกับไม้ดอกไม้ประดับทำให้พื้นที่กรุงเทพมหานครมีลักษณะ “สวยงาม สะอาดและกินได้อย่างเสรี”
          3)          จัดตั้งเครือข่ายสำนักงานบริหารจัดการเกษตรกรรมในพื้นที่ว่างเปล่าในกรุงเทพมหานคร โดยมีบทบาทสำคัญในการออกกฎระเบียบต่างๆ ป้องกันความไม่รับผิดชอบและพฤติกรรมไม่พึงประสงค์ใดๆ ในการแสวงหาผลประโยชน์ส่วนตัวจากโครงการนี้
          4)          จัดทำระบบที่ยั่งยืนคืนพื้นที่เกษตรกรรมให้บางกอก แก้ปัญหาปากท้อง ลดภาระค่าใช้จ่ายอาหารประจำวัน และอาจนำไปสู่การสร้างอาชีพระดับพื้นที่ชุมชนและครัวเรือนได้

ดร.นพดล ยังเสนอให้เครือข่ายสำนักงานบริหารจัดการเกษตรกรรมในพื้นที่ว่างเปล่าในกรุงเทพมหานครมีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับชาวบ้านรากหญ้าด้านเกษตรกรรม และหนุนเสริมการมีส่วนร่วมจัดตั้งระบบดูแลอย่างยั่งยืน โดยรัฐบาลต้องมีแผนชัดเจนเพื่อช่วยแบ่งเบาภาระค่าครองชีพของคนกรุงเทพมหานครที่สามารถมีพืชผัก ผลไม้ ข้าวปลาอาหาร เนื้อสัตว์ในการบริโภค ที่สามารถหารับประทานได้โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายที่เพียงพอต่อความต้องการของคนในครอบครัวตามกฎระเบียบที่เหมาะสมในการเก็บพืชผัก ผลไม้ และเนื้อสัตว์ไปบริโภคประจำวันเท่านั้น เพราะ “มาตรการธงฟ้า” ของรัฐบาลชุดปัจจุบัน นโยบายไข่ชั่งกิโลของรัฐบาลก่อนหน้านี้ และการเข้าไปแทรกแซงกลไกราคาสินค้าของตลาดไม่สามารถตอบสนองความต้องการ และไม่สามารถลดปัญหาค่าครองชีพของประชาชนได้อย่างทั่วถึงและยั่งยืน

“การแปลงโครงการนี้สู่ภาคปฏิบัติทั้งสี่ประการข้างต้นจำเป็นต้องได้รับการสนับสนุนจากอำนาจของ นายกรัฐมนตรี คณะรัฐมนตรี ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ผู้บริหารของการทางพิเศษ และหน่วยงานอื่นๆ ที่เป็นเจ้าของพื้นที่ว่างเปล่าเหล่านั้นและอาจจำเป็นต้องมี “กฎหมายกระจายทรัพยากรที่กินได้” ให้กับชาวบ้านรากหญ้าผู้มีรายได้น้อยซึ่งโครงการ “คืนพื้นที่เกษตรกรรมให้บางกอก” นี้น่าจะเป็นทางออกสามารถนำไปสู่ความสำเร็จของการช่วยเหลือบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายของชาวบ้านที่ครอบคลุมอย่างยั่งยืนมากขึ้น ที่ชาวบ้านคนใด ครอบครัวใดหิวกระหายต้องการอาหาร ก็ให้บอกแกนนำชุมชน หรือสามารถเก็บพืชผักผลไม้ริมทางได้เฉพาะที่เพียงพอต่อการยังชีพในชีวิตประจำวัน หากเริ่มดำเนินโครงการนี้ได้ในระยะสามเดือนหรือหกเดือนข้างหน้า น่าจะพอทำให้พวกเราเห็นคนกรุงเทพมหานคร มีปลาที่จับกินได้ตามบ่อเลี้ยง เก็บผักบุ้ง ถั่วฝักยาว มะเขือ พริก หรือยอดกระถิน มาจิ้มน้ำพริกเป็นอาหาร หรือเก็บ มะม่วง และไม้ผลอื่นๆ ที่ปลูกกันได้ตามความเหมาะสมของสภาพดินและพื้นที่ต่างๆ ของกรุงเทพมหานคร เพื่อคนกรุงเทพฯ จะได้มีเงินเก็บออมไว้พัฒนาคุณภาพชีวิตด้านอื่นๆ ต่อไป” ผอ.เอแบคโพลล์ กล่าว

หมายเหตุ แนวคิดจากผลวิจัยครั้งนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อประโยชน์ด้านการศึกษา ไม่เกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ทางด้านการเมืองเพราะคณะวิจัยเอแบคโพลล์ยืนยันมาตลอดว่า ไม่รับอามิจสินจ้างใดๆ ของฝ่ายการเมือง และไม่มีอนาคตทางการเมือง แต่จะเป็นนักวิจัยเชิงนโยบายสาธารณะ เพื่อทำให้เสียงสะท้อนของคนทุกชนชั้นมีความสำคัญและเพื่อประโยชน์ส่วนรวมของประชาชนทั้งประเทศไปจนกว่าชีวิตจะหาไม่

จากการพิจารณาลักษณะทั่วไปของตัวอย่าง พบว่า ตัวอย่างร้อยละ 48.4 เป็นชาย ร้อยละ 51.6 เป็นหญิง ตัวอย่างร้อยละ 4.1 อายุน้อยกว่า 20 ปี ร้อยละ 21.4 อายุระหว่าง 20—29 ปี ร้อยละ 22.7 อายุระหว่าง 30—39 ปี ร้อยละ 20.3 อายุระหว่าง 40—49 ปี และ ร้อยละ 31.5 อายุ 50 ปีขึ้นไป ตัวอย่างร้อยละ 77.3 สำเร็จการศึกษาต่ำกว่าปริญญาตรี ในขณะที่ ร้อยละ 22.7 สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีขึ้นไป ตัวอย่างร้อยละ 32.3 ระบุอาชีพค้าขาย / ธุระกิจส่วนตัว ร้อยละ 21.1 ระบุรับจ้างทั่วไป ร้อยละ 17.9 ระบุเป็นพนักงานเอกชน ร้อยละ 10.9 ระบุข้าราชการ/พนักงานรัฐวิสาหกิจ ร้อยละ 7.5 ระบุเป็นนักเรียนนักศึกษา ร้อยละ 7.0 เป็นแม่บ้าน/พ่อบ้าน/เกษียณอายุ ร้อยละ 3.3 ว่างงาน/ไม่ได้ประกอบอาชีพ

ตารางที่ 1 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุ ความเชื่อมั่นต่อสถานการณ์การเมืองของประเทศไทยว่าจะสามารถเป็นไปตามระบอบประชาธิปไตยได้ โดยถือว่าความขัดแย้งเป็นเรื่องปกติธรรมดา
ลำดับที่          ความคิดเห็น             ค่าร้อยละ
1          เชื่อมั่น                      50.8
2          ไม่เชื่อมั่น                    49.2
          รวมทั้งสิ้น                    100.0

ตารางที่ 2 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่รู้สึกวิตกกังวลระหว่างปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองกับปัญหาเศรษฐกิจและปัญหาปากท้องค่าครองชีพ
ลำดับที่          ความวิตกกังวล                                                             ค่าร้อยละ
1          วิตกกังวลเรื่องปัญหาเศรษฐกิจ ปัญหาปากท้องค่าครองชีพมากกว่า ปัญหาขัดแย้งทางการเมือง          50.0
2          วิตกกังวลเรื่องปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองมากกว่า                                     12.9
3          วิตกกังวลทั้งสองเรื่อง                                                             32.4
4          ไม่วิตกกังวลทั้ง 2 เรื่อง                                                            4.7
          รวมทั้งสิ้น                                                                      100.0

ตารางที่ 3 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุปัญหาความเดือดร้อนที่ประสบ ในช่วง  12 เดือนที่ผ่านมา (ตอบได้มากกว่า  1 ข้อ)
ลำดับที่          ปัญหาที่ประสบความเดือดร้อน              ค่าร้อยละ
1          ราคาสินค้าสูงขึ้น                            88.7
2          ราคาน้ำมัน                                82.8
3          รายได้ไม่เพียงพอกับรายจ่าย                   56.9
4          ภัยธรรมชาติ                               45.3
5          การแพร่ระบาดของยาเสพติด                   43.1
6          ความไม่ปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน              31.5
7          การไม่ได้รับความเป็นธรรม                    22.8
8          การถูกเลิกจ้าง/ว่างงาน                      18.4
9          เงินกู้นอกระบบ                             13.1

ตารางที่ 4 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุแหล่งจับจ่ายใช้สอย ซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคเป็นประจำ (ตอบได้มากกว่า 1 ข้อ)
ลำดับที่          แหล่งจับจ่ายใช้สอย ซื้อสินค้าอุปโภค บริโภค เป็นประจำ       ค่าร้อยละ
1          ตลาดสด ตลาดนัด                                        82.1
2          ห้างสรรพสินค้า                                          52.2
3          ซุปเปอร์มาร์เก็ต                                         51.1
4          จากร้านโชว์ห่วยในหมู่บ้าน/ชุมชน                             50.7
5          ร้านธงฟ้า                                              10.2


ตารางที่ 5 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุปัญหาที่ตนเอง/บุคคลในครอบครัวประสบในเรื่องการจับจ่ายใช้สอยในชีวิตประจำวัน ในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา (ตอบได้มากกว่า 1 ข้อ)
ลำดับที่          ปัญหา                                 ค่าร้อยละ
1          ราคาสินค้าสูงเกินไป                           82.4
2          สินค้าขาดตลาด/ไม่มีจำหน่าย                     55.0
3          สินค้าไม่มีคุณภาพ                              39.3
4          พ่อค้า/แม่ค้า/คนขายพูดจาไม่ดี                    37.4
5          โกงน้ำหนักเครื่องชั่ง/โกงตราชั่ง                  26.7
6          สินค้าเสียก่อนหมดอายุ                          22.9
7          จำหน่ายสินค้าหมดอายุ                          17.6

ตารางที่ 6 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุเคยโทรร้องเรียนเรื่องราคาสินค้ากับสายด่วนของกรมการค้าภายใน 1569 ในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา
ลำดับที่          ร้องเรียนเรื่องราคาสินค้ากับสายด่วนกรมการค้าภายใน 1569      ค่าร้อยละ
1          เคยโทรร้องเรียน                                            65.4
2          ไม่เคย                                                    34.6
          รวมทั้งสิ้น                                                  100.0

ตารางที่ 7 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุราคาสินค้าหลังจากโทรร้องเรียนสายด่วนของกรมการค้าภายใน 1569 (เฉพาะตัวอย่างที่เคยโทรร้องเรียนสายด่วน 1569)
ลำดับที่          ราคาสินค้าหลังจากโทรร้องเรียนสายด่วนของกรมการค้าภายใน 1569     ค่าร้อยละ
1          ราคาลดลง                                                     15.2
2          ราคายังสูงเหมือนเดิม (ไม่มีการแก้ไขช่วยเหลือใดๆ)                      60.6
3          ราคาสูงขึ้น                                                     24.2
          รวมทั้งสิ้น                                                      100.0

--เอแบคโพลล์--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ