นางสาวปุณฑรีก์ อิศรางกูร ณ อยุธยา ผู้ช่วยผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเอแบคนวัตกรรมทางสังคม การจัดการและธุรกิจ (Social Innovation Management and Business Analysis, SIMBA) เปิดเผยผลวิจัยเชิงสำรวจเรื่อง สำรวจพฤติกรรมความเอาใจใส่ในการเก็บออมของคนไทยยุคปัจจุบัน กรณีศึกษาประชาชนที่พักอาศัยในเขตกรุงเทพมหานคร จำนวนทั้งสิ้น 2,674 ตัวอย่าง ค่าความคลาดเคลื่อนบวกลบร้อยละ 7 ดำเนินโครงการระหว่างวันที่ 19 — 29 มีนาคม 2555 ที่ผ่านมา โดยผลสำรวจทั้งหมดนี้สามารถดึงข้อมูลได้ที่ www.abacpolldata.au.edu
ผลสำรวจชี้ให้เห็นว่าในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมาตัวอย่างส่วนใหญ่ เกือบ 3 ใน 4 หรือร้อยละ 72.0 ระบุไม่มีการแบ่งเงินไว้เก็บออม/ลงทุน โดยมีเหตุผลสำคัญคือผลกระทบจากภัยพิบัติน้ำท่วม รายจ่ายเพิ่มขึ้นแต่รายได้เท่าเดิมหรือลดลง นอกจากนี้ สภาวะเศรษฐกิจหน้าจอทีวีที่ว่าดีขึ้นไม่ตรงกับความเป็นจริงในสภาวะเศรษฐกิจของครัวเรือนและในกลุ่มที่มีรายได้สูงไม่ได้เก็บออมเพราะอิทธิพลของกลยุทธ์ทางการตลาดและแรงกระตุ้นให้เกิดการใช้จ่ายของระบบทุนนิยม ขณะที่ตัวอย่าง ร้อยละ 28.0 ระบุเก็บออมเงินไว้ โดยเก็บออมเฉลี่ยอยู่ที่ 3,122 บาท/เดือน
ที่น่าพิจารณาคือ จากการวิจัยเอกสารเบื้องต้นพบว่า การที่จะมีสุขภาวะทางการเงินที่ดีจึงเป็นสิ่งจำเป็นที่ประชาชนทุกคนควรให้ความสำคัญ เพื่อความปลอดภัย และความมั่นคงทางการเงินในอนาคต (Financial Security) กล่าวคือ การมีเงินออมสำรองเลี้ยงชีพจากรายได้ต่อเดือน โดยหักไว้ประมาณ 20-30 เปอร์เซ็น ออมไว้สำหรับเป็นทุนสำรองในภาวะฉุกเฉิน หรือเป็นทุนสำหรับอนาคต การออมเงินตามทฤษฎีนี้มองดูแล้วเหมือนเป็นเรื่องง่ายๆ ที่ใครก็สามารถทำได้ แต่เมื่อนำมาเปรียบเทียบกับกลยุทธ์ทางการตลาดของพ่อค้ายุคใหม่ที่พยายามออกมากระตุ้นเงินในกระเป๋าของผู้บริโภคให้เกิดการจับจ่ายใช้สอย ทำให้ต้องคำนึงถึงการเก็บออมเงินของประชาชนคนไทย
การสำรวจในครั้งนี้จึงมุ่งเน้นศึกษาพฤติกรรมความเอาใจใส่ในการเก็บออมเงินของคนไทยยุคปัจจุบัน และความมั่นคงทางการเงิน เพื่อก่อให้เกิดความตระหนักในการเก็บออม และสะท้อนให้เห็นถึงความปลอดภัยของภาวะทางการเงินของคนไทยในประเทศ เมื่อถามถึงจำนวนเงินที่แบ่งไว้เพื่อการออมในแต่ละเดือนเพิ่มขึ้นหรือลดลง เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา พบว่า ตัวอย่างร้อยละ 11.4 ระบุเพิ่มขึ้น ร้อยละ 66.7 ระบุเท่าเดิม และร้อยละ 21.9 ระบุลดลง
ทั้งนี้ได้มีการถามถึงจำนวนเงินที่แบ่งไว้เพื่อการออมในแต่ละเดือน ในอีก 3 เดือนข้างหน้าต่อจากนี้ คุณคิดว่าจะมีการออมเพิ่มขึ้นหรือลดลง พบว่าตัวอย่างร้อยละ 22.6 ระบุมีการแบ่งเงินไว้ออมเพิ่มขึ้น ร้อยละ 63.5 ระบุเท่าเดิม และร้อยละ 13.9 ระบุลดลง ซึ่งเป็นการสะท้อนให้เห็นว่าประชาชนยังไม่ตระหนักถึงภาวะการเก็บออมเงินเท่าที่ควร เพราะตัวอย่างส่วนใหญ่ยังไม่คิดที่จะเพิ่มจำนวนเงินเก็บออมในแต่ละเดือน และจากการสัมภาษณ์เชิงลึก พบว่าตัวอย่างส่วนใหญ่ คาดการณ์และพบเจอราคาสินค้าที่สูงขึ้น เป็นผลทำให้ต้องมีรายจ่ายเพิ่มมากขึ้น ในขณะที่รายได้ยังเท่าเดิม หรืออาจจะลดลง ซึ่งประเด็นเหล่านี้อาจเป็นอุปสรรคต่อการออมเงินไว้ใช้ในอนาคตของประชาชน
สิ่งที่น่าพิจารณาต่อไป คือ รูปแบบการออมเงินหรือลงทุน จากผลสำรวจ 3 อันดับแรกพบว่า ตัวอย่างส่วนใหญ่เลือกออมเงินโดยฝากเงินกับธนาคาร รองลงมาคือ เลือกออมกับแผนการเงินในรูปแบบการทำประกัน และเลือกออมโดยการซื้อสลากออมสิน ตามลำดับ จากผลสำรวจจะเห็นได้ว่ารูปแบบการออมส่วนใหญ่เป็นการฝากเงินไว้กับธนาคาร ซึ่งจุดนี้สะท้อนให้เห็นถึงโอกาสของกลุ่มธนาคาร ในการสร้างกลยุทธ์ทางการตลาดที่สามารถกระตุ้นการออมเงินของประชาชนได้ เช่น การมีผลิตภัณฑ์เงินฝากที่หลากหลายและให้ดอกเบี้ยสูง การมีสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ จากการออมเงิน เป็นต้น
จากการพิจารณาลักษณะทั่วไปของตัวอย่าง พบว่า ร้อยละ 60.7 เป็นเพศหญิง ร้อยละ 39.3 เป็นเพศชาย ทั้งนี้เมื่อพิจารณาจำแนกตามช่วงอายุพบว่า ร้อยละ 5.0 ระบุอายุ 18-24 ปี ร้อยละ 20.8 ระบุอายุ 25-35 ปี ร้อยละ 28.8 ระบุอายุ 36-45 ปี ร้อยละ 45.0 ระบุอายุ 46-60 ปี และร้อยละ 0.4 ระบุอายุ 60 ปีขึ้นไป ตัวอย่างร้อยละ 86.1 ระบุสำเร็จการศึกษาต่ำกว่าปริญญาตรี ร้อยละ 13.9 ระบุสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีขึ้นไป นอกจากนี้ ร้อยละ 40.5 ระบุอาชีพค้าขายประกอบกิจการส่วนตัว ร้อยละ 33.0 ระบุเป็นเกษตรกร /รับจ้างใช้แรงงาน ร้อยละ 8.7 ระบุเป็น แม่บ้าน/พ่อบ้านเกษียณอายุ ร้อยละ 8.5 ระบุเป็นพนักงานบริษัทเอกชน ร้อยละ 6.5 ระบุเป็นข้าราชการ/พนักงานรัฐวิสาหกิจ ร้อยละ 1.6 ระบุเป็นนักเรียน นักศึกษา ร้อยละ 1.2 ระบุว่างงานไม่ได้ประกอบอาชีพ
ลำดับที่ การออมเงินในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา ร้อยละ 1 เก็บออม โดยเก็บออมเฉลี่ยเท่ากับ 3,121.55 บาทต่อเดือน 28.0 2 ไม่มี 72.0 รวมทั้งสิ้น 100.0 ตารางที่ 2 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุการออมเงินในแต่ละเดือน เมื่อเปรียบเทียบช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา(ค่าร้อยละเฉพาะตัวอย่างที่ออมเงิน) ลำดับที่ การออมเงินในแต่ละเดือน เปรียบเทียบช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา ร้อยละ 1 เพิ่มขึ้น 11.4 2 เท่าเดิม 66.7 3 ลดลง 21.9 รวมทั้งสิ้น 100.0 ตารางที่ 3 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุการออมในอีก 3 เดือนข้างหน้า ลำดับที่ การออมในอีก 3 เดือนข้างหน้า ร้อยละ 1 เพิ่มขึ้น 22.6 2 เท่าเดิม 63.5 3 ลดลง 13.9 รวมทั้งสิ้น 100.0 ตารางที่ 4 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุรูปแบบวิธีการออมเงินหรือลงทุน (เฉพาะตัวอย่างที่ออมเงิน และตอบได้มากกว่า 1 ข้อ) ลำดับที่ รูปแบบการออมเงินหรือลงทุน ในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา ในอีก 3 เดือนข้างหน้า 1 ฝากเงินกับธนาคาร 23.8 23.4 2 แผนการเงินในรูปแบบการทำประกัน 5.8 4.6 3 ซื้อสลากออมสิน 4.5 4.1 4 ซื้อสังหาริมทรัพย์ เช่น เพชร ทองคำ 4.3 4.1 5 ลงทุนผ่านกองทุนต่างๆ 1.4 1.9 6 ลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ เช่น ที่ดิน บ้าน คอนโดมิเนียม 0.9 1.5 7 ซื้อพันธบัตรรัฐบาล 0.7 1.3 8 ลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ (ซื้อหุ้น) 0.5 1.3
--เอแบคโพลล์--