เอแบคโพลล์: ประสบการณ์และสาเหตุการเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์

ข่าวผลสำรวจ Tuesday April 17, 2012 07:52 —เอแบคโพลล์

นางสาว ปุณฑรีก์ อิศรางกูร ณ อยุธยา ผู้ช่วยผู้อำนวยการสำนักวิจัยเอแบคโพลล์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เปิดเผยผลสำรวจ เรื่อง ประสบการณ์และสาเหตุการเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ กรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนอายุ 18 ปีขึ้นไป ใน 17 จังหวัดของประเทศ ได้แก่ กรุงเทพมหานคร ประจวบคีรีขันธ์ กาญจนบุรี สุพรรณบุรี ชลบุรี เชียงราย เพชรบูรณ์ เชียงใหม่ อุดรธานี สกลนคร สุรินทร์ บุรีรัมย์ ขอนแก่น นครราชสีมา ชุมพร สุราษฎร์ธานี และสงขลา จำนวนทั้งสิ้น 2,144 ตัวอย่าง และเจ้าหน้าที่ตำรวจจราจรจำนวน 215 นาย โดยดำเนินการวิจัยข้อมูลในช่วง 1 - 13 เมษายน 2555 ที่ผ่านมา โดยใช้การเลือกตัวอย่างแบบแบ่งกลุ่มเชิงชั้นภูมิหลายชั้น ที่สุ่มเลือกจังหวัด อำเภอ ตำบล ชุมชน ครัวเรือน และประชาชนที่ตอบแบบสอบถามระดับครัวเรือน โดยมีช่วงความคลาดเคลื่อนบวกลบร้อยละ 7 พบว่า

ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 78.4 เคยพบเห็นอุบัติเหตุช่วงเทศกาลสงกรานต์ปีที่ผ่านมาด้วยตนเอง โดยส่วนใหญ่หรือร้อยละ 97.6 ระบุสาเหตุของการเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนนได้แก่ ขับรถเกินความเร็วที่กำหนด ขับรถประมาทหวาดเสียว รองลงมาคือร้อยละ 95.5 ระบุไม่มีเจ้าหน้าที่ตำรวจกวดขัน จับกุมผู้กระทำผิด ร้อยละ 94.1 ระบุเมาแล้วขับ ร้อยละ 86.3 ระบุการสาดน้ำบนท้องถนนขณะขับขี่ ร้อยละ 73.8 ระบุไม่ทำตามกฎจราจร วิ่งย้อนศร ไม่ทำตามป้ายสัญญาณ และรองๆ ลงไปคือ สภาพรถยนต์ไม่สมบูรณ์ ไม่มีป้ายสัญญาณเตือนในระยะที่ป้องกันอุบัติเหตุได้ การอนุญาตใบขับขี่ที่ยังไม่ได้มาตรฐาน ไม่มีป้ายจำกัดความเร็วที่มากพอ และยังไม่มีเทคโนโลยีตรวจจับความเร็วที่เพียงพอ ตามลำดับ

เมื่อสอบถามถึงข้อเสนอแนะ พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 87.8 ระบุเสนอให้มีกฎหมายที่มีบทลงโทษรุนแรง จับปรับสูงขึ้น รองลงมาคือ ร้อยละ 86.0 ระบุเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้มงวดกวดขันจริงจังต่อเนื่อง ร้อยละ 71.8 เสนอให้ตำรวจใช้เทคโนโลยีตรวจจับความเร็วและจับกุมไม่เลือกปฏิบัติ และร้อยละ 63.5 เสนอให้ผู้ขับขี่มีน้ำใจ สลับกันไปไม่ต้องแย่งกันในจุดแยกและคอขวดต่างๆ

อย่างไรก็ตาม เมื่อสอบถามเจ้าหน้าที่ตำรวจจราจรถึงปัญหาที่ประสบ พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 88.5 ระบุ เมาแล้วขับเป็นปัญหา รองลงมาคือ ร้อยละ 60.9 ระบุเจอผู้มีอิทธิพล มีอำนาจ จับแล้วต้องปล่อย ร้อยละ 59.2 ระบุขาดการสนับสนุนจากผู้บังคับบัญชา ร้อยละ 57.3 ระบุสภาพถนนเป็นหลุม เป็นบ่อ และรองๆ ลงไปคือ สภาพอากาศ ฝนตกหนัก ถนนลื่น การใช้ยาเสพติดของผู้ขับขี่ การใช้อิทธิพลช่วยเหลือผู้กระทำความผิด ทำให้เจ้าหน้าที่ไม่อยากทำงาน และอื่นๆ ได้แก่ สภาพร่างกายของผู้ขับขี่ ความไม่มีน้ำใจต่อกัน ไม่ยอมกัน วัสดุตกหล่นบนถนน และไฟส่องสว่างไม่เพียงพอ เป็นต้น

หัวหน้าโครงการวิจัย กล่าวว่า จากผลสำรวจมีข้อเสนอแนะอยู่อย่างน้อยสองประการ คือ ประการแรก เสนอให้รณรงค์ “เปิดไฟหน้ารถ ลดอุบัติเหตุ” กับรถยนต์ทุกชนิดตลอดเวลาที่ฟ้าปิดหรือฟ้าสลัว ประการที่สอง ได้แก่ ใช้เทคโนโลยีในการบันทึกความผิดและเพิ่มโทษค่าปรับให้สูงขึ้นกับผู้กระทำผิดแบบไม่เลือกหน้าไปเสียค่าปรับที่ศาลโดยแบ่งค่าปรับออกเป็นหมวดต่างๆ แสดงในใบเสร็จให้ชัดเจนลดความเคลือบแคลงสงสัย เช่น จ่ายค่าปรับเพื่อพัฒนาท้องถิ่นที่กระทำผิดกฎจราจรนั้น ค่าบำรุงห้องสมุดประชาชนของชุมชนพื้นที่ดังกล่าว จ่ายให้ตำรวจผู้ปฏิบัติหน้าที่ จ่ายให้รัฐบาลส่วนกลางในการพัฒนาประเทศและจ่ายเป็นค่าธุรการ เป็นต้น ทั้งนี้เพื่อให้เกิดความเข็ดหลาบปรับพฤติกรรมขับรถด้วยความปลอดภัยลดอุบัติเหตุและการสูญเสียต่อตนเองและผู้อื่น

จากการพิจารณาลักษณะทั่วไปของตัวอย่างพบว่า ตัวอย่างร้อยละ 52.3 ระบุเป็นหญิง ในขณะที่ร้อยละ 47.7 ระบุเป็นชาย ตัวอย่าง ร้อยละ 5.8 ระบุอายุต่ำกว่า 20 ปี ร้อยละ 20.3 ระบุอายุระหว่าง 20-29 ปี ร้อยละ 24.1 ระบุอายุระหว่าง 30-39 ปี ร้อยละ 20.0 ระบุอายุระหว่าง 40-49 ปี และร้อยละ 29.8 ระบุอายุ 50 ปีขึ้นไป ตัวอย่างร้อยละ 70.1 สำเร็จการศึกษาต่ำกว่าปริญญาตรี ร้อยละ 21.6 สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี และร้อยละ 8.3 สำเร็จการศึกษาสูงกว่าปริญญาตรี ตัวอย่างร้อยละ 35.2 ระบุธุรกิจส่วนตัว/อาชีพค้าขาย ร้อยละ 25.9 ระบุรับจ้างใช้แรงงานทั่วไป ร้อยละ 14.9 ระบุอาชีพพนักงานบริษัทเอกชน ร้อยละ 10.5 ระบุอาชีพข้าราชการ/พนักงานรัฐวิสาหกิจ ร้อยละ 5.4 ระบุเป็นพ่อบ้าน/แม่บ้าน/เกษียณอายุ ร้อยละ 5.6 ระบุเป็นนักเรียน/นักศึกษา และร้อยละ 2.5 ระบุว่างงาน/ไม่ได้ประกอบอาชีพ

ตารางที่ 1 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ มีประสบการณ์เคยพบเห็นอุบัติเหตุด้วยตนเองในช่วงเทศกาลสงกรานต์ปีที่ผ่านมา
ลำดับที่          ประสบการณ์เคยพบเห็นอุบัติเหตุด้วยตนเอง             ร้อยละ
1          เคยพบเห็น                                        78.4
2          ไม่เคยพบเห็น                                      21.6
          รวมทั้งสิ้น                                         100.0

ตารางที่ 2 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุ สาเหตุของการเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนน (ตอบได้มากกว่า 1 ข้อ)
ลำดับที่          สาเหตุของการเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนน               ค่าร้อยละ
1          ขับรถเกินความเร็วที่กำหนด ขับรถประมาทหวาดเสียว         97.6
2          ไม่มีเจ้าหน้าที่ตำรวจกวดขัน จับกุมผู้กระทำผิด               95.5
3          เมาแล้วขับ                                        94.1
4          สาดน้ำบนท้องถนนขณะขับขี่                             86.3
5          ไม่ทำตามกฎจราจร วิ่งย้อนศร ไม่ทำตามป้ายสัญญาณ          73.8
6          สภาพรถยนต์ไม่สมบูรณ์                                69.4
7          ไม่มีป้ายสัญญาณเตือนในระยะที่ป้องกันอุบัติเหตุ               68.6
8          การอนุญาตใบขับขี่ยังไม่ได้มาตรฐาน                      62.6
9          ไม่มีป้ายจำกัดความเร็วที่มากพอ                         60.9
10          เทคโนโลยีในการตรวจจับความเร็วไม่เพียงพอ             58.8

ตารางที่ 3 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุ ข้อเสนอแนะแก้ปัญหาอุบัติเหตุบนท้องถนน (ตอบได้มากกว่า 1 ข้อ)
ลำดับที่          ข้อเสนอแนะ                                         ค่าร้อยละ
1          กฎหมายที่มีบทลงโทษรุนแรง จับปรับสูงขึ้น                        87.8
2          เจ้าหน้าที่ตำรวจเข้มงวดกวดขันจริงจังต่อเนื่อง                    86.0
3          ตำรวจใช้เทคโนโลยีจับความเร็วและจับกุมไม่เลือกปฏิบัติ             71.8
4          ให้ผู้ขับขี่มีน้ำใจ สลับกันไปไม่ต้องแย่งกันในจุดแยกและคอขวดต่างๆ      63.5

ตารางที่ 4 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างเจ้าหน้าที่ตำรวจจราจรที่ระบุ ปัญหาที่ประสบ  ( ตอบได้มากกว่า 1 ข้อ)
ลำดับที่          ปัญหาที่ประสบ                                                                      ค่าร้อยละ
1          เมาแล้วขับ                                                                             88.5
2          เจอผู้มีอิทธิพล มีอำนาจ จับแล้วต้องปล่อย                                                       60.9
3          ขาดการสนับสนุนจากผู้บังคับบัญชา                                                             59.2
4          สภาพถนนเป็นหลุม เป็นบ่อ                                                                  57.3
5          สภาพอากาศ ฝนตกหนัก ถนนลื่น                                                              55.2
6          การใช้ยาเสพติดของผู้ขับขี่                                                                  52.4
7          การใช้อิทธิพลช่วยเหลือผู้กระทำความผิด ทำให้เจ้าหน้าที่ไม่อยากทำงาน                                 51.9
8          อื่นๆ สภาพร่างกายของผู้ขับขี่ ความไม่มีน้ำใจต่อกัน ไม่ยอมกัน วัสดุตกหล่นบนถนน ไฟส่องสว่างไม่เพียงพอ เป็นต้น  24.2

--เอแบคโพลล์--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ