ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยเอแบคโพลล์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เสนอผลวิจัยเชิงสำรวจ เรื่อง ประชาชนคิดอย่างไรกับการหายไปของซูโดอีเฟดรีนกับการกลับมาของยาเสพติด กรณีศึกษาตัวอย่างเยาวชนและประชาชนอายุ 12 — 65 ปี ในพื้นที่ 17 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร เพชรบุรี ราชบุรี ปทุมธานี ชลบุรี พิจิตร เพชรบูรณ์ เชียงใหม่ อำนาจเจริญ มหาสารคาม สกลนคร ศรีสะเกษ อุดรธานี ขอนแก่น พัทลุง ชุมพรและสงขลา จากกลุ่มเยาวชนและประชาชนทั่วไป จำนวนทั้งสิ้น 48,354,601 คน ดำเนินโครงการระหว่าง วันที่ 15 มีนาคม — 18 เมษายน 2555 ที่ผ่านมา โดยการเลือกตัวอย่างแบบแบ่งกลุ่มเชิงชั้นภูมิหลายชั้น สุ่มจังหวัด อำเภอ ตำบล ชุมชน/หมู่บ้าน ครัวเรือนและเยาวชนและประชาชนที่ตอบแบบสอบถามในระดับครัวเรือน จำนวน 12,486 ครัวเรือน มีช่วงความคลาดเคลื่อนบวกลบร้อยละ 7 พบว่า
ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 75.8 คิดว่าการหายไปของยาซูโดอีเฟดรีนเกี่ยวข้องกับการผลิตยาเสพติด แต่เมื่อถามถึงการพบเห็น การรับรู้การแถลงข่าวจับกุมขบวนการค้ายาเสพติดผ่านสื่อมวลชน พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 82.6 เคยพบเห็น รับรู้การแถลงข่าวจับกุมขบวนการค้ายาเสพติดผ่านสื่อมวลชน
อย่างไรก็ตาม ที่น่าเป็นห่วงคือ เมื่อถามถึงสถานการณ์หน้าบ้าน / ในชุมชนมีแหล่งมั่วสุมเสพยาเสพติด ซื้อขายส่งยาเสพติดอยู่หรือไม่ พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 65.7 ระบุว่ายังมีอยู่ โดยส่วนใหญ่เป็นวัยรุ่นและวัยทำงาน ในขณะที่ร้อยละ 34.3 ระบุว่าไม่มีแล้ว
เมื่อถามถึงความพอใจต่อการแก้ปัญหายาเสพติดของรัฐบาลชุดปัจจุบัน พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 64.9 พอใจค่อนข้างน้อยถึงรัฐบาลต้องปรับปรุงแก้ไข ในขณะที่ ร้อยละ 35.1 พอใจค่อนข้างมากถึงพอใจมาก
ยิ่งไปกว่านั้น ผลการประมาณการทางสถิติ พบว่า คนเคยใช้ยาเสพติดที่ไม่นับรวมเหล้าและบุหรี่สูงถึง 3.7 ล้านคน ทั้งนี้ 2.9 ล้านคนเป็นคนที่ใช้ยาเสพติดในรอบ 1 ปีที่ผ่านมา โดยพื้นที่อีสานมีจำนวนคนใช้ยาเสพติดมากที่สุดกว่า 1 ล้านคน รองลงมาคือภาคกลางจำนวนกว่า 7 แสนคน ภาคเหนือกว่า 5 แสนคน ภาคใต้กว่า 3 แสนคน และกรุงเทพมหานคร กว่า 2 แสนคน
เมื่อจำแนกตามช่วงอายุจะพบว่าน่าเป็นห่วงมากยิ่งขึ้นไปอีก เมื่อพบว่าในกลุ่มเด็กและเยาวชนอายุไม่เกิน 24 ปีมีจำนวนคนใช้ยาเสพติดไม่นับรวมเหล้าและบุหรี่ในรอบ 1 ปีที่ผ่านมาเฉียดล้านคน คือ 993,986 คน และคนในช่วงเริ่มแรกวัยทำงานถึงระยะกลางคืออายุระหว่าง 25 — 44 ปี มีผู้ใช้ยาเสพติดสูงถึง 1.9 ล้านคน
เมื่อขอให้กลุ่มประชาชนผู้ตอบแบบสอบถามประเมินผลการแก้ปัญหายาเสพติดระหว่างยุครัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ กับยุครัฐบาล พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ชินวัตร พบว่า ร้อยละ 41.3 ระบุยุค พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ชินวัตร แก้ปัญหายาเสพติดได้ดีกว่า ในขณะที่ร้อยละ 32.9 ระบุยุครัฐบาลชุดปัจจุบันแก้ปัญหาได้ดีกว่า และร้อยละ 25.8 ไม่มีความเห็น
ผอ.เอแบคโพลล์ กล่าวว่า จะเห็นได้ว่ากลุ่มคนใช้ยาเสพติดไม่ได้หายไปไหนและมีจำนวนที่สูงอย่างน่าเป็นห่วงทั้งๆ ที่ “หน้าจอทีวี” มีการปราบปรามให้เห็นเป็นรายวัน แต่ “หน้าบ้าน” ของประชาชนยังคงมีแหล่งมั่วสุม ซื้อขายและส่งยาเสพติดกันอยู่ แสดงให้เห็นว่า การบริหารจัดการแก้ปัญหายาเสพติดของรัฐบาลชุดปัจจุบันน่าจะต้องปรับปรุงแก้ไขอย่างน้อยสามประการคือ
ประการแรก ต้องทำให้ “หน้าจอทีวีและหน้าบ้าน” ของประชาชนเหมือนกันคือ ต้องเข้มงวดกวดขันกับเจ้าหน้าที่ตำรวจระดับท้องที่ เพราะช่วงมีการชุมนุมประท้วงทางการเมืองก็มักจะกล่าวอ้างว่า “กำลังพลไม่เพียงพอเพราะต้องไปควบคุมฝูงชน” แต่ในช่วงที่ไม่มีการชุมนุมทางการเมืองก็พบว่า ปัญหายาเสพติดและอาชญากรรมยังคงเหมือนเดิม เจ้าหน้าที่ตำรวจก็ทำงานลงพื้นที่ไม่แตกต่างกัน ทางออกคือ การพิจารณาทบทวนแนวทางการใช้ “ตำรวจชุมชนเกรด A” ที่ผ่านการฝึกอย่างดี ไม่มีประวัติที่สร้างความเคลือบแคลงสงสัย “ไมมียี้” เข้าทำงานกับชุมชน เพื่อสร้างความวางใจหรือ TRUST ที่แท้จริงให้เกิดขึ้นในหมู่ประชาชน
ประการที่สอง ต้องปฏิรูประบบการบำบัดและฐานข้อมูลผู้ผ่านการบำบัดที่สามารถคืน “คนดีสู่สังคม” ได้อย่างแท้จริง โดยมีการเฝ้าติดตามผู้ผ่านการบำบัดอย่างต่อเนื่อง 5 — 10 ปีเพื่อมั่นใจว่า พวกเขาเหล่านั้นไม่กลับไปทำร้ายตัวเองและผู้อื่นในสังคมอีก
ประการที่สาม ต้องแก้ไขเรื่องการถ่ายโอนแลกเปลี่ยนข้อมูลปัญหาสำคัญระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐที่ถูกแต่งตั้งโยกย้าย โดยมีการจัดทำระบบฐานข้อมูลในแต่ละพื้นที่อย่างมีประสิทธิภาพ ใครที่ได้รับการแต่งตั้งโยกย้ายเข้ามาในพื้นที่สามารถทำงานต่อได้ทันที แต่ที่ผ่านมาปัญหาการแต่งตั้งโยกย้ายที่มักจะไม่มีการสร้างระบบฐานข้อมูลปัญหาในแต่ละพื้นที่เอาไว้ โดยเจ้าหน้าที่รัฐที่ถูกโยกย้ายออกนอกพื้นที่มักจะนำข้อมูลสำคัญติดตัวไปด้วย ทำให้ปัญหายาเสพติดและอาชญากรรมกลับฟื้นคืนมาได้อย่างรวดเร็ว และผู้ได้รับการแต่งตั้งเข้ามาดูแลพื้นที่ต้องมาเริ่มต้นเรียนรู้พื้นที่กันใหม่ นอกจากนี้ เมื่อทำงานไปได้ระยะหนึ่งพอจะเข้าใจปัญหาในพื้นที่ก็มักจะถูกสับเปลี่ยนโยกย้ายอีก ส่งผลให้ขาดความต่อเนื่องในการแก้ปัญหา ทางออกคือ ต้องทำงานหนักอย่างบูรณาการทำผลงานให้ปรากฏทั้งหน้าจอทีวีและหน้าบ้านของประชาชนอย่างจริงจังและต่อเนื่อง
จากการพิจารณาลักษณะทั่วไปของตัวอย่างพบว่าตัวอย่าง ร้อยละ 50.8 เป็นหญิง
ร้อยละ 49.2 เป็นชาย
ตัวอย่าง ร้อยละ 15.5 อายุต่ำกว่า 20 ปี
ร้อยละ 19.2 อายุ 20 — 29 ปี
ร้อยละ 21.4 อายุ 30 — 39 ปี
ร้อยละ 20.8 อายุ 40 — 49 ปี
และร้อยละ 23.1 อายุ 50 ปีขึ้นไป
โดยตัวอย่าง ร้อยละ 28.6 ระบุอาชีพเกษตรกร/รับจ้างทั่วไป
ร้อยละ 27.3 ระบุอาชีพค้าขาย/ธุรกิจส่วนตัว
ร้อยละ 10.3 ระบุอาชีพพนักงานบริษัทเอกชน
ร้อยละ 11.4 ระบุข้าราชการ/พนักงานรัฐวิสาหกิจ
ร้อยละ 6.9 เป็นแม่บ้าน/พ่อบ้าน/เกษียณอายุ
ร้อยละ 11.7 เป็นนักเรียน/นักศึกษา
ในขณะที่ ร้อยละ 3.8 ระบุว่างงาน/ไม่ประกอบอาชีพ นอกจากนี้
ร้อยละ 76.6 มีการศึกษาต่ำกว่าปริญญาตรี
ร้อยละ 21.0 มีการศึกษาระดับปริญญาตรี
และร้อยละ 2.4 สำเร็จการศึกษาสูงกว่าปริญญาตรีขึ้นไป
ลำดับที่ ความคิดเห็น ค่าร้อยละ 1 คิดว่าเกี่ยวข้องกับการผลิตยาเสพติด 75.8 2 ไม่คิดว่าเกี่ยวข้องกัน 24.2 รวมทั้งสิ้น 100.0 ตารางที่ 2 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุการพบเห็น รับรู้การแถลงข่าวผลงานจับกุมขบวนการค้ายาเสพติด ผ่านสื่อมวลชน ลำดับที่ การพบเห็น รับรู้การแถลงข่าวผลงานจับกุมขบวนการค้ายาเสพติด ผ่านสื่อมวลชน ค่าร้อยละ 1 พบเห็น / รับรู้ 82.6 2 ไม่เห็น 17.4 รวมทั้งสิ้น 100.0 ตารางที่ 3 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุ สถานการณ์หน้าบ้าน/ชุมชนมีแหล่งมั่วสุมเสพยาเสพติด ซื้อขายยาเสพติดอยู่ ลำดับที่ สถานการณ์หน้าบ้าน/ในชุมชนมีแหล่งมั่วสุมเสพยาเสพติด ซื้อขายยาเสพติดอยู่ ค่าร้อยละ 1 ยังมีอยู่ 65.7 2 ไม่มีแล้ว 34.3 รวมทั้งสิ้น 100.0 ตารางที่ 4 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุ ความพอใจต่อการแก้ปัญหายาเสพติดของรัฐบาลชุดปัจจุบัน ลำดับที่ ระดับความพึงพอใจ ค่าร้อยละ 1 พอใจมาก 14.4 2 พอใจค่อนข้างมาก 20.7 3 ค่อนข้างน้อย 31.5 4 น้อยถึงต้องแก้ไขปรับปรุง 33.4 รวมทั้งสิ้น 100.0 ตารางที่ 5 ผลประมาณการจำนวนผู้ใช้ยาบ้า/ยาม้าทั่วประเทศ จำแนกตามภูมิภาค พื้นที่ จำนวนประชากรในพื้นที่ จำนวนประชากรที่ใช้ยาบ้า เคยใช้ ใช้ใน 1 ปี (คน) กรุงเทพฯ 4,360,045 318,858 265,187 ภาคกลาง 12,055,912 1,047,206 756,340 ภาคตอ.เฉียงเหนือ 16,528,911 1,183,824 1,009,706 ภาคเหนือ 8,903,709 814,348 545,683 ภาคใต้ 6,506,024 410,407 387,994 รวมทั่วประเทศ 48,354,601 3,774,642 2,964,908 ตารางที่ 6 ผลประมาณการจำนวนผู้ใช้ยาบ้า/ยาม้าทั่วประเทศ จำแนกตามช่วงอายุ พื้นที่ จำนวนประชากรในพื้นที่ จำนวนประชากรที่ใช้ยาบ้า เคยใช้ ใช้ใน 1 ปี 12-24 ปี 25-44 ปี 45-65 ปี 12-24 ปี 25-44 ปี 45-65 ปี รวมทั่วประเทศ 48,354,601 1,265,450 2,447,580 61,612 993,986 1,922,527 48,395 ตารางที่ 7 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ประเมินผลการแก้ปัญหายาเสพติดระหว่างยุครัฐบาล นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร กับ รัฐบาล พ.ต.ท. ดร.ทักษิณ ชินวัตร ลำดับที่ ผลประเมิน ค่าร้อยละ 1 ยุคพ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ชินวัตร แก้ปัญหายาเสพติดได้ดีกว่า 41.3 2 ยุค นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร แก้ปัญหาได้ดีกว่า 32.9 3 ไม่มีความคิดเห็น 25.8 รวมทั้งสิ้น 100.0
--เอแบคโพลล์--