เอแบคโพลล์: จุดยืนทางการเมืองกับความรู้สึกต่อรัฐบาลภายใต้การนำของนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร

ข่าวผลสำรวจ Monday May 14, 2012 07:34 —เอแบคโพลล์

ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยเอแบคโพลล์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เปิดเผยผลวิจัยเชิงสำรวจ เรื่อง จุดยืนทางการเมืองกับความรู้สึกต่อรัฐบาลภายใต้การนำของนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร กรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนอายุ 18 ปีขึ้นไปใน 17 จังหวัดของประเทศ ได้แก่ กรุงเทพมหานคร ปทุมธานี สมุทรปราการ สุพรรณบุรี ชลบุรี พิจิตร สุโขทัย เชียงใหม่ หนองคาย สกลนคร อุบลราชธานี ยโสธร กาฬสินธุ์ ขอนแก่น ตรัง สุราษฎร์ธานี และสงขลา จำนวนทั้งสิ้น 2,048 ตัวอย่าง ดำเนินโครงการระหว่างวันที่ 8 — 12 พฤษภาคม 2555 ที่ผ่านมา โดยใช้การเลือกตัวอย่างแบบแบ่งกลุ่มเชิงชั้นภูมิหลายชั้น ที่สุ่มเลือกจังหวัด อำเภอ ตำบล ชุมชน ครัวเรือน และประชาชนที่ตอบแบบสอบถามระดับครัวเรือน โดยมีช่วงความคลาดเคลื่อนบวกลบร้อยละ 7 พบว่า ส่วนใหญ่เกือบร้อยละ 90 ติดตามข่าวสารเป็นประจำทุกสัปดาห์

และเมื่อถามถึงจุดยืนทางการเมืองของประชาชนล่าสุด พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 63.1 ขออยู่ตรงกลางไม่ฝักใฝ่ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด หรือขอเป็นพลังเงียบ ในขณะที่เกินกว่า 1 ใน 4 หรือร้อยละ 26.3 ประกาศตัวว่าสนับสนุนรัฐบาล แต่ร้อยละ 10.6 ระบุไม่สนับสนุนรัฐบาล ตามลำดับ นอกจากนี้ เมื่อถามถึงความรู้สึกต่อรัฐบาลภายใต้การบริหารงานของนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี พบว่า เกินกว่า 1 ใน 3 หรือร้อยละ 37.8 รู้สึกเบื่อหน่ายไม่สนใจแล้ว รัฐบาลอยากทำอะไรก็ทำไป อย่างไรก็ตาม ส่วนใหญ่คือเกือบ 2 ใน 3 หรือร้อยละ 62.2 ไม่รู้สึกเบื่อหน่าย ขอให้รัฐบาลตั้งใจทำงานต่อไป

ที่น่าสนใจคือ เมื่อจำแนกความรู้สึกของประชาชนต่อรัฐบาลออกตามจุดยืนทางการเมืองพบว่า กลุ่มคนที่สนับสนุนรัฐบาลส่วนใหญ่หรือกว่าร้อยละ 90 คือร้อยละ 92.5 ไม่รู้สึกเบื่อหน่ายรัฐบาล ขอให้รัฐบาลตั้งใจทำงานต่อไป แต่กลุ่มคนที่ไม่หนุนรัฐบาลส่วนใหญ่หรือร้อยละ 83.0 ของคนกลุ่มนี้รู้สึกเบื่อหน่ายไม่สนใจแล้ว รัฐบาลอยากทำอะไรก็ทำไป โดยทั้งนี้กลุ่มพลังเงียบจำนวนมากหรือร้อยละ 42.9 ก็รู้สึกเบื่อหน่ายเช่นกัน แต่ส่วนใหญ่ของกลุ่มพลังเงียบคือร้อยละ 57.1 ไม่รู้สึกเบื่อหน่าย ขอให้รัฐบาลตั้งใจทำงานต่อไป

และเมื่อจำแนกประชาชนออกตามพื้นที่นอกเขตเทศบาล ในเขตเทศบาล และกรุงเทพมหานคร พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ประมาณร้อยละ 60 ของทั้งสามพื้นที่ยังคงไม่รู้สึกเบื่อหน่ายขอให้รัฐบาลตั้งใจทำงานต่อไป แต่พบมากในกลุ่มประชาชนที่อาศัยในเขตเทศบาลร้อยละ 38.8 และพื้นที่กรุงเทพมหานครร้อยละ 40.1 ที่รู้สึกเบื่อหน่าย ไม่สนใจแล้ว รัฐบาลอยากทำอะไรก็ทำไป

เมื่อสอบถามถึง ความเป็นผู้นำของนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร หลังลงพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ หลังเกิดเหตุคาร์บอม พบว่า ร้อยละ 42.9 ระบุมีความเป็นผู้นำเพิ่มขึ้น ในขณะที่ร้อยละ 50.1 ระบุเหมือนเดิม แต่มีเพียงร้อยละ 7.0 เท่านั้นที่ระบุลดลง

โดยเห็นความแตกต่างได้ชัดเจนในเรื่องนี้เมื่อจำแนกกลุ่มประชาชนออกตามจุดยืนทางการเมืองพบว่า ส่วนใหญ่ของกลุ่มคนที่หนุนรัฐบาลหรือร้อยละ 75.4 ระบุนางสาวยิ่งลักษณ์มีความเป็นผู้นำเพิ่มขึ้น แต่กลุ่มคนที่ไม่หนุนรัฐบาลส่วนใหญ่หรือร้อยละ 64.4 ระบุเหมือนเดิม และกลุ่มพลังเงียบร้อยละ 58.8 ที่ระบุความเป็นผู้นำนายกรัฐมนตรีเหมือนเดิม อย่างไรก็ตาม กลุ่มพลังเงียบจำนวนมากหรือร้อยละ 35.3 ระบุความเป็นผู้นำของนายกรัฐมนตรีเพิ่มขึ้น

ที่น่าเป็นห่วงคือ พฤติกรรมของสมาชิกผู้ทรงเกียรติในการประชุมสภาฯ พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 55.8 ไม่อยากดู เพราะ เบื่อหน่าย เครียด เซ็งพฤติกรรมของสมาชิกผู้ทรงเกียรติ มีแต่ทะเลาะกัน หาเรื่องกันไม่จบสิ้น ไม่สร้างสรรค์ ไม่เป็นแบบอย่างที่ดีต่อเด็กและเยาวชน เป็นกลุ่มคนที่ไม่รู้จักพัฒนาขึ้น ใช้ถ้อยคำไม่สุภาพ มีพฤติกรรมก้าวร้าว ไม่เหมาะสม จ้องแต่จะชนะคะคานกัน น่าจะมีอักษรเตือนเป็น “ฉ” อย่างไรก็ตาม ร้อยละ 44.2 ยังคงอยากดู เพราะจะได้รู้ทันสถานการณ์ รู้พฤติกรรมของคนที่เป็นผู้แทนเอาไว้ตัดสินใจช่วงเลือกตั้ง และอะไรจะเกิดขึ้นก็ต้องไม่เบื่อหน่าย ต้องเฝ้าติดตามการประชุมในสภาฯ เพราะเป็นประชาธิปไตย

ผอ.เอแบคโพลล์ กล่าวว่า ผลสำรวจครั้งนี้ชี้ชัดว่า ในสถานการณ์การเมืองที่กำลังเริ่มปะทุวุ่นวายเวลานี้ส่งผลให้ผู้คนส่วนใหญ่กลับไปอยู่ตรงกลางคือ “ไม่ฝักใฝ่ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดหรือขออยู่เป็นพลังเงียบ” และจำนวนมากเริ่มเบื่อหน่ายท้อแท้ใจ ไม่สนใจและปล่อยให้รัฐบาลอยากทำอะไรก็ทำไป รวมถึงไม่อยากดูการประชุมสภาฯ อันทรงเกียรติ ซึ่งเป็นสัญญาณอันตรายต่อการปกครองแบบประชาธิปไตยอย่างยิ่ง ดังนั้น ทุกๆ ฝ่ายต้องช่วยกันโดยรัฐบาลเองต้องใส่ใจกับความรู้สึกของคนจำนวนมากเหล่านี้อย่างน้อยสองประการ คือ

ประการแรก ต้องทำให้คนไม่เบื่อการทำงานของรัฐบาล โดยมีกิจกรรมสร้างสรรค์ทางการเมืองแบบประชาธิปไตยเกิดขึ้นในระดับชุมชนท้องถิ่น วิเคราะห์สาเหตุว่าทำไมจึงมีแนวคิดกันว่า “อยากทำอะไรก็ทำไป” เกิดขึ้นในหมู่ประชาชนจำนวนมาก สาเหตุเกิดจากความผิดหวัง ความเกลียด และความไม่เป็นธรรมกับคนเหล่านี้หรือไม่ จำเป็นต้องวิเคราะห์ลงไปสู่ระดับพื้นที่และคนกลุ่มต่างๆ เพื่อลดแรงเสียดทานการทำงานของรัฐบาล

ประการที่สอง สมาชิกสภาอันทรงเกียรติต้องทำให้การประชุมเป็นที่พึ่งและความหวังของสาธารณชนได้ โดยรัฐบาลต้องให้ความสำคัญต่อการประชุมสภาอย่างยิ่ง ถ้าไม่เช่นนั้นจะทำให้สถาบันหลักทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตยถูกทำลายและการเมืองของประเทศชาติจะถดถอยกลับไปสู่บรรยากาศทางการเมืองที่นานาประเทศทั่วโลกไม่ยอมรับ และผลประโยชน์จะตกไปอยู่กับมือคนเพียงหยิบมือเดียว ปัญหาคอรัปชั่นก็ยังจะเหมือนเดิม ความเดือดร้อนของสาธารณชนก็จะไม่ได้รับการเหลียวแลเอาใจใส่เพราะเสียงของประชาชนจะไม่มีความสำคัญมากนักในการปกครองแบบอื่นที่ไม่เป็นประชาธิปไตย

ดังนั้น เพื่อลดทอนความกังวล ความเครียดของกลุ่มคนที่รักประชาธิปไตยทั้งในประเทศและต่างประเทศ ถ้าหากฝ่ายการเมืองเล็งเห็นว่าเหตุการณ์ความขัดแย้งของคนในชาติจะลุกลามบานปลายจนเกินจะควบคุมได้ ทางออกเพื่อป้องกัน “ความไม่เป็นประชาธิปไตย” โดยรัฐบาลเองก็จะได้รับความชื่นชมจนกลบความล้มเหลวในการแก้ปัญหา “ของแพง” ได้ และบ้านเมืองก็ไม่ถดถอย ทางออกนั้นคือ การคืนอำนาจให้ประชาชนเลือกตั้งใหม่เพราะจะช่วยสกัดกั้นขบวนการอำนาจอื่นใดที่นานาชาติไม่ยอมรับจนอาจสร้างความเสียหายแก่ประเทศชาติมากกว่างบประมาณที่ใช้ในการเลือกตั้งเสียอีก และหากจำเป็นต้องเลือกตั้งหรือเปลี่ยนผู้นำประเทศไปจนคนอาจจำไม่ได้ว่าผู้นำประเทศชื่ออะไรแต่ก็ยังดีที่สามารถดำรงไว้ซึ่งความเป็นตัวแทนของประชาชนและการมีส่วนร่วมของสาธารณชนในการกำหนดชะตาและทิศทางการพัฒนาประเทศในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

จากการพิจารณาลักษณะทั่วไปของตัวอย่าง พบว่า ตัวอย่างร้อยละ 49.2 เป็นชาย ร้อยละ 50.8 เป็นหญิง ตัวอย่างร้อยละ 3.5 อายุน้อยกว่า 20 ปี ร้อยละ 20.0 อายุระหว่าง 20—29 ปี ร้อยละ 21.4 อายุระหว่าง 30—39 ปี ร้อยละ 22.6 อายุระหว่าง 40—49 ปี และร้อยละ 32.5 อายุ 50 ปีขึ้นไป ตัวอย่างร้อยละ 70.6 สำเร็จการศึกษาต่ำกว่าปริญญาตรี ร้อยละ 22.5 สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี และร้อยละ 6.9 สำเร็จการศึกษาสูงกว่าระดับปริญญาตรี ตัวอย่างร้อยละ 30.3 ระบุอาชีพเกษตรกร/รับจ้างทั่วไป ร้อยละ 29.1 ระบุอาชีพค้าขาย/ธุรกิจส่วนตัว ร้อยละ 11.6 ระบุอาชีพพนักงานเอกชน ร้อยละ 9.7 ระบุอาชีพข้าราชการ/พนักงานรัฐวิสาหกิจ ร้อยละ 8.1 ระบุเป็นนักเรียนนักศึกษา ร้อยละ 7.4 ระบุเป็นแม่บ้าน/พ่อบ้าน/เกษียณอายุ ร้อยละ 3.8 ว่างงาน/ไม่ได้ประกอบอาชีพ

ตารางที่ 1 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุการติดตามข่าวสารผ่านสื่อมวลชน ในช่วง 30 วันที่ผ่านมา
ลำดับที่          การติดตามข่าวสารผ่านสื่อมวลชน             ค่าร้อยละ
1          ติดตามเป็นประจำทุกสัปดาห์                       89.7
2          ติดตามบ้าง ถึงไม่ได้ติดตามเลย                    10.3
          รวมทั้งสิ้น                                    100.0


ตารางที่ 2 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุ จุดยืนทางการเมืองของประชาชน
ลำดับที่          จุดยืนทางการเมืองของประชาชน              ค่าร้อยละ
1          สนับสนุนรัฐบาล                                26.3
2          ไม่สนับสนุนรัฐบาล                              10.6
3          ขออยู่ตรงกลางไม่ฝักใฝ่ (พลังเงียบ)                63.1
          รวมทั้งสิ้น                                    100.0

ตารางที่ 3 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุ ความรู้สึกต่อรัฐบาลภายใต้การบริหารงานของนางสาวยิ่งลักษณ์  ชินวัตร นายกรัฐมนตรี
ลำดับที่          ความรู้สึกของประชาชน                        ค่าร้อยละ
1          รู้สึกเบื่อหน่ายไม่สนใจแล้ว รัฐบาลอยากทำอะไรก็ทำไป       37.8
2          ไม่รู้สึกเบื่อหน่าย ขอให้รัฐบาลตั้งใจทำงานต่อไป            62.2
          รวมทั้งสิ้น                                        100.0

ตารางที่ 4 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุ ความรู้สึกต่อรัฐบาลภายใต้การบริหารงานของนางสาวยิ่งลักษณ์  ชินวัตร จำแนกตามจุดยืนทางการเมือง
ลำดับที่          ความรู้สึกของประชาชน                    หนุนรัฐบาล    ไม่หนุนรัฐบาล      พลังเงียบ
1          รู้สึกเบื่อหน่ายไม่สนใจแล้ว รัฐบาลอยากทำอะไรก็ทำไป    7.5          83.0          42.9
2          ไม่รู้สึกเบื่อหน่าย ขอให้รัฐบาลตั้งใจทำงานต่อไป        92.5          17.0          57.1
          รวมทั้งสิ้น                                    100.0         100.0         100.0

ตารางที่ 5 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุ ความรู้สึกต่อรัฐบาลภายใต้การบริหารงานของนางสาวยิ่งลักษณ์  ชินวัตร จำแนกตามพื้นที่
ลำดับที่          ความรู้สึกของประชาชน                    นอกเขตเทศบาล  ในเขตเทศบาล     กรุงเทพฯ
1          รู้สึกเบื่อหน่ายไม่สนใจแล้ว รัฐบาลอยากทำอะไรก็ทำไป     34.2          38.8          40.1
2          ไม่รู้สึกเบื่อหน่าย ขอให้รัฐบาลตั้งใจทำงานต่อไป          65.8          61.2          59.9
          รวมทั้งสิ้น                                      100.0         100.0         100.0

ตารางที่ 6 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุ ความเป็นผู้นำของ นางสาวยิ่งลักษณ์  ชินวัตร นายกรัฐมนตรี หลังลงพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้
ลำดับที่          ความเป็นผู้นำของนายกรัฐมนตรี         ค่าร้อยละ
1          เพิ่มขึ้น                                 42.9
2          เหมือนเดิม                              50.1
3          ลดลง                                   7.0
          รวมทั้งสิ้น                               100.0

ตารางที่ 7 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุ ความเป็นผู้นำของ นางสาวยิ่งลักษณ์  ชินวัตร นายกรัฐมนตรี หลังลงพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ จำแนกตามจุดยืนทางการเมือง
ลำดับที่          ความเป็นผู้นำของนายกรัฐมนตรี      หนุนรัฐบาล    ไม่หนุนรัฐบาล     พลังเงียบ
1          เพิ่มขึ้น                              75.4          8.9          35.3
2          เหมือนเดิม                           23.0         64.4          58.8
3          ลดลง                                1.6         26.7           5.9
          รวมทั้งสิ้น                            100.0        100.0         100.0

ตารางที่ 8 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุ ความรู้สึกต่อการประชุมสภาฯ
ลำดับที่          ความรู้สึก                                                                     ค่าร้อยละ
1          อยากดู เพราะ จะได้รู้ทันสถานการณ์ รู้พฤติกรรมของคนที่เป็นผู้แทนเอาไว้ตัดสินใจช่วงเลือกตั้ง
           และอะไรจะเกิดขึ้นก็ต้องไม่เบื่อหน่าย ต้องเฝ้าติดตามการประชุมในสภาฯ เพราะเป็นประชาธิปไตย          44.2
2          ไม่อยากดู เพราะ เบื่อหน่าย เครียด เซ็งพฤติกรรมของสมาชิกผู้ทรงเกียรติ มีแต่ทะเลาะกัน

หาเรื่องกันไม่จบสิ้น ไม่สร้างสรรค์ ไม่เป็นแบบอย่างที่ดีต่อเด็กและเยาวชน เป็นกลุ่มคนที่ไม่รู้จักพัฒนาขึ้น

ใช้ถ้อยคำไม่สุภาพ มีพฤติกรรมก้าวร้าวไม่เหมาะสม จ้องแต่จะชนะคะคานกัน น่าจะมีอักษรเตือนเป็น “ฉ” 55.8

          รวมทั้งสิ้น                                                                           100.0

--เอแบคโพลล์--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ