เอแบคโพลล์: ร่าง พ.ร.บ.ปรองดองแห่งชาติ กับ ความสงบร่มเย็นของสังคมไทย

ข่าวผลสำรวจ Tuesday June 5, 2012 07:34 —เอแบคโพลล์

ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยเอแบคโพลล์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เปิดเผยผลวิจัยเชิงสำรวจ เรื่อง ร่าง พ.ร.บ. ปรองดองแห่งชาติ กับ ความสงบร่มเย็นของสังคมไทย กรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนทั่วไปที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป ใน 17 จังหวัดของประเทศ ได้แก่ กรุงเทพมหานคร จันทบุรี ลพบุรี ปทุมธานี ชลบุรี ลำปาง อุตรดิตถ์ เชียงใหม่ มุกดาหาร หนองคาย หนองบัวลำภู สุรินทร์ อุดรธานี ขอนแก่น ภูเก็ต สุราษฎร์ธานีและสงขลา จำนวนทั้งสิ้น 2,258 ตัวอย่าง ดำเนินโครงการระหว่างวันที่ 25 พฤษภาคม — 2 มิถุนายน 2555 ที่ผ่านมา โดยใช้การเลือกตัวอย่างแบบแบ่งกลุ่มเชิงชั้นภูมิหลายชั้น ที่สุ่มเลือกจังหวัด อำเภอ ตำบล ชุมชน ครัวเรือน และประชาชนที่ตอบแบบสอบถามระดับครัวเรือน พบว่า

ประชาชนส่วนใหญ่หรือร้อยละ 91.9 ไม่เคยทราบรายละเอียดของร่าง พ.ร.บ. ปรองดองฯ ฉบับ นายนิยม วรปัญญา และคณะ ร้อยละ 90.2 ไม่เคยรับทราบรายละเอียดของร่าง พ.ร.บ. ปรองดองฯ ฉบับ นายสามารถ แก้วมีชัย และคณะ ในขณะที่ ร้อยละ 83.6 ไม่เคยทราบรายละเอียดของร่าง พ.ร.บ. ปรองดองฯ ฉบับ นายณัฐวุฒิ ใสเกื้อและคณะ และร้อยละ 75.4 ไม่เคยทราบรายละเอียดของร่าง พ.ร.บ. ปรองดองฯ ฉบับ พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน

ที่น่าเป็นห่วงคือ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 66.2 ไม่มีความหวังต่อ ร่าง พ.ร.บ. ปรองดองฯ จะนำไปสู่ความสงบร่มเย็นของบ้านเมือง มีเพียงร้อยละ 33.8 เท่านั้นที่มีความหวัง

ที่น่าพิจารณาคือ ร้อยละ 88.9 อยากให้ฝ่ายการเมือง เร่งแก้ปัญหาปากท้อง ข้าวของแพง ก่อน การผลักดันการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ปรองดองฯ ในขณะที่ ร้อยละ 11.1 อยากให้เร่งผลักดันการพิจารณาผ่านร่าง พ.ร.บ.ปรองดองฯ ก่อน

โดยผลสำรวจพบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 80.0 ระบุว่า การผลักดัน พ.ร.บ.ปรองดองฯ ทำให้ฝ่ายการเมืองได้ประโยชน์ ในขณะที่ร้อยละ 20.0 ระบุประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศได้ประโยชน์

นอกจากนี้ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 61.7 ยังระบุด้วยว่า ความขัดแย้งบานปลายในหมู่ประชาชนที่เกิดจาก ร่าง พ.ร.บ.ปรองดองฯ นี้ส่งผลกระทบต่อรัฐบาลมาก ถึง มากที่สุด และร้อยละ 61.3 ระบุ ความขัดแย้งบานปลายในหมู่ประชาชนที่เกิดจาก ร่าง พ.ร.บ.ปรองดองฯ นี้ ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันและการทำธุรกิจระดับมาก ถึง มากที่สุด

ส่วนการแสดงพฤติกรรมของ ส.ส. ที่ไม่เหมาะสมในการประชุมสภาฯ ที่ผ่านมานั้น พบว่า เกินครึ่งหรือร้อยละ 52.4 ระบุควรออกมาแสดงความขอโทษประชาชน ร้อยละ 40.2 ระบุควรลาออก และร้อยละ 7.4 ระบุไม่ต้องทำอะไร

ที่น่าเป็นห่วงคือ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 79.8 ระบุความวุ่นวายในสภาที่ผ่านมา แสดงให้เห็นถึงความล้าหลังและความเสื่อมในคุณภาพของ ส.ส. มาก ถึงมากที่สุด

ที่น่าสนใจ คือ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 93.8 เห็นด้วยที่จะมีการรณรงค์ อธิษฐานให้ วันวิสาขบูชาเป็นวันรวมศูนย์จิตใจของคนไทยให้มีความรัก ความสามัคคีต่อกันและช่วยกันทำให้บ้านเมืองสงบสุขร่มเย็น

ผอ.เอแบคโพลล์ กล่าวว่า เมื่อสถานการณ์บ้านเมืองถึงจุดที่กำลังเป็นอยู่ในปัจจุบันคือมีกลุ่มประชาชนจำนวนหนึ่งออกมาสู่ท้องถนนและกระทำการคัดค้านขัดขวางการปฏิบัติหน้าที่ใดๆ ของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง และมีกลุ่มประชาชนอีกกลุ่มหนึ่งออกมาบนท้องถนนเช่นกัน นั่นหมายความว่า บ้านเมืองกำลังเข้าสู่สถานการณ์ที่ยากต่อการแก้ไขมากยิ่งขึ้น ทางออกที่น่าพิจารณาคือ ยุทธศาสตร์ “ 3 ไม่ 1 มี” ต่อไปนี้

ประการแรก ต้องไม่ปิดบังซ่อนเร้นในร่าง พ.ร.บ.ปรองดองฯ และไม่ทำให้สาธารณชนเคลือบแคลงสงสัยต่อคณะบุคคลที่เสนอร่าง พ.ร.บ.ปรองดองฯ นั้นๆ

ประการที่สอง ต้องไม่อ้างความชอบธรรมมาเป็นเรื่องยึดมั่นถือมั่นของแต่ละฝ่ายเพียงอย่างเดียวเพราะต่างฝ่ายต่างอ้างความชอบธรรมด้วยกันทั้งนั้น

ประการที่สาม ต้องไม่ประเมินจำนวนคนที่ออกมาสู่ท้องถนนว่ากลุ่มไหนมากกลุ่มไหนน้อย เพราะไม่มีใครรู้ความเป็นจริงว่า เมื่อใดกลุ่มพลังเงียบจะเปลี่ยนใจหรือแบ่งแยกแตกออกจากกันครึ่งๆ จนไม่มีใครจะรับผิดชอบไหวในการยั้บยั้งอารมณ์ของมวลชนได้ บ้านเมืองก็จะเสียหายบอบช้ำไปอีก

ประการที่สี่ ต้อง “มี” และ “จำเป็นต้องมี” กลไกคัดค้านการปฏิบัติการบางอย่างของคณะบุคคลที่มีความทะเยอทะยาน เพราะ “ความทะเยอทะยานของคนบางกลุ่มจำเป็นต้องมีความทะเยอทะยานของฝ่ายตรงข้ามที่จะมาช่วยลดผลกระทบในทางเสียหายต่อบ้านเมืองที่มาจากความทะเยอทะยานเหล่านั้น” และการเมืองที่ไม่ถูกใช้ในทางที่ผิด” (Not-Abuse Politics) คือทางออกของความขัดแย้งในหมู่ประชาชนของประเทศในเวลานี้

“อย่างไรก็ตาม เมื่อ “การเมือง” ในรัฐสภาไม่สามารถรักษาความศรัทธาในหมู่ประชาชนจำนวนมากและไม่สามารถมีระบบถ่วงดุลที่มีประสิทธิภาพจนทำให้ความทะเยอทะยานของคนบางกลุ่มมีมากเกินไป ก็จำเป็นต้องมีกลไกของรัฐบางอย่างมาหยุดยั้งความทะเยอทะยานเหล่านั้นหรือทำให้มีผลกระทบในทางลบต่อชาติบ้านเมืองให้น้อยที่สุด เพราะถ้าปล่อยให้ประชาชนหรือมวลชนออกมาเผชิญหน้ากันเองจนแตกแยกรุนแรงบานปลายจะไม่เกิดผลดีต่อคนส่วนใหญ่ของประเทศแต่จะมีแค่คนเฉพาะกลุ่มเท่านั้นที่จะได้ประโยชน์บนความเสียหาย เสียเลือดเสียเนื้อและทรัพย์สินของภาครัฐและเอกชน ดังนั้นต้องไม่ปล่อยให้กลุ่มใดกลุ่มหนึ่งแสดงความทะเยอทะยานออกมามากเกินไปจนเสียความสมดุลในบ้านเมือง และหากฝ่ายการเมืองเล็งเห็นว่าสถานการณ์การเมืองจะทำให้ประเทศชาติไปไม่รอด ก็น่าจะตัดสินใจคืนอำนาจให้ประชาชนใช้สิทธิเลือกตั้งใหม่บนแนวทางประชาธิปไตยเพื่อสกัดกั้นอำนาจอื่นใดที่ไม่เป็นประชาธิปไตยและไม่เป็นที่ยอมรับของนานาชาติที่เจริญแล้ว” ดร.นพดล กรรณิกา กล่าว

จากการพิจารณาลักษณะทั่วไปของตัวอย่าง พบว่า ตัวอย่างร้อยละ 47.8 เป็นชาย ร้อยละ 52.2 เป็นหญิง ตัวอย่างร้อยละ 4.0 อายุน้อยกว่า 20 ปี ร้อยละ 21.4 อายุระหว่าง 20—29 ปี ร้อยละ 21.0 อายุระหว่าง 30—39 ปี ร้อยละ 19.7 อายุระหว่าง 40—49 ปี และร้อยละ 33.9 อายุ 50 ปีขึ้นไป ตัวอย่างร้อยละ 59.1 สำเร็จการศึกษาต่ำกว่าปริญญาตรี ร้อยละ 35.2 ระบุสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี ในขณะที่ ร้อยละ 5.7 ระบุสำเร็จการศึกษาสูงกว่าระดับปริญญาตรี ตัวอย่างร้อยละ 31.5 ระบุอาชีพเกษตรกร/รับจ้างทั่วไป ร้อยละ 27.8 ระบุอาชีพค้าขาย/ธุรกิจส่วนตัว ร้อยละ 9.8 ระบุอาชีพพนักงานเอกชน ร้อยละ 10.1 ระบุอาชีพข้าราชการ/พนักงานรัฐวิสาหกิจ ร้อยละ 9.6 ระบุเป็นนักเรียนนักศึกษา ร้อยละ 8.2 ระบุเป็นแม่บ้าน/พ่อบ้าน/เกษียณอายุ ร้อยละ 3.0 ว่างงาน/ไม่ได้ประกอบอาชีพ

ตารางที่ 1 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุ การเคยทราบรายละเอียดของ ร่าง พ.ร.บ. ปรองดองแห่งชาติ ฉบับต่างๆ
ลำดับที่          การเคยทราบรายละเอียดของ ร่าง พ.ร.บ. ปรองดอง   เคยทราบค่าร้อยละ   ไม่เคยทราบค่าร้อยละ  รวมทั้งสิ้น
1          ร่าง พ.ร.บ. ปรองดองฯ ฉบับ พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน            24.6              75.4          100.0
2          ร่าง พ.ร.บ. ปรองดองฯ ฉบับ นายสามารถ แก้วมีชัย และคณะ       9.8              90.2          100.0
3          ร่าง พ.ร.บ. ปรองดองฯ ฉบับ นายนิยม  วรปัญญา และคณะ         8.1              91.9          100.0
4          ร่าง พ.ร.บ. ปรองดองฯ ฉบับ นายณัฐวุฒิ  ใสยเกื้อ และคณะ       16.4              83.6          100.0

ตารางที่ 2 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุความหวังต่อ ร่าง พ.ร.บ. ปรองดองแห่งชาติจะนำไปสู่ความสงบสุขร่มเย็นของบ้านเมือง
ลำดับที่          ความหวัง          ค่าร้อยละ
1          มีความหวัง              33.8
2          ไม่มีความหวัง            66.2
          รวมทั้งสิ้น               100.0

ตารางที่ 3 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุความคิดเห็นต่อสิ่งที่อยากให้ฝ่ายการเมืองเร่งดำเนินการมากกว่ากัน
ลำดับที่          ความคิดเห็น                                    ค่าร้อยละ
1          เร่งผลักดันการพิจารณาผ่าน ร่าง พ.ร.บ. ปรองดองฯ          11.1
2          เร่งแก้ปัญหาปากท้อง ข้าวของแพง                         88.9
          รวมทั้งสิ้น                                           100.0

ตารางที่ 4 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุความคิดเห็นต่อกลุ่มที่จะได้รับผลประโยชน์จาก ร่าง พ.ร.บ.ปรองดองแห่งชาติ
ลำดับที่          ความคิดเห็น                           ค่าร้อยละ
1          ประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศได้ประโยชน์          20.0
2          ฝ่ายการเมืองได้ประโยชน์                      80.0
          รวมทั้งสิ้น                                  100.0


ตารางที่ 5 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุความคิดเห็นเกี่ยวกับร่าง พ.ร.บ.ปรองดองฯ จะส่งผลกระทบต่อรัฐบาลมากน้อยเพียงใด
ลำดับที่          ความคิดเห็น                     ค่าร้อยละ
1          กระทบต่อรัฐบาล มาก ถึง มากที่สุด          61.7
2          ค่อนข้างมาก                           17.1
3          ค่อนข้างน้อย                            7.8
4          น้อย  ถึง ไม่กระทบเลย                  13.4
          รวมทั้งสิ้น                             100.0


ตารางที่ 6 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุถ้าหากเกิดความวุ่นวายทางการเมืองรอบใหม่จะส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันและการทำธุรกิจมากน้อยเพียงใด
ลำดับที่          ความคิดเห็น                                          ค่าร้อยละ
1          กระทบต่อชีวิตประจำวันและการทำธุรกิจระดับ มาก ถึง มากที่สุด          61.3
2          ค่อนข้างมาก                                                17.0
3          ค่อนข้างน้อย                                                10.0
4          น้อย ถึง ไม่กระทบเลย                                        11.7
          รวมทั้งสิ้น                                                  100.0

ตารางที่ 7 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุความคิดเห็นต่อการแสดงความรับผิดชอบของ ส.ส.ที่แสดงพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม
ลำดับที่          ความคิดเห็น              ค่าร้อยละ
1          ออกมาแสดงความขอโทษ          52.4
2          ควรลาออก                    40.2
3          ไม่ต้องทำอะไร                  7.4
          รวมทั้งสิ้น                     100.0

ตารางที่ 8 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุความคิดเห็นต่อความล้าหลังและความเสื่อมคุณภาพของนักการเมืองหลังเกิดเหตุความวุ่นวายในสภา
ลำดับที่          ความคิดเห็น                    ค่าร้อยละ
1          ล้าหลัง เสื่อม มากถึงมากที่สุด            79.8
2          ค่อนข้างมาก                         10.5
3          ค่อนข้างน้อย                          3.9
4          น้อย ถึง ไม่ล้าหลังเลย                  5.8
          รวมทั้งสิ้น                           100.0


ตารางที่ 9 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุความคิดเห็นต่อการรณรงค์ อธิษฐานให้วันวิสาขบูชาเป็นวันรวมศูนย์จิตใจของคนไทยให้มีความรัก ความสามัคคีต่อกันและช่วยกันทำให้บ้านเมืองสงบสุขร่มเย็น
ลำดับที่          ความคิดเห็น            ค่าร้อยละ
1          เห็นด้วย                     93.8
2          ไม่เห็นด้วย                    6.2
          รวมทั้งสิ้น                    100.0

--เอแบคโพลล์--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ