สวนดุสิตโพลล์: วัดคอการเมืองต่อประเด็นร้อนทางการเมือง และโครงการความร่วมมือขององค์การนาซ่าในประเทศไทย

ข่าวผลสำรวจ Monday June 25, 2012 07:34 —เอแบคโพลล์

ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยเอแบคโพลล์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เปิดเผยผลวิจัยเชิงสำรวจเรื่อง วัดคอการเมืองต่อประเด็นร้อนการทางเมืองและโครงการความร่วมมือขององค์การนาซ่าในประเทศไทย กรณีศึกษาเฉพาะตัวอย่างคนที่ติดตามข่าวสารการเมืองเป็นประจำ ใน 17 จังหวัดของประเทศ ได้แก่ กรุงเทพมหานคร สมุทรปราการ นนทบุรี ปทุมธานี ชลบุรี ศรีสะเกษ ชัยภูมิ ขอนแก่น อุดรธานี สกลนคร เชียงใหม่ เชียงราย นครสวรรค์ นครปฐม สุราษฎร์ธานี ชุมพร และสงขลา จำนวนทั้งสิ้น 1,284 ตัวอย่าง ดำเนินโครงการระหว่างวันที่ 18 — 23 มิถุนายน 2555 ที่ผ่านมา โดยใช้การเลือกตัวอย่างแบบแบ่งกลุ่มเชิงชั้นภูมิหลายชั้น ที่สุ่มเลือกจังหวัด อำเภอ ตำบล ชุมชน ครัวเรือน และประชาชนที่ตอบแบบสอบถามระดับครัวเรือน โดยมีช่วงความคลาดเคลื่อนบวกลบร้อยละ 7 พบว่า

ส่วนใหญ่ของกลุ่มคนคอการเมืองหรือร้อยละ 78.2 ระบุการเมืองในเวลานี้ร้อนแรงค่อนข้างมากถึงมากที่สุด เช่น เรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ พ.ร.บ.ปรองดอง การปรับคณะรัฐมนตรี การชุมนุมประท้วง การเลือกตั้งท้องถิ่น และการเผชิญหน้ากันของฝ่ายสนับสนุนการเมือง เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ร้อยละ 43.2 ระบุรัฐบาลยังคงคิดถึงและเป็นห่วงดูแลประชาชนค่อนข้างมากถึงมากที่สุด แต่ร้อยละ 30.5 ระบุค่อนข้างน้อยถึงไม่ดูแลเลย ส่วนร้อยละ 26.3 ระบุดูแลระดับปานกลาง

เมื่อถามถึงกลุ่มคนเสื้อแดงที่เคยสนับสนุนรัฐบาลปัจจุบันกำลังรู้สึกผิดหวังต่อท่าทีของคนที่ได้เป็นรัฐมนตรีมีอำนาจอยู่ในเวลานี้หรือไม่ พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 59.6 ระบุผิดหวังค่อนข้างน้อยถึงไม่ผิดหวังเลย เพราะ เมื่อได้เป็นรัฐบาลก็เป็นรัฐบาลของประชาชนทุกกลุ่ม รัฐบาลทำมาถูกทางแล้ว การช่วยเหลือ พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ก็เพราะเขาไม่ได้รับความเป็นธรรม และเป็นรัฐบาลที่มาจากเสียงของประชาชน อย่างไรก็ตาม จำนวนมากถึงร้อยละ 40.4 ผิดหวังค่อนข้างมาก ถึงมากที่สุด เพราะ ไม่เห็นทำอะไรให้ดีขึ้น มัวแต่แก้ปัญหาให้ พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ละเลยปัญหาชาวบ้านที่เคยสนับสนุน และช่วยเหลือจริงแต่ไม่ต่อเนื่อง

แต่เมื่อถามว่า นายกรัฐมนตรี นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ควรตัดสินใจอย่างไรในเวลานี้ พบว่า ร้อยละ 45.3 ระบุทำงานต่อไป รองลงมาคือ ร้อยละ 25.6 ระบุปรับคณะรัฐมนตรี ร้อยละ 11.3 ระบุยุบสภาเลือกตั้งใหม่ รองๆ ลงไปคือ ร้อยละ 10.4 ดึงพรรคการเมืองฝ่ายค้านเข้าร่วมรัฐบาล และร้อยละ 7.4 ระบุควรลาออก

เมื่อถามถึงโครงการขององค์การนาซ่า สหรัฐอเมริกา พบประเด็นที่น่าพิจารณาคือ เมื่อถามว่าประเทศไทยควรมีระบบเตือนภัยทางธรรมชาติ เช่น มรสุม พายุงวงช้าง น้ำท่วม ปัญหาสึนามิ แผ่นดินไหว หรือไม่พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 93.2 ระบุเห็นด้วยกับระบบเตือนภัย แต่ที่น่าสนใจคือเมื่อถามว่า เห็นด้วยหรือไม่ ถ้ามีชาติใดชาติหนึ่งมาช่วยศึกษาด้านการเปลี่ยนแปลงของชั้นบรรยากาศของโลกในประเทศไทย พบว่าส่วนใหญ่หรือร้อยละ 70.7 เห็นด้วย และเมื่อถามว่า เห็นด้วยหรือไม่ ที่องค์การนาซ่า สหรัฐอเมริกาจะใช้สนามบินอู่ตะเภา เป็นศูนย์กลางศึกษาชั้นบรรยากาศของโลก การก่อตัวของก้อนเมฆ มรสุมต่างๆ พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 63.5 เห็นด้วย

ดร.นพดล กรรณิกา ผอ.เอแบคโพลล์ กล่าวว่า โครงการขององค์การนาซ่าครั้งนี้ถือเป็นบทเรียนสำคัญในการทำให้เป็นไปตามภารกิจนโยบายสาธารณะระหว่างประเทศ แต่จากผลสำรวจชี้ให้เห็นว่ายังมีความเป็นไปได้ที่ภารกิจการใช้สนามบินอู่ตะเภาแบบชั่วคราวขององค์การนาซ่า สหรัฐอเมริกาสามารถดำเนินการไปได้อย่างราบรื่นถ้าหากว่า ฝ่ายการเมืองของไทยจริงใจไม่นำประเด็นขัดแย้งในหมู่ประชาชนเข้ามาเกี่ยวข้องกับโครงการนี้และองค์การนาซ่า สหรัฐอเมริกากับรัฐบาลไทยมีการกำหนดยุทธศาสตร์ด้านภารกิจแห่งรัฐในนโยบายสาธารณะไว้อย่างครบองค์ประกอบทั้งในเรื่องของการกำหนดปัญหาที่ชัดเจน (Problem Stream) ข้อเสนอโครงการเชิงนโยบาย (Policy-Proposal Stream) และกระแสหลักทางการเมือง (Political Stream) ที่ทุกองค์ประกอบมุ่งสู่เป้าหมายเพื่อมนุษยชาติร่วมกัน แต่เมื่อมีประเด็นปัญหาขัดแย้งเกิดขึ้นที่อาจลุกลามถึงการเมืองระหว่างประเทศ จึงน่าพิจารณาข้อสังเกตและข้อเสนอแนะ ดังนี้

ประการแรก หน่วยงานที่เกี่ยวข้องน่าจะมีการกำหนดประเด็นสำคัญ (Issue Framing) ไว้เพื่อรณรงค์ล่วงหน้าที่สื่อสารแบบเข้าใจง่ายกับสาธารณชนต่อโครงการนี้ เช่น ประเทศไทยมีโอกาสเปิดศูนย์กลางศึกษาชั้นบรรยากาศของโลกเพื่อมนุษยชาติร่วมกับองค์การนาซ่า สหรัฐอเมริกา หรือ กำหนดเป็นภาษาที่ชาวบ้านเข้าใจง่ายว่า ประเทศไทยก้าวล้ำนำวิทยาศาสตร์สมัยใหม่ใส่ใจศึกษาการก่อตัวของมรสุม พายุงวงช้าง เพื่อปกป้องชีวิตและทรัพย์สิน ลดความสูญเสียทางเศรษฐกิจของประชาชนคนไทยและมวลมนุษยชาติร่วมกับองค์การนาซ่า สหรัฐอเมริกา เป็นต้น

ประการที่สอง รัฐบาลไทยต้องหยุดพูดเรื่องวีซ่าเข้าสหรัฐอเมริกาของ พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ชินวัตร ที่จะมาพัวพันกับโครงการนี้ ไม่ว่าจะพูดในเชิงปกป้องสหรัฐอเมริกาหรือในเชิงปกป้องตัว พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ก็ตามเพราะฝ่ายรัฐบาลอาจถูกตั้งสมมติฐานได้ว่า รัฐบาลไทยทำให้เป็นประเด็นขัดแย้งขึ้นมาเพื่อต่อรองเสียเอง

ดร.นพดล กล่าวต่อว่า “นักการเมืองที่ดีเขาจะใช้วิถีทางการเมืองเพื่อลดความขัดแย้งไม่ใช่เพิ่มความขัดแย้งในสังคม” แต่จากผลสังเกตการณ์พบว่า คุณภาพของนักการเมืองไทยส่วนใหญ่มักไม่ผ่านเกณฑ์นี้ คำพูดคำจาใดจะก่อให้เกิดความขัดแย้งรุนแรงอย่างไร้เหตุผลนั้นนักการเมืองที่มีคุณภาพได้มาตรฐานสากลจะไม่ทำกัน และถ้าฝ่ายการเมืองของไทยทำให้สมมติฐานนี้เป็นเรื่องจริงมันก็หนีไม่พ้นสายตาของนักวิทยาศาสตร์การเมือง (Political Scientist) ว่านี่คือ ส่วนหนึ่งของทฤษฎีเกม ที่เล่นกันระหว่างประเทศมหาอำนาจ คือ ทำให้เกิดประเด็นร้อนทางการเมืองขึ้นมาเพื่อดึงความสนใจของสาธารณชนออกจากจุดอ่อนประเด็นร้อนอื่นที่กระทบต่อเสถียรภาพของรัฐบาลแล้วทำสิ่งต่างๆ ให้บรรลุผลเพื่อประโยชน์ส่วนตัวและพวกพ้องโดยไม่คำนึงถึงจริยธรรมทางการเมือง

ประการที่สาม สิ่งที่คณะทำงานขององค์การนาซ่า สหรัฐอเมริกา อาจพลาดไปคือ ในตอนแรกของข้อมูลข่าวสารที่ปรากฏต่อสาธารณชนคือ ได้มีนายทหารระดับสูงของสหรัฐอเมริกามาเกี่ยวข้องกับโครงการนี้ ทั้งๆ ที่คงมีคนไทยไม่กี่คนจะทราบว่านายทหารระดับสูงท่านนั้นไม่มีอำนาจสั่งการกองทัพของสหรัฐ แต่ที่ทำได้มากที่สุดคือนายทหารท่านนั้นมีโอกาสพูดกับประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกาโดยตรง และเมื่อปรากฏออกมาในรูปของทหารระดับสูงของสหรัฐอเมริกาเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ คนไทยส่วนใหญ่และฝ่ายวิพากษ์วิจารณ์ย่อมจะรู้สึกและคิดระแวงไปได้ต่างๆ นานา อาจทำให้สหรัฐอเมริกาสะดุดขาตนเองจนอาจทำให้โครงการที่ถูกอ้างว่าทำเพื่อมนุษยชาติไม่บรรลุเป้าหมายที่ดีที่สุดที่วางไว้ได้หรือต้องถึงขั้นยกเลิกโครงการไปด้วยเหตุผลเพียงเล็กน้อยเช่นนี้ ก็น่าคิดต่อว่ามันเป็นโครงการเพื่อมนุษยชาติจริงตามกล่าวอ้างหรือไม่

ประการที่สี่ คณะทำงานโครงการนี้ขององค์การนาซ่า สหรัฐอเมริกา น่าจะทราบดีว่าการทำโครงการสำคัญระหว่างประเทศที่มีภาษา ทัศนคติและวัฒนธรรมแตกต่างกันนั้นจำเป็นต้องเตรียมการให้พร้อมทั้งในเรื่องทรัพยากรที่จำเป็นของโครงการและยุทธศาสตร์การสื่อสารกับมวลชนเพื่อลดแรงเสียดทานจากประชาชนในท้องถิ่น เช่น ควรจะให้ผู้เชี่ยวชาญที่เป็นพลเรือนหรือศาสตราจารย์ของมหาวิทยาลัยชั้นนำที่คนไทยรู้จักและเชื่อมั่นศรัทธาเพราะมีผู้เข้าร่วมเป็นคณะทำงานจากมหาวิทยาลัยชั้นนำหลายคน เช่น มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ออกมาแปลเอกสารสำคัญเปิดเผยข้อมูลสำคัญที่ประชาชนคนไทยและคนในภูมิภาคนี้จะต้องทราบว่าได้รับประโยชน์อะไรบ้างจากโครงการและจำเป็นต้องพูดถึงผลกระทบทางอ้อม (Spillovers) ที่อาจเกิดขึ้นจากปฏิบัติการครั้งนี้ในภาษาที่ชาวบ้านทั่วไปเข้าใจง่าย

“ข้อเสนอแนะสุดท้ายคือ ประชาชนคนไทยและฝ่ายวิพากษ์วิจารณ์น่าจะศึกษาโครงการนี้เบื้องต้นผ่านเว็บไซด์ http://espo.nasa.gov/missions/seac4rs/content/SEAC4RS_Home_Page จะพบว่าโครงการนี้มีระยะสั้นระหว่างเดือนสิงหาคมถึงต้นเดือนตุลาคมเท่านั้น แต่ประโยชน์ที่ประเทศไทยและประเทศในภูมิภาคนี้จะได้นั้นมีคุณค่าต่อแนวทางป้องกันและรักษาชีวิตและทรัพย์สินได้อย่างมาก สามารถป้องกันความสูญเสียทางเศรษฐกิจได้ และแน่นอนว่าถ้าเรารู้และเข้าใจธรรมชาติมากขึ้น เราก็จะอยู่ร่วมกับธรรมชาติได้อย่างยั่งยืน แต่โครงการนี้จะบรรลุเป้าหมายที่วางไว้นี้ได้จำเป็นต้องได้รับการสนับสนุนจากประชาชนคนไทยทุกคน และสหรัฐอเมริกามีประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ที่ดีกับประเทศไทยมายาวนานคงไม่คิดสั้นหลอกลวงคนไทยและนานาชาติจากโครงการเช่นนี้ อย่างไรก็ตาม เมื่อโครงการนี้กลายเป็นที่สนใจของสาธารณชนก็ย่อมเป็นเรื่องดีที่องค์การนาซ่า สหรัฐอเมริกา จะมีโอกาสแสดงบทบาทสำคัญตามหลักจริยธรรมด้านความโปร่งใส (Transparent Performance) ในสายตาของนานาชาติ” ผอ.เอแบคโพลล์ กล่าว

จากการพิจารณาลักษณะทั่วไปของตัวอย่าง พบว่า ตัวอย่างร้อยละ 47.2 เป็นชาย ร้อยละ 52.8 เป็นหญิง ตัวอย่างร้อยละ 3.5 อายุน้อยกว่า 20 ปี ร้อยละ 19.9 อายุระหว่าง 20—29 ปี ร้อยละ 18.6 อายุระหว่าง 30—39 ปี ร้อยละ 20.4 อายุระหว่าง 40—49 ปี และ ร้อยละ 37.6 อายุ 50 ปีขึ้นไป ตัวอย่างร้อยละ 72.7 สำเร็จการศึกษาต่ำกว่าปริญญาตรี ร้อยละ 23.5 สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี และร้อยละ 3.8 สำเร็จการศึกษาสูงกว่าปริญญาตรี ตัวอย่างร้อยละ 32.0 ระบุอาชีพเกษตรกร/รับจ้างทั่วไป ร้อยละ 30.2 ระบุอาชีพค้าขาย/ธุรกิจส่วนตัว ร้อยละ 9.0 ระบุเป็นพนักงานเอกชน ร้อยละ 7.6 ระบุข้าราชการ/พนักงานรัฐวิสาหกิจ ร้อยละ 8.4 ระบุเป็นนักเรียนนักศึกษา ร้อยละ 10.2 เป็นแม่บ้าน/พ่อบ้าน/เกษียณอายุ ร้อยละ 2.6 ว่างงาน/ไม่ได้ประกอบอาชีพ

ตารางที่ 1 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุความคิดเห็นเกี่ยวกับบรรยากาศทางการเมืองในขณะนี้
ลำดับที่          ความคิดเห็น                    ค่าร้อยละ
1          ค่อนข้างน้อยถึงไม่ร้อนแรงเลย             3.9
2          ปานกลาง                           17.9
3          การเมืองร้อนแรงค่อนข้างมาก ถึงมากที่สุด เช่น เรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ พ.ร.บ.ปรองดอง การปรับคณะรัฐมนตรี การชุมนุมประท้วง การเลือกตั้งท้องถิ่น และการเผชิญหน้ากันของฝ่ายสนับสนุนการเมือง เป็นต้น          78.2
          รวมทั้งสิ้น                           100.0

ตารางที่ 2 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุความคิดเห็นเกี่ยวกับความคิดถึงและเป็นห่วงดูแลประชาชนของคนที่ได้อำนาจการเมืองไปเป็นคนที่ใหญ่โตในรัฐบาล
ลำดับที่          ความคิดเห็น                    ค่าร้อยละ
1          ค่อนข้างน้อยถึงไม่ดูแลเลย               30.5
2          ปานกลาง                           26.3
3          ดูแลค่อนข้างมาก ถึง มากที่สุด            43.2
          รวมทั้งสิ้น                           100.0

ตารางที่ 3 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุความคิดเห็นเกี่ยวกับกลุ่มคนเสื้อแดงที่เคยสนับสนุนรัฐบาลชุดปัจจุบันนี้กำลังรู้สึกผิดหวัง
ต่อท่าทีของกลุ่มคนที่ขึ้นเป็นรัฐมนตรีมีอำนาจอยู่ในเวลานี้
ลำดับที่          ความคิดเห็น                                                                  ค่าร้อยละ
1          ผิดหวังค่อนข้างมาก ถึง มากที่สุด เพราะไม่เห็นทำอะไรให้ดีขึ้น มัวแต่แก้ปัญหาให้ พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ
           ละเลยปัญหาชาวบ้านที่เคยสนับสนุน และช่วยเหลือจริงแต่ไม่ต่อเนื่อง                               40.4
2          ค่อนข้างน้อย ถึง ไม่ผิดหวังเลย เพราะเมื่อเป็นรัฐบาลก็เป็นของประชาชนทุกคนไม่ใช่กลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง

รัฐบาลทำมาถูกทางแล้ว การช่วยเหลือ พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ เพราะเขาไม่ได้รับความเป็นธรรม

           และเป็นรัฐบาลที่มาจากประชาชนอย่างแท้จริง เป็นต้น                                         59.6
          รวมทั้งสิ้น                                                                         100.0

ตารางที่ 4 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุ การตัดสินใจของนายกรัฐมนตรี นางสาวยิ่งลักษณ์  ชินวัตร ในช่วงเวลานี้
ลำดับที่          ความคิดเห็น                      ค่าร้อยละ
1          ทำงานต่อไป                            45.3
2          ปรับคณะรัฐมนตรี                         25.6
3          ยุบสภา เลือกตั้งใหม่                      11.3
4          ดึงพรรคการเมืองฝ่ายค้านเข้าร่วมรัฐบาล       10.4
5          ลาออก                                 7.4
          รวมทั้งสิ้น                              100.0

ตารางที่ 5 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุความคิดเห็นว่าประเทศไทยควรมีระบบเตือนภัยทางธรรมชาติ เช่น มรสุม
พายุงวงช้างน้ำท่วม ปัญหาสึนามิ แผ่นดินไหว เป็นต้น
ลำดับที่          ความคิดเห็น                      ค่าร้อยละ
1          เห็นด้วย                               93.2
2          ไม่เห็นด้วย                              6.8
          รวมทั้งสิ้น                              100.0

ตารางที่ 6 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุความคิดเห็นว่าถ้าชาติใดชาติหนึ่งมาช่วยศึกษาด้านการก่อตัวของชั้นบรรยากาศของโลก
การก่อตัวของก้อนเมฆและมรสุมต่างๆ ในประเทศไทย ท่านคิดอย่างไร
ลำดับที่          ความคิดเห็น                      ค่าร้อยละ
1          เห็นด้วย                               70.7
2          ไม่เห็นด้วย                             29.3
          รวมทั้งสิ้น                              100.0

ตารางที่ 7 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุความคิดเห็นเกี่ยวกับการที่องค์การนาซ่าจากสหรัฐอเมริกาจะใช้สนามบินอู่ตะเภาเป็นศูนย์กลาง
ศึกษาชั้นบรรยากาศของโลก การก่อตัวของก้อนเมฆ มรสุมต่างๆ
ลำดับที่          ความคิดเห็น                      ค่าร้อยละ
1          เห็นด้วย                               63.5
2          ไม่เห็นด้วย                             36.5
          รวมทั้งสิ้น                              100.0

--เอแบคโพลล์--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ