เอแบคโพลล์: สาธารณชนได้อะไรจากการจัดเวทีการเมืองของกลุ่มต่างๆ ในเวลานี้

ข่าวผลสำรวจ Monday July 9, 2012 07:21 —เอแบคโพลล์

ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยเอแบคโพลล์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เปิดเผยผลวิจัยเชิงสำรวจ เรื่อง สาธารณชนได้อะไรจากการจัดเวทีการเมืองของกลุ่มต่างๆ ในเวลานี้ กรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนอายุ 18 ปีขึ้นไปใน 17 จังหวัดของประเทศ ได้แก่ กรุงเทพมหานคร จันทบุรี ลพบุรี ปทุมธานี ชลบุรี แพร่ พิษณุโลก เชียงใหม่ นครพนม กาฬสินธุ์ ร้อยเอ็ด ศรีสะเกษ อุดรธานี ขอนแก่น กระบี่ นราธิวาสและสงขลา จำนวนทั้งสิ้น 2,136 ตัวอย่าง ดำเนินโครงการระหว่างวันที่ 4 — 7 กรกฎาคม 2555 ที่ผ่านมา โดยใช้การเลือกตัวอย่างแบบแบ่งกลุ่มเชิงชั้นภูมิหลายชั้น ที่สุ่มเลือกจังหวัด อำเภอ ตำบล ชุมชน ครัวเรือน และประชาชนที่ตอบแบบสอบถามระดับครัวเรือน โดยมีช่วงความคลาดเคลื่อนบวกลบร้อยละ 7 พบว่า

เมื่อสอบถามถึงประเด็นสำคัญในการจัดเวทีการเมืองของกลุ่มต่างๆ ในเวลานี้ว่า ได้รับทราบถึงประเด็นสำคัญอะไรบ้าง ผลสำรวจพบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 72.1 ระบุเป็นประเด็นการสนับสนุนการแก้ไขรัฐธรรมนูญกลุ่มหนึ่ง แต่อีกกลุ่มหนึ่งไม่สนับสนุน รองลงมาคือ ร้อยละ 59.2 ระบุเป็นเรื่องที่กลุ่มหนึ่งสนับสนุน พ.ร.บ.ปรองดอง แต่อีกกลุ่มหนึ่งไม่สนับสนุน ในขณะที่ร้อยละ 57.7 ระบุเป็นเรื่องที่กลุ่มหนึ่งมีจุดยืนจะเอาผิด พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ และอีกกลุ่มหนึ่งไม่เอาผิด พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ร้อยละ 55.0 ระบุเป็นเรื่องการนิรโทษกรรมในทุกคดีแต่อีกกลุ่มหนึ่งต่อต้านการนิรโทษกรรม และร้อยละ 54.2 ระบุเป็นเรื่องที่กลุ่มหนึ่งต่อต้านการปฏิวัติยึดอำนาจ แต่อีกกลุ่มหนึ่งมีท่าทีสนับสนุน

นอกจากนี้ ประชาชนส่วนใหญ่หรือร้อยละ 77.2 เห็นว่าการเคลื่อนไหวทางการเมืองของกลุ่มต่างๆ ในเวลานี้เป็นการแย่งชิงอำนาจ ในขณะที่ร้อยละ 22.8 ไม่คิดเช่นนั้น

ที่น่าพิจารณาคือ เมื่อสอบถามว่า ประเด็นสำคัญที่รับทราบว่ามีการพูดถึงในการจัดเวทีการเมืองของกลุ่มต่างๆ เพื่อเป็นนโยบายสาธารณะให้ผลประโยชน์ต่อประชาชนส่วนใหญ่ทั้งประเทศ พบว่า ประชาชนส่วนน้อยหรือเพียงร้อยละ 25.1 เท่านั้นทราบว่ามีการพูดถึงการป้องกันแก้ปัญหาภัยพิบัติทางธรรมชาติ ร้อยละ 12.2 ระบุว่ามีการพูดถึงสวัสดิการด้านการศึกษา ด้านสุขภาพ ร้อยละ 9.9 ระบุว่าพูดถึงความเหลื่อมล้ำทางสังคม ร้อยละ 6.7 ระบุว่ามีการพูดถึงแนวทางลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ให้กับประชาชน และเพียงร้อยละ 6.1 เท่านั้นที่ใส่ใจพูดถึงกรรมสิทธิ์ของชาวบ้านในที่ดินทำกิน

ที่น่าเป็นห่วงคือ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 74.5 ระบุการจัดเวทีเคลื่อนไหวทางการเมืองทำกันไปเพื่อประโยชน์ของตนเองและพวกพ้อง ในขณะที่เพียงร้อยละ 25.5 ระบุเพื่อประโยชน์ของคนทั้งประเทศ และประเด็นคลิปเสียงของประธานสภาจะทำให้เกิดความขัดแย้งภายในพรรคเพื่อไทยหรือไม่ พบว่า เกินครึ่งหรือร้อยละ 53.5 คิดว่าจะทำให้เกิดความขัดแย้ง แต่จำนวนมากหรือร้อยละ 46.5 ไม่คิดว่าจะทำให้เกิดความขัดแย้งอะไร

ผอ.เอแบคโพลล์ กล่าวว่า การจัดเวทีปราศรัยของฝ่ายการเมืองกลุ่มต่างๆ ในขณะนี้ยังไม่สามารถทำให้ชาวบ้านส่วนใหญ่ของประเทศเห็นประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นในเชิงนโยบายสาธารณะต่อคนส่วนใหญ่ทั้งประเทศ แต่ชาวบ้านส่วนใหญ่กลับเห็นว่าเป็นเพียงกลยุทธทางการเมืองเพื่อแย่งชิงอำนาจ ฉวยโอกาสสร้างกระแสความได้เปรียบ และความอยู่รอดของตนเองหรือพวกพ้องเท่านั้น จึงน่าเป็นห่วงในสถานการณ์การเมืองในขณะนี้ว่าอาจทำให้ประเทศไทยกลับไปสู่จุดตั้งต้นของการแสวงหากลุ่มผู้วางกรอบกติกาของบ้านเมือง (Framers) ซ้ำซากจนอาจทำให้ “การเมือง” กลายเป็นแพะรับบาปก่อให้เกิดความรังเกียจของสาธารณชนต่อกลุ่มนักการเมือง ทั้งๆ ที่ “การเมือง” (Politics) เป็นกลไกสำคัญในระบอบประชาธิปไตยที่เปิดโอกาสให้สาธารณชนมีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศ ลดความขัดแย้งและนำไปสู่ความเจริญ และประเทศไทยในปัจจุบันก็ได้พัฒนามาไกลมากเกินกว่าที่จะถอยหลังหรือหยุดชะงัก จึงเสนอให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องในเวลานี้และประชาชนทุกคนลองพิจารณาสถานการณ์จำลองและข้อเสนอแนะดังต่อไปนี้

ประการแรก สถานการณ์จำลองที่เป็นไปได้ส่วนหนึ่งคือ การจัดเวทีการเมืองของกลุ่มต่างๆ เวลานี้มีแต่ประเด็นหลักๆ ไม่กี่ประเด็น เช่น เรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญหรือไม่แก้ไข เรื่องหนุนการนิรโทษกรรมหรือไม่หนุน เรื่องต้องยึดตัวบทกฎหมายเอาคนผิดมาลงโทษหรือต้องใช้หลักรัฐศาสตร์ เรื่องให้มีการถอนร่าง พรบ.ปรองดอง หรือไม่ จึงจะเห็นได้ว่าวาระสำคัญของแต่ละกลุ่มการเมืองมีแต่เรื่องเชิงอำนาจและความอยู่รอดของคนเฉพาะกลุ่ม แต่ไม่เห็นเวทีการเมืองใดที่จะสามารถสร้างกระแสให้สาธารณชนถกเถียงกันเรื่องเชิงนโยบายสาธารณะเพื่อประโยชน์ของชาวบ้านโดยส่วนใหญ่ทั้งประเทศ

ประการที่สอง ฝ่ายการเมืองและผู้มีอำนาจฝ่ายต่างๆ น่าจะ “ลด” ระดับการปลุกระดมให้เกิดความขัดแย้งในหมู่ประชาชนลง แต่ “เพิ่ม” ระดับของการปลุกกระแสผ่านการจัดเวทีการเมืองให้สาธารณชนหันมาพูดคุยเชิงเหตุผล เรื่องนโยบายสาธารณะ เช่น ควรจะให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสามารถออกกฎหมายเองได้หรือไม่ในเรื่อง การเงินการธนาคาร การบริหารจัดการทรัพยากรท้องถิ่นของตนเอง กรรมสิทธิ์ของชาวบ้านในเรื่องที่ทำกิน การจับปรับผู้ฝ่าฝืนทำผิดกฎจราจรในชุมชน เป็นต้น เมื่อประเด็นเหล่านี้เกิดขึ้นเป็นกระแสที่สาธารณชนสนใจก็จะทำให้เกิดการมีส่วนร่วมวิพากษ์วิจารณ์และหาเหตุผลสนับสนุนฝ่ายการเมืองของกลุ่มต่างๆ ตามระบอบประชาธิปไตยต่อไป

ประการที่สาม ฝ่ายรัฐบาล หน่วยงานราชการ และองค์กรอิสระ น่าจะหันมาเอาจริงเอาจังในการปฏิรูปปัญหาสำคัญของประเทศในเวลานี้ หันมาสร้าง “เสาหลัก” ของบ้านเมืองให้เป็นที่ไว้วางใจของสาธารณชนต่อ ประสิทธิภาพ (Effectiveness) ความคุ้มค่าคุ้มทุนงบประมาณภาษีของประชาชนในการพัฒนาประเทศ (Efficiency) และการวางตัวบุคคลที่เป็น รัฐมนตรี ข้าราชการหัวหน้าหน่วย และเจ้าหน้าที่รัฐระดับสูงของแต่ละหน่วยราชการและองค์กรอิสระที่สามารถตอบสนองความต้องการและป้องกันแก้ไขปัญหาเดือดร้อนของสาธารณชนได้เป็นที่ยอมรับในความรับผิดชอบและความน่าเชื่อถือในความเป็นผู้นำแต่ละสถานการณ์ปัญหาของบ้านเมือง (Accountability) และทำทุกอย่างด้วยความโปร่งใสให้สาธารณชนสามารถตรวจสอบแกะรอยเม็ดเงินงบประมาณจากส่วนกลางสู่มือประชาชนแต่ละท้องถิ่นได้อย่างเปิดเผย (Transparency)

ประการที่สี่ ศูนย์บำบัดฟื้นฟูผู้เสพติดอำนาจทางการเมือง (The Center for Power Addicts and Politics Abuse Rehabilitation, PAPA-Rehab) น่าจะกลายเป็นพื้นที่ที่จำเป็นสำหรับสังคมเครือข่ายนักการเมืองไทยในเวลานี้เพื่อให้กลุ่มนักการเมืองหรือผู้เตรียมตัวเป็นนักการเมืองได้เข้ารับการบำบัดฟื้นฟูและเตรียมความพร้อมผลิตนักการเมืองที่ดีให้กับบ้านเมืองด้วย “ตัวยาและเครื่องมือทางการเมืองแพทย์การเมืองที่ทันสมัย” โดยตัวยาสำคัญได้แก่เนื้อหาสาระของความเป็นผู้นำ (Leadership) นวัตกรรมการบริหารจัดการเชิงนโยบาย (Innovation in Policy Management) การกำหนดนโยบายสาธารณะ การประยุกต์ใช้จริยธรรมทางการเมือง และการติดตามประเมินผล ในขณะที่เครื่องมือทางการแพทย์คือการสร้างแบบจำลองสถานการณ์ทางการเมือง (Political Simulation) และการเข้าร่วมศึกษาค้นคว้าวิจัยเพื่อทำให้ผู้ที่กำลังเสพติดอำนาจทางการเมืองกลายเป็นนักการเมืองที่ดีมีคุณภาพทำเพื่อความสุขในอุดมการณ์ของตนเองและประโยชน์สุขของสาธารณชนในระบอบประชาธิปไตยต่อไป

          จากการพิจารณาลักษณะทั่วไปของตัวอย่าง พบว่า     ตัวอย่าง    ร้อยละ 49.0 เป็นชาย

ร้อยละ 51.0 เป็นหญิง

ตัวอย่าง ร้อยละ 4.7 อายุน้อยกว่า 20 ปี

ร้อยละ 20.7 อายุระหว่าง 20—29 ปี

ร้อยละ 19.2 อายุระหว่าง 30—39 ปี

ร้อยละ 21.5 อายุระหว่าง 40—49 ปี

และ ร้อยละ 33.9 อายุ 50 ปีขึ้นไป

ตัวอย่าง ร้อยละ 77.0 สำเร็จการศึกษาต่ำกว่าปริญญาตรี

ร้อยละ 17.0 สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี

และร้อยละ 6.0 สำเร็จการศึกษาสูงกว่าปริญญาตรี

ตัวอย่าง ร้อยละ 32.4 ระบุอาชีพเกษตรกร/รับจ้างทั่วไป

ร้อยละ 30.4 ระบุอาชีพค้าขาย/ธุรกิจส่วนตัว

ร้อยละ 8.8 ระบุเป็นพนักงานเอกชน

ร้อยละ 9.6 ระบุอาชีพข้าราชการ/พนักงานรัฐวิสาหกิจ

ร้อยละ 6.7 ระบุเป็นนักเรียน/นักศึกษา

ร้อยละ 8.1 ระบุเป็นแม่บ้าน/พ่อบ้าน/เกษียณอายุ

ร้อยละ 4.0 ระบุว่างงาน/ไม่ได้ประกอบอาชีพ

ตารางที่ 1 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุ การรับทราบถึงประเด็นสำคัญในการจัดเวทีการเมืองของกลุ่มต่างๆ ในเวลานี้
(ตอบได้มากกว่า 1 ข้อ)
ลำดับที่          การรับทราบถึงประเด็นสำคัญในการจัดเวทีทางการเมืองของกลุ่มต่าง ๆ ในเวลานี้  ค่าร้อยละ
1          การสนับสนุนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ/ไม่สนับสนุนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ                   72.1
2          การสนับสนุน พ.ร.บ.  ปรองดอง/ไม่สนับสนุน พ.ร.บ. ปรองดอง                  59.2
3          การเอาผิด พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ/ไม่เอาผิด พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ                       57.7
4          การนิรโทษกรรมในทุกคดี/ต่อต้านการนิรโทษกรรม                               55.0
5          การต่อต้านการปฏิวัติยึดอำนาจ/การหนุนการปฏิวัติยึดอำนาจ                        54.2

ตารางที่ 2 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุความคิดเห็นเกี่ยวกับการเคลื่อนไหวทางการเมืองของกลุ่มคนต่าง ๆ ในเวลานี้
ลำดับที่          ความคิดเห็น                     ค่าร้อยละ
1          เห็นว่าเป็นการแย่งชิงอำนาจ              77.2
2          ไม่คิดเช่นนั้น                          22.8
          รวมทั้งสิ้น                            100.0

ตารางที่ 3 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุ ประเด็นสำคัญที่รับทราบว่ามีการพูดถึงในการจัดเวทีการเมืองของกลุ่มต่างๆ
เพื่อเป็นนโยบายสาธารณะให้ผลประโยชน์ต่อประชาชนส่วนใหญ่ทั้งประเทศ
ลำดับที่          ประเด็นสำคัญที่รับทราบว่ามีการพูดถึงในการจัดเวทีการเมือง         ค่าร้อยละ
1          การป้องกันแก้ปัญหาภัยพิบัติทางธรรมชาติ                              25.1
2          สวัสดิการสังคมด้านการศึกษา/ด้านสุขภาพ                             12.2
3          ลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม                                        9.9
4          ให้มีการลดรายจ่าย เพิ่มรายได้                                     6.7
5          กรรมสิทธิ์ของชาวบ้านในที่ดินทำกิน                                   6.1

ตารางที่ 4 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุความคิดเห็นเกี่ยวกับการจัดเวทีเคลื่อนไหวทางการเมืองว่าทำไปเพื่อใคร
ลำดับที่          ความคิดเห็น                       ค่าร้อยละ
1          เพื่อประโยชน์ของตนเองและพวกพ้อง          74.5
2          เพื่อประโยชน์ของคนทั้งประเทศ              25.5
          รวมทั้งสิ้น                              100.0

ตารางที่ 5 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุความคิดเห็นเกี่ยวกับคลิปเสียงของประธานสภาจะทำให้เกิดความขัดแย้งภายในพรรคเพื่อไทยหรือไม่
ลำดับที่          ความคิดเห็น                      ค่าร้อยละ
1          คิดว่าจะทำให้เกิดความขัดแย้ง               53.5
2          ไม่คิดว่าจะทำให้เกิดความขัดแย้งอะไร         46.5
          รวมทั้งสิ้น                              100.0

--เอแบคโพลล์--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ