เอแบคโพลล์: ประเด็นข่าวร้อน ผลงานยอดเยี่ยม และต้องปรับปรุงของรัฐบาลกับพฤติกรรมคนไทย ความหวัง และความกลัว ภายใต้การนำของรัฐบาลชุดปัจจุบัน

ข่าวผลสำรวจ Monday July 30, 2012 07:14 —เอแบคโพลล์

ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยเอแบคโพลล์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เปิดเผยผลวิจัยเชิงสำรวจ เรื่อง ประเด็นข่าวร้อน ผลงานยอดเยี่ยม และต้องปรับปรุงของรัฐบาล กับพฤติกรรมคนไทย ความหวัง และความกลัว ภายใต้การนำของรัฐบาลชุดปัจจุบัน กรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนอายุ 18 ปีขึ้นไปใน 17 จังหวัดของประเทศ ได้แก่ กรุงเทพมหานคร ปทุมธานี ลพบุรี พระนครศรีอยุธยา จันทบุรี นครสวรรค์ เพชรบูรณ์ เชียงใหม่ มุกดาหาร หนองคาย ชัยภูมิ ขอนแก่น สุรินทร์ อุดรธานี พัทลุง สุราษฎร์ธานี และนครศรีธรรมราช จำนวนทั้งสิ้น 2,229 ตัวอย่าง ดำเนินโครงการระหว่างวันที่ 20 - 28 กรกฎาคม 2555 ที่ผ่านมา โดยใช้การเลือกตัวอย่างแบบแบ่งกลุ่มเชิงชั้นภูมิหลายชั้น ที่สุ่มเลือกจังหวัด อำเภอ ตำบล ชุมชน ครัวเรือน และประชาชนที่ตอบแบบสอบถามระดับครัวเรือน ความคลาดเคลื่อนร้อยละ 7 พบว่าส่วนใหญ่หรือร้อยละ 83.2 ติดตามข่าวการเมืองเป็นประจำทุกสัปดาห์

เมื่อสอบถามข่าวที่กำลังให้ความสนใจติดตามในช่วง 7 วันที่ผ่าน พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 91.6 สนใจข่าว ราคาสินค้า ราคาน้ำมันเชื้อเพลิง ข่าวเศรษฐกิจ ปัญหาปากท้อง รองลงมาคือ ร้อยละ 72.3 ข่าวโรคระบาด มือ เท้า ปาก ร้อยละ 68.9 สนใจข่าว ปัญหาความไม่สงบในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ร้อยละ 65.5 สนใจข่าว แก้ไขรัฐธรรมนูญ ร้อยละ 60.1 สนใจข่าวเปิดกีฬาโอลิมปิค คนไทยได้ไปแข่งขันกีฬาโอลิมปิค ร้อยละ 57.8 สนใจข่าว นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ไม่เข้ารับการเกณฑ์ทหาร ร้อยละ 54.6 สนใจข่าว กฎหมายปรองดอง ร้อยละ 53.2 สนใจข่าว วันเกิด พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ชินวัตร ร้อยละ 52.9 สนใจข่าว ฟื้นฟูเยียวยาความเดือดร้อนของผู้ประสบภัยน้ำท่วม และร้อยละ 50.5 สนใจข่าวปราบปรามยาเสพติด

เมื่อสอบถามถึงผลงาน “ยอดเยี่ยม” ใน 5 อันดับแรก ตลอด 6 เดือนของปี 2555 ที่ผ่านมา พบว่า อันดับแรกหรือร้อยละ 63.3 ระบุเป็นภาพลักษณ์ ดูดี ความพยายามทุ่มเททำงานหนักของนายกรัฐมนตรีหญิง นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร รองลงมาคือร้อยละ 61.6 ระบุเป็นการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน และการรักษาประชาธิปไตย ร้อยละ 54.8 ระบุความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ร้อยละ 48.2 ระบุการแก้ปัญหาความขัดแย้งของคนในชาติ และร้อยละ 47.3 ระบุการสร้างความเชื่อมั่นให้นักท่องเที่ยว นักธุรกิจ และนักลงทุนต่างชาติ ตามลำดับ

เมื่อถามถึงผลงานที่ต้องปรับปรุงของรัฐบาลใน 5 อันดับแรก ตลอดช่วง 6 เดือนของปี 2555 พบว่า อันแรกที่รัฐบาลต้องปรับปรุงหรือร้อยละ 86.9 ระบุราคาสินค้า น้ำมันเชื้อเพลิง ค่าครองชีพ ปัญหาปากท้องของพี่น้องประชาชน รองลงมาคือร้อยละ 70.5 ระบุปัญหายาเสพติด อาชญากรรม แหล่งมั่วสุมในชุมชนที่พักอาศัย ร้อยละ 69.3 ระบุปัญหาความไม่สงบในสามจังหวัดชายแดนใต้ ร้อยละ 62.5 ระบุการเยียวยาฟื้นฟูบรรเทาความเดือดร้อนของผู้ประสบภัยน้ำท่วม และร้อยละ 58.1 ระบุปัญหาคุณภาพเด็กและเยาวชน ตามลำดับ

เมื่อสอบถามกลุ่มผู้ถูกศึกษาถึงสาเหตุของปัญหาความไม่สงบในสามจังหวัดชายแดนใต้ พบว่า เกินครึ่งหรือร้อยละ 55.7 ระบุเป็นปัญหาขบวนการค้ายาเสพติด ค้าอาวุธสงคราม การผสมโรงกันก่อการร้าย รองลงมาคือ ร้อยละ 46.6 ระบุความไม่เป็นเอกภาพของ ทหาร ตำรวจ ฝ่ายปกครอง และภาคประชาชน ร้อยละ 45.3 ระบุปัญหาทุจริตคอรัปชั่น ร้อยละ 44.9 ระบุความล่าช้าในการเข้าถึงพื้นที่เกิดเหตุ ร้อยละ 42.1 ระบุเจ้าหน้าที่บางหน่วยใส่เกียร์ว่าง ขัดแย้งกันเอง ร้อยละ 36.9 ระบุเจ้าหน้าที่รัฐร่วมมือกับขบวนการก่อการร้ายเสียเอง และร้อยละ 23.8 ระบุอื่นๆ เช่น สภาพพื้นที่เข้าถึงดูแลยาก ขบวนการสร้างผลงาน และกลุ่มก่อการร้ายต้องการทำลายขวัญ กำลังใจของเจ้าหน้าที่และประชาชน เป็นต้น

ที่น่าพิจารณาคือ เมื่อสอบถามถึงพฤติกรรมของคนไทยที่กำลังจางหายไป พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 87.2 ระบุเป็นเรื่องความรักความสามัคคี ที่กำลังจางหายไป รองลงมาคือร้อยละ 81.9 ระบุการให้อภัยต่อกัน ร้อยละ 78.4 ระบุความซื่อสัตย์สุจริต ร้อยละ 73.2 ระบุความเสียสละ และร้อยละ 71.2 ระบุความเคารพ ปฏิบัติตามกฎหมาย ที่กำลังจางหายไป และรองๆ ลงไปคือ ความเมตตา มีน้ำใจช่วยเหลือเกื้อกูลกัน ความรักชาติ รู้คุณแผ่นดิน ความกตัญญู ความละอาย เกรงกลัวต่อบาป ความรู้สำนึกผิดชอบ ชั่วดี และจิตอาสา ช่วยเหลือสังคม กำลังจางหายไปจากพฤติกรรมของคนไทย ตามลำดับ

          ในขณะที่ พฤติกรรมของคนไทยที่กำลังเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ผลสำรวจพบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 79.1 เป็นเรื่องของ การใช้ กฎหมู่เหนือกฎหมาย รองลงไปคือ ร้อยละ 66.2 ระบุการฝ่าฝืนกฎจราจร ไม่มีวินัย ร้อยละ 63.9 ระบุการฉกฉวยโอกาส เอารัดเอาเปรียบผู้อื่น      ร้อยละ 62.6 ไม่มีน้ำใจ ไม่ยอมกัน มุ่งเอาชนะคะคานกัน ร้อยละ 62.0 ระบุคนไทยสมัยนี้ไม่กลัวเสียหน้า ไม่อายสังคม ในขณะที่รองๆ ลงไปคือ ตัวใครตัวมัน ต่างคนต่างอยู่ ขาดเมตตา เบียดเบียนผู้อื่น มุ่งกอบโกยผลประโยชน์ ยอมรับทุจริต คอรัปชั่น อารมณ์ร้าย ฉุนเฉียว         โกรธง่าย และยอมขายชาติ ขายสมบัติชาติ ไม่คิดถึงลูกหลานชนรุ่นหลัง ไม่ตระหนักถึงความเสียสละของบรรพบุรุษ ตามลำดับ

อย่างไรก็ตาม เมื่อถามถึงความหวัง กับ ความกลัวที่จะก้าวไปข้างหน้าภายใต้การนำของรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 64.5 ยังมีความหวัง ที่จะก้าวต่อไปข้างหน้า ในขณะที่ร้อยละ 35.5 มีความกลัวต่อเหตุการณ์ข้างหน้าที่จะเกิดขึ้น และเมื่อพิจารณาแนโน้มความหวัง กับความกลัวที่เคยสำรวจเมื่อปลายปีที่แล้ว พบว่า ประชาชนมีความหวังเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 53.8 ในเดือนธันวาคมปี 54 มาอยู่ที่ร้อยละ 64.5 ในการสำรวจครั้งนี้ ในขณะที่ความกลัวลดลงจากร้อยละ 46.2 มาอยู่ที่ร้อยละ 35.5 ตามลำดับ

ดร.นพดล กรรณิกา ผอ.เอแบคโพลล์ กล่าวว่า ถึงเวลาแล้วที่คนไทยทั้งประเทศต้องเป็นหนึ่งเดียวกัน ไม่แบ่งแยก ต้องกล้าที่จะก้าวไปข้างหน้าอย่างพร้อมเพรียงบนครรลองของการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขเพื่อเชื่อมโยงคนไทยส่วนใหญ่ด้วยความจงรักภักดีและรักษาสถาบันสำคัญบนพื้นแผ่นดินไทยไว้ โดยยึดกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมเป็นเสาหลักสำคัญของประเทศ เพื่อไม่ให้เกิดการทำลายอำนาจรัฐและความน่าเชื่อถือศรัทธาของสาธารณชนต่อสถาบันที่ทำตามกันจนกลายเป็นขบวนการเครือข่ายกว้างขวางขึ้นอันนำไปสู่การใช้กฎหมู่เหนือกฎหมายและการใช้ความรุนแรงบานปลายจนกระทบต่อวิถีชิวิตความเป็นอยู่ของพี่น้องประชาชน ต่อเสถียรภาพของรัฐบาลและความมั่นคงของประเทศชาติโดยรวม เพื่อการต่อรองผลประโยชน์ของคนเฉพาะกลุ่ม เฉพาะพื้นที่

“ดังนั้น การรณรงค์เคลื่อนไหวใน “มิติเชิงสังคม” จำเป็นต้องทำอย่างจริงจังต่อเนื่องเพื่อให้พฤติกรรมเชิงสร้างสรรค์ของคนไทยฟื้นคืนกลับมาเด่นชัดขึ้นเรื่อยๆ เช่น ความรักความสามัคคี ความมีน้ำใจไมตรีเกื้อกูลกัน การรู้จักให้อภัยต่อกัน ความเสียสละ ความละอายเกรงกลัวต่อบาป ต่อสายตาของสังคม ความรู้ผิดชอบชั่วดี ความรู้คุณแผ่นดิน ความตระหนักถึงความเสียสละของบรรพบุรุษ และเลือดเนื้อของผู้รักชาติในปัจจุบัน เป็นต้น โดยพฤติกรรมเชิงสร้างสรรค์ในมิติทางสังคมเหล่านี้น่าจะเป็นพลังและแรงบันดาลใจให้คนไทยอยู่ร่วมกันเป็นเอกภาพและดำรงไว้ซึ่งเอกลักษณ์หรือ DNA ของความเป็นคนไทยบนผืนแผ่นดินเดียวกันตลอดไป” ผอ.เอแบคโพลล์ กล่าว

จากการพิจารณาลักษณะทั่วไปของตัวอย่าง พบว่า ตัวอย่างร้อยละ 49.0 เป็นชาย ร้อยละ 51.0 เป็นหญิง ตัวอย่างร้อยละ 4.7 อายุน้อยกว่า 20 ปี ร้อยละ 20.7 อายุระหว่าง 20—29 ปี ร้อยละ 19.2 อายุระหว่าง 30—39 ปี ร้อยละ 21.5 อายุระหว่าง 40—49 ปี และ ร้อยละ 33.9 อายุ 50 ปีขึ้นไป ตัวอย่างร้อยละ 77.0 สำเร็จการศึกษาต่ำกว่าปริญญาตรี ร้อยละ 17.0 สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี และร้อยละ 6.0 สำเร็จการศึกษาสูงกว่า ปริญญาตรี ตัวอย่างร้อยละ 32.4 ระบุอาชีพเกษตรกร/รับจ้างทั่วไป ร้อยละ 30.4 ระบุอาชีพค้าขาย/ธุรกิจส่วนตัว ร้อยละ 8.8 ระบุเป็นพนักงานเอกชน ร้อยละ 9.6 ระบุอาชีพข้าราชการ/พนักงานรัฐวิสาหกิจ ร้อยละ 6.7 ระบุเป็นนักเรียน/นักศึกษา ร้อยละ 8.1 ระบุเป็นแม่บ้าน/พ่อบ้าน/เกษียณอายุ ร้อยละ 4.0 ระบุว่างงาน/ไม่ได้ประกอบอาชีพ

ตารางที่ 1 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุการติดตามข่าวสารการเมืองผ่านสื่อมวลชน ในช่วง 30 วันที่ผ่านมา
ลำดับที่          ติดตามข่าวสารการเมืองผ่านสื่อมวลชน ในช่วง 30 วันที่ผ่านมา          ค่าร้อยละ
1          เป็นประจำทุกสัปดาห์                                               83.2
2          ไม่ค่อยติดตามถึงไม่ติดตามเลย                                        16.8
          รวมทั้งสิ้น                                                       100.0

ตารางที่ 2 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุ ข่าวที่กำลังให้ความสนใจติดตาม ในช่วง 7 วันที่ผ่านมา (ตอบได้มากกว่า 1 ข้อ)
ลำดับที่          ข่าวที่กำลังให้ความสนใจติดตามในช่วง 7 วันที่ผ่านมา                 ค่าร้อยละ
1          ข่าว ราคาสินค้า ราคาน้ำมันเชื้อเพลิง ข่าวเศรษฐกิจ ปัญหาปากท้อง            91.6
2          ข่าว โรคระบาดมือ เท้า ปาก                                        72.3
3          ข่าว ปัญหาความไม่สงบในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้                        68.9
4          ข่าว แก้ไขรัฐธรรมนูญ                                              65.5
5          ข่าว เปิดกีฬาโอลิมปิค คนไทยได้ไปแข่งขันกีฬาโอลิมปิค                      60.1
6          ข่าว นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ไม่เข้ารับการเกณฑ์ทหาร                      57.8
7          ข่าว กฎหมาย ปรองดอง                                            54.6
8          ข่าว วันคล้ายวันเกิด พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ  ชินวัตร                          53.2
9          ข่าว ฟื้นฟูเยียวยาความเดือดร้อนของผู้ประสบภัยน้ำท่วม                      52.9
10          ข่าว ปราบปรามยาเสพติด                                          50.5

ตารางที่ 3 แสดงค่าร้อยละ 5 อันดับผลงานรัฐบาลที่ “ยอดเยี่ยม” ตลอด 6 เดือนแรกของปี 2555 (ตอบได้มากกว่า 1 ข้อ)
ลำดับที่          ผลงานยอดเยี่ยมตลอด 6 เดือนแรก                              ค่าร้อยละ
1          ภาพลักษณ์ ดูดี ความพยายามทุ่มเททำงานหนักของ นายกรัฐมนตรี               63.3
2          การส่งเสริมการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนและรักษาระบอบประชาธิปไตย        61.6
3          ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ                                         54.8
4          การแก้ปัญหาความขัดแย้งของคนในชาติ                                  48.2
5          การสร้างความเชื่อมั่นให้นักท่องเที่ยว นักธุรกิจ และนักลงทุนต่างชาติ            47.3

ตารางที่ 4 แสดงค่าร้อยละ 5 อันดับผลงานรัฐบาลที่ “ต้องปรับปรุง” ตลอดช่วง 6 เดือนแรกของปี 2555 (ตอบได้มากกว่า 1 ข้อ)
ลำดับที่          ผลงานที่ต้องปรับปรุง          ค่าร้อยละ
1          ราคาสินค้า น้ำมันเชื้อเพลิง ค่าครองชีพ ปัญหาปากท้องของพี่น้องประชาชน        86.9
2          ปัญหายาเสพติด อาชญากรรม แหล่งมั่วสุมในชุมชนที่พักอาศัย                   70.5
3          ปัญหาความไม่สงบในสามจังหวัดชายแดนใต้                               69.3
4          การเยียวยาฟื้นฟูบรรเทาความเดือดร้อนของผู้ประสบภัยน้ำท่วม                 62.5
5          การแก้ปัญหาคุณภาพเด็กและเยาวชน                                    58.1

ตารางที่ 5 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุ สาเหตุของปัญหาความไม่สงบสามจังหวัดชายแดนใต้ (ตอบได้มากกว่า 1 ข้อ)
ลำดับที่          ความคิดเห็นของประชาชน                                     ค่าร้อยละ
1          ปัญหาขบวนการค้ายาเสพติด ค้าอาวุธสงคราม การผสมโรงกันก่อการร้าย         55.7
2          ความไม่เป็นเอกภาพของ ทหาร ตำรวจ ฝ่ายปกครอง และภาคประชาชน         46.6
3          ปัญหาทุจริตคอรัปชั่น                                                45.3
4          ความล่าช้าในการเข้าถึงพื้นที่เกิดเหตุ                                   44.9
5          เจ้าหน้าที่บางหน่วยใส่เกียร์ว่าง ขัดแย้งกันเอง                            42.1
6          เจ้าหน้าที่รัฐร่วมมือกับขบวนการก่อการร้ายเสียเอง                         36.9
7          อื่นๆ เช่น สภาพพื้นที่เข้าถึงดูแลยาก ขบวนการต้องการสร้างผลงาน

และกลุ่มก่อการร้ายต้องการทำลายขวัญกำลังใจของเจ้าหน้าที่และประชาชน เป็นต้น 23.8

ตารางที่ 6 แสดงค่าร้อยละที่ระบุ พฤติกรรมของคนไทยที่กำลังจางหายไป (ตอบได้มากกว่า 1 ข้อ)
ลำดับที่          พฤติกรรมของคนไทยที่กำลังจางหายไป            ค่าร้อยละ
1          ความรักความสามัคคี                              87.2
2          การให้อภัยต่อกัน                                 81.9
3          ความซื่อสัตย์ สุจริต                               78.4
4          ความเสียสละ                                   73.2
5          ความเคารพ ปฏิบัติตามกฎหมาย                      71.2
6          ความเมตตา มีน้ำใจ ช่วยเหลือ เกื้อกูล                65.6
7          ความรักชาติ รู้คุณแผ่นดิน                           63.4
8          ความกตัญญู                                     61.9
9          ความละอาย เกรงกลัวต่อบาป และความรู้สำนึกผิดชอบ ชั่วดี 60.3
10          จิตอาสา ช่วยเหลือสังคม                          57.7

ตารางที่ 7 แสดงค่าร้อยละที่ระบุ พฤติกรรมของคนไทยที่กำลังเพิ่มมากขึ้น (ตอบได้มากกว่า 1 ข้อ)
ลำดับที่          พฤติกรรมของคนไทยที่กำลังเพิ่มมากขึ้น                                        ค่าร้อยละ
1          ใช้ กฎหมู่ เหนือกฎหมาย                                                       79.1
2          ฝ่าฝืนกฎจราจร ไม่มีวินัย                                                       66.2
3          ฉกฉวยโอกาส เอารัดเอาปรียบผู้อื่น                                               63.9
4          ไม่มีน้ำใจ ไม่ยอมกัน มุ่งเอาชนะคะคานกัน                                          62.6
5          ไม่กลัวเสียหน้า ไม่อายสังคม                                                    62.0
6          ตัวใครตัวมัน ต่างคนต่างอยู่                                                     59.7
7          ขาดเมตตา เบียดเบียนผู้อื่น                                                     58.4
8          มุ่งกอบโกยผลประโยชน์ ยอมรับทุจริต คอรัปชั่น                                       56.1
9          อารมณ์ร้าย ฉุนเฉียว โกรธง่าย                                                  54.4
10          ยอมขายชาติ ขายสมบัติชาติ ไม่คิดถึงลูกหลานชนรุ่นหลัง ไม่ตระหนักถึงความเสียสละของบรรพบุรุษ 51.2

ตารางที่ 8 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุ ความหวังกับความกลัว ที่จะก้าวต่อไปข้างหน้า ภายใต้การนำของรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์  ชินวัตร
ลำดับที่          ความหวัง กับ ความกลัว                    ธ.ค. 54ค่าร้อยละ         ก.ค. 55ค่าร้อยละ
1          มีความหวัง ที่จะก้าวต่อไปข้างหน้า                      53.8                    64.5
2          มีความกลัว ต่อเหตุการณ์ข้างหน้าที่จะเกิดขึ้น               46.2                    35.5
          รวมทั้งสิ้น                                        100.0                   100.0

--เอแบคโพลล์--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ