เอแบคโพลล์: ประเมินความหวาดกลัวต่ออาชญากรรม มาตรการจับกุมอาวุธปืน และความต้องการของสาธารณชนต่อ ผู้บัญชาการตำรวจนครบาลคนปัจจุบัน

ข่าวผลสำรวจ Monday August 6, 2012 07:18 —เอแบคโพลล์

ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยความสุขชุมชน สำนักวิจัยเอแบคโพลล์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เปิดเผยผลวิจัยเชิงสำรวจ เรื่อง ประเมินความหวาดกลัวต่ออาชญากรรม มาตรการจับกุมอาวุธปืน และความต้องการของสาธารณชนต่อผู้บัญชาการตำรวจนครบาลคนปัจจุบัน กรณีศึกษาตัวอย่างข้าราชการตำรวจชั้นสัญญาบัตร และระดับประทวน ผู้ปฏิบัติหน้าที่ระดับสถานีตำรวจในกองบัญชาการตำรวจนครบาล ใช้การเลือกตัวอย่างจากบัญชีรายชื่อของสถานีตำรวจ จำนวนทั้งสิ้น 441 นาย และตัวอย่างประชาชนอายุ 18 ปีขึ้นไป ที่พักอาศัยในเขตกรุงเทพมหานคร ใช้การเลือกตัวอย่างแบบแบ่งกลุ่มเชิงชั้นภูมิหลายชั้น ที่สุ่มเลือกเขต แขวง ชุมชน ครัวเรือน และประชาชนที่ตอบแบบสอบถามระดับครัวเรือน จำนวน 1,392 ตัวอย่าง โดยมีช่วงความคลาดเคลื่อนบวกลบร้อยละ 7 รวมทั้งสิ้น 1,833 ตัวอย่าง ดำเนินโครงการระหว่างวันที่ 25 กรกฎาคม — 3 สิงหาคม 2555 ที่ผ่านมา พบว่า

เมื่อสอบถามความรู้สึกหวาดกลัวของประชาชนต่ออาชญากรรม ในช่วง 30 วันที่ผ่านมาก่อนการสำรวจ พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 57.0 รู้สึกหวาดกลัวเพิ่มมากขึ้น ในขณะที่ร้อยละ 38.4 หวาดกลัวเหมือนเดิม และเพียงร้อยละ 4.6 เท่านั้นที่หวาดกลัวลดลง

เมื่อถามถึงมาตรการจับกุมอาวุธปืนของผู้บัญชาการตำรวจนครบาลคนปัจจุบัน กับความรู้สึกหวาดกลัวต่ออาชญากรรมในชุมชน พบความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญระหว่าง ตำรวจ กับประชาชน โดยพบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 61.7 ของตำรวจ กับร้อยละ 25.1 ของประชาชนที่ระบุว่ามาตรการจับกุมอาวุธปืนช่วยลดความหวาดกลัวต่ออาชญากรรมได้มาก และร้อยละ 23.4 ของตำรวจ กับร้อยละ 29.0 ของประชาชนระบุมาตรการดังกล่าวช่วยลดความหวาดกลัวต่ออาชญากรรมค่อนข้างมาก ในขณะที่ ร้อยละ 13.8 ของตำรวจ กับร้อยละ 27.2 ของประชาชนระบุช่วยลดได้ค่อนข้างน้อย และร้อยละ 1.1 ของตำรวจ กับร้อยละ 18.7 ของประชาชนระบุช่วยลดได้น้อยถึงไม่ช่วยลดความหวาดกลัวต่ออาชญากรรมลงเลย

อย่างไรก็ตาม ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 92.4 ของตัวอย่างประชาชนระบุว่า มาตรการกวดขันจับกุมอาวุธปืนเป็นมาตรการที่ดี

นอกจากนี้ เมื่อถามถึงสิ่งที่ประชาชนอยากให้ผู้บัญชาการตำรวจนครบาลคนปัจจุบันกวดขัดเข้มงวด เมื่อตอบได้มากกว่า 1 อย่างพบว่า ส่วนใหญ่อันดับแรกหรือร้อยละ 97.8 อยากให้กวดขัดจับกุมการขับรถเกินความเร็วที่กฎหมายกำหนด รองลงมาคือร้อยละ 97.3 อยากให้เข้มงวดกับสถานบริการบันเทิงเปิดเกินเวลา ร้อยละ 96.7 อยากให้กวดขันจับกุมรถไม่ติดแผ่นป้ายทะเบียน ร้อยละ 96.1 อยากให้กวดขันตรวจค้นยาเสพติดในชุมชน ร้อยละ 94.6 อยากให้ปิดสถานบันเทิงใกล้สถาบันการศึกษา และร้อยละ 92.6 อยากให้กวดขันอาวุธปืน ตามลำดับ

ที่น่าพิจารณาคือ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 82.2 ของตัวอย่างประชาชน และร้อยละ 66.0 ของตัวอย่างตำรวจที่คิดว่า การมีตำรวจฝีมือดีประจำป้อมตำรวจใกล้บ้านตลอดเวลา 24 ชั่วโมงช่วยให้ความอบอุ่นใจแก่ประชาชนได้มากกว่า มาตรการจับกุมอาวุธปืน

นอกจากนี้ ทั้งตัวอย่างประชาชนและข้าราชการตำรวจส่วนใหญ่คือร้อยละ 72.6 ของประชาชนและร้อยละ 71.7 ของตำรวจเห็นด้วยอย่างยิ่งต่อข้อความที่ว่า การบังคับใช้กฎหมายเกี่ยวกับอาวุธปืนเป็นเรื่องที่ดี แต่ที่ดีกว่าคือ การมีโครงการตำรวจประจำชุมชน

ยิ่งไปกว่านั้น เกือบร้อยละร้อยของข้าราชการตำรวจคือร้อยละ 96.8 และส่วนใหญ่หรือร้อยละ 85.3 ในกลุ่มประชาชนที่คิดว่า ถ้าเพิ่มตำรวจสายตรวจมากขึ้นในชุมชน จะช่วยลดความหวาดกลัวลงไปได้ และเกินกว่าร้อยละ 90 ของทั้งประชาชนและตำรวจคือร้อยละ 90.4 ของประชาชนและร้อยละ 96.3 ของตำรวจคิดว่า สำนักงานตำรวจแห่งชาติควรเพิ่มจำนวนเจ้าหน้าที่ตำรวจสายตรวจให้มากขึ้น

ดร.นพดล กรรณิกา ผอ.เอแบคโพลล์ กล่าวว่า เรื่องการบังคับใช้กฎหมายเกี่ยวกับอาวุธปืนเป็นที่ถกเถียงกันอย่างกว้างขวางทั้งในและต่างประเทศโดยยังไม่สามารถหาข้อยุติที่ยอมรับได้อย่างสากลว่านโยบายและกฎหมายใดดีที่สุด แต่คำตอบที่ค้นพบครั้งนี้คือ การบังคับใช้กฎหมายเกี่ยวกับการจับกุมอาวุธปืนเป็นเรื่องที่ดีแต่ที่ดีกว่าคือ การมี “ระบบตำรวจ” หรือ Policing ในระดับชุมชน จากงานวิจัย พบว่า ในประเทศสวิสเซอร์แลนด์โดยภาพรวม ประชาชนมีอาวุธปืนไว้ในครอบครองระดับครัวเรือน ช่วยลดอัตราอาชญากรรมลงได้ ในขณะที่บางประเทศพยายามเลียนแบบแต่ไม่ประสบผลสำเร็จเท่าเพราะมีปัจจัยอื่นประกอบ เช่น คุณภาพของประชาชนในประเทศ และประสิทธิภาพประสิทธิผลของระบบตำรวจของประเทศนั้นๆ

“สำหรับประเทศไทย มาตรการจับกุมอาวุธปืนที่ผิดกฎหมายเป็นเรื่องที่ดี แต่จำเป็นต้องมีมาตรการอื่นมาหนุนเสริมเพื่อช่วยลดความหวาดกลัวของสาธารณชนต่ออาชญากรรมลงได้อย่างจริงจังต่อเนื่อง เช่น การเพิ่มกำลังตำรวจสายตรวจลงระดับชุมชน ความรวดเร็ว ฉับไว ต่อการแจ้งเบาะแสตอบสนองความต้องการของประชาชนและการเข้าถึงพื้นที่เกิดเหตุอย่างรวดเร็ว การให้ผู้บังคับบัญชาระดับสูงอยู่ในตำแหน่งให้ยาวนานไม่เปลี่ยนแปลงไปได้ง่ายตามขั้วของการเมือง การเพิ่มการดูแลสวัสดิภาพของตำรวจผู้ปฏิบัติและความปลอดภัยของครอบครัวข้าราชการตำรวจในท้องที่เพราะมาตรการจับกุมอาวุธปืนย่อมมีผลกระทบต่อข้าราชาการตำรวจระดับพื้นที่ได้อย่างน่าเป็นห่วง เพราะอาจมีแรงกดดันทั้งจากผู้บังคับบัญชาระดับสูงและแรงเสียดทานจากสภาพแวดล้อมและปัญหาที่ฝังรากลึกมายาวนาน ดังนั้น การค่อยๆ ปรับปรุงประสิทธิภาพและประสิทธิผลของ “ระบบงานตำรวจ” โดยการเพิ่มกำลังสายตรวจ การมีตำรวจประจำป้อมตำรวจ 24 ชั่วโมง และการยึดเอาชุมชนเป็นหัวใจสำคัญน่าจะช่วยทำให้ความหวาดกลัวของสาธารณชนต่ออาชญากรรมลดลงไปได้อย่างมีนัยสำคัญ” ผอ.เอแบคโพลล์ กล่าว

ข้อมูลทั่วไปของผู้ประเมิน ดร.นพดล กรรณิกา ได้รับทุนการศึกษาจากมหาวิทยาลัยคอร์แนลในหลักสูตรนโยบายการพัฒนาระหว่างประเทศ สถาบันคอร์แนลเพื่อภารกิจของรัฐ และเข้าศึกษาเพิ่มเติมที่มหาวิทยาลัยจอร์ชทาวน์ วอชิงตันดีซี สหรัฐอเมริกาในหลักสูตรการบริหารจัดการนโยบาย (Public Policy Analysis-Policy Management) จบการศึกษาปริญญาโทด้านระเบียบวิธีวิจัยจากมหาวิทยาลัยมิชิแกน สหรัฐอเมริกา และปริญญาเอกด้านการจัดการวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ นอกจากนี้ได้ศึกษาเพิ่มเติมด้านระเบียบวิธีจัยในโครงการ JPSM ของมหาวิทยาลัยแมรี่แลนด์ สหรัฐอเมริกา

ลักษณะทั่วไปของผู้ตอบแบบสอบถาม

จากการพิจารณาลักษณะทั่วไปของตำรวจ พบว่า ตัวอย่างร้อยละ 21.3 เป็นหญิง ร้อยละ 78.7 เป็นชาย ตัวอย่างร้อยละ 8.5 อายุต่ำกว่า 30 ปี ร้อยละ 21.3 อายุ 30 — 39 ปี ร้อยละ 40.4 อายุ 40 — 49 ปี ร้อยละ 29.8 อายุ 50ขึ้นไป โดยสำรวจตำรวจจากทุกสายงานระดับสถานีตำรวจในสังกัดกองบัญชาการตำรวจนครบาล

ในขณะที่กลุ่มประชาชนทั่วไป พบว่า ตัวอย่างร้อยละ 48.6 เป็นชาย ร้อยละ 51.4 เป็นหญิง ตัวอย่างร้อยละ 3.2 อายุน้อยกว่า 20 ปี ร้อยละ 20.0 อายุระหว่าง 20—29 ปี ร้อยละ 21.0 อายุระหว่าง 30—39 ปี ร้อยละ 20.3 อายุระหว่าง 40—49 ปี และร้อยละ 35.5 อายุ 50 ปีขึ้นไป ตัวอย่าง ร้อยละ 72.2 สำเร็จการศึกษาต่ำกว่าปริญญาตรี ร้อยละ 20.0 สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี และร้อยละ 7.8 สำเร็จการศึกษาสูงกว่าปริญญาตรี ตัวอย่างร้อยละ 31.8 ระบุอาชีพเกษตรกร/รับจ้างทั่วไป ร้อยละ 24.6 ระบุอาชีพค้าขาย/ธุรกิจส่วนตัว ร้อยละ 12.4 ระบุเป็นพนักงานเอกชน ร้อยละ 11.6 ระบุข้าราชการ/พนักงานรัฐวิสาหกิจ ร้อยละ 7.4 ระบุเป็นนักเรียนนักศึกษา ร้อยละ 8.1 เป็นแม่บ้าน/พ่อบ้าน/เกษียณอายุ ร้อยละ 4.1 ว่างงาน/ไม่ได้ประกอบอาชีพ

ตารางที่ 1 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างประชาชนที่ระบุ ความรู้สึกหวาดกลัวต่ออาชญากรรม ในช่วง 30 วันที่ผ่านมา
ลำดับที่          ความรู้สึกหวาดกลัวของประชาชนต่ออาชญากรรมในช่วง 30 วันที่ผ่านมา           ค่าร้อยละ
1          รู้สึกหวาดกลัวเพิ่มมากขึ้น                                                  57.0
2          เหมือนเดิม                                                            38.4
3          ลดลง                                                                 4.6
          รวมทั้งสิ้น                                                             100.0

ตารางที่ 2 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุความคิดเห็นต่อมาตรการจับกุมอาวุธปืนของแต่ละสถานีตำรวจ จะช่วยลดความหวาดกลัว
ต่ออาชญากรรมในชุมชน
ลำดับที่          ความคิดเห็นต่อมาตรการจับกุมอาวุธปืนจะช่วยลดความหวาดกลัวต่ออาชญากรรมในชุมชน  ประชาชนค่าร้อยละ  ตำรวจค่าร้อยละ
1          คิดว่าช่วยลดความหวาดกลัวได้มาก                                                  25.1          61.7
2          ค่อนข้างมาก                                                                  29.0          23.4
3          ค่อนข้างน้อย                                                                  27.2          13.8
4          น้อย ถึง ไม่ช่วยลดเลย                                                          18.7           1.1
          รวมทั้งสิ้น                                                                    100.0         100.0

ตารางที่ 3 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างประชาชนที่ระบุความคิดเห็นต่อมาตรการกวดขันจับอาวุธปืน
ลำดับที่          ความคิดเห็นของประชาชน            ค่าร้อยละ
1          คิดว่าเป็นมาตรการที่ดี                     92.4
2          คิดว่าไม่ดี                               7.6
          รวมทั้งสิ้น                              100.0


ตารางที่ 4 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างประชาชนที่ระบุ สิ่งที่ต้องการให้ผู้บัญชาการตำรวจนครบาลคนปัจจุบันกวดขันเข้มงวด

(ตอบได้มากกว่า 1 ข้อ)

ลำดับที่          สิ่งที่ต้องการให้ผู้บัญชาการตำรวจนครบาลคนปัจจุบันกวดขันเข้มงวด      ค่าร้อยละ
1          ขับรถเกินความเร็วที่กฎหมายกำหนด                                  97.8
2          ใช้ความเข้มงวดกับสถานบริการบันเทิงเปิดเกินเวลา                      97.3
3          รถไม่ติดแผ่นป้ายทะเบียน                                          96.7
4          ตรวจค้นยาเสพติดในชุมชน                                         96.1
5          ปิดสถานบริการบันเทิงใกล้สถาบันการศึกษา                             94.6
6          กวดขันอาวุธปืน                                                 92.6

ตารางที่ 5 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุความคิดเห็นเกี่ยวกับการช่วยให้ประชาชนอบอุ่นใจ ระหว่างการมีตำรวจสายตรวจฝีมือดีประจำป้อม
ตำรวจตลอดเวลา 24 ชั่วโมงกับการกวดขันจับอาวุธปืนในเวลานี้
ลำดับที่          ความคิดเห็น                                                       ประชาชนค่าร้อยละ  ตำรวจค่าร้อยละ
1          คิดว่า การมีตำรวจฝีมือดีประจำป้อมตำรวจใกล้บ้านช่วยให้ความอบอุ่นใจของประชาชนได้มากกว่า    82.2          66.0
2          คิดว่า การกวดขันจับอาวุธปืนช่วยได้มากกว่า                                          17.8          34.0
          รวมทั้งสิ้น                                                                   100.0         100.0

ตารางที่ 6 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุความคิดเห็นต่อข้อความ การบังคับใช้กฎหมายเกี่ยวกับอาวุธปืนเป็นเรื่องที่ดี แต่ที่ดีกว่าคือ
การมีโครงการตำรวจประจำชุมชน
ลำดับที่          ความคิดเห็น    ประชาชนค่าร้อยละ  ตำรวจค่าร้อยละ
1          เห็นด้วยอย่างยิ่ง          72.6          71.7
2          ค่อนข้างเห็นด้วย          21.3          19.6
3          ไม่ค่อยเห็นด้วย            3.9           6.5
4          ไม่เห็นด้วย               2.2           2.2
          รวมทั้งสิ้น               100.0         100.0

ตารางที่ 7 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุความคิดเห็นต่อการช่วยลดความหวาดกลัวของอาชญากรรมในชุมชนกรณีนโยบายที่ให้แต่ละสถานีตำรวจ
มีกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจเพิ่มเพื่อเพิ่มจำนวนสายตรวจเข้าตรวจตราในชุมชนให้บ่อยมากขึ้น
ลำดับที่          ความคิดเห็นต่อการช่วยลดความหวาดกลัว                        ประชาชนค่าร้อยละ  ตำรวจค่าร้อยละ
1          ถ้าเพิ่มตำรวจสายตรวจมากขึ้นในชุมชน จะช่วยลดความหวาดกลัวลงไปได้          85.3           96.8
2          ความกลัวต่ออาชญากรรมยังเท่าเดิม ถึงแม้จะเพิ่มตำรวจสายตรวจมากขึ้น          10.5            2.2
3          ถ้าเพิ่มตำรวจสายตรวจมากขึ้นในชุมชน ก็จะหวาดกลัวต่ออาชญากรรมมากขึ้น         4.2            1.0
          รวมทั้งสิ้น                                                        100.0          100.0

ตารางที่ 8 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุความคิดเห็นต่อสำนักงานตำรวจแห่งชาติในการเพิ่มจำนวนเจ้าหน้าที่ตำรวจสายตรวจในแต่ละสถานี
ตำรวจให้มากขึ้น
ลำดับที่          ความคิดเห็นต่อการเพิ่มจำนวนเจ้าหน้าที่ตำรวจสายตรวจ                  ประชาชนค่าร้อยละ   ตำรวจค่าร้อยละ
1          คิดว่า สำนักงานตำรวจแห่งชาติควรเพิ่มจำนวนเจ้าหน้าที่ตำรวจสายตรวจให้มากขึ้น          90.4          96.3
2          คิดว่า ไม่ควรเพิ่ม                                                          9.6           3.7
          รวมทั้งสิ้น                                                               100.0         100.0

--เอแบคโพลล์--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ