เอแบคโพลล์: เจาะใจค้นหาความสุขของคนทุกกลุ่มสี และการแก้ไขรัฐธรรมนูญกับการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลในสายตาของสาธารณชน

ข่าวผลสำรวจ Monday August 6, 2012 07:24 —เอแบคโพลล์

ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยเอแบคโพลล์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เปิดเผยผลวิจัยเชิงสำรวจ เรื่อง เจาะใจค้นหาความสุขของคนทุกกลุ่มสี และการแก้ไขรัฐธรรมนูญกับการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลในสายตาของสาธารณชน กรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนอายุ 18 ปีขึ้นไปใน 17 จังหวัดของประเทศ ได้แก่ กรุงเทพมหานคร สมุทรสาคร กาญจนบุรี สุพรรณบุรี สมุทรปราการ พะเยา เพชรบูรณ์ เชียงใหม่ นครพนม สกลนคร สุรินทร์ บุรีรัมย์ ขอนแก่น นครราชสีมา ชุมพร ตรัง และนครศรีธรรมราช จำนวนทั้งสิ้น 2,275 ตัวอย่าง ดำเนินโครงการระหว่างวันที่ 25 กรกฎาคม — 4 สิงหาคม 2555 ที่ผ่านมา โดยใช้การเลือกตัวอย่างแบบแบ่งกลุ่มเชิงชั้นภูมิหลายชั้น ที่สุ่มเลือกจังหวัด อำเภอ ตำบล ชุมชน ครัวเรือน และประชาชนที่ตอบแบบสอบถามระดับครัวเรือน โดยมีช่วงความคลาดเคลื่อนบวกลบร้อยละ 7

เมื่อสอบถามถึง ประสบการณ์เคยอ่านรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 83.8 เคยอ่านเพียงเล็กน้อยถึง ไม่เคยอ่านเลย เพราะ เป็นเรื่องไกลตัว ไม่มีเวลา ไม่เห็นประโยชน์ เป็นภาษากฎหมาย เข้าใจยาก น่าเบื่อ เป็นต้น ในขณะที่ร้อยละ 16.2 เคยอ่านค่อนข้างมาก ถึง อ่านทั้งฉบับ เพราะ ต้องใช้ทำงาน เรียนหนังสือ แก้ปัญหาเดือดร้อนในชีวิต เป็นต้น

ที่น่าพิจารณาคือ มาตราที่เกี่ยวข้องกับชีวิตชาวบ้านที่อยากให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เมื่อตอบได้มากกว่า 1 ข้อ พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 56.6 ระบุการคุ้มครองสิทธิของประชาชนในเรื่องต่างๆ เช่น ความปลอดภัย ความมั่นคง สวัสดิภาพในชีวิต และสุขภาวะด้านต่างๆ ของชาวบ้าน รองลงมาคือ ร้อยละ 52.9 ระบุความเป็นธรรม ไม่เลือกปฏิบัติ ร้อยละ 49.3 ระบุกระบวนการยุติธรรม ร้อยละ 46.5 ระบุเสรีภาพของชนชาวไทย ร้อยละ 37.7 ระบุระบบการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และสมาชิกวุฒิสภา และร้อยละ 37.3 ระบุการทำสนธิสัญญากับต่างประเทศ

ผลสำรวจยังพบด้วยว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 91.8 เห็นว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญควรให้ประชาชนมีส่วนร่วม ในขณะที่ร้อยละ 8.2 ระบุควรปล่อยให้เป็นเรื่องของรัฐสภา

ที่น่าเป็นห่วงคือ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 64.8 ยังไม่เห็นความชัดเจนถ้าแก้ไขรัฐธรรมนูญแล้วชาวบ้านจะได้ประโยชน์อะไร เพราะมีแต่นักการเมืองและกลุ่มคนเฉพาะกลุ่มจะได้ประโยชน์ ในขณะที่ร้อยละ 35.2 เห็นความชัดเจนแล้วว่า ชาวบ้านจะได้ประโยชน์จากการแก้ไขรัฐธรรมนูญ

นอกจากนี้ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 68.0 คิดว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญจะนำไปสู่ความขัดแย้งรุนแรงบานปลาย ในขณะที่ร้อยละ 32.0 ไม่คิดว่าจะนำไปสู่ความขัดแย้งรุนแรง และส่วนใหญ่หรือร้อยละ 77.9 คิดว่า พ.ร.บ.ปรองดองจะไม่ประสบความสำเร็จ

เมื่อถามถึง การยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล พบว่า เกินครึ่งหรือร้อยละ 52.2 ไม่เห็นด้วย เพราะ รัฐบาลยังทำงานได้ดี เกรงว่าจะมีแต่เรื่องวุ่นวาย จะทะเลาะกันจนเสียภาพลักษณ์ของการเมืองไทย จะทำให้ชาวบ้านเบื่อหน่ายและมีอคติต่อการเมืองยิ่งขึ้นไปอีก น่าจะปล่อยให้รัฐบาลทำงานไปก่อน เป็นต้น ในขณะที่ร้อยละ 47.8 เห็นด้วย เพราะจะได้เป็นโอกาสให้ประชาชนรู้ข้อมูลข่าวสารมากขึ้น เป็นการตรวจสอบการทำงานของรัฐบาลอย่างเข้มข้น อยากเห็นข้อมูลใหม่ๆ รัฐบาลจะได้นำไปใช้ประโยชน์ในปรับปรุงการทำงาน เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 64.1 ระบุควรให้โอกาสรัฐบาลทำงานต่อไปก่อน ในขณะที่ร้อยละ 24.8 ระบุไม่ควรให้โอกาสแล้ว และร้อยละ 11.1 ไม่มีความเห็น

ที่น่าสนใจคือ คำถามที่เจาะลึกถึงความสุขคนไทยในทุกกลุ่มสีเวลานี้ พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 57.2 มีความสุขทรงตัวเท่าเดิม แต่ร้อยละ 30.5 มีความสุขลดลง และเพียงร้อยละ 12.3 ที่สุขเพิ่มขึ้น

เมื่อจำแนกกลุ่มประชาชนออกตามจุดยืนทางการเมืองของกลุ่มสีต่างๆ พบประเด็นที่น่าพิจารณาคือ กลุ่มคนเสื้อแดงส่วนใหญ่หรือร้อยละ 81.9 มีความสุขมากที่สุดเมื่อเห็นคนไทยเป็นหนึ่งเดียวกันแสดงความจงรักภักดี ในขณะที่กลุ่มคนเสื้อเหลืองส่วนใหญ่หรือร้อยละ 76.8 และกลุ่มคนที่ไม่อยู่ฝ่ายใด หรือกลุ่มพลังเงียบร้อยละ 75.7 ที่มีความสุขมากที่สุดเช่นกันเมื่อเห็นคนไทยเป็นหนึ่งเดียวกันในการแสดงความจงรักภักดี ยิ่งไปกว่านั้น กลุ่มคนเสื้อแดงส่วนใหญ่หรือร้อยละ 82.8 มีความรัก ความสามัคคี มีจิตใจช่วยเหลือเกื้อกูลต่อคนไทยทุกคนระดับมากถึงมากที่สุด เช่นเดียวกับ กลุ่มคนเสื้อเหลืองร้อยละ 79.3 และกลุ่มพลังเงียบร้อยละ 75.4 ตามลำดับที่มีความรัก ความสามัคคี มีจิตใจช่วยเหลือเกื้อกูลต่อคนไทยทุกคน

ผอ.เอแบคโพลล์ กล่าวว่า ผลสำรวจชี้ชัดว่า ประเทศไทยยังคงมีความเป็นไปได้ที่จะกลับมามีความสงบสุข ไม่แบ่งแยกในพื้นแผ่นดินไทย เพราะประชาชนส่วนใหญ่ทุกกลุ่มสีมีจิตใจและแนวคิดที่จะเป็นหนึ่งเดียวกันอย่างชัดเจน โดยแนวทางสำคัญที่น่าพิจารณาเป็นส่วนประกอบปัจจัยที่รัฐบาล และกลไกต่างๆ ของรัฐน่าจะลองนำไปขับเคลื่อน ได้แก่ การยึดโยงจิตใจและการมีส่วนร่วมของประชาชนคนไทยส่วนใหญ่ทั้งประเทศผ่าน “มิติทางสังคม” โดยทำกิจกรรมลด “อคติการมองแบบเหมารวม” ต่อผู้คนกลุ่มสีต่างๆ ในสังคม แทนการผลักดัน “มิติทางกฎหมาย” เพียงอย่างเดียว โดยต้องพยายามทำให้พลังขับเคลื่อนทางการเมืองทำหน้าที่ของ “การเมือง” อย่างแท้จริงไม่ถูกบิดเบือนหรือใช้ในทางที่ผิด (Political Abuse) และฝ่ายการเมืองแบบดั้งเดิมต้องไม่พยายามปั่นกระแสขึ้นมาอีก ต้องไม่ผลักให้ผู้คนในสังคมให้แบ่งฝักแบ่งฝ่ายและอย่าต้อนผู้คนเข้าไป “จนมุมเข้าขั้ว” เพื่อออกมาต่อสู้กัน เพราะความเป็นจริงคือการเมืองเป็นกลไกสำคัญในระบอบประชาธิปไตยที่จะทำให้ความขัดแย้งต่างๆ ในสังคมลดลงไปได้ผ่านสถาบันทางการเมืองและภาคประชาชน

ข้อมูลทั่วไปของนักวิจัย ดร.นพดล กรรณิกา ได้รับทุนการศึกษาจากมหาวิทยาลัยคอร์แนลในหลักสูตรนโยบายการพัฒนาระหว่าประเทศ สถาบันคอร์แนลเพื่อภารกิจของรัฐ (CIPA, Cornell University) และเข้าศึกษาเพิ่มเติมที่มหาวิทยาลัยจอร์จทาวน์ วอชิงตันดีซี สหรัฐอเมริกาในหลักสูตรการบริหารจัดการนโยบาย (Public Policy Analysis-Policy Management) ของสถาบันจอร์จทาวน์นโยบายสาธารณะ (GPPI, Georgetown University) จบการศึกษาปริญญาโทด้านระเบียบวิธีวิจัยจากมหาวิทยาลัยมิชิแกน (University of Michigan-Ann Arbor) สหรัฐอเมริกา และปริญญาเอกด้านการจัดการวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ นอกจากนี้ได้ศึกษาเพิ่มเติมด้านระเบียบวิธีจัยในโครงการ JPSM ของมหาวิทยาลัยแมรี่แลนด์ (University of Maryland-College Park) สหรัฐอเมริกา

จากการพิจารณาลักษณะทั่วไปของตัวอย่าง พบว่า ตัวอย่างร้อยละ 48.7 เป็นชาย ร้อยละ 51.3 เป็นหญิง ตัวอย่างร้อยละ 4.8 อายุน้อยกว่า 20 ปี ร้อยละ 21.6 อายุระหว่าง 20—29 ปี ร้อยละ 20.5 อายุระหว่าง 30—39 ปี ร้อยละ 18.9 อายุระหว่าง 40—49 ปี และ ร้อยละ 34.2 อายุ 50 ปีขึ้นไป ตัวอย่างร้อยละ 71.4 สำเร็จการศึกษาต่ำกว่าปริญญาตรี ร้อยละ 22.6 สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี และร้อยละ 6.0 สำเร็จการศึกษาสูงกว่าปริญญาตรี ตัวอย่างร้อยละ 31.4 ระบุอาชีพเกษตรกร/รับจ้างทั่วไป ร้อยละ 28.5 ระบุอาชีพค้าขาย/ธุรกิจส่วนตัว ร้อยละ 10.7 ระบุเป็นพนักงานเอกชน ร้อยละ 9.4 ระบุข้าราชการ/พนักงานรัฐวิสาหกิจ ร้อยละ 8.6 เป็นแม่บ้าน/พ่อบ้าน/เกษียณอายุ ร้อยละ 8.5 ระบุเป็นนักเรียนนักศึกษา ในขณะที่ร้อยละ 2.9 ระบุว่างงาน/ไม่ประกอบอาชีพ

โปรดพิจารณารายละเอียดดังตาราง

ตารางที่ 1 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุเคยอ่านรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน
ลำดับที่          เคยอ่านรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน                                                           ค่าร้อยละ
1          อ่านค่อนข้างมาก ถึง อ่านทังฉบับ เพราะ ต้องใช้ทำงาน เรียนหนังสือ แก้ปัญหาเดือดร้อนในชีวิต เป็นต้น           16.2
2          อ่านเพียงเล็กน้อย ถึง ไม่เคยอ่านเลย เพราะ เป็นเรื่องไกลตัว ไม่มีเวลา ไม่เห็นประโยชน์
           เป็นภาษากฎหมาย เข้าใจยาก น่าเบื่อ เป็นต้น                                                     83.8
          รวมทั้งสิ้น                                                                                100.0

ตารางที่ 2 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุ มาตราที่เกี่ยวข้องกับชีวิตชาวบ้านที่อยากให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ (ตอบได้มากกว่า 1 ข้อ)
ลำดับที่          มาตราที่เกี่ยวข้อง                                                            ค่าร้อยละ
1          การคุ้มครองสิทธิของประชาชนในเรื่องต่างๆ เช่น ความปลอดภัย ความมั่นคง สวัสดิภาพในชีวิต
           และสุขภาวะด้านต่างๆ ของชาวบ้าน                                                     56.6
2          ความเป็นธรรม ไม่เลือกปฏิบัติ                                                         52.9
3          ระบบกระบวนการยุติธรรม                                                            49.3
4          เสรีภาพของชนชาวไทย                                                              46.5
5          ระบบการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และสมาชิกวุฒิสภา                                   37.7
6          การทำสนธิสัญญากับต่างประเทศ                                                        37.3

ตารางที่ 3 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุความคิดเห็นเกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญควรเป็นเรื่องของรัฐสภาหรือประชาชนควรมีส่วนร่วม
ลำดับที่          ความคิดเห็น                              ค่าร้อยละ
1          ให้เป็นรื่องของรัฐสภา                             8.2
2          ควรให้ประชาชนมีส่วนร่วม                         91.8
          รวมทั้งสิ้น                                     100.0


ตารางที่ 4 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุความชัดเจนถ้าแก้ไขรัฐธรรมนูญแล้ว ชาวบ้านจะได้ประโยชน์มากขึ้น
ลำดับที่          ความชัดเจน                                                        ค่าร้อยละ
1          เห็นความชัดเจนแล้วว่า แก้ไขแล้วชาวบ้านจะได้ประโยชน์                             35.2
2          ยังไม่เห็นความชัดเจน เพราะมีแต่นักการเมืองและกลุ่มคนเฉพาะกลุ่มจะได้ประโยชน์          64.8
          รวมทั้งสิ้น                                                                100.0


ตารางที่ 5 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุความคิดเห็นเกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้จะนำไปสู่ความรุนแรงบานปลาย
ลำดับที่          ความคิดเห็น                              ค่าร้อยละ
1          นำไปสู่ความขัดแย้งรุนแรงบานปลาย                  68.0
2          ไม่คิดว่าจะนำไปสู่ความขัดแย้งรุนแรง                 32.0
          รวมทั้งสิ้น                                     100.0


ตารางที่ 6 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุความคิดเห็นเกี่ยวกับความสำเร็จของ พ.ร.บ. ปรองดอง
ลำดับที่          ความคิดเห็น                      ค่าร้อยละ
1          ประสบความสำเร็จ                       22.1
2          ไม่ประสบความสำเร็จ                     77.9
          รวมทั้งสิ้น                              100.0

ตารางที่ 7 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุ ความคิดเห็นต่อ การยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล
ลำดับที่          ความคิดเห็น                                                                            ค่าร้อยละ
1          เห็นด้วย เพราะ จะได้เป็นโอกาสให้ประชาชนรู้ข้อมูลข่าวสารมากขึ้น เป็นการตรวจสอบการทำงานของ
           รัฐบาลอย่างเข้มข้น อยากเห็นข้อมูลใหม่ๆ  รัฐบาลจะได้นำไปใช้ประโยชน์ในปรับปรุงการทำงาน เป็นต้น               47.8
2          ไม่เห็นด้วย เพราะ รัฐบาลยังทำงานได้ดี เกรงว่าจะมีแต่เรื่องวุ่นวาย จะทะเลาะกันจนเสียภาพลักษณ์ของการเมืองไทย
           จะทำให้ชาวบ้านเบื่อหน่ายและมีอคติต่อการเมืองยิ่งขึ้นไปอีก น่าจะปล่อยให้รัฐบาลทำงานไปก่อน เป็นต้น                52.2
          รวมทั้งสิ้น                                                                                    100.0

ตารางที่ 8 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุ ความคิดเห็นต่อ การให้โอกาสรัฐบาลทำงาน
ลำดับที่          ความคิดเห็น                       ค่าร้อยละ
1          ควรให้โอกาสรัฐบาลทำงานต่อไปก่อน          64.1
2          ไม่ควรให้โอกาสแล้ว                      24.8
3          ไม่มีความเห็น                           11.1
          รวมทั้งสิ้น                              100.0

ตารางที่ 9 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุความสุขโดยภาพรวมในเวลานี้
ลำดับที่          ความสุขโดยภาพรวม          ค่าร้อยละ
1          เพิ่มขึ้น                          12.3
2          เท่าเดิม                         57.2
3          ลดลง                           30.5
          รวมทั้งสิ้น                        100.0


ตารางที่ 10 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุความสุขเมื่อเห็นคนไทยเป็นหนึ่งเดียวกันแสดงความจงรักภักดี จำแนกตามจุดยืนทางการเมือง
ลำดับที่          ความสุขเมื่อเห็นคนไทยเป็นหนึ่งเดียวกันแสดงความจงรักภักดี  กลุ่มคนเสื้อแดง  กลุ่มคนเสื้อเหลือง   ไม่อยู่ฝ่ายใด/พลังเงียบ
                                                               ค่าร้อยละ       ค่าร้อยละ           ค่าร้อยละ
1          มีความสุขมากที่สุด                                        81.9          76.8              75.7
2          ค่อนข้างมาก - มาก                                      16.5          19.6              22.9
3          ค่อนข้างน้อย — น้อย                                       1.0           2.4               0.9
4          ไม่มีความสุขเลย                                          0.6           1.2               0.5
          รวมทั้งสิ้น                                              100.0         100.0             100.0

ตารางที่ 11 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุ ความรัก ความสามัคคี ช่วยเหลือเกื้อกูลที่มีต่อคนไทยทุกคน
ลำดับที่          ความรัก ความสามัคคี ช่วยเหลือเกื้อกูลที่มีต่อคนไทยทุกคน  กลุ่มคนเสื้อแดง  กลุ่มคนเสื้อเหลือง  ไม่อยู่ฝ่ายใด/พลังเงียบ
                                                             ค่าร้อยละ        ค่าร้อยละ         ค่าร้อยละ
1          ค่อนข้างมาก ถึง มากที่สุด                                82.8           79.3            75.4
2          ค่อนข้างน้อย ถึง ไม่มีเลย                                17.2           20.7            24.6
          รวมทั้งสิ้น                                            100.0          100.0           100.0

--เอแบคโพลล์--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ