เอแบคโพลล์: บทบาท พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ชินวัตร ในเวทีต่างประเทศ กับการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล และประเด็น “เก็บตก” จากผลสำรวจข้อบันทึกสังเกตการณ์ของประชาชนในสังคมไทย

ข่าวผลสำรวจ Monday August 20, 2012 07:32 —เอแบคโพลล์

ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยเอแบคโพลล์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เปิดเผยผลวิจัยเชิงสำรวจ เรื่อง บทบาท พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ชินวัตร ในเวทีต่างประเทศ กับการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล และประเด็น “เก็บตก” จากผลสำรวจข้อบันทึกสังเกตการณ์ของประชาชนในสังคมไทย กรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนอายุ 18 ปีขึ้นไป ใน 17 จังหวัดของประเทศ ได้แก่ กรุงเทพมหานคร เพชรบุรี ฉะเชิงเทรา นครปฐม ชลบุรี แพร่ พิษณุโลก เชียงใหม่ มหาสารคาม อำนาจเจริญ ชัยภูมิ ศรีสะเกษ ขอนแก่น อุดรธานี นราธิวาส กระบี่ และสงขลา จำนวนทั้งสิ้น 2,289 ตัวอย่าง ดำเนินโครงการระหว่างวันที่ 11 — 18 สิงหาคม 2555 ที่ผ่านมา โดยใช้การเลือกตัวอย่างแบบแบ่งกลุ่มเชิงชั้นภูมิหลายชั้น ที่สุ่มเลือกจังหวัด อำเภอ ตำบล ชุมชน ครัวเรือน และประชาชนที่ตอบแบบสอบถามระดับครัวเรือน โดยมีช่วงความคลาดเคลื่อนบวกลบร้อยละ 7 พบว่า

ประชาชนส่วนใหญ่หรือร้อยละ 90.5 ทราบข่าว พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ชินวัตร เดินทางไปยังประเทศต่างๆ เช่น อเมริกา จีน และอังกฤษ เป็นต้น และคนไทยส่วนใหญ่หรือร้อยละ 67.5 อยากเห็น พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ชินวัตร แสดงบทบาทที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศไทย ในขณะที่ร้อยละ 32.5 ไม่อยากเห็น นอกจากนี้ ผลสำรวจยังพบ 5 อันดับบทบาทที่อยากให้ พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ชินวัตร แสดงบทบาทที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณชนคนไทยในการเดินทางระหว่างประเทศ (ตอบได้มากกว่า 1 บทบาท) ได้แก่ อันดับแรกหรือร้อยละ 84.9 ระบุแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ ปัญหาปากท้องของประชาชน ค่าครองชีพ ป้องกันวิกฤตเศรษฐกิจจากต่างชาติ รองลงมาคือ ร้อยละ 83.2 ระบุเชิญชวนนักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนในประเทศไทย ร้อยละ 69.1 ระบุแก้ปัญหายาเสพติดและอาชญากรรม ร้อยละ 62.5 ระบุแก้ปัญหาที่ทำกินชาวไร่ชาวนา และร้อยละ 61.1 ระบุแก้ปัญหาคุณภาพการศึกษาของเด็กและเยาวชน ตามลำดับ

อย่างไรก็ตาม ในเวลานี้ ประชาชนส่วนใหญ่หรือร้อยละ 55.4 ระบุการเดินทางไปประเทศต่างๆ ของ พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ชินวัตร ทำให้ประเทศไทยยังคงเหมือนเดิม ในขณะที่ร้อยละ 25.2 ระบุทำให้ประเทศไทยดีขึ้น แต่ร้อยละ 19.4 ระบุแย่ลง

เมื่อสอบถามถึงประเด็นการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลถึง รัฐมนตรีและปัญหาที่ควรถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจนั้น พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 59.6 ระบุกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายธีระ วงศ์สมุทร เรื่องปัญหาจำนำข้าว ราคาผลผลิตทางการเกษตร และบัตรเครดิตชาวนา รองลงมาคือ ร้อยละ 57.1 ระบุกระทรวงพาณิชย์ นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ เรื่องปัญหาปากท้อง ค่าครองชีพ และร้อยละ 55.6 ระบุ กระทรวงการคลัง นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง เรื่อง ปัญหาเศรษฐกิจ ปัญหาปากท้อง ค่าครองชีพ ร้อยละ 49.8 ระบุกระทรวงยุติธรรม พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก เรื่องปัญหายาเสพติด และร้อยละ 42.1 ระบุกระทรวงมหาดไทย นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ เรื่องปัญหาเยียวยาภัยพิบัติธรรมชาติ ปัญหาฐานข้อมูลบัตรประชาชนล่ม ปัญหาขัดแย้งภายในกระทรวง ตามลำดับ

ที่น่าสนใจคือ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 72.9 อยากฟัง นางสาว ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นผู้ชี้แจงมากกว่า ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง ในขณะที่ร้อยละ 27.1 อยากฟัง ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง เป็นผู้ชี้แจงมากกว่า

เมื่อถามถึงฝ่ายค้าน พบว่า เกินครึ่งหรือร้อยละ 56.2 อยากฟัง นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อภิปรายมากกว่า นายชูวิทย์ กมลวิสิทธิ์ อย่างไรก็ตาม จำนวนมากหรือร้อยละ 43.8 อยากฟังนายชูวิทย์ มากกว่า

ที่น่าพิจารณาคือ เมื่อถามถึงนโยบายรัฐบาลที่น่าเป็นห่วงว่าจะมีการทุจริต เมื่อตอบได้มากกว่า 1 นโยบาย พบว่า 5 อันดับแรกได้แก่ ร้อยละ 70.7 รู้สึกเป็นห่วงการรับจำนำข้าว รองลงมาคือร้อยละ 67.6 ระบุการแจกแทบเล็ตนักเรียน ร้อยละ 57.7 ระบุบัตรเครดิตชาวนา ร้อยละ 56.8 ระบุการแก้ไขป้องกันปัญหายาเสพติด และร้อยละ 55.4 ระบุบัตรเครดิตพลังงาน

เมื่อสอบถาม “ประเด็นเก็บตกผลสำรวจ” จากข้อบันทึกสังเกตการณ์ของประชาชนในสังคมไทย โดยสอบถามถึงประสบการณ์ พฤติกรรมนักการเมือง เจ้าหน้าที่รัฐ และนิสัยประชาชนคนไทย ที่อยากให้แก้ไขปรับปรุง (ตอบได้มากกว่า 1 พฤติกรรมยอดแย่) พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 79.2 ระบุ นักการเมืองสร้างภาพ สาดโคลน มุ่งชิงอำนาจ ในขณะที่ ร้อยละ 78.5 ระบุเจ้าหน้าที่รัฐ วิ่งเต้น รีดไถ ขี้โกง และร้อยละ 69.6 ระบุประชาชนทั่วไป แล้งน้ำใจ ไม่เสียสละ ไม่ใส่ใจคนอื่น โดยร้อยละ 68.8 ยังระบุพฤติกรรมของทุกๆ ฝ่ายโดยภาพรวมด้วยว่า ไม่มีวินัย ไม่เคารพกฎหมาย และร้อยละ 58.4 ระบุ เอารัดเอาเปรียบ ตัวใครตัวมัน ไม่ช่วยดูแลสังคม ตามลำดับ

ดร.นพดล กรรณิกา ผอ.เอแบคโพลล์ กล่าวว่า ผลสำรวจครั้งนี้สะท้อนให้เห็นความรู้สึกนึกคิดของประชาชนต่อประเด็นที่มีนัยสำคัญทางการเมืองและสังคมไทยในหลายมิติ ได้แก่ บทบาทสำคัญของ พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ชินวัตร ในเวทีต่างประเทศเพื่อประโยชน์ของสาธารณชนคนไทยและประเทศชาติ โดยมุ่งสู่ความเจริญมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศ การป้องกันวิกฤตเศรษฐกิจของต่างชาติ และการเชิญชวนให้นักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนในประเทศไทยมากขึ้น นอกจากนี้ ปัญหาสังคมภายในประเทศที่ยังรุนแรงและคนไทยยังคงให้ความหวังต่อความรู้ความสามารถในการแก้ปัญหายาเสพติดและอาชญากรรม ปัญหาคุณภาพเด็กและเยาวชนไทย เป็นต้น ในขณะที่ ความรู้สึกของประชาชนต่อการอภิปรายไม่ไว้วางใจส่วนใหญ่มุ่งไปที่ความไม่ชอบมาพากลและความสามารถบริหารจัดการในนโยบายต่างๆ ของรัฐบาล เช่น การรับจำนำข้าว การแก้ปัญหาปากท้อง และปัญหายาเสพติดระดับชุมชน เพราะจากการวิจัยทั้งเชิงปริมาณและคุณภาพ พบว่า ข่าวประชาสัมพันธ์ของรัฐบาล “หน้าจอทีวี” กับความเป็นจริง “หน้าบ้าน ในบ้าน ในชุมชน” ของประชาชนยังแตกต่างกัน คือ หน้าจอทีวีดูดี แต่หน้าบ้าน ในบ้าน ในชุมชนของประชาชนยังคงมีปัญหามากมาย

“โดยผลสำรวจได้ตอกย้ำให้เห็นว่าปัญหาต่างๆ ยังคงเหมือนเดิมกับทุกรัฐบาลที่ผ่านมา นั่นหมายความว่า รัฐบาลชุดปัจจุบันก็ยังไม่ได้ทำให้ประชาชนคนไทยส่วนใหญ่เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงแตกต่างที่ดีขึ้น เพราะผลสำรวจชี้ให้เห็นอารมณ์ความรู้สึกของประชาชนคนไทยว่า นักการเมืองก็ยังคงสร้างภาพ มุ่งชิงอำนาจ ข้าราชการเจ้าหน้าที่รัฐก็ยังคงวิ่งเต้น รีดไถ ขี้โกง และประชาชนทั่วไปก็ยังคงแล้งน้ำใจ ไม่เสียสละ ไม่ช่วยดูแลสังคม ไม่มีวินัย ไม่เคารพกฎหมาย เอารัดเอาเปรียบและตัวใครตัวมัน เป็นต้น ดังนั้น รัฐบาลชุดปัจจุบันจึงต้องเร่งทำให้เห็นความแตกต่างและการเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบายสาธารณะและมาตรการปฏิบัติที่ทำให้วิถีชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนดีขึ้นอย่างจริงจังและต่อเนื่อง” ดร.นพดล กล่าว

จากการพิจารณาลักษณะทั่วไปของตัวอย่าง พบว่า ตัวอย่างร้อยละ 48.3 เป็นชาย ร้อยละ 51.7 เป็นหญิง ตัวอย่างร้อยละ 4.1 อายุน้อยกว่า 20 ปี ร้อยละ 22.4 อายุระหว่าง 20—29 ปี ร้อยละ 21.0 อายุระหว่าง 30—39 ปี ร้อยละ 19.9 อายุระหว่าง 40—49 ปี และ ร้อยละ 32.6 อายุ 50 ปีขึ้นไป ตัวอย่างร้อยละ 76.8 สำเร็จการศึกษาต่ำกว่าปริญญาตรี ร้อยละ 18.4 สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี ในขณะที่ร้อยละ 4.8 สำเร็จการศึกษาสูงกว่าปริญญาตรี ตัวอย่างร้อยละ 32.9 ระบุอาชีพเกษตรกร/รับจ้างทั่วไป ร้อยละ 30.5 ระบุอาชีพค้าขาย/ธุรกิจส่วนตัว ร้อยละ 9.7 ระบุเป็นพนักงานเอกชน ร้อยละ 8.7 ระบุข้าราชการ/พนักงานรัฐวิสาหกิจ ร้อยละ 7.1 ระบุเป็นนักเรียนนักศึกษา ร้อยละ 7.6 เป็นแม่บ้าน/พ่อบ้าน/เกษียณอายุ ร้อยละ 3.5 ว่างงาน/ไม่ได้ประกอบอาชีพ

ตารางที่ 1 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุ ทราบข่าว พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ชินวัตร เดินทางไปยังประเทศต่างๆ เช่น อเมริกา จีน อังกฤษ
ลำดับที่          การรับรู้ของประชาชน               ค่าร้อยละ
1          ทราบข่าว                               90.5
2          ไม่ทราบข่าว                              9.5
          รวมทั้งสิ้น                               100.0

ตารางที่ 2 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุ ความต้องการอยากเห็น พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ  ชินวัตร แสดงบทบาทที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศไทย
ในการเดินทางไปยังประเทศต่างๆ เช่น สหรัฐอเมริกา จีน และญี่ปุ่น (เฉพาะคนที่ทราบข่าว)
ลำดับที่          ความต้องการ                                                     ค่าร้อยละ
1          อยากเห็น พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ  ชินวัตร แสดงบทบาทที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศไทย          67.5
2          ไม่อยากเห็น                                                             32.5
          รวมทั้งสิ้น                                                               100.0

ตารางที่ 3 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุ 5 อันดับบทบาทที่อยากให้ พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ชินวัตร แสดงต่อสาธารณชนคนไทยได้ประโยชน์
ในการเดินทางระหว่างประเทศ (ตอบได้มากกว่า 1 บทบาท)
ลำดับที่          5 อันดับบทบาทสำคัญ                                                           ค่าร้อยละ
1          แก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ ปัญหาปากท้องของประชาชน ค่าครองชีพ ป้องกันวิกฤตเศรษฐกิจจากต่างชาติ          84.9
2          เชิญชวนนักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนในประเทศไทย                                           83.2
3          แก้ปัญหายาเสพติดและอาชญากรรม                                                        69.1
4          แก้ปัญหาที่ทำกินชาวไร่ชาวนา                                                            62.5
5          แก้ปัญหาคุณภาพการศึกษาของเด็กและเยาวชน                                                61.1

ตารางที่ 4 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุความคิดเห็นเกี่ยวกับการเดินทางไปประเทศต่างๆ ของ พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ชินวัตร
ในเวลานี้ส่งผลทำให้ประเทศไทย ดีขึ้น เหมือนเดิม หรือ แย่ลง
ลำดับที่          ความคิดเห็น                       ค่าร้อยละ
1          ดีขึ้น                                   25.2
2          เหมือนเดิม                              55.4
3          แย่ลง                                  19.4
          รวมทั้งสิ้น                               100.0


ตารางที่ 5 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่าง 5 อันดับแรกที่ระบุ รัฐมนตรีและปัญหาที่ควรถูกอภิปรายในการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลในครั้งนี้
ลำดับที่          รัฐมนตรีและปัญหาที่อยากให้อภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล                                        ค่าร้อยละ
1          กระทรวงเกษตรและสหกรณ์  นายธีระ วงศ์สมุทร เรื่องปัญหาจำนำข้าว ราคาผลผลิตทางการเกษตร
           และบัตรเครดิตชาวนา                                                                      59.6
2          กระทรวงพาณิชย์ นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ เรื่อง ปัญหาปากท้อง ค่าครองชีพ                              57.1
3          กระทรวงการคลัง  นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง เรื่อง ปัญหาเศรษฐกิจ ปากท้อง ค่าครองชีพ                     55.6
4          กระทรวงยุติธรรม พล.ต.อ.ประชา  พรหมนอก เรื่อง ปัญหายาเสพติด                                  49.8
5          กระทรวงมหาดไทย นายยงยุทธ  วิชัยดิษฐ เรื่อง ปัญหาเยียวยาภัยพิบัติธรรมชาติ ปัญหาฐานข้อมูลบัตรประชาชนล่ม
           ปัญหาขัดแย้งภายในกระทรวง                                                                 42.1

ตารางที่ 6 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุบุคคลในฝ่ายรัฐบาลที่อยากให้เป็นผู้ชี้แจงมากที่สุดในการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลในครั้งนี้
ลำดับที่          บุคคลที่อยากให้เป็นผู้ชี้แจง                    ค่าร้อยละ
1          อยากฟัง นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร มากกว่า             72.9
2          อยากฟัง ร.ต.อ เฉลิม อยู่บำรุง มากกว่า              27.1
          รวมทั้งสิ้น                                      100.0

ตารางที่ 7 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุบุคคลในฝ่ายรัฐค้านที่อยากให้เป็นผู้อภิปรายมากที่สุดในการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลในครั้งนี้
ลำดับที่          บุคคลที่อยากให้เป็นผู้อภิปราย                 ค่าร้อยละ
1          อยากฟัง นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ มากกว่า             56.2
2          อยากฟัง นายชูวิทย์ กมลวิสิทธิ์ มากกว่า               43.8
          รวมทั้งสิ้น                                     100.0

ตารางที่ 8 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุความคิดเห็นเกี่ยวกับนโยบายที่น่าเป็นห่วงว่าจะมีการทุจริตของรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร
ลำดับที่          นโยบายที่น่าเป็นห่วงว่าจะมีการทุจริตของรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร     เป็นห่วง      ไม่เป็นห่วง
1          รับจำนำข้าว                                                      70.7          29.3
2          แจกแทบเล็ตนักเรียน                                                67.6          32.4
3          บัตรเครดิตชาวนา                                                  57.7          42.3
4          การแก้ไขและป้องกันปัญหายาเสพติด                                     56.8          43.2
5          บัตรเครดิตพลังงาน                                                 55.4          44.6

ประเด็น “เก็บตกผลสำรวจ” จากข้อบันทึกสังเกตการณ์ของประชาชนในสังคมไทย

ตารางที่ 9 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุ 5 อันดับพฤติกรรมยอดแย่ของ นักการเมือง เจ้าหน้าที่รัฐ และนิสัยของประชาชนคนไทยที่อยากให้แก้ไข
(ตอบได้มากกว่า 1 พฤติกรรมยอดแย่)
ลำดับที่          พฤติกรรมนักการเมือง เจ้าหน้าที่รัฐ และประชาชนคนไทย ที่อยากให้แก้ไขปรับปรุง          ค่าร้อยละ
1          สร้างภาพ สาดโคลน มุ่งชิงอำนาจ                                                  79.2
2          วิ่งเต้น รีดไถ ขี้โกง                                                            78.5
3          แล้งน้ำใจ ไม่เสียสละ ไม่ใส่ใจคนอื่น                                                69.6
4          ไม่มีวินัย ไม่เคารพกฎหมาย                                                       68.8
5          เอารัดเอาเปรียบ ตัวใครตัวมัน ไม่ช่วยดูแลสังคม                                       58.4

--เอแบคโพลล์--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ