เอแบคโพลล์: ความกังวลของสาธารณชนต่อ การโกหกสีขาวของรัฐมนตรีคลังและการทดสอบการบริหารจัดการน้ำของรัฐบาล

ข่าวผลสำรวจ Monday September 3, 2012 07:27 —เอแบคโพลล์

ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยเอแบคโพลล์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เปิดเผยผลวิจัยเชิงสำรวจ เรื่อง ความกังวลของสาธารณชนต่อ การโกหกสีขาวของรัฐมนตรีคลัง และการทดสอบการบริหารจัดการน้ำของรัฐบาล กรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนอายุ 18 ปีขึ้นไปใน 17 จังหวัดของประเทศ ได้แก่ กรุงเทพมหานคร สมุทรสาคร กาญจนบุรี สุพรรณบุรี สมุทรปราการ พะเยา เพชรบูรณ์ เชียงใหม่ นครพนม สกลนคร สุรินทร์ ขอนแก่น นครราชสีมา บุรีรัมย์ นครศรีธรรมราช ชุมพร และตรัง จำนวนทั้งสิ้น 2,157 ตัวอย่าง ดำเนินโครงการระหว่างวันที่ 27 สิงหาคม - 1 กันยายน 2555 ที่ผ่านมา โดยใช้การเลือกตัวอย่างแบบแบ่งกลุ่มเชิงชั้นภูมิหลายชั้น ที่สุ่มเลือกจังหวัด อำเภอ ตำบล ชุมชน ครัวเรือน และประชาชนที่ตอบแบบสอบถามระดับครัวเรือน ความคลาดเคลื่อนร้อยละ 7 พบว่า

ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 80.4 ทราบข่าวการโกหกสีขาวของรัฐมนตรีคลัง โดยส่วนใหญ่หรือร้อยละ 73.4 ระบุว่าทำให้ความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างชาติลดลง หลังมีข่าวการโกหกสีขาวของรัฐมนตรีคลัง ในขณะที่ร้อยละ 26.6 ระบุว่าการโกหกของรัฐมนตรีคลังไม่ทำให้ความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างชาติลดลง นอกจากนี้ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 66.3 ระบุ หลังมีข่าวการโกหกสีขาวของรัฐมนตรีคลัง ส่งผลทำให้ความน่าเชื่อถือของรัฐบาลลดลง ในขณะที่ร้อยละ 33.7 ระบุไม่ลดลง

เมื่อสอบถามถึงความตกต่ำของมาตรฐานคุณธรรม จริยธรรมของนักการเมืองไทย หลังมีข่าวการโกหกของรัฐมนตรีคลัง พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 84.3 ระบุ มาตรฐานคุณธรรม จริยธรรมของนักการเมืองไทยตกต่ำลง ในขณะที่ ร้อยละ 15.7 ระบุไม่ตกต่ำ อย่างไรก็ตาม ที่น่าเป็นห่วงคือ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 82.9 กังวลต่อเด็กและเยาวชนของชาติที่จะลอกเลียนแบบพฤติกรรมของรัฐมนตรีคลังของไทย ในขณะที่ร้อยละ 17.1 ไม่กังวล ที่น่าพิจารณาคือ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 83.5 ระบุถึงความรับผิดชอบของรัฐมนตรีคลังภายหลังมีข่าวการโกหกว่า ควรลาออก ในขณะที่ร้อยละ 16.5 ระบุไม่ควร

นอกจากนี้ เมื่อสอบถามประชาชนถึง การทราบข่าวแผนของรัฐบาลในการซ้อมปล่อยน้ำเข้ากรุงเทพมหานคร พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 86.6 ทราบข่าว ในขณะที่ร้อยละ 13.4 ไม่ทราบข่าว โดยส่วนใหญ่หรือร้อยละ 60.2 ระบุช่วงเวลาวันที่ 5 — 7 กันยายนนี้ ยังไม่เหมาะสมกับการซ้อมแผนระบายน้ำเข้ากรุงเทพมหานคร เพราะเป็นช่วงมรสุม ฝนตกหนัก น้ำทะเลหนุน ไม่เชื่อรัฐบาล ยังมีความขัดแย้งวุ่นวายระหว่างหน่วยงานต่างๆ ชาวบ้านยังเดือดร้อนจากน้ำท่วมครั้งที่แล้ว ทุกข์เก่ายังไม่หายทุกข์ใหม่กำลังมา ยังมีปัญหาเงินเยียวยาอยู่เลย ยังซ่อมบ้านไม่เสร็จกังวลว่าจะซ้ำเติมทุกข์ชาวบ้านไปอีก เป็นต้น ในขณะที่ร้อยละ 39.8 ระบุว่าเหมาะสมแล้วเพราะทำตอนน้ำมากจะได้ข้อมูลใกล้เคียงความจริง เป็นการเตรียมพร้อมรับมือของหน่วยงานต่างๆ และการทดสอบคูคลองต่างๆ เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม เมื่อสอบถามถึงความกังวลต่อการซ้อมแผนระบายน้ำเข้ากรุงเทพมหานครครั้งนี้ พบว่า คนกรุงเทพมหานครและปริมณฑลส่วนใหญ่หรือร้อยละ 74.9 กังวลและมีสัดส่วนของคนที่กังวลมากกว่า ประชาชนในต่างจังหวัดที่เกินครึ่งหรือร้อยละ 55.6 รู้สึกกังวลต่อแผนซ้อมการระบายน้ำเข้ากรุงเทพมหานครเช่นกัน

ดร.นพดล กรรณิกา ผอ.เอแบคโพลล์ กล่าวว่า รัฐบาลชุดปัจจุบันภายใต้การนำของ นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร กำลังอยู่ในสภาวะที่น่าเป็นห่วงสำหรับรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตย แต่ไม่ใช่เรื่องน่าเป็นห่วงสำหรับพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่งเพราะผลสำรวจในระยะหลังนี้เริ่มพบเห็นฐานของสาธารณชนที่อาจทำให้รัฐบาลเกิดอาการ “แกว่งตัว” ขึ้นได้ เพราะมีปัญหารุมเร้าที่สำคัญอย่างน้อยสามเรื่องใหญ่ ได้แก่ เรื่องแรกเป็น “ทุกข์ของชาวบ้าน” เช่น ปัญหาสภาวะเศรษฐกิจและค่าครองชีพ ปัญหาอาชญากรรมและยาเสพติด เรื่องที่สองเป็น “ทุกข์ภายในรัฐบาล” โดยเฉพาะทุกข์จากผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่ส่งผลต่อหลักคุณธรรม จริยธรรม ของรัฐบาล เช่น การโกหกสีขาวของรัฐมนตรีคลัง และความเคลือบแคลงสงสัยต่อการทุจริตคอรัปชั่นเชิงนโยบายของรัฐ เช่น โครงการรับจำนำข้าว และเรื่องที่สามเป็น “ทุกข์จากการเคลื่อนไหวทางการเมือง” ทั้งภายในและภายนอกรัฐบาลที่เป็นแรงเสียดทานต่อเสถียรภาพของรัฐบาล เช่น ปัญหาความไม่สงบในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ การแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการประจำ และความแตกแยกของคนบางกลุ่มในชาติ เป็นต้น ดังนั้น รัฐบาลน่าจะพิจารณาแนวคิดโรดแมปเรื่อง Fail-Safe ที่เล็งถึงผลลัพธ์ของการตัดสินใจในความเป็นผู้นำ (Leadership) ที่ยอมเสียบางส่วนเพื่อรักษาผลประโยชน์ส่วนใหญ่มากกว่าความสัมพันธ์ส่วนตัว เพราะในเวลานี้สาธารณชนคนไทยกำลังเหลือทางเลือกที่น้อยลงเต็มที่

ดร.นพดล กล่าวต่อว่า ในเวลาเดียวกัน รัฐบาลกำลังเผชิญกับความท้าทายของความเป็นผู้นำในการตัดสินใจอีกเรื่องหนึ่งคือ เรื่องแผนซ้อมการระบายน้ำเข้ากรุงเทพมหานครที่ชาวบ้านผู้เคยโดนภัยพิบัติเมื่อปีที่แล้วให้สัมภาษณ์เชิงลึกในงานวิจัยเชิงคุณภาพว่า “บ้านยังซ่อมไม่เสร็จเลยหมดไปเป็นแสนแล้ว” “เงินเยียวยาก็ยังตกลงกันไม่ได้” “รัฐบาล (มัน) จะปล่อยน้ำมาอีกแล้ว.....ก็ไม่เป็นไร เราก็จะสอนตัวเราและลูกๆ ให้เรียนรู้พวกนักการเมืองที่มีอำนาจแล้วก็คิดว่าตนเองนึกอยากทำอะไรก็ทำได้โดยไม่ฟังเสียงเล็กๆ อย่างพวกเรา”

ดร.นพดล กล่าวด้วยว่า เมื่อแผนซ้อมการระบายน้ำกำลังเป็นเรื่องที่ชาวบ้านในพื้นที่ที่เคยโดนภัยน้ำท่วมกังวลอย่างมาก โดยปัญหาภัยพิบัติทางธรรมชาติเป็นเรื่องที่มีปัจจัยหลายตัวที่ควบคุมไม่ได้ เพราะแม้แต่ประเทศพัฒนาแล้วที่มีเทคโนโลยีทันสมัยยังเอาไม่อยู่ ดังนั้น รัฐบาลน่าจะเน้นไปที่ แผนการอพยพผู้คน นายกรัฐมนตรีน่าจะลงพื้นที่ที่เคยโดนน้ำท่วมเพื่อจะได้เห็นแววตาของชาวบ้านและสัมผัสความรู้สึกของประชาชนโดยตรง เพราะในเวลานี้คงไม่เหมาะในการใช้เวลาอยู่กับการปฏิบัติภารกิจในห้างสรรพสินค้า โดยทีมที่ปรึกษาน่าจะจัด Events ให้ถูกจังหวะเวลาที่ได้ใจชาวบ้านรากหญ้ามากกว่าการคำนึงแต่ภาพลักษณ์ของนายกรัฐมนตรีเพียงอย่างเดียว เพราะเมื่อทุกข์ของชาวบ้านมันมากเป็นทวีคูณจนสุดจะทนแล้ว การโฆษณาชวนเชื่ออาจจะเอาไม่อยู่

“รัฐบาลจึงควรเน้นไปที่ความรักความสามัคคีระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐและในหมู่ประชาชนที่ไม่ทะเลาะกันเมื่อภัยพิบัติกำลังมา และน่าจะเน้นไปที่การบูรณาการการทำงานระหว่างหน่วยงานต่างๆ ของรัฐบาลส่วนกลางและการปกครองส่วนท้องถิ่น มาตรการรักษาความปลอดภัยให้กับประชาชน การรักษาน้ำประปาให้สะอาดไม่ขาดแคลน และที่สำคัญคือ การปิดช่องโหว่ของการทุจริตคอรัปชั่นงบประมาณฟื้นฟูเยียวยาผู้ประสบภัยและการเลือกปฏิบัติ เป็นต้น เหล่านี้น่าจะเป็นปัจจัยสำคัญที่รัฐบาลและประชาชนทั่วไปสามารถร่วมแรงร่วมใจควบคุมได้ และน่าจะเป็นประโยชน์มากกว่าแผนซ้อมการปล่อยน้ำเข้ากรุงเทพมหานคร หรือว่ารัฐบาลมีโมเดลทางการเมืองเพื่อกลบกระแสทางลบที่กำลังรุมเร้ารัฐบาลอยู่ในเวลานี้ ใช่หรือไม่ เป็นเรื่องที่น่าสนใจศึกษาต่อไป” ผอ.เอแบคโพลล์ กล่าว

จากการพิจารณาลักษณะทั่วไปของตัวอย่าง พบว่า ตัวอย่างร้อยละ 47.4 เป็นชาย ร้อยละ 52.6 เป็นหญิง ตัวอย่างร้อยละ 5.4 อายุน้อยกว่า 20 ปี ร้อยละ 20.8 อายุระหว่าง 20—29 ปี ร้อยละ 21.7 อายุระหว่าง 30—39 ปี ร้อยละ 21.6 อายุระหว่าง 40—49 ปี และ ร้อยละ 30.5 อายุ 50 ปีขึ้นไป ตัวอย่างร้อยละ 64.6 สำเร็จการศึกษาต่ำกว่าปริญญาตรี ร้อยละ 30.9 ระบุสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี ร้อยละ 4.5 ระบุสำเร็จการศึกษาสูงกว่าปริญญาตรี ตัวอย่างร้อยละ 30.7 ระบุอาชีพเกษตรกร/รับจ้างทั่วไป ร้อยละ 28.5 ระบุอาชีพค้าขาย/ธุรกิจส่วนตัว ร้อยละ 8.3 ระบุเป็นพนักงานเอกชน ร้อยละ 11.8 ระบุข้าราชการ/พนักงานรัฐวิสาหกิจ ร้อยละ 9.1 ระบุเป็นนักเรียนนักศึกษา ร้อยละ 8.6 เป็นแม่บ้าน/พ่อบ้าน/เกษียณอายุ ร้อยละ 3.0 ว่างงาน/ไม่ได้ประกอบอาชีพ

ตารางที่ 1 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุ การรับรู้ข่าวการโกหกสีขาวของรัฐมนตรีคลัง
ลำดับที่          การทราบข่าว           ค่าร้อยละ
1          ทราบข่าว                    80.4
2          ไม่ทราบข่าว                  19.6
          รวมทั้งสิ้น                    100.0

ตารางที่ 2 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุ ผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างชาติ หลังมีข่าวการโกหกสีขาวของรัฐมนตรีคลัง
ลำดับที่          ความคิดเห็น                                 ค่าร้อยละ
1          ทำให้ความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างชาติลดลง               73.4
2          ไม่ลดลง                                         26.6
          รวมทั้งสิ้น                                        100.0

ตารางที่ 3 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุ ผลกระทบต่อความน่าเชื่อถือของรัฐบาล หลังมีข่าวการโกหกสีขาวของรัฐมนตรีคลัง
ลำดับที่          ความคิดเห็น                      ค่าร้อยละ
1          ความน่าเชื่อถือของรัฐบาลลดลง              66.3
2          ไม่ลดลง                               33.7
          รวมทั้งสิ้น                              100.0

ตารางที่ 4 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุ ความตกต่ำของมาตรฐานคุณธรรม จริยธรรมของนักการเมืองไทย หลังมีข่าวการโกหกของรัฐมนตรีคลัง
ลำดับที่          ความคิดเห็น                                ค่าร้อยละ
1          มาตรฐานคุณธรรม จริยธรรมของนักการเมืองไทยตกต่ำลง     84.3
2          ไม่ตกต่ำ                                         15.7
          รวมทั้งสิ้น                                        100.0

ตารางที่ 5 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุ ความกังวลต่อเยาวชนของชาติที่จะลอกเลียนแบบพฤติกรรมของรัฐมนตรีคลังของไทย
ลำดับที่          ความกังวล              ค่าร้อยละ
1          กังวล                       82.9
2          ไม่กังวล                     17.1
          รวมทั้งสิ้น                    100.0

ตารางที่ 6 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุ ความคิดเห็นต่อ ความรับผิดชอบด้วยการลาออกของรัฐมนตรีคลังของไทย
ลำดับที่          ความคิดเห็น                    ค่าร้อยละ
1          ควรลาออก                          83.5
2          ไม่ควร                             16.5
          รวมทั้งสิ้น                           100.0

ตารางที่ 7 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุ การทราบข่าว แผนของรัฐบาลในการซ้อมปล่อยน้ำเข้ากรุงเทพมหานคร
ลำดับที่          การรับทราบข่าว          ค่าร้อยละ
1          ทราบข่าว                     86.6
2          ไม่ทราบข่าว                   13.4
          รวมทั้งสิ้น                     100.0

ตารางที่ 8 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุ ความเหมาะสมของช่วงเวลาที่รัฐบาลจะซ้อมปล่อยน้ำเข้ากรุงเทพมหานครในช่วงวันที่ 5 — 7 ก.ย.นี้
ลำดับที่          ความคิดเห็น                                                                     ค่าร้อยละ
1          เหมาะสมแล้ว เพราะ ต้องทำตอนน้ำมากจะได้ข้อมูลใกล้เคียงความจริงเป็นการเตรียมพร้อมรับมือ
           ของหน่วยงานต่างๆ และการทดสอบคูคลองต่างๆ เป็นต้น                                           39.8
2          ยังไม่เหมาะสม เพราะ เป็นช่วงมรสุม ฝนตกหนัก น้ำทะเลหนุน ไม่เชื่อรัฐบาล ยังมีความขัดแย้ง

วุ่นวายระหว่างหน่วยงานต่างๆ ชาวบ้านยังเดือดร้อนจากน้ำท่วมครั้งที่แล้ว ทุกข์เก่ายังไม่หายทุกข์ใหม่กำลังมา

           ยังมีปัญหาเงินเยียวยาอยู่เลย ยังซ่อมบ้านไม่เสร็จกังวลว่าจะซ้ำเติมทุกข์ชาวบ้านไปอีก เป็นต้น                60.2
          รวมทั้งสิ้น                                                                             100.0

ตารางที่ 9 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุ ความกังวลต่อแผนซ้อมการระบายน้ำเข้ากรุงเทพมหานคร
ลำดับที่          ความกังวล            คนต่างจังหวัด          คน กทม. และปริมณฑล
1          กังวล                       55.6                    74.9
2          ไม่กังวล                     44.4                    25.1
          รวมทั้งสิ้น                    100.0                   100.0

--เอแบคโพลล์--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ