เอแบคโพลล์: ขบวนการทุจริตคอรัปชั่นงาบงบภัยพิบัติ และการเพิ่มโทษขบวนการทุจริตคอรัปชั่นในสายตาประชาชน

ข่าวผลสำรวจ Thursday September 13, 2012 10:39 —เอแบคโพลล์

ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยเอแบคโพลล์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เปิดเผยผลวิจัยเชิงสำรวจ เรื่อง ขบวนการทุจริตคอรัปชั่นงบภัยพิบัติ และการเพิ่มโทษขบวนการทุจริตคอรัปชั่นในสายตาประชาชน กรณีศึกษาตัวอย่างเฉพาะคนที่ติดตามข่าวการเมืองใน 17 จังหวัดของประเทศ ได้แก่ กรุงเทพมหานคร นนทบุรี สมุทรปราการ พระนครศรีอยุธา ชลบุรี สุพรรณบุรี พิจิตร เพชรบูรณ์ เชียงใหม่ นครราชสีมา ยโสธร ร้อยเอ็ด ขอนแก่น อุดรธานี ชุมพร พัทลุง และนครศรีธรรมราช จำนวนทั้งสิ้น 1,542 ตัวอย่าง ดำเนินโครงการระหว่างวันที่ 8 - 12 กันยายน 2555 ที่ผ่านมา โดยใช้การเลือกตัวอย่างแบบแบ่งกลุ่มเชิงชั้นภูมิหลายชั้น ที่สุ่มเลือกจังหวัด อำเภอ ตำบล ชุมชน ครัวเรือน และประชาชนที่ตอบแบบสอบถามระดับครัวเรือน ความคลาดเคลื่อนของการสุ่มตัวอย่างบวกลบร้อยละ 7

ประชาชนส่วนใหญ่หรือร้อยละ 59.4 เคลือบแคลงสงสัยการใช้จ่ายงบภัยพิบัติของหน่วยงานราชการของรัฐบาลชุดปัจจุบัน โดยส่วนใหญ่หรือร้อยละ 62.8 ไม่เชื่อมั่นต่อหน่วยงานราชการในการใช้จ่ายงบประมาณภัยพิบัติว่าจะโปร่งใส นอกจากนี้ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 71.0 ระบุมีการเลือกปฏิบัติของเจ้าหน้าที่รัฐในการช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติต่างๆ

ที่น่าพิจารณาคือ ส่วนใหญ่เกินกว่าร้อยละ 90 หรือร้อยละ 94.9 ระบุควรติดประกาศเผยแพร่รายละเอียดการใช้จ่ายงบประมาณภัยพิบัติให้สาธารณชนทราบ โดยเมื่อสอบถามว่ามีการทุจริตงบประมาณภัยพิบัติจริงตามที่เลขาธิการคณะกรรมการการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) ตรวจพบ พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 74.8 คิดว่ามีการทุจริตคอรัปชั่นจริง

ที่น่าเป็นห่วงคือ เมื่อถามถึงจำนวนผู้ใหญ่ที่ดีมีความซื่อสัตย์สุจริตในสังคมไทยคอยดูแลปกป้องเจ้าหน้าที่รัฐที่ซื่อสัตย์สุจริต พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 75.4 ระบุมีเหลือน้อย ถึง ไม่มีเลย ในขณะที่ร้อยละ 24.6 ระบุยังมีค่อนข้างมาก ถึงมาก

นอกจากนี้ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 82.7 ระบุว่า รัฐบาลยังไม่มีความชัดเจนในการคุ้มครองพยานและเจ้าหน้าที่รัฐที่ออกมาเปิดเผยข้อมูลการทุจริต การใช้งบประมาณภัยพิบัติต่างๆ ในขณะที่ร้อยละ 17.3 ระบุชัดเจนแล้ว

ที่น่าเป็นห่วงอย่างยิ่งคือ เมื่อสอบถามถึงขวัญกำลังใจของเจ้าหน้าที่รัฐที่เห็นหัวหน้าตนเองโดนโยกย้ายหลังจากออกมาเปิดโปงขบวนการทุจริตคอรัปชั่น พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 81.4 ระบุเสียขวัญกำลังใจ นอกจากนี้ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 84.6 กลัวภัยคุกคาม ถ้าออกมาเปิดโปงการทุจริตคอรัปชั่นในชุมชนของตนเองเพราะรัฐบาลไม่จริงจังคุ้มครองพยานอย่างต่อเนื่อง เจ้าหน้าที่รัฐเองยังไม่มั่นคง ไม่ปลอดภัย ในสังคมที่มีแต่โฆษณาชวนเชื่อ คนทำงานด้วยปากและได้ดี ปลอดภัย ไว้ใจใครไม่ได้ ยังไม่มีเสาหลักหรือผู้ใหญ่คนไหนของสังคมไทยที่เป็นต้นแบบต่อต้านการทุจริตคอรัปชั่น และส่วนใหญ่มีประวัติไม่ซื่อสัตย์กันทั้งนั้น เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม ที่น่าพิจารณาคือ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 93.8 ระบุควรเพิ่มโทษจำคุกตลอดชีวิตถึงประหารชีวิตกับเจ้าหน้าที่รัฐที่ทุจริตคอรัปชั่นงบภัยพิบัติ เพราะ หากินบนความทุกข์เดือดร้อนของประชาชน แก้ไขปรับปรุงตัวยาก จะได้เข็ดหลาบจำ จะได้เกรงกลัวต่อบทลงโทษ จะได้แก้ไขหรือหยุดคอรัปชั่นได้อย่างแท้จริง เป็นต้น

ที่น่าสนใจคือ ประชาชนส่วนใหญ่หรือร้อยละ 84.0 ยังคงเชื่อมั่นต่อประชาธิปไตย และส่วนใหญ่หรือร้อยละ 79.2 ยังคงเชื่อมั่นต่อระบอบประชาธิปไตย ถึงแม้มีปัญหาทุจริตคอรัปชั่นมากมาย เพราะ เป็นการปกครองที่ประชาชนยังมีโอกาสวิพากษ์วิจารณ์ มีส่วนร่วม มีสิทธิมีเสียง สาธารณชนยังมีโอกาสตรวจสอบหรือรับรู้ได้ และยึดอำนาจแล้วก็ยังมีทุจริตคอรัปชั่นเหมือนเดิม ใครขึ้นมามีอำนาจก็มีกลุ่มทุนวิ่งเข้าหาล็อบบี้ จ่ายใต้โต๊ะ และสินบนเหมือนเดิม เป็นต้น ในขณะที่ร้อยละ 20.8 ไม่เชื่อมั่น

จากการพิจารณาลักษณะทั่วไปของตัวอย่าง พบว่า ตัวอย่างร้อยละ 47.6 เป็นชาย ร้อยละ 52.4 เป็นหญิง ตัวอย่างร้อยละ 3.1 อายุน้อยกว่า 20 ปี ร้อยละ 21.6 อายุระหว่าง 20—29 ปี ร้อยละ 19.1 อายุระหว่าง 30—39 ปี ร้อยละ 18.6 อายุระหว่าง 40—49 ปี และร้อยละ 37.6 อายุ 50 ปีขึ้นไป ตัวอย่างร้อยละ 59.1 สำเร็จการศึกษาต่ำกว่าปริญญาตรี ร้อยละ 35.6 สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี และร้อยละ 5.3 สำเร็จการศึกษาสูงกว่าระดับปริญญาตรี ตัวอย่างร้อยละ 31.5 ระบุอาชีพเกษตรกร/รับจ้างทั่วไป ร้อยละ 29.3 ระบุอาชีพค้าขาย/ธุรกิจส่วนตัว ร้อยละ 9.5 ระบุอาชีพพนักงานเอกชน ร้อยละ 10.4 ระบุอาชีพข้าราชการ/พนักงานรัฐวิสาหกิจ ร้อยละ 8.2 ระบุเป็นนักเรียนนักศึกษา ร้อยละ 8.3 ระบุเป็นแม่บ้าน/พ่อบ้าน/เกษียณอายุ ร้อยละ 2.8 ว่างงาน/ไม่ได้ประกอบอาชีพ

ตารางที่ 1 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุความเคลือบแคลงสงสัยในการใช้จ่ายงบภัยพิบัติของหน่วยงานราชการของรัฐบาลชุดปัจจุบัน
ลำดับที่          ความคิดเห็น                    ค่าร้อยละ
1          เคลือบแคลงสงสัย                      59.4
2          ไม่เคลือบแคลงสงสัย                    40.6
          รวมทั้งสิ้น                            100.0

ตารางที่ 2 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุ ความเชื่อมั่นต่อหน่วยงานราชการในการใช้จ่ายงบประมาณภัยพิบัติว่าจะโปร่งใส
ลำดับที่          ความคิดเห็น                    ค่าร้อยละ
1          เชื่อมั่น                              37.2
2          ไม่เชื่อมั่น                            62.8
          รวมทั้งสิ้น                            100.0

ตารางที่ 3 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุมีการเลือกปฎิบัติของเจ้าหน้าที่รัฐในการช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติต่างๆ
ลำดับที่          ความคิดเห็น                    ค่าร้อยละ
1          มีการเลือกปฏิบัติ                       71.0
2          ไม่มี                                29.0
          รวมทั้งสิ้น                            100.0
ตารางที่ 4 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุ ความคิดเห็นว่าหน่วยงานของรัฐควรมีการติดประกาศการใช้จ่ายงบประมาณช่วยเหลือภัยพิบัติ
ลำดับที่          ความคิดเห็น                                                   ค่าร้อยละ
1          ควรติดประกาศเผยแพร่รายละเอียดการใช้จ่ายงบประมาณให้สาธารณชนทราบ          94.9
2          ไม่ควร                                                              5.1
          รวมทั้งสิ้น                                                           100.0

ตารางที่ 5 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุว่ามีการทุจริตงบประมาณช่วยเหลือภัยพิบัติน้ำท่วมจริงตามที่เลขาธิการคณะกรรมการการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) ตรวจพบ
ลำดับที่          ความคิดเห็น                    ค่าร้อยละ
1          คิดว่ามีจริง                           74.8
2          ไม่คิดว่ามี                            25.2
          รวมทั้งสิ้น                            100.0

ตารางที่ 6 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุว่า จำนวนผู้ใหญ่ที่ดีมีความซื่อสัตย์สุจริตในสังคมไทยคอยดูแลปกป้องเจ้าหน้าที่รัฐที่ซื่อสัตย์สุจริต
ลำดับที่          ความคิดเห็น                    ค่าร้อยละ
1          มีเหลืออยู่น้อย จนถึงไม่มีเลย              75.4
2          ยังมีค่อนข้างมาก ถึง มาก                24.6
          รวมทั้งสิ้น                            100.0

ตารางที่ 7 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุ ความชัดเจนของรัฐบาลในการคุ้มครองพยานและเจ้าหน้าที่รัฐที่ออกมาเปิดเผยข้อมูลการทุจริตการใช้งบประมาณภัยพิบัติต่างๆ
ลำดับที่          ความคิดเห็น                    ค่าร้อยละ
1          ยังไม่ชัดเจน                          82.7
2          ชัดเจนแล้ว                           17.3
          รวมทั้งสิ้น                            100.0

ตารางที่ 8 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุ ขวัญกำลังใจของเจ้าหน้าที่รัฐที่เห็นหัวหน้าของตนเองถูกโยกย้ายกระทันหันเพราะออกมาเปิดโปงขบวนการทุจริตคอรัปชั่น
ลำดับที่          ความคิดเห็น                    ค่าร้อยละ
1          เสียขวัญกำลังใจ                       81.4
2          ไม่เสียขวัญกำลังใจ                     18.6
          รวมทั้งสิ้น                            100.0

ตารางที่ 9 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุว่า ความกลัวต่อภัยคุกคาม ถ้าออกมาเปิดโปงการทุจริต คอรัปชั่นในชุมชนของตนเอง
ลำดับที่          ความคิดเห็น                                                                ค่าร้อยละ
1          กลัว เพราะ รัฐบาลไม่จริงจังคุ้มครองพยานอย่างต่อเนื่อง เจ้าหน้าที่รัฐเองยังไม่มั่นคงไม่ปลอดภัย

ในสังคมที่มีแต่โฆษณาชวนเชื่อ คนทำงานด้วยปากและได้ดีปลอดภัย ไว้ใจใครไม่ได้ ยังไม่มีเสาหลัก

หรือผู้ใหญ่คนไหนของสังคมไทยที่เป็นต้นแบบการต่อต้านการทุจริตคอรัปชั่น และส่วนใหญ่มีประวัติไม่ซื่อสัตย์

           กันทั้งนั้น เป็นต้น                                                                   84.6
2          ไม่กลัว                                                                          15.4
          รวมทั้งสิ้น                                                                        100.0

ตารางที่ 10 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุ รัฐบาลควรเพิ่มโทษจำคุกตลอดชีวิตถึงประหารชีวิตขบวนการทุจริตคอรัปชั่นงบภัยพิบัติ
ลำดับที่          ความคิดเห็น                                                               ค่าร้อยละ
1          ควรเพิ่มโทษจำคุกตลอดชีวิตถึงประหารชีวิต เพราะหากินบนความทุกข์เดือดร้อนของประชาชน

แก้ไขปรับปรุงตัวยาก จะได้เข็ดหลาบจำ จะได้เกรงกลัวต่อบทลงโทษ จะได้แก้ไขหรือหยุดคอรัปชั่น

           ได้อย่างแท้จริง เป็นต้น                                                              93.8
2          ไม่ควร                                                                           6.2
          รวมทั้งสิ้น                                                                        100.0

ตารางที่ 11 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุ ความเชื่อมั่นต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตย
ลำดับที่          ความคิดเห็น                    ค่าร้อยละ
1          เชื่อมั่น                              84.0
2          ไม่เชื่อมั่น                            16.0
          รวมทั้งสิ้น                            100.0

ตารางที่ 12 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุ ความเชื่อมั่นต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตย ถึงแม้มีปัญหาทุจริตคอรัปชั่นมากมาย
ลำดับที่          ความคิดเห็น                                                            ค่าร้อยละ
1          เชื่อมั่น เพราะ เป็นการปกครองที่ประชาชนยังมีโอกาสวิพากษ์วิจารณ์ มีส่วนร่วม มีสิทธิมีเสียง

สาธารณชนยังมีโอกาสตรวจสอบได้ และยึดอำนาจแล้วก็ยังมีการทุจริตคอรัปชั่นเหมือนเดิม

           ใครขึ้นมีอำนาจก็มีกลุ่มทุนวิ่งเข้าหาล็อบบี้จ่ายใต้โต๊ะ และสินบน เหมือนเดิม เป็นต้น              79.2
2          ไม่เชื่อมั่น                                                                    20.8
          รวมทั้งสิ้น                                                                    100.0

--เอแบคโพลล์--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ