ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยความสุขชุมชน สำนักวิจัยเอแบคโพลล์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เสนอผลวิจัยเชิงสำรวจเรื่อง ผลลัพธ์ของความขัดแย้งรุนแรงบานปลายทางการเมืองในอดีต และประเด็นสำคัญทางการเมือง กรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนอายุ 18 ปีขึ้นไปใน 17 จังหวัดของประเทศ ได้แก่ กรุงเทพมหานคร นนทบุรี สมุทรปราการ พระนครศรีอยุธยา ชลบุรี สุพรรณบุรี พิจิตร เพชรบูรณ์ เชียงใหม่ นครราชสีมา ยโสธร ร้อยเอ็ด ขอนแก่น อุดรธานี ชุมพร พัทลุง และสงขลา จำนวนทั้งสิ้น 2,141 ตัวอย่าง ดำเนินโครงการระหว่างวันที่ 19 - 22 กันยายน 2555 ที่ผ่านมา โดยใช้การเลือกตัวอย่างแบบแบ่งกลุ่มเชิงชั้นภูมิหลายชั้น ที่สุ่มเลือกจังหวัด อำเภอ ตำบล ชุมชน ครัวเรือน และประชาชนที่ตอบแบบสอบถามระดับครัวเรือน ความคลาดเคลื่อนของการสุ่มตัวอย่างบวกลบร้อยละ 7
ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 97.9 ของประชาชนที่ถูกศึกษายังจำภาพของความเสียหายจากความขัดแย้งรุนแรงบานปลายทางการเมืองในอดีตได้ และที่น่าเป็นห่วงคือ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 85.6 คิดว่าปัญหาขัดแย้งไม่มีวันจบสิ้นถ้าต่างฝ่ายต่างกล่าวโทษโยนความผิดให้แก่กัน
เมื่อสอบถามถึงผลลัพธ์ที่สังคมไทยได้รับหลังความขัดแย้งรุนแรงบานปลายทางการเมือง พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 96.1 ระบุประเทศชาติเสียหาย ประชาชนเดือดร้อน รองลงมาคือ ร้อยละ 91.7 ระบุชาวบ้านยังเดือดร้อนเรื่องปากท้อง ค่าครองชีพเหมือนเดิมไม่เปลี่ยนแปลง ร้อยละ 90.5 ระบุมีนโยบายสาธารณะอะไรใหม่ๆ ออกมาเพื่อความสุขคนไทยอย่างแท้จริง ร้อยละ 89.2 ยังคงเชื่อมั่นต่อระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข อย่างไรก็ตาม ร้อยละ 88.2 ปัญหาทุจริตคอรัปชั่นยังคงมีอยู่ ร้อยละ 87.6 ระบุคนบางคนบางกลุ่มได้ประโยชน์ ตำแหน่ง อำนาจ ทรัพย์สิน มีความสุขรื่นเริง ขณะที่คนอีกกลุ่มหนึ่งมีทุกข์ สูญเสียไม่มีวันเรียกกลับคืนมาได้ ร้อยละ 86.9 ระบุปัญหา ยาเสพติดและอาชญากรรมยังเหมือนเดิม ร้อยละ 85.4 ระบุปัญหาแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการที่ไม่เป็นธรรม ใช้ระบบพรรคพวก เด็กตั๋วเด็กฝาก ร้อยละ 77.6 ระบุ ควรยกย่องผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์ขัดแย้งทางการเมืองของทุกฝ่าย สร้างเป็นอนุสรณ์สถานเตือนใจคนรุ่นหลังตามสถานที่เกิดเหตุ เช่น แยกราชประสงค์ เป็นต้น และร้อยละ 57.2 ระบุญาติพี่น้อง เพื่อนฝูงแตกแยก เพราะอำนาจทางการเมืองและผลประโยชน์ ลืมความเป็นญาติ ความเป็นเพื่อนที่เคยมีต่อกัน
นอกจากนี้ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 70.2 ไม่มั่นใจว่าจะเกิดเหตุขัดแย้งรุนแรงบานปลายทางการเมืองขึ้นอีกในอนาคต เพราะ ต่างฝ่ายต่างมุ่งแย่งชิงอำนาจและผลประโยชน์ ไม่ยอมถอยกันคนละก้าว ยังไม่มีหลักประกันว่าจะไม่เกิดขึ้นอีก ทุกอย่างเป็นไปได้ในสังคมไทย มีแต่โทษกันไปโทษกันมาจนอาจกลายเป็นชนวนของความขัดแย้งรอบใหม่ เป็นต้น ในขณะที่ร้อยละ 29.8 มั่นใจว่าจะไม่ขัดแย้งรุนแรงกันอีก เพราะทุกคนน่าจะเห็นความสูญเสีย อดีตเป็นบทเรียน ต่างฝ่ายต่างเจอกับความเจ็บปวด ได้ไม่เท่ากับความสูญเสีย เป็นต้น
เมื่อถามถึงชีวิตความเป็นอยู่ภายหลังเหตุความขัดแย้งรุนแรงบานปลายทางการเมือง พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 84.8 ระบุชีวิตความเป็นอยู่เหมือนเดิม ไม่มีอะไรดีขึ้น ในขณะที่ร้อยละ 15.2 ระบุชีวิตเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้น อย่างไรก็ตาม เมื่อสอบถามถึงคุณธรรมที่อยากเห็นประชาชนทุกคนช่วยกันทำช่วยกันสร้างเพื่อ “ความสุขประเทศไทย” พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 72.9 อยากให้คนไทยรู้จักให้อภัยต่อกัน รองลงมาคือร้อยละ 70.6 ระบุความมีไมตรีจิต เมตตากรุณา แบ่งปัน ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน ร้อยละ 70.1 ระบุความกตัญญู รู้คุณประเทศชาติ ร้อยละ 67.7 ระบุความซื่อสัตย์ ร้อยละ 64.8 ระบุความมีวินัย ปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ ร้อยละ 59.2 ระบุความเสียสละ ร้อยละ 55.8 ระบุการบำเพ็ญประโยชน์เพื่อส่วนรวม ร้อยละ 53.9 ระบุความอดทน อดกลั้น ยับยั้งชั่งใจ ร้อยละ 51.6 ระบุความประหยัด และร้อยละ 50.7 ระบุเป็นผู้มีวัฒนธรรม ปฏิบัติตามประเพณี ตามลำดับ
ที่น่าพิจารณาคือ ความคิดเห็นต่อความเป็นไปของสังคมไทยในปัจจุบัน พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 93.9 ระบุนักการเมืองมีอำนาจเดี๋ยวก็หมดอำนาจ แต่ข้าราชการต้องอยู่ต่อเป็นเสาหลักของบ้านเมืองได้นานกว่า ร้อยละ 93.4 ระบุกระทรวงบางกระทรวงจะเสียหายเพราะไม่ปกป้องคนดี ไม่ค้ำจุนข้าราชการที่ดี ร้อยละ 90.8 ระบุเจ้าหน้าที่รัฐระดับสูงยังเอาตัวเองไม่รอดเพราะถูกปลดถูกเด้งพ้นตำแหน่ง แล้วชาวบ้านจะกล้าออกมาต่อต้าน
คอรัปชั่นได้อย่างไร ร้อยละ 82.1 ระบุข้าราชการอยู่นานกว่านักการเมือง อย่า “เสีย” เพราะยอมรับนักการเมืองคอรัปชั่น ร้อยละ 54.9 ระบุ นักการเมืองที่มีเงินทุนมหาศาล มักเอาตัวรอดได้ในทุกสถานการณ์ ตามลำดับ
นอกจากนี้ เมื่อถามถึงความต้องการให้นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ชี้แจงเรื่องงบประมาณดูงานต่างประเทศ พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 68.5 ต้องการ และส่วนใหญ่หรือร้อยละ 80.9 ต้องการให้มีการตรวจสอบจากทุกหน่วย เช่น ป.ป.ช. ป.ป.ท. และกรรมาธิการคณะต่างๆ เป็นต้น ในขณะที่ร้อยละ 19.1 ไม่ต้องการ
เมื่อถามถึงประเด็นอื่นๆ เกี่ยวกับการป้องกันแก้ปัญหาน้ำท่วมพบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 95.2 อยากให้รัฐบาลติดประกาศการใช้จ่ายงบภัยพิบัติให้สาธารณชนได้ทราบรายละเอียดครบถ้วน รองลงมาคือร้อยละ 91.5 อยากเห็นการทำงานร่วมกันระหว่างนายกรัฐมนตรีกับผู้ว่า กทม. และ ภาคประชาชน ร้อยละ 87.3 ระบุการแก้ปัญหาน้ำท่วมของรัฐบาลมาถูกทางแล้ว ร้อยละ 80.2 อยากเห็นการติดตั้งกล้อง CCTV ในพื้นที่วิกฤติน้ำท่วมเพื่อ ดูการแก้ไขปัญหาของหน่วยงานรัฐ และร้อยละ 67.4 อยากดูเรียลลิตีโชว์หรือการถ่ายทอดสดการประชุมร่วมกันเพื่อแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน อย่างไรก็ตาม ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 84.9 นอนไม่ค่อยหลับ เมื่อฝนตกหนักและได้ยินข่าวน้ำจะท่วม
ดร.นพดล กรรณิกา ผอ.ศูนย์วิจัยความสุขชุมชน กล่าวว่า คนไทยส่วนใหญ่ไม่ได้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นหลังเหตุการณ์ความขัดแย้งทางการเมือง แต่คนบางกลุ่มเพียงหยิบมือเดียวที่ได้อำนาจและผลประโยชน์ซึ่งแตกต่างไปจากประเทศที่พัฒนาแล้วที่หลังจากความขัดแย้งทางการเมือง ประชาชนส่วนใหญ่ทั้งประเทศมักจะได้ประโยชน์ เช่น สิทธิของคนกลุ่มน้อย สิทธิการถือครองที่ทำกิน และการกระจายทรัพยากรของประเทศ เป็นต้น แต่สำหรับประเทศไทยมักจะพบว่า แกนนำกลุ่มผู้ชุมนุมมักจะประสบความสำเร็จได้อำนาจในการนำประชาชนออกมากลางถนนแต่มักจะ “ไม่” ประสบความสำเร็จที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงประเทศที่ทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนส่วนใหญ่ดีขึ้นได้เท่าใดนัก
“ผลสำรวจยังพบด้วยว่า คนไทยยังไม่มั่นใจต่อเหตุการณ์ทางการเมืองว่าจะขัดแย้งรุนแรงบานปลายขึ้นมาอีกหรือไม่ แต่ส่วนใหญ่ได้เรียนรู้ถึงความสูญเสียต่างๆ โดยยังคงเชื่อมั่นในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และต้องการให้คนไทยเน้นทำคุณธรรมด้านต่างๆ เพื่อความสุขประเทศไทยโดยเฉพาะ “การให้อภัยต่อกัน” ในขณะที่ คนไทยส่วนใหญ่เล็งเห็นว่าถ้าต่างฝ่ายต่างโยนความผิดให้แก่กันและกัน ผลที่ตามมาก็คือ ความขัดแย้งจะไม่มีวันจบสิ้น ดังนั้น ข้อเสนอแนะคือ การนำเอาความเสียสละของผู้สูญเสียของทุกฝ่ายมาเป็น “จุดแข็ง” และนำไปสู่ “โอกาส” ที่ทุกคนในชาติจะร่วมกันปกป้องผลประโยชน์ส่วนตัวและของประเทศชาติในอนาคตไม่ยอมตกเป็นเครื่องมือของกลุ่มคนเฉพาะกลุ่มที่มักจะได้รับผลประโยชน์จากความขัดแย้งทางการเมือง นอกจากนี้ ผู้ใหญ่ที่ดีในแต่ละหน่วยงานของรัฐและภาคประชาชนต้องออกมาปกป้องคนดี ค้ำจุนเจ้าหน้าที่รัฐที่ซื่อสัตย์สุจริตและมีความรู้ความสามารถให้เข้ามาช่วยลดทอนความขัดแย้งของคนในชาติโดยมุ่งไปที่การแก้ปัญหาเดือดร้อนที่ใกล้ตัวประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ จนทำให้ทุกคนในชาติเกิด “แรงบันดาลใจ” ออกมาขับเคลื่อนคุณธรรมและความถูกต้องเพื่อ “ความสุขประเทศไทย” ที่ยั่งยืนต่อไป” ผอ.ศูนย์วิจัยความสุขกล่าว
จากการพิจารณาลักษณะทั่วไปของตัวอย่าง พบว่า ตัวอย่างร้อยละ 47.6 เป็นชาย ร้อยละ 52.4 เป็นหญิง ตัวอย่างร้อยละ 3.1 อายุน้อยกว่า 20 ปี ร้อยละ 21.6 อายุระหว่าง 20—29 ปี ร้อยละ 20.1 อายุระหว่าง 30—39 ปี ร้อยละ 19.6 อายุระหว่าง 40—49 ปี และร้อยละ 35.6 อายุ 50 ปีขึ้นไป ตัวอย่างร้อยละ 59.1 สำเร็จการศึกษาต่ำกว่าปริญญาตรี ร้อยละ 35.6 สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี และร้อยละ 5.3 สำเร็จการศึกษาสูงกว่าระดับปริญญาตรี ตัวอย่างร้อยละ 31.5 ระบุอาชีพเกษตรกร/รับจ้างทั่วไป ร้อยละ 29.3 ระบุอาชีพค้าขาย/ธุรกิจส่วนตัว ร้อยละ 9.5 ระบุอาชีพพนักงานเอกชน ร้อยละ 10.4 ระบุอาชีพข้าราชการ/พนักงานรัฐวิสาหกิจ ร้อยละ 8.3 ระบุเป็นนักเรียนนักศึกษา ร้อยละ 8.2 ระบุเป็นแม่บ้าน/พ่อบ้าน/เกษียณอายุ ร้อยละ 2.8 ว่างงาน/ไม่ได้ประกอบอาชีพ
ลำดับที่ ความคิดเห็น ค่าร้อยละ 1 ยังจำได้ 97.9 2 จำไม่ได้แล้ว 2.1 รวมทั้งสิ้น 100.0 ตารางที่ 2 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุ ความคิดเห็นต่อผลกระทบถ้าต่างฝ่ายต่างกล่าวโทษโยนความผิดให้แก่กัน ลำดับที่ ความคิดเห็น ค่าร้อยละ 1 ปัญหาขัดแย้งไม่มีวันจบ 85.6 2 อีกไม่นานเรื่องก็จะจบลง 14.4 รวมทั้งสิ้น 100.0 ตารางที่ 3 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุ ผลลัพธ์ที่สังคมไทยได้รับหลังความขัดแย้งรุนแรงบานปลายทางการเมือง ลำดับที่ ผลลัพธ์ที่สังคมไทยได้ ใช่ ไม่ใช่ 1 ประเทศชาติเสียหาย ประชาชนเดือดร้อน 96.1 3.9 2 ชาวบ้านยังเดือดร้อนเรื่อง ปากท้อง ค่าครองชีพเหมือนเดิม ไม่เปลี่ยนแปลง 91.7 8.3 3 ไม่มีนโยบายสาธารณะอะไรใหม่ๆ ออกมาเพื่อความสุขคนไทยอย่างแท้จริง 90.5 9.5 4 ยังคงเชื่อมั่นต่อระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข 89.2 10.8 5 ปัญหาทุจริต คอรัปชั่น ยังคงอยู่ 88.2 11.8 6 คนบางคนบางกลุ่มได้ประโยชน์ ตำแหน่ง อำนาจ ทรัพย์สิน มีความสุขรื่นเริง ขณะที่คนอีกกลุ่มหนึ่งมีทุกข์ สูญเสียไม่มีวันเรียกกลับคืนมาได้ 87.6 12.4 7 ปัญหายาเสพติดและอาชญากรรมยังเหมือนเดิม 86.9 13.1 8 ปัญหาแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการที่ไม่เป็นธรรม ใช้ระบบพรรคพวก เด็กตั๋วเด็กฝาก 85.4 14.6 9 ควรยกย่องผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์ขัดแย้งทางการเมืองของทุกฝ่าย สร้างเป็นอนุสรณ์สถาน เตือนใจคนรุ่นหลังตามสถานที่เกิดเหตุ เช่น แยกราชประสงค์ เป็นต้น 77.6 22.4 10 ญาติพี่น้อง เพื่อนฝูงแตกแยก เพราะอำนาจทางการเมืองและผลประโยชน์ ลืมความเป็นญาติ ความเป็นเพื่อนไป 57.2 42.8 ตารางที่ 4 แสดงค่าร้อยละที่ระบุ ความมั่นใจ / ไม่มั่นใจว่าจะเกิดเหตุขัดแย้งรุนแรงบานปลายทางการเมืองอีกในอนาคต ลำดับที่ ความมั่นใจ ร้อยละ 1 มั่นใจว่าจะไม่ขัดแย้งรุนแรงกันอีก เพราะ ทุกคนน่าจะเห็นความสูญเสีย อดีตเป็นบทเรียน ต่างฝ่ายต่างเจอกับความเจ็บปวด ได้ไม่เท่ากับความสูญเสีย เป็นต้น 29.8 2 ไม่มั่นใจ เพราะ ต่างฝ่ายต่างมุ่งแย่งชิงอำนาจและผลประโยชน์ ไม่ยอมถอยกันคนละก้าว
ยังไม่มีหลักประกันว่าจะไม่เกิดขึ้นอีก ทุกอย่างเป็นไปได้ในสังคมไทย มีแต่โทษกันไปโทษกันมา
จนอาจกลายเป็นชนวนของความขัดแย้งรอบใหม่ เป็นต้น 70.2 รวมทั้งสิ้น 100.0 ตารางที่ 5 แสดงค่าร้อยละที่ระบุ ชีวิตความเป็นอยู่ ภายหลังเกิดเหตุความขัดแย้งรุนแรงบานปลายทางการเมือง ลำดับที่ ความคิดเห็น ร้อยละ 1 ชีวิตความเป็นอยู่เหมือนเดิม ไม่มีอะไรดีขึ้น 84.8 2 ชีวิตเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้น 15.2 รวมทั้งสิ้น 100.0 ตารางที่ 6 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุ คุณธรรมที่อยากเห็นประชาชนทุกคนช่วยกันเพื่อ “ความสุขประเทศไทย (ตอบได้มากกว่า 1 ข้อ) ลำดับที่ คุณธรรมที่อยากเห็นในชาติ เพื่อความสุขประเทศไทย ค่าร้อยละ 1 รู้จักให้อภัยต่อกัน 72.9 2 ความมีไมตรีจิต เมตตากรุณา แบ่งปัน ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน 70.6 3 ความกตัญญู รู้คุณประเทศชาติ 70.1 4 ความซื่อสัตย์ 67.7 5 ความมีวินัย ปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ 64.8 6 ความเสียสละ 59.2 7 การบำเพ็ญประโยชน์เพื่อส่วนรวม 55.8 8 ความอดทนอดกลั้น ยับยั้งชั่งใจ 53.9 9 ความประหยัด 51.6 10 เป็นผู้มีวัฒนธรรม ปฏิบัติตามประเพณี 50.7 ตารางที่ 7 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างระบุ ความคิดเห็นต่อความเป็นไปของสังคมไทยในปัจจุบัน ลำดับที่ ความเป็นไปของสังคมไทยในปัจจุบัน เห็นด้วย ไม่เห็นด้วย รวมทั้งสิ้น 1 นักการเมืองมีอำนาจเดี๋ยวก็หมดอำนาจ แต่ข้าราชการต้องอยู่ต่อ เป็นเสาหลักของบ้านเมืองได้นานกว่า 93.9 6.1 100.0 2 กระทรวงบางกระทรวงจะเสียหายเพราะไม่ปกป้องคนดี ไม่ค้ำจุนข้าราชการที่ดี 93.4 6.6 100.0 3 เจ้าหน้าที่รัฐระดับสูงยังเอาตัวเองไม่รอดเพราะถูกปลดถูกเด้งพ้นตำแหน่ง แล้วชาวบ้านจะกล้าออกมาต่อต้านคอรัปชั่นได้อย่างไร 90.8 6.2 100.0 4 ข้าราชการอยู่นานกว่านักการเมือง อย่า “เสีย” เพราะยอมรับนักการเมืองคอรัปชั่น 82.1 17.9 100.0 5 นักการเมืองที่มีเงินทุนมหาศาล มักเอาตัวรอดได้ในทุกสถานการณ์ 54.9 45.1 100.0 ตารางที่ 8 แสดงค่าร้อยละที่ระบุ ความต้องการให้นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ชี้แจงเรื่องงบประมาณดูงานต่างประเทศ ลำดับที่ ความต้องการ ร้อยละ 1 ต้องการ 68.5 2 ไม่ต้องการ 31.5 รวมทั้งสิ้น 100.0 ตารางที่ 9 แสดงค่าร้อยละที่ระบุ ความต้องการให้ทุกหน่วยงานของรัฐและภาคประชาชนต่อต้านการคอรัปชั่นตรวจสอบการใช้งบประมาณ ในการเดินทางศึกษาดูงานทั้งหมดที่ใช้เงินจากภาษีของประชาชน ลำดับที่ ความต้องการ ร้อยละ 1 ต้องการให้มีการตรวจสอบจากทุกหน่วย เช่น ป.ป.ช. ป.ป.ท. และกรรมาธิการคณะต่างๆ เป็นต้น 80.9 2 ไม่ต้องการ 19.1 รวมทั้งสิ้น 100.0 ตารางที่ 10 แสดงค่าร้อยละตัวอย่างที่ระบุ ความคิดเห็นต่อ การแก้ปัญหาภัยพิบัติน้ำท่วมของรัฐบาล ลำดับที่ ความคิดเห็น ร้อยละ 1 อยากให้รัฐบาลติดประกาศการใช้จ่ายงบภัยพิบัติให้สาธารณชนได้ทราบรายละเอียดครบถ้วน 95.2 2 อยากเห็นการทำงานร่วมกันระหว่างนายกรัฐมนตรีกับผู้ว่า กทม. และภาคประชาชน 91.5 3 การแก้ปัญหาน้ำท่วมของรัฐบาลมาถูกทางแล้ว 87.3 4 อยากเห็นการติดตั้งกล้อง CCTV ในพื้นที่วิกฤติน้ำท่วมเพื่อดูการแก้ไขปัญหาของหน่วยงานรัฐ 80.2 5 อยากดูเรียลลิตีโชว์หรือการถ่ายทอดสดการประชุมร่วมกันเพื่อแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน 67.4 ตารางที่ 11 แสดงค่าร้อยละตัวอย่างที่ระบุ การนอนหลับในช่วงฝนตกหนักและมีข่าวว่าน้ำจะท่วม ลำดับที่ การนอนหลับ ค่าร้อยละ 1 นอนหลับเต็มที่ 15.1 2 นอนไม่ค่อยหลับ 84.9 รวมทั้งสิ้น 100.0
--เอแบคโพลล์--