เอแบคโพลล์: ความสุขมวลรวมของประชาชนคนไทยภายในประเทศประจำเดือนกันยายน 2555 และเสียงสะท้อนของคนสนับสนุนรัฐบาลต่อคนที่เหมาะสมเป็นรัฐมนตรี

ข่าวผลสำรวจ Monday October 1, 2012 07:39 —เอแบคโพลล์

ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยความสุขชุมชน มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เปิดเผยผลวิจัยเชิงสำรวจ เรื่อง ความสุขมวลรวมของประชาชนคนไทยภายในประเทศประจำเดือนกันยายน 2555 และเสียงสะท้อนของคนสนับสนุนรัฐบาลต่อคนที่เหมาะสมเป็นรัฐมนตรี กรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนในพื้นที่ 17 จังหวัดของประเทศ ได้แก่ กรุงเทพมหานคร ปทุมธานี สมุทรปราการ เชียงใหม่ พะเยา นครสวรรค์ ลพบุรี ชลบุรี เพชรบูรณ์ สุพรรณบุรี ขอนแก่น สุรินทร์ สกลนคร อุดรธานี นครราชสีมา นครศรีธรรมราช และสงขลา จำนวนทั้งสิ้น 2,487 ตัวอย่าง โดยดำเนินการสำรวจในระหว่างวันที่ 20 — 29 กันยายน 2555 ที่ผ่านมา โดยใช้การเลือกตัวอย่างแบบแบ่งกลุ่มเชิงชั้นภูมิหลายชั้น ที่สุ่มเลือกเขต/อำเภอ ตำบล ชุมชน ครัวเรือน และประชาชนที่ตอบแบบสอบถามระดับครัวเรือน โดยมีช่วงความคลาดเคลื่อนบวกลบร้อยละ 7 พบว่า

แนวโน้มความสุขมวลรวมของคนไทยลดลงจาก 6.18 ในเดือนมีนาคม 2555 มาอยู่ที่ 5.79 ในเดือนกันยายน อย่างไรก็ตาม ประชาชนส่วนใหญ่หรือร้อยละ 95.7 มีความสุขเมื่อเห็นคนไทยเป็นหนึ่งเดียวกันแสดงความจงรักภักดีต่อสถาบัน ในขณะที่ร้อยละ 82.4 มีความสุขในความสัมพันธ์ของคนในครอบครัว ร้อยละ 73.9 มีความสุขต่อสุขภาพกาย ร้อยละ 67.5 มีความสุขในการเข้าถึงบริการทางการแพทย์ และร้อยละ 66.3 มีความสุขต่อสุขภาพใจ ตามลำดับ

ที่น่าพิจารณาคือ เมื่อถามถึงเหตุปัจจัยที่ทำให้คนไทยเป็นทุกข์ พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 81.9 ระบุเป็นปัญหาปากท้อง ค่าครองชีพ ร้อยละ 68.2 ระบุความขัดแย้งรุนแรงบานปลายทางการเมือง เสื้อเหลือง เสื้อแดง และกลุ่มเสื้อหลากสี ร้อยละ 65.5 ระบุปัญหายาเสพติด แหล่งมั่วสุม อาชญากรรม และกลุ่มผู้มีอิทธิพล ร้อยละ 64.6 ระบุปัญหาทุจริตคอรัปชั่น งบภัยพิบัติ จำนำข้าว สินบน รีดไถ เงินใต้โต๊ะ ร้อยละ 64.1 ระบุความไม่ใส่ใจของเจ้าหน้าที่รัฐ และรัฐบาลต่อปัญหาเดือดร้อนของประชาชน ร้อยละ 60.9 ระบุปัญหาภัยพิบัติทางธรรมชาติ ร้อยละ 57.8 ระบุปัญหาภาพลักษณ์ การทำงานของคณะรัฐมนตรี ร้อยละ 54.2 ระบุปัญหาที่ทำกินของเกษตรกร ราคาพืชผลเกษตรตกต่ำ ร้อยละ 51.8 ระบุปัญหาเด็กและเยาวชน เช่น เด็กติดเกม การพนัน เด็กตีกัน ยาเสพติด นักเรียนนักเลง เป็นต้น นอกจากนี้ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 74.6 กังวลต่อปัญหาการเมืองที่เกรงจะลุกลามบานปลาย และส่วนใหญ่หรือร้อยละ 85.9 ระบุผลกระทบของการเมืองขัดแย้งรุนแรงบานปลายเป็นการซ้ำเติมปัญหาปากท้อง ค่าครองชีพมากยิ่งขึ้นไปอีก

เมื่อถามถึงความคิดเห็นต่อ แนวทางการปรองดองของคนในชาติระหว่างรายงานของ คอป. กับแนวทางอื่นๆ ที่อาจมีประสิทธิภาพมากกว่า พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 57.2 ระบุใช้แนวทางอื่นๆ ที่ไม่ใช่รายงานของ คอป. เช่น การแถลงข่าวกลุ่มแกนนำเจรจาช่วยแก้ปัญหาเดือดร้อนให้ประชาชน หยุดกล่าวโทษกันไปมา หาจุดสนใจร่วมกันพัฒนาประเทศ มีข่าวพบปะกันให้บ่อยๆ ระหว่างบุคคลสำคัญ เช่น นายกรัฐมนตรีนางสาวยิ่งลักษณ์ เข้าพบ พล.อ.เปรม และ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ประชุมหารือกันนอกรอบกับนายกรัฐมนตรีนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตรเพื่อช่วยกันแก้ปัญหาสำคัญๆ ของประเทศ เป็นต้น แต่ที่น่าพิจารณาคือ ผลสำรวจพบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 92.6 ของกลุ่มคนที่สนับสนุนคนเสื้อแดงและสนับสนุนรัฐบาลภายใต้การนำของนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ระบุควรคืนความเป็นธรรมให้กลุ่มที่เคยเป็นรัฐมนตรีในช่วงถูกยึดอำนาจ ปี 2549 และช่วงวุ่นวายทางการเมืองในอดีต

เมื่อสอบถามเฉพาะกลุ่มผู้สนับสนุนคนเสื้อแดงและสนับสนุนรัฐบาลชุดปัจจุบันต่อบุคคล ตำแหน่งรัฐมนตรีและเหตุผลในมุมมองของกลุ่มคนเสื้อแดงที่เหมาะสมในตำแหน่งรัฐมนตรี พบว่า อันดับแรก ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 83.6 ระบุเป็น พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ ดามาพงศ์ ควรได้เป็นรองนายกรัฐมนตรี แก้ปัญหายาเสพติด เหตุผลเพราะมีผลงานชัดเจน มีอุดมการณ์ มีความรู้ความสามารถ กล้าหาญเด็ดเดี่ยว ไม่พิธีรีตอง เรียบง่าย มือสะอาด เป็นที่รักใคร่นับถือของผู้ใต้บังคับบัญชา ไม่มีประวัติเสื่อมเสียใดๆ เป็นต้น

นอกจากนี้ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 72.9 ระบุเป็น นางเยาวภา วงศ์สวัสดิ์ ควรได้ตำแหน่งรัฐมนตรีที่สำคัญของรัฐบาล เพราะเป็นบุคคลสำคัญของพรรค และเคยเจ็บปวดจากความวุ่นวายทางการเมืองในอดีต เป็นผู้ที่สมาชิกพรรคให้ความเคารพนับถือ เป็นต้น ในขณะที่ร้อยละ 69.4 ระบุนายจตุพร พรหมพันธุ์ ควรเป็น รมต.กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ หรือกระทรวงแรงงาน เป็นต้น เพราะเป็นผู้ที่ต่อสู้เข้าใจความเดือดร้อนของประชาชนได้ดี เคยเป็นแกนนำพาประชาชนออกมาต่อสู้ความไม่ถูกต้องได้ ควรให้อยู่ในกระทรวงที่ออกนโยบายสาธารณะช่วยเหลือเยียวยาความเดือดร้อนของประชาชนได้อย่างแท้จริง เป็นต้น นอกจากนี้ ร้อยละ 61.7 ระบุคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ควรเป็น รัฐมนตรีกระทวรงคมนาคม เพราะมีความรู้ความสามารถ กล้าคิดกล้าตัดสินใจ ควรดูแลกระทรวงสำคัญ มีผลงาน สามารถทำงานใหญ่รองรับโครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูงและโครงการขนาดใหญ่อื่นๆ ได้ เป็นต้น ในขณะที่ร้อยละ 60.5 ระบุนายจาตุรนต์ ฉายแสง ควรได้เป็น รมต. กระทรวงศึกษาธิการ เพราะ มีความเข้าใจและมีผลงานด้านการศึกษาเป็นอย่างดี เข้ากับข้าราชการกระทรวงศึกษาธิการและฝ่ายการเมืองได้ดี มีวิสัยทัศน์กว้างไกล เข้าถึงปัญหาเด็กและเยาวชนได้ดี เป็นต้น

ในขณะที่ ร้อยละ 58.4 ระบุนายภูมิธรรม เวชยชัย ควรเป็น รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี หรือ มหาดไทย เพราะเป็นแกนนำสำคัญของพรรค มีประสบการณ์ทำงานให้รัฐบาล พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ชินวัตร เป็นที่ไว้วางใจของสมาชิกพรรค และมีความจริงใจ เป็นต้น โดยส่วนใหญ่หรือร้อยละ 57.7 ระบุนายพงศ์เทพ เทพกาญจนา ควรเป็นรัฐนตรีกระทรวงยุติธรรม เพราะเป็นอดีตผู้พิพากษา มีความรู้ความสามารถเรื่องกระบวนการยุติธรรมเป็นอย่างดี มือสะอาด ไม่มีความน่าเคลือบแคลงสงสัยในสังคม น่าจะเข้ามาช่วยกอบกู้ภาพลักษณ์ของกระทรวงยุติธรรมได้ดี มือสะอาด ไม่มีความน่าเคลือบแคลงสงสัยในสังคม น่าจะเข้ามาช่วยกอบกู้ภาพลักษณ์ของกระทรวงยุติธรรมได้ดี และเป็นที่พึ่งของประชาชนได้เมื่อไม่ได้รับความเป็นธรรม เป็นต้น และร้อยละ 52.1 ระบุ นายพงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล ควรเป็น รมต.คมนาคม หรือกระทรวงด้านเศรษฐกิจ เพราะเป็นผู้มีความรู้ความสามารถ มีวิสัยทัศน์ รอบรู้ด้านการทำธุรกิจ การค้า การลงทุนขนาดใหญ่ของโครงการต่างๆ ของรัฐ เป็นต้น

ดร.นพดล กรรณิกา ผอ.ศูนย์วิจัยความสุขชุมชน กล่าวว่า มีความเป็นไปได้ที่รัฐบาลจะสามารถกอบกู้ฟื้นความสุขของประชาชนทุกหมู่เหล่ากลับคืนมาได้ ถ้ารัฐบาลทำให้ “การเมือง และอำนาจรัฐ” เป็นที่พึ่งได้อย่างแท้จริง เพราะการเมืองเป็นเรื่องจำเป็นในระบอบประชาธิปไตยเพื่อช่วยลดทอนความขัดแย้งในผลประโยชน์ของคนกลุ่มต่างๆ ที่มีความหลากหลายทั้งในเรื่องเชื้อชาติ ความเชื่อ อุดมการณ์ ทัศนคติ กลุ่มผลประโยชน์และพื้นที่ภูมิภาคต่างๆ ของประเทศ

“ ดังนั้นมีข้อเสนอแนะอย่างน้อยสามประการคือ ประการแรก เร่งฟื้นฟูภาพลักษณ์ของรัฐบาลและเจ้าหน้าที่รัฐให้เป็นที่พึ่งของประชาชนได้ มีความโปร่งใสเปิดเผยรายละเอียดงบประมาณให้สาธารณชนรับทราบ เพื่อรักษาฐานสนับสนุนส่วนใหญ่ไว้ ประการที่สอง รวดเร็วฉับไวต่อเสียงสะท้อนของกลุ่มสนับสนุนหลักของรัฐบาลเพื่อรักษาฐานเดิมเอาไว้ในการจัดวางบุคลากรที่เหมาะสมและวางใจได้ในการแก้ปัญหาสำคัญของประเทศอย่างมีประสิทธิภาพและคุ้มค่าคุ้มทุนภาษีอากรของประชาชน และประการที่สาม น่าจะยกระดับ “จริยธรรมทางการเมือง” ขึ้นเป็นวาระแห่งชาติ ทำให้ประชาชนภายในประเทศและนานาประเทศทั่วโลกเห็นว่า นักการเมืองไทยมีทั้งอำนาจและจริยธรรมทางการเมือง ละอายต่อบาป ทั้งนี้เพื่อรักษา “ระบบ” ที่ทำให้เกิดความผาสุขร่มเย็นในประชาชนแต่ละคนและความเจริญมั่นคงของชาติตลอดไป ” ผอ.ศูนย์วิจัยความสุขชุมชน กล่าว

จากการพิจารณาลักษณะทั่วไปของตัวอย่าง พบว่า ตัวอย่างร้อยละ 48.1 เป็นชาย ร้อยละ 51.9 เป็นหญิง ตัวอย่างร้อยละ 3.7 อายุน้อยกว่า 20 ปี ร้อยละ 19.9 อายุระหว่าง 20—29 ปี ร้อยละ 21.2 อายุระหว่าง 30—39 ปี ร้อยละ 24.6 อายุระหว่าง 40—49 ปี และร้อยละ 30.6 อายุ 50 ปีขึ้นไป ตัวอย่างร้อยละ 65.5 สำเร็จการศึกษาต่ำกว่าปริญญาตรี ร้อยละ 34.5 สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีขึ้นไป ตัวอย่างร้อยละ 30.7 ระบุอาชีพเกษตรกร/ประมง ร้อยละ 29.3 ระบุอาชีพธุรกิจส่วนตัว ค้าขาย ร้อยละ 9.8 ระบุอาชีพข้าราชการ/รัฐวิสาหกิจ ร้อยละ 8.4 ระบุอาชีพพนักงานบริษัท ร้อยละ 10.7 เป็นนักเรียน/นักศึกษา ร้อยละ 7.5 ระบุเป็นแม่บ้าน พ่อบ้าน เกษียณอายุ ร้อยละ 3.6 ระบุว่างงาน ไม่ได้ประกอบอาชีพ

ตารางที่ 1 แสดงแนวโน้มค่าคะแนนเฉลี่ยความสุขมวลรวมของคนไทยตั้งแต่ เดือนมกราคม 2553 จนถึงปัจจุบัน เมื่อคะแนนเต็ม 10

ม.ค53 ก.ย53 พ.ย53 ธ.ค53 ม.ค54 ก.ค54 ม.ค55 ก.พ55 มี.ค55 ก.ย55 ค่าคะแนนเฉลี่ยความสุขมวลรวม

   ของคนไทยภายในประเทศ     6.52    6.57     5.42    8.37    5.28    7.55   6.66   6.42   6.18   5.79

หมายเหตุ จากฐานข้อมูลรายงานความสุขมวลรวมของคนไทย โดยศูนย์วิจัยความสุขชุมชน มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ

ตารางที่ 2 แสดง 5 อันดับ ความสุขของประชาชนคนไทยในด้านต่างๆ (ตอบได้มากกว่า 1 ข้อ)
ลำดับที่          ความสุขของประชาชนในด้านต่างๆ                     ค่าร้อยละ
1          เห็นคนไทยเป็นหนึ่งเดียวกันแสดงความจงรักภักดีต่อสถาบัน          95.7
2          ความสัมพันธ์ของคนในครอบครัว                             82.4
3          สุขภาพกาย                                            73.9
4          การเข้าถึงบริการทางการแพทย์                             67.5
5          สุขภาพใจ                                             66.3

ตารางที่ 3 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุ เหตุปัจจัยที่ทำให้คนไทยเป็นทุกข์ (ตอบได้มากกว่า 1 ข้อ)
ลำดับที่          เหตุปัจจัยทำให้คนไทยเป็นทุกข์                                            ค่าร้อยละ
1          ปัญหาปากท้อง ค่าครองชีพ                                                     81.9
2          ความขัดแย้งรุนแรงบานปลายทางการเมือง เสื้อเหลือง เสื้อแดง และกลุ่มเสื้อหลากสี          68.2
3          ปัญหายาเสพติด แหล่งมั่วสุม อาชญากรรม และกลุ่มผู้มีอิทธิพล                            65.5
4          ปัญหาทุจริตคอรัปชั่น งบภัยพิบัติ จำนำข้าว สินบน รีดไถ เงินใต้โต๊ะ                       64.6
5          ความไม่ใส่ใจของเจ้าหน้าที่รัฐ และรัฐบาลต่อปัญหาเดือดร้อนของประชาชน                  64.1
6          ภัยพิบัติทางธรรมชาติ                                                         60.9
7          ปัญหาภาพลักษณ์ การทำงานของคณะรัฐมนตรี                                        57.8
8          ปัญหาที่ทำกินของเกษตรกร ราคาพืชผลเกษตรตกต่ำ                                   54.2
9          ปัญหาเด็กและเยาวชน เช่น เด็กติดเกม การพนัน เด็กตีกัน ยาเสพติด นักเรียนนักเลง เป็นต้น   51.8
10          อื่นๆ อาทิ สุขภาพกาย โรคภัยไข้เจ็บ ปัญหาครอบครัว และบ่อนการพนัน เป็นต้น             29.3

ตารางที่ 4 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุ ความกังวลต่อปัญหาการเมืองที่เกรงจะลุกลามบานปลาย
ลำดับที่          ความกังวล              ค่าร้อยละ
1          กังวล                       74.6
2          ไม่กังวล                     25.4
          รวมทั้งสิ้น                    100.0

ตารางที่ 5 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุ ผลกระทบต่อปัญหาปากท้อง ค่าครองชีพ ถ้าการเมืองขัดแย้งรุนแรงบานปลาย
ลำดับที่          ผลกระทบ                                        ค่าร้อยละ
1          เป็นการซ้ำเติมปัญหาปากท้อง ค่าครองชีพมากยิ่งขึ้นไปอีก           85.9
2          ไม่มีผลกระทบ                                          14.1
          รวมทั้งสิ้น                                             100.0

ตารางที่ 6 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุความคิดเห็นต่อแนวทางการปรองดองของคนในชาติระหว่าง รายงานของ คอป. กับ แนวทางอื่นๆ ที่อาจมีประสิทธิภาพมากกว่า
ลำดับที่          แนวทางปรองดองของคนในชาติ                                                     ค่าร้อยละ
1          ใช้แนวทางผลการศึกษาของ คอป.                                                         42.8
2          ใช้แนวทางอื่นๆ เช่น การแถลงข่าวกลุ่มแกนนำเจรจาช่วยแก้ปัญหาเดือดร้อนให้ประชาชน

หยุดกล่าวโทษกันไปมา หาจุดสนใจร่วมกันพัฒนาประเทศ มีข่าวพบปะกันให้บ่อยๆ ระหว่างบุคคลสำคัญ

เช่น นายกรัฐมนตรีนางสาวยิ่งลักษณ์ เข้าพบ พล.อ.เปรม และ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะประชุมหารือกัน

           นอกรอบกับนายกรัฐมนตรีนางสาวยิ่งลักษณ์  ชินวัตรเพื่อช่วยกันแก้ปัญหาสำคัญๆ ของประเทศ เป็นต้น          57.2
          รวมทั้งสิ้น                                                                           100.0

ตารางที่ 7 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างกลุ่มสนับสนุนคนเสื้อแดงและรัฐบาลยิ่งลักษณ์ที่ระบุ ความคิดเห็นต่อ นายกรัฐมนตรี นางสาวยิ่งลักษณ์  ชินวัตร “คืนความเป็นธรรม” ให้ผู้ที่เคยเป็นรัฐมนตรีในช่วงถูกยึดอำนาจ ปี2549 และเหตุวุ่นวายทางการเมือง
ลำดับที่          ความคิดเห็น           ค่าร้อยละ
1          ควรคืนความเป็นธรรม          92.6
2          ไม่ควร                      7.4
          รวมทั้งสิ้น                   100.0

ตารางที่ 8 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างกลุ่มสนับสนุนคนเสื้อแดงและรัฐบาลยิ่งลักษณ์ที่ระบุ บุคคลที่เหมาะสมในตำแหน่งรัฐมนตรี ถ้ามีการปรับคณะรัฐมนตรีขึ้นมา
ลำดับที่          รายชื่อบุคคล ตำแหน่ง และเหตุผล ในมุมมองของกลุ่มคนเสื้อแดงและผู้สนับสนุนรัฐบาลยิ่งลักษณ์               ค่าร้อยละ
1          พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ ดามาพงศ์ ควรได้เป็น รองนายกรัฐมนตรี แก้ปัญหายาเสพติด

เหตุผลเพราะมีผลงานชัดเจน มีอุดมการณ์ มีความรู้ความสามารถ กล้าหาญเด็ดเดี่ยว

           ไม่พิธีรีตอง เรียบง่าย มือสะอาด เป็นที่รักใคร่นับถือของผู้ใต้บังคับบัญชา ไม่มีประวัติเสื่อมเสียใดๆ เป็นต้น            83.6
2          นางเยาวภา  วงศ์สวัสดิ์ ควรได้ตำแหน่งรัฐมนตรีที่สำคัญของรัฐบาล เพราะเป็นบุคคลสำคัญของพรรค
           แต่เคยเจ็บปวดจากความวุ่นวายทางการเมืองในอดีต เป็นผู้ที่สมาชิกพรรคให้ความเคารพนับถือ เป็นต้น               72.9
3          นายจตุพร พรหมพันธุ์  ควรเป็น รมต.กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ หรือกระทรวงแรงงาน เป็นต้น

เพราะเป็นผู้ที่ต่อสู้เข้าใจความเดือดร้อนของประชาชนได้ดี เคยเป็นแกนนำพาประชาชนออกมาต่อสู้ความไม่ถูกต้องได้

ควรให้อยู่ในกระทรวงที่ออกนโยบายสาธารณะช่วยเหลือเยียวยาความเดือดร้อนของประชาชนได้อย่างแท้จริง เป็นต้น 69.4

4          คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ควรเป็น รมต.คมนาคม เพราะ มีความรู้ความสามารถ กล้าคิดกล้าตัดสินใจ

ควรดูแลกระทรวงสำคัญ มีผลงาน สามารถทำงานใหญ่รองรับโครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูง

           และโครงการขนาดใหญ่อื่นๆ ได้ เป็นต้น                                                            61.7
5          นายจาตุรนต์  ฉายแสง ควรเป็น รมต. ศึกษาธิการ เพราะ มีความเข้าใจและผลงานด้านการศึกษาเป็นอย่างดี

เข้ากับข้าราชการกระทรวงศึกษาธิการและฝ่ายการเมืองได้ดี มีวิสัยทัศน์กว้างไกล เข้าถึงปัญหาเด็ก

           และเยาวชนได้ดี เป็นต้น                                                                       60.5
6          นายภูมิธรรม   เวชยชัย ควรเป็น รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี หรือ มหาดไทย เพราะเป็นแกนนำสำคัญของพรรค

มีประสบการณ์ทำงานให้รัฐบาล พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ชินวัตร เป็นที่ไว้วางใจของสมาชิกพรรค และมีความจริงใจ เป็นต้น 58.4

7          นายพงศ์เทพ  เทพกาญจนา ควรเป็น รมต. ยุติธรรม เพราะเป็นอดีตผู้พิพากษา มีความรู้ความสามารถเรื่องกระบวนการ

ยุติธรรมเป็นอย่างดี มือสะอาด ไม่มีความน่าเคลือบแคลงสงสัยในสังคม น่าจะเข้ามาช่วยกอบกู้ภาพลักษณ์ของ

           กระทรวงยุติธรรมได้ดี และเป็นที่พึ่งของประชาชนได้เมื่อไม่ได้รับความเป็นธรรม เป็นต้น                         57.7
8          นายพงษ์ศักดิ์  รักตพงศ์ไพศาล ควรเป็น รมต.คมนาคม หรือกระทรวงด้านเศรษฐกิจ เพราะเป็นผู้มีความรู้ความสามารถ
           มีวิสัยทัศน์ รอบรู้ด้านการทำธุรกิจ การค้า การลงทุนขนาดใหญ่ของโครงการต่างๆ ของรัฐ เป็นต้น                  52.1

--เอแบคโพลล์--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ