เอแบคโพลล์: ศึกษาเปรียบเทียบระดับการต่อต้านรัฐบาลที่ทุจริตคอรัปชั่น ระหว่างประเทศไทย กับ ประเทศมาเลเซีย

ข่าวผลสำรวจ Wednesday October 10, 2012 10:55 —เอแบคโพลล์

สำนักวิจัยเอแบคโพลล์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เสนอผลวิจัยเชิงสำรวจ เรื่อง

ศึกษาเปรียบเทียบระดับการต่อต้านรัฐบาลที่ทุจริตคอรัปชั่นถึงแม้ตนเองได้ประโยชน์ด้วย ระหว่างประเทศไทย กับ ประเทศมาเลเซีย

และ โครงการสำรวจนำร่องการรับรู้ของประชาชนต่อปัญหาทุจริตคอรัปชั่น ในกลุ่มเจ้าหน้าที่รัฐใน 20 จังหวัดของประเทศ

ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยเอแบคโพลล์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เปิดเผยผลวิจัยเชิงสำรวจ เรื่อง ศึกษาเปรียบเทียบระดับการต่อต้านรัฐบาลที่ทุจริตคอรัปชั่นถึงแม้ตนเองจะได้ประโยชน์ด้วยระหว่างประเทศไทยกับประเทศมาเลเซีย ภายใต้ความร่วมมือกับมหาวิทยาลัย UCSI ประเทศมาเลเซีย ดำเนินการวิเคราะห์ข้อมูลระหว่างเดือนสิงหาคม—กันยายน 2555 จำนวนทั้งสิ้น 2,419 ตัวอย่าง และโครงการสำรวจนำร่องการรับรู้ของประชาชนต่อปัญหาทุจริตคอรัปชั่นในกลุ่มเจ้าหน้าที่รัฐใน 20 จังหวัดของประเทศ ได้แก่ กรุงเทพมหานคร นนทบุรีปทุมธานี สมุทรปราการ เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน สุโขทัย ตาก พิษณุโลก นครสวรรค์ สิงห์บุรี อยุธยา หนองคาย นครราชสีมา สุรินทร์ ระนอง พัทลุง สงขลา ภูเก็ต และนราธิวาส จำนวนทั้งสิ้น 3,125 ตัวอย่าง ดำเนินโครงการระหว่างวันที่ 19 กันยายน—9 ตุลาคม 2555 ที่ผ่านมา โดยใช้การเลือกตัวอย่างแบบแบ่งกลุ่มเชิงชั้นภูมิหลายชั้น และกำหนดลักษณะของตัวอย่างให้สอดคล้องกับประชากรเป้าหมายจากการทำสำมะโน ความคลาดเคลื่อนภาพรวมร้อยละ 7

ประเด็นที่น่าพิจารณาคือ ผลวิจัยที่ทำร่วมกันระหว่าง มหาวิทยาลัย UCSI มาเลเซีย กับ สำนักวิจัยเอแบคโพลล์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ พบว่า ประชาชนคนมาเลเซียส่วนใหญ่หรือร้อยละ 63.1 “ต่อต้าน” รัฐบาลทุจริตคอรัปชั่นถึงแม้ตนเองจะได้ผลประโยชน์ แต่ประชาชนคนไทยที่ถูกศึกษาส่วนใหญ่หรือร้อยละ 68.5 ยังเอนเอียง “ยอมรับ” รัฐบาลทุจริตคอรัปชั่น ถ้าตนเองได้รับผลประโยชน์ เมื่อสัมภาษณ์เจาะลึกกลุ่มที่ยอมรับรัฐบาลทุจริตคอรัปชั่นถ้าตนเองได้ประโยชน์ด้วยถึงสาเหตุของการยอมรับพบว่า กลัวอิทธิพล กลัวจะเดือดร้อน กลัวถูกข่มขู่คุกคาม คนที่ทุจริตคอรัปชั่นยังมีหน้ามีตาร่ำรวยได้ในสังคม ไม่มีหน่วยงานรัฐใดให้การคุ้มครองคนที่ออกมาเปิดโปงขบวนการทุจริตคอรัปชั่นอย่างจริงจังต่อเนื่อง และประสบการณ์ที่ผ่านมาทุกรัฐบาลก็มีการทุจริตคอรัปชั่นด้วยกันทั้งนั้น สำหรับข้อเสนอแนะทางออกที่ค้นพบคือ กว่าร้อยละ 90 เสนอให้ประหารชีวิตขบวนการทุจริตคอรัปชั่น และมีหน่วยงานรัฐคุ้มครองพยานภาคประชาชนที่ออกมาเปิดโปงขบวนการทุจริตคอรัปชั่นและให้รัฐบาลสนับสนุน “เจ้าหน้าที่รัฐ” ที่ออกมาเปิดโปงขบวนการทุจริตคอรัปชั่นทำงานต่อไม่ใช่โยกย้ายให้พ้นหน้าที่ไปเหมือนที่ผ่านมา เป็นต้น

นอกจากนี้ ประชาชนคนไทยส่วนใหญ่หรือร้อยละ 78.0 ระบุไม่มีโอกาสเลยที่จะเข้าไปตรวจสอบงบประมาณพัฒนาจังหวัดที่ตนเองพักอาศัยอยู่ เช่น งบภัยพิบัติ สร้างถนน สะพาน อาคาร และการก่อสร้างต่างๆ

ที่น่าพิจารณาคือ ผลสำรวจพบว่า เมื่อทำการศึกษานำร่องเป็นรายจังหวัดพบว่า ทุกจังหวัดสอบตกทั้งหมด เพราะเมื่อถามประชาชนถึงการมีโอกาสเข้าไปตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณพัฒนาจังหวัดที่ตนเองพักอาศัยอยู่หรือไม่ พบว่า ทุกจังหวัดถูกประชาชนระบุว่าเป็นจังหวัดที่ไม่เปิดโอกาสให้ประชาชนเข้าไปตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณพัฒนาจังหวัดเลย โดยผลสำรวจพบ 10 อันดับแรกของจังหวัดที่ประชาชนระบุไม่มีโอกาสเข้าไปตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณมากที่สุดอันดับที่หนึ่งได้แก่ จังหวัดสงขลา คือร้อยละ 86.5 อันดับที่สองได้แก่ นราธิวาส ร้อยละ 85.6 อันดับที่สามได้แก่ เชียงใหม่ ร้อยละ 84.3 อันดับที่สี่ได้แก่ สุรินทร์ ร้อยละ 82.2 อันดับที่ห้า ได้แก่ พัทลุง ร้อยละ 81.2 อันดับที่หกได้แก่ กรุงเทพมหานคร ร้อยละ 80.9 อันดับที่เจ็ดได้แก่ หนองคาย ร้อยละ 80.4 อันดับที่แปดได้แก่ อยุธยา ร้อยละ 79.3 อันดับที่เก้าได้แก่ นครสวรรค์ ร้อยละ 77.8 และอันดับที่สิบได้แก่ นนทบุรี ร้อยละ 76.4 ตามลำดับ และอันดับรองๆ ลงไปได้แก่ แม่ฮ่องสอน สมุทรปราการ พิษณุโลก นครราชสีมา สิงห์บุรี ภูเก็ต ปทุมธานี ตาก สุโขทัย และระนอง อย่างไรก็ตามจังหวัดในอันดับสุดท้ายก็ยังมีประชาชนส่วนใหญ่หรือร้อยละ 56.5 ที่ระบุไม่มีโอกาสตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณพัฒนาจังหวัดของตนเองเลย

ที่น่าเป็นห่วงคือ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 78.4 ระบุชุมชนที่ตนเองพักอาศัยอยู่มีปัญหาทุจริตคอรัปชั่นในกลุ่มเจ้าหน้าที่รัฐ และผลสำรวจพบ 10 อันดับแรกของจังหวัดที่ประชาชนระบุชุมชนที่ตนเองพักอาศัยมีปัญหาทุจริตคอรัปชั่นในกลุ่มเจ้าหน้าที่รัฐ อันดับแรกได้แก่ นครสวรรค์ ร้อยละ 89.4 อันดับสองได้แก่ ระนอง ร้อยละ 88.2 อันดับสามได้แก่ สงขลา ร้อยละ 88.0 อันดับสี่ได้แก่ สุรินทร์ ร้อยละ 86.7 อันดับห้าได้แก่ ภูเก็ต ร้อยละ 85.6 อันดับหกได้แก่ กรุงเทพมหานคร ร้อยละ 84.1 อันดับเจ็ดได้แก่ พิษณุโลก ร้อยละ 83.0 อันดับแปด ได้แก่ ตาก ร้อยละ 82.3 อันดับเก้า ได้แก่ นครราชสีมา ร้อยละ 80.8 และอันดับที่สิบ ได้แก่ อยุธยา ร้อยละ 79.2 ตามลำดับ และอันดับรองๆ ลงไปได้แก่ นราธิวาส ร้อยละ 77.1 นนทบุรี ร้อยละ 77.0 หนองคาย ร้อยละ 76.4 ปทุมธานี ร้อยละ 74.8 เชียงใหม่ ร้อยละ 72.5 สิงห์บุรี ร้อยละ 71.4 แม่ฮ่องสอน ร้อยละ 71.2 สุโขทัย ร้อยละ 70.6 สมุทรปราการ ร้อยละ 69.3 และพัทลุง ร้อยละ 64.3 ตามลำดับ

ผอ.เอแบคโพลล์ กล่าวว่า ยังมีความเป็นไปได้ที่จะแก้ปัญหาทุจริตคอรัปชั่นให้ลดลงในสังคมไทย ถ้าทุกคนยอมเสียสละและตระหนักว่าถึงเวลาแล้วที่ต้องเร่งปฏิรูปสังคมไทยอย่างแรงในการแก้ปัญหาทุจริตคอรัปชั่น ถ้าหากปล่อยไว้หรือแก้ปัญหากันเหมือนอย่างที่ผ่านมาในอดีต สังคมไทยอาจจะประสบความยากลำบากสุดจะเยียวยารักษาได้ เพราะผลวิจัยที่ผ่านมาชี้ให้เห็นชัดว่าคนไทยส่วนใหญ่เอนเอียงที่จะยอมรับรัฐบาลทุจริตคอรัปชั่นสูงเมื่อเจอเพียงถ้อยคำในแบบสอบถามว่า “จะได้ผลประโยชน์” จากรัฐบาลที่คอรัปชั่น หากพิจารณาในความเป็นจริงจะพบว่า เวลารัฐบาลหรือเจ้าหน้าที่รัฐและกลุ่มนายทุนจะร่วมกันทุจริตคอรัปชั่น พวกเขาไม่ได้มีเพียงแค่คำพูดอย่างเดียวแต่มีทั้ง “เงิน ตำแหน่ง อำนาจ” มาหยิบยื่นให้พร้อมกับข่มขู่คุกคามให้เดือดร้อนอีกหากไม่ร่วมมือ แล้วจะมีคนไทยสักกี่คนที่จะต่อต้านขบวนการทุจริตคอรัปชั่นเหล่านั้น ยิ่งไปกว่านั้น ยังไม่มีหน่วยงานรัฐหน่วยใดที่จะเป็นเสาหลักสำคัญแท้จริงในการปกป้องคุ้มครอง “คนดี” ที่ออกมาต่อต้านอย่างจริงจังต่อเนื่อง ต้องไม่ปล่อยให้พวกเขาดูแลตัวเองตามยถากรรม

จึงเสนอให้รัฐบาลชุดปัจจุบันภายใต้การนำของ นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เจ้าหน้าที่ในหน่วยงานรัฐและภาคประชาชนที่เข้มแข็งกล้าออกมาปฏิรูปสังคมไทยเชิงบูรณาการอย่าเป็นรูปธรรมมากกว่าการออกมาเพียงรณรงค์หน้าสื่อมวลชนอย่างเดียว เพื่อทำให้สังคมไทยปรับเปลี่ยนทิศทางสามารถก้าวไปข้างหน้าได้อย่างสง่างามดังต่อไปนี้

ประการแรก ติดประกาศให้สาธารณชนรับทราบถึงการใช้จ่ายงบประมาณที่มาจากภาษีอากรของประชาชนทั้งรัฐบาลส่วนกลางและองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นในลักษณะที่ให้สื่อมวลชนและประชาชนทั่วไปร่วมกันตรวจสอบแกะรอยในรายละเอียดว่าเม็ดเงินของพวกเขาได้ลงไปถึงมือประชาชนและการพัฒนาด้านต่างๆ อย่างทั่วถึงตามนโยบายรัฐบาลหรือไม่จะส่งผลพลอยได้ต่อรัฐบาลทุกระดับในเรื่องประสิทธิภาพ (Effectiveness) ประสิทธิผล (Efficiency) และการจัดวางคณะบุคคลรับผิดชอบภารกิจต่างๆ ได้ดี (Accountability) เพราะเจ้าหน้าที่ของรัฐบาลทุกระดับจะต้องทำงานให้ได้ตามทุกเม็ดเงินที่ประกาศให้สาธารณชนได้รับทราบไปอย่างกว้างขวาง

ประการที่สอง นำคุณธรรม จริยธรรมทางการเมืองการปกครองขึ้นมาเป็นวาระสำคัญของชาติโดยผู้นำทางสังคมทั้งในส่วนขององค์กรและการรวมตัวของภาคประชาชนที่เข้มแข็งออกมารณรงค์ให้ประชาชนมีพลังต่อต้านรัฐบาลที่ทุจริตคอรัปชั่น และร้องขอให้บรรดานักการเมืองและเจ้าหน้าที่รัฐคนอื่นๆ ได้สำนึกรับผิดแม้แต่เพียง “คำพูด” ก็ควรรับผิดชอบด้วยการลาออกจากตำแหน่ง เพื่อเป็นแบบอย่างที่ดีต่อเด็กและเยาวชนและสังคมที่ดีงามทั้งในปัจจุบันและอนาคต ดังนั้น ผู้ใหญ่ที่มีสิทธิอำนาจระดับสูงของหน่วยงานรัฐต้องออกมาใช้กระบวนการทางกฎหมายและจริยธรรมดำเนินการให้สาธารณชนเห็นเป็นตัวอย่าง

ประการที่สาม เสนอให้มียุทธศาสตร์ 3 โครงการหลัก ได้แก่ โครงการ “ทำดีให้เด็กดู” โครงการ “คุ้มครองคนดี” และโครงการ “คนดีมีที่ยืนอย่างสง่างาม” ให้กระจายไปทั่วทุกพื้นที่ของสังคมไทยทั้งในระดับชุมชนและภูมิภาค โดยเริ่มจากเร่งผลิตเจ้าหน้าที่รัฐที่มีจิตสำนึกทำดีให้เด็กดูโดยรู้จักยับยั้งชั่งใจเมื่อเห็นเด็กก็ต้องใส่ใจต่อความรู้สึกของเด็กๆ ไม่ทำผิดให้เด็กเห็น ไม่รุนแรงทั้งคำพูดและพฤติกรรมต่อพวกเขา ต่อมาคือ มอบหมายหน้าที่ความรับผิดชอบคืนให้เจ้าหน้าที่รัฐที่กำลังเปิดโปรงขบวนการทุจริตคอรัปชั่นอยู่สามารถเดินหน้าเปิดโปรงต่อไปได้ และปกป้องคุ้มครองทั้งเจ้าหน้าที่รัฐและประชาชนทั่วไปที่ออกมาต่อต้านขบวนการทุจริตคอรัปชั่นให้ปลอดภัยและมีความอบอุ่นใจในการทำความดีให้มีความมั่นคงก้าวหน้า และมีความสุขอย่างแท้จริงและยั่งยืน

ประการสุดท้าย รณรงค์ปลูกจิตสำนึกให้เกิดขึ้นในหมู่ประชาชนคนไทยว่า ครอบครัวเป็นหน่วยสำคัญของสังคมไทย และกระตุ้นให้คนไทยทั้งประเทศตระหนักว่าความดีส่วนรวมของ “ประเทศชาติ” ต้องมาก่อน “ชุมชน” ทั้งในรูปของหมู่บ้านตำบลและในส่วนขององค์กรหรือพรรคการเมือง และชุมชนก็ต้องมาก่อนผลประโยชน์ส่วนตัวและพวกพ้อง

จากการพิจารณาลักษณะทั่วไปของตัวอย่าง พบว่า ตัวอย่างร้อยละ 51.4 เป็นเพศหญิง ร้อยละ 48.6 เป็นเพศชาย ร้อยละ 3.6 ระบุอายุต่ำกว่า 20 ปี ร้อยละ 20.5 อายุระหว่าง 20 — 29 ปี ร้อยละ 19.8 อายุระหว่าง 30 — 39 ปี ร้อยละ 21.2 อายุระหว่าง 40 — 49 ปี และร้อยละ 34.9 อายุ 50 ปีขึ้นไป ตัวอย่างร้อยละ 73.7 สำเร็จการศึกษาต่ำกว่าปริญญาตรี ร้อยละ 22.9 สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี และร้อยละ 3.4 สำเร็จการศึกษาสูงกว่าปริญญาตรี ตัวอย่างร้อยละ 34.1 ระบุอาชีพเกษตรกร/รับจ้างทั่วไป ร้อยละ 30.4 ระบุอาชีพค้าขาย/ธุรกิจส่วนตัว ร้อยละ 8.4 ระบุเป็นพนักงานเอกชน ร้อยละ 9.2 ระบุอาชีพข้าราชการ/พนักงานรัฐวิสาหกิจ ร้อยละ 6.7 ระบุเป็นนักเรียน/นักศึกษา ร้อยละ 7.8 ระบุเป็นแม่บ้าน/พ่อบ้าน/เกษียณอายุ ร้อยละ 3.4 ระบุว่างงาน/ไม่ได้ประกอบอาชีพ

ตารางที่ 1 แสดงค่าร้อยละที่ระบุ การต่อต้านรัฐบาลที่ทุจริตคอรัปชั่นถึงแม้ตนเองจะได้ประโยชน์
ลำดับที่      การต่อต้าน                                             คนไทย        คนมาเลเซีย
1          ต่อต้านรัฐบาลทุจริตคอรัปชั่นแม้ตนเองจะได้ผลประโยชน์              31.5             63.1
2          ยอมรับรัฐบาลทุจริตคอรัปชั่น ถ้าตนเองได้ผลประโยชน์               68.5             36.9
           รวมทั้งสิ้น                                              100.0            100.0

ตารางที่ 2 แสดงค่าร้อยละที่ระบุ การมีโอกาสเข้าไปตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณพัฒนา “จังหวัด” ที่ตนเองพักอาศัย
ลำดับที่      ความคิดเห็น                                                             ร้อยละ
1          มีโอกาส                                                                 22.0
2          ไม่มีโอกาสเลย                                                            78.0
           รวมทั้งสิ้น                                                               100.0

ตารางที่ 3 แสดง 20 อันดับจังหวัดที่ประชาชนระบุไม่มีโอกาสเข้าไปตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณพัฒนาจังหวัดที่ตนเองพักอาศัย
ลำดับที่      จังหวัด                                                                 ร้อยละ
1          สงขลา                                                                  86.5
2          นราธิวาส                                                                85.6
3          เชียงใหม่                                                                84.3
4          สุรินทร์                                                                  82.2
5          พัทลุง                                                                   81.2
6          กรุงเทพมหานคร                                                           80.9
7          หนองคาย                                                                80.4
8          อยุธยา                                                                  79.3
9          นครสวรรค์                                                               77.8
10         นนทบุรี                                                                  76.4
11         แม่ฮ่องสอน                                                               75.7
12         สมุทรปราการ                                                             74.0
13         พิษณุโลก                                                                 73.5
14         นครราชสีมา                                                              73.1
15         สิงห์บุรี                                                                  71.4
16         ภูเก็ต                                                                   71.1
17         ปทุมธานี                                                                 68.1
18         ตาก                                                                    66.7
19         สุโขทัย                                                                  60.8
20         ระนอง                                                                  56.5

ตารางที่ 4 แสดงค่าร้อยละตัวอย่างที่ระบุ ชุมชนที่ตนเองพักอาศัยอยู่มีปัญหาทุจริตคอรัปชั่นในกลุ่มเจ้าหน้าที่รัฐ
ลำดับที่      ความคิดเห็น                                                           ค่าร้อยละ
1          คิดว่ามีการทุจริตคอรัปชั่น                                                     78.4
2          ไม่คิดว่ามีการทุจริตคอรัปชั่น                                                   21.6
           รวมทั้งสิ้น                                                               100.0

ตารางที่ 5 แสดง 20 อันดับจังหวัด ที่ประชาชนระบุ ชุมชนที่ตนเองพักอาศัยอยู่มีปัญหาทุจริตคอรัปชั่นในกลุ่มเจ้าหน้าที่รัฐ
ลำดับที่      ความคิดเห็น                                                        คิดว่ามีร้อยละ
1          นครสวรรค์                                                               89.4
2          ระนอง                                                                  88.2
3          สงขลา                                                                  88.0
4          สุรินทร์                                                                  86.7
5          ภูเก็ต                                                                   85.6
6          กรุงเทพมหานคร                                                           84.1
7          พิษณุโลก                                                                 83.0
8          ตาก                                                                    82.3
9          นครราชสีมา                                                              80.8
10         อยุธยา                                                                  79.2
11         นราธิวาส                                                                77.1
12         นนทบุรี                                                                  77.0
13         หนองคาย                                                                76.4
14         ปทุมธานี                                                                 74.8
15         เชียงใหม่                                                                72.5
16         สิงห์บุรี                                                                  71.4
17         แม่ฮ่องสอน                                                               71.2
18         สุโขทัย                                                                  70.6
19         สมุทรปราการ                                                             69.3
20         พัทลุง                                                                   64.3

--เอแบคโพลล์--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ