ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยนโยบายสาธารณะ สำนักวิจัยเอแบคโพลล์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เปิดเผยผลวิจัยเชิงสำรวจเรื่อง จากผลสำรวจภาพลักษณ์ความเป็นผู้นำของ นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ในฐานะผู้นำประเทศ และก้าวต่อไปของประเทศไทยในสายตาประชาชน กรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนอายุ 18 ปีขึ้นไปใน 17 จังหวัดของประเทศ ได้แก่ กรุงเทพมหานคร ชัยนาท สระบุรี พระนครศรีอยุธยา นครปฐม สมุทรปราการ พะเยา พิษณุโลก เชียงใหม่ อำนาจเจริญ มหาสารคาม สกลนคร นครราชสีมา อุดรธานี ขอนแก่น ชุมพร และสงขลา จำนวนทั้งสิ้น 2,184 ตัวอย่าง ดำเนินโครงการระหว่าง วันที่ 1 — 13 ตุลาคม 2555 ที่ผ่านมา โดยการสุ่มตัวอย่างแบบแบ่งกลุ่มเชิงชั้นภูมิหลายชั้น สุ่มเลือกจังหวัด อำเภอ ตำบล หมู่บ้าน ครัวเรือนและผู้ตอบแบบสอบถามในครัวเรือน ค่าความคลาดเคลื่อนบวกลบร้อยละ 7 พบว่า
ภาพลักษณ์ความเป็นผู้นำของนายกรัฐมนตรี นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เพิ่มสูงขึ้นในทุกตัวชี้วัด โดยดัชนีความเป็นผู้นำของนายกรัฐมนตรีที่เพิ่มขึ้นสูงที่สุดคือ ร้อยละ 63.7 ระบุความเป็นตัวของตัวเอง รองลงมาคือ ร้อยละ 60.9 ระบุเป็นคนรุ่นใหม่ ร้อยละ 58.9 ระบุได้รับการยอมรับภายในประเทศและต่างประเทศ ร้อยละ 57.1 ระบุมีความคิดสร้างสรรค์ ร้อยละ 55.1 ระบุมีความเสียสละ ร้อยละ 54.0 ระบุมีความโอบอ้อมอารี ร้อยละ 53.7 ระบุมีวิสัยทัศน์ ร้อยละ 53.5 ระบุประพฤติตนเป็นแบบอย่างที่ดี ร้อยละ 52.5 ระบุกล้าคิดกล้าตัดสินใจ ร้อยละ 51.9 ระบุมีความสุภาพอ่อนโยน ร้อยละ 51.3 ระบุมีความซื่อสัตย์สุจริต ร้อยละ 50.8 ระบุมีจริยธรรมทางการเมือง ร้อยละ 49.8 ระบุรวดเร็วฉับไวในการแก้ไขปัญหา ร้อยละ 49.6 ระบุมีความยุติธรรม ร้อยละ 49.2 ระบุแก้ปัญหา(บริหาร)ความขัดแย้งได้ดี ร้อยละ 47.8 มีความอดทนอดกลั้น รู้จักควบคุมอารมณ์ และร้อยละ 44.6 มีความรู้ความสามารถเพิ่มสูงขึ้น ตามลำดับ
และเมื่อสอบถามถึง ก้าวต่อไปของประเทศไทยที่อยากเห็น อยากได้ พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 82.8 ระบุทำให้คนไทยรากหญ้ามีรายได้เพิ่มขึ้น คนรวยใส่ใจคนจนให้มากขึ้น รองลงมาคือ ร้อยละ 80.3 ระบุกระจายทรัพยากรให้โอกาสประชาชนทั่วไปได้ครอบครองเป็นเจ้าของมากขึ้น ร้อยละ 79.9 ระบุหยุดสร้างเงื่อนไขขัดแย้งรุนแรงของคนในชาติ อยากเห็นนักการเมืองปรองดองกันให้ชาวบ้านเห็น ร้อยละ 75.4 ระบุยึดกระบวนการยุติธรรมในการคลี่คลายปัญหาบ้านเมือง และร้อยละ 73.3 ระบุเพิ่มความพร้อมให้คนไทยและเจ้าหน้าที่รัฐเข้าสู่การเป็นประชาคมอาเซียนเต็มรูปแบบ ตามลำดับ
ที่น่าสนใจคือ เมื่อสอบถามถึงกระทรวงที่อยากเห็นอยากให้เกิดขึ้นในอนาคต พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 91.4 อยากเห็นประเทศไทยมีกระทรวงกีฬา เพราะช่วยจัดสรรงบประมาณที่เพียงพอในการพัฒนานักกีฬาไทยสู่กีฬาระดับโลก มีทรัพยากรที่เพียบพร้อมในการฝึกเด็กและเยาวชนไทย สร้างโอกาสและความเป็นธรรมกับกลุ่มประชาชนที่มีความสามารถด้านกีฬาทุกหมู่เหล่ามากขึ้น มีเทคโนโลยีด้านวิทยาศาสตร์การกีฬาที่ครบถ้วนสมบูรณ์ให้นักกีฬาได้มากยิ่งขึ้น เป็นต้น
นอกจากนี้ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 90.5 อยากเห็นประเทศไทยมีกระทรวงอาหาร เพราะจะมีหน่วยงานรัฐโดยตรงที่ช่วยทำให้ประเทศไทยเป็นแหล่งอาหารที่สำคัญของโลก ประเทศไทยเหมาะที่จะเป็นคลังอาหาร วัตถุดิบอุดมสมบูรณ์ มีการจัดสรรทรัพยากร ช่วยควบคุมลดความเสี่ยงในความปลอดภัยด้านอาหารให้กับประชาชนอย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ช่วยทำให้ประเทศไทยก้าวสู่ความเป็นเลิศด้านอาหารและทำให้เกิดความเจริญเติบโตด้านเศรษฐกิจของประเทศและประชาชนอย่างยั่งยืน เป็นต้น
ที่น่าพิจารณาคือ เมื่อถามถึงนักการเมืองที่ช่วยเหลือคนยากจนให้มีชีวิตที่ดีขึ้นมากที่สุด พบว่า อันดับแรกหรือ ร้อยละ 22.4 ระบุ พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ชินวัตร รองลงมาคือ ร้อยละ 21.2 ระบุ นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ร้อยละ 14.3 ระบุ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ร้อยละ 7.8 ระบุ ร.ต.อ.ดร.เฉลิม อยู่บำรุง ร้อยละ 6.5 ระบุ นายชวน หลีกภัย ร้อยละ 3.8 ระบุ นายบรรหาร ศิลปอาชา และร้อยละ 5.1 ระบุอื่นๆ ได้แก่ นายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ ม.ร.ว.สุขุมพันธ์ บริพัตร นางเยาวภา วงศ์สวัสดิ์ เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ร้อยละ 18.9 ระบุไม่มีนักการเมืองคนใดเลย
ที่น่าสนใจคือ เมื่อถามว่า ถ้าวันนี้เป็นวันเลือกตั้งทั่วประเทศ พรรคการเมืองใดที่ตั้งใจจะเลือก ผลสำรวจพบว่า ร้อยละ 52.7 จะเลือกพรรคเพื่อไทย รองลงมาคือ ร้อยละ 35.9 จะเลือกพรรคประชาธิปัตย์ และร้อยละ 11.4 จะเลือกพรรคอื่นๆ เช่น พรรคชาติไทย พรรคชาติไทยพัฒนา พรรคพลังชล และพรรคมาตุภูมิ เป็นต้น
ผอ.เอแบคโพลล์ กล่าวว่า มีความเป็นไปได้ที่ประเทศไทยภายใต้การนำของรัฐบาล นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จะมีสิ่งใหม่ที่ช่วยเหลือพี่น้องประชาชนเกิดขึ้นได้อีกมาก ถ้า “หน้าต่างนโยบาย หรือ Policy Window” เปิดรับกระแสผลวิจัยครั้งนี้ เพราะดัชนีความเป็นผู้นำของนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ในฐานะผู้นำประเทศเพิ่มสูงขึ้นในทุกตัวชี้วัด และที่สูงที่สุดคือ ความเป็นตัวของตัวเองของนายกรัฐมนตรี ซึ่งจะนำไปสู่การตัดสินใจที่ไม่ตกอยู่ภายใต้ “อคติแห่งนครา” ได้คือปราศจากอิทธิพลของกลุ่มผลประโยชน์ต่างๆ ในกรุงเทพมหานครและหัวเมืองใหญ่ของประเทศที่มักจะครอบงำการตัดสินใจของนายกรัฐมนตรีเพื่อตำแหน่ง อำนาจ และผลประโยชน์ของพวกพ้อง ดังนั้น ถ้านายกรัฐมนตรีสามารถเป็นตัวของตัวเองได้อย่างแท้จริงโดยมุ่งมั่นทำงานหนักอย่างต่อเนื่อง ความสงบสุขและความปรองดองของคนในชาติน่าจะเกิดขึ้นโดยพลังขับเคลื่อนของนายกรัฐมนตรีเป็นกำลังสำคัญได้ จึงเสนอให้รัฐบาลและกลไกของรัฐพิจารณาข้อแนะนำในด้านความเป็นผู้นำและก้าวต่อไปของประเทศไทย ดังนี้
ประการแรก เป็นหลักที่ยั่งยืนทำให้สาธารณชน “วางใจ” ได้ต่อการบริหารจัดการประเทศโดยรัฐบาลเพื่อ “ลด” อิทธิพลของกลุ่มล็อบบี้วิ่งเต้นเพื่อ ตำแหน่ง อำนาจและผลประโยชน์ทางธุรกิจของพวกพ้องมากกว่าสาธารณชน แต่ในทางตรงกันข้าม รัฐบาลน่าจะเปิดโอกาสให้มีการ “ล็อบบี้ความดีส่วนรวม” ให้เกิดขึ้นเป็นแก่นแท้แห่งยุทธศาสตร์ในนโยบายสาธารณะของรัฐบาล ทำให้สาธารณชนตระหนักว่า เรื่องของผลประโยชน์ส่วนตัวก็สำคัญและสถาบันครอบครัวเป็นหน่วยสำคัญของสังคม แต่ประเทศชาติต้องมาก่อนชุมชนและองค์กร บริษัทห้างร้าน รวมถึงพรรคการเมือง และชุมชนต้องมาก่อนผลประโยชน์ส่วนตัว
ประการที่สอง ก้าวต่อไปของประเทศไทยน่าจะทำให้สาธารณชนเล็งเห็นไปยังวิสัยทัศน์ของรัฐบาลที่จะทำให้ประเทศชาติไปรอดและเป็นที่ยอมรับในความเป็นผู้นำที่รัฐบาลสามารถสร้างผู้นำให้เกิดขึ้นในสังคมไทย รัฐบาลโดยเฉพาะ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี ต้องเป็น “ผู้นำที่สร้างผู้นำ” ไม่ใช่สร้างผู้ตามและต่อไปประเทศไทยก็จะแข็งแกร่งอยู่ได้ในทุกสถานการณ์
ประการที่สาม ก้าวต่อไปในส่วนของหน่วยงานรัฐใหม่ๆ ที่น่าจะเกิดขึ้นในอนาคตมากที่สุดคือ กระทรวงกีฬา และกระทรวงอาหาร เนื่องจาก ประชาชนคนไทยมักจะมีความสุขกับการเล่นและการดูกีฬา และปัจจุบันมีกลุ่มเด็กเยาวชนจำนวนมากที่มีพรสวรรค์ มีทักษะและมีร่างกายที่ใหญ่โต จึงน่าจะมีหน่วยงานรัฐระดับกระทรวงขึ้นมาเพื่อผลิตนักกีฬาประเภทต่างๆ ของไทยและเปิดโอกาสให้มีนักกีฬาที่มีความสามารถสูงได้เข้าสู่การแข่งขันระดับโลกมากยิ่งขึ้น ดังนั้นน่าจะมีสถาบันกีฬาชั้นนำระดับจังหวัดของประเทศ ทำให้เกิดความคล่องตัวในการบริหารจัดการสนามกีฬาประจำอำเภอ ตำบล หมู่บ้าน และวิทยาศาสตร์การกีฬาให้กับเด็กและเยาวชนที่จะกลายเป็นนักกีฬาระดับโลกในอนาคตได้อีกด้วย
“ในขณะเดียวกัน ประเทศไทยควรจะมีกระทรวงอาหารขึ้นเป็นหน่วยงานหลักเพื่อบูรณาการหน่วยงานรัฐและหนุนเสริมความสัมพันธ์กับภาคเอกชนทำให้ประเทศไทยเป็นคลังอาหารที่สำคัญของโลกได้อย่างแท้จริงเพราะการจะทำให้นโยบาย “ครัวไทยสู่ครัวโลก” และนโยบายอื่นๆ ที่จะทำให้ “อาหารไทยปลอดภัยขายได้” อย่างยั่งยืนจำเป็นต้องผ่านการพิสูจน์ด้วยมาตรฐานสากลจำนวนมาก อย่างไรก็ตาม ชาวต่างชาติทั่วโลกชอบทั้งความหลากหลายและรสชาดของอาหารไทย ดังนั้น เมื่อประเทศไทยมีโอกาสและมีทรัพยากรมนุษย์ที่มีศักยภาพสูงและวัตถุดิบต่างๆ อย่างอุดมสมบูรณ์ รัฐบาลจึงน่าจะพิจารณายกระดับเพิ่มความเด่นความเชี่ยวชาญของประเทศไทยด้านอาหารขึ้นสู่หน่วยงานรัฐระดับกระทรวงเป็น “กระทรวงอาหาร” บริหารจัดการด้านอาหารให้กับผู้บริโภคทั้งคนไทยและชาวต่างชาติทั่วโลก” ดร.นพดล กล่าว
จากการพิจารณาลักษณะทั่วไปของตัวอย่าง พบว่าตัวอย่างร้อยละ 51.2 เป็นหญิง ร้อยละ 48.8 เป็นชาย ตัวอย่างร้อยละ 3.8 อายุต่ำกว่า 20 ปี ร้อยละ 23.7 อายุระหว่าง 20 — 29 ปี ร้อยละ 20.5 อายุระหว่าง 30 — 39 ปี ร้อยละ 24.8 อายุระหว่าง 40 — 49 ปี และร้อยละ 27.2 อายุ 50 ปีขึ้นไป โดย ร้อยละ 68.8 มีการศึกษาต่ำกว่าปริญญาตรี ร้อยละ 31.2 มีการศึกษาระดับปริญญาตรีขึ้นไป นอกจากนี้ ตัวอย่างร้อยละ 32.2 ระบุอาชีพเกษตรกร/รับจ้างทั่วไป ร้อยละ 26.7 ระบุอาชีพค้าขาย/ธุรกิจส่วนตัว ร้อยละ 12.6 ระบุอาชีพพนักงานบริษัทเอกชน ร้อยละ 11.3 ระบุอาชีพข้าราชการ/พนักงานรัฐวิสาหกิจ ร้อยละ 7.3 เป็นแม่บ้าน/พ่อบ้าน/เกษียณอายุ ร้อยละ 6.8 เป็นนักเรียน/นักศึกษา ในขณะที่ร้อยละ 3.1 ระบุว่างงาน/ไม่ประกอบอาชีพ
ลำดับที่ ภาพลักษณ์ความเป็นผู้นำด้านต่างๆ เพิ่มขึ้น เหมือนเดิม ลดลง รวมทั้งสิ้น 1 มีความเป็นตัวของตัวเอง 63.7 24.1 12.2 100 2 เป็นคนรุ่นใหม่ 60.9 27.4 11.7 100 3 ได้รับการยอมรับภายในประเทศ และต่างประเทศ 58.9 22.2 18.9 100 4 มีความคิดสร้างสรรค์ 57.1 30.1 12.8 100 5 เสียสละ 55.1 24.4 20.5 100 6 มีความโอบอ้อมอารี 54 25.2 20.8 100 7 มีวิสัยทัศน์ 53.7 28.1 18.2 100 8 ประพฤติตนเป็นแบบอย่างที่ดี 53.5 24.6 21.9 100 9 กล้าคิด กล้าตัดสินใจ 52.5 33.8 13.7 100 10 มีความสุภาพอ่อนโยน 51.9 33.7 14.4 100 11 มีความซื่อสัตย์สุจริต 51.3 32.5 16.2 100 12 มีจริยธรรมทางการเมือง 50.8 33.9 15.3 100 13 รวดเร็วฉับไวในการแก้ไขปัญหา 49.8 31.9 18.3 100 14 มีความยุติธรรม 49.6 40.6 9.8 100 15 แก้ปัญหา (บริหาร) ความขัดแย้งได้ดี 49.2 35.1 15.7 100 16 มีความอดทนอดกลั้น รู้จักควบคุมอารมณ์ 47.8 39.9 12.3 100 17 มีความรู้ความสามารถ 44.6 40.3 15.1 100 ตารางที่ 2 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุ ก้าวต่อไปของประเทศไทยที่อยากเห็น อยากได้ (ตอบได้มากกว่า 1 ข้อ) ลำดับที่ ก้าวต่อไปของประเทศไทย ที่อยากเห็น อยากได้ ค่าร้อยละ 1 ทำให้คนไทยรากหญ้ามีรายได้เพิ่มขึ้น คนรวยใส่ใจคนจนให้มากขึ้น 82.8 2 กระจายทรัพยากรให้โอกาสประชาชนทั่วไปได้ครอบครองเป็นเจ้าของมากขึ้น 80.3 3 หยุดสร้างเงื่อนไขขัดแย้งรุนแรงของคนในชาติ อยากเห็นนักการเมืองปรองดองกันให้ชาวบ้านเห็น 79.9 4 ยึดกระบวนการยุติธรรมในการคลี่คลายปัญหาบ้านเมือง 75.4 5 เพิ่มความพร้อมให้คนไทยและเจ้าหน้าที่รัฐเข้าสู่การเป็นประชาคมอาเซียนเต็มรูปแบบ 73.3 ตารางที่ 3 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุ กระทรวงที่อยากเห็นอยากให้เกิดขึ้นในอนาคต ลำดับที่ กระทรวงที่อยากเห็นอยากให้เกิดขึ้นในอนาคต ค่าร้อยละ 1 กระทรวงกีฬา เพราะช่วยจัดสรรงบประมาณที่เพียงพอในการพัฒนานักกีฬาไทยสู่กีฬาระดับโลก
มีทรัพยากรที่เพียบพร้อมในการฝึกเด็กและเยาวชนไทย สร้างโอกาสและความเป็นธรรมกับกลุ่มประชาชน
ที่มีความสามารถด้านกีฬาทุกหมู่เหล่ามากขึ้น มีเทคโนโลยีด้านวิทยาศาสตร์การกีฬาที่ครบถ้วนสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น เป็นต้น 91.4
2 กระทรวงอาหาร เพราะจะมีหน่วยงานรัฐโดยตรงที่ช่วยทำให้ประเทศไทยเป็นแหล่งอาหารที่สำคัญของโลก
ประเทศไทยเหมาะที่จะเป็นคลังอาหาร วัตถุดิบอุดมสมบูรณ์ มีการจัดสรรทรัพยากร ช่วยควบคุมลดความเสี่ยง
ในความปลอดภัยด้านอาหารให้กับประชาชนอย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ช่วยทำให้ประเทศไทยก้าวสู่ความเป็นเลิศ
ด้านอาหารและทำให้เกิดความเจริญเติบโตด้านเศรษฐกิจของประเทศและประชาชนอย่างยั่งยืน เป็นต้น 90.5 ตารางที่ 4 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุ นักการเมืองที่ช่วยเหลือคนยากจนให้มีชีวิตที่ดีขึ้นมากที่สุด ลำดับที่ นักการเมืองที่ช่วยเหลือคนยากจนให้มีชีวิตที่ดีขึ้นมากที่สุด ค่าร้อยละ 1 พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ชินวัตร 22.4 2 นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร 21.2 3 นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ 14.3 4 ร.ต.อ.ดร.เฉลิม อยู่บำรุง 7.8 5 นายชวน หลีกภัย 6.5 6 นายบรรหาร ศิลปอาชา 3.8 7 อื่นๆ ได้แก่ นายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ ม.ร.ว.สุขุมพันธ์ บริพัตร นางเยาวภา วงศ์สวัสดิ์ เป็นต้น 5.1 8 ไม่มีนักการเมืองคนใดเลย 18.9 รวมทั้งสิ้น 100.0 ตารางที่ 5 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุ พรรคการเมืองที่ตั้งใจจะเลือก ถ้าวันนี้เป็นวันเลือกตั้งทั่วประเทศ ลำดับที่ พรรคการเมือง ค่าร้อยละ 1 พรรคเพื่อไทย 52.7 2 พรรคประชาธิปัตย์ 35.9 3 พรรคอื่นๆ เช่น พรรคชาติไทย พรรคชาติไทยพัฒนา พรรคพลังชล และพรรคมาตุภูมิ เป็นต้น 11.4 รวมทั้งสิ้น 100.0
--เอแบคโพลล์--