ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยนโยบายสาธารณะเพื่อกิจการอาเซียน (เอแบคโพลล์) มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เปิดเผยผลวิจัยเชิงสำรวจ เรื่อง สัปดาห์แรกของการให้บริการด่านตรวจคนเข้าเมือง (ดอนเมือง) ในสายตาคนไทยและชาวต่างชาติ จำนวนทั้งสิ้น 608 ตัวอย่าง โดยดำเนินการสำรวจในระหว่างวันที่ 9 — 11 ตุลาคม 2555 ที่ผ่านมา โดยใช้การเลือกตัวอย่างแบบ Cluster Sampling ผ่านการสำรวจแบบ Exit Poll โดยใช้แบบสอบถาม 3 ภาษาคือ ภาษาไทย ภาษาจีน และภาษาอังกฤษ พบว่า
ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 80.1 เป็นผู้มาใช้บริการที่เคาน์เตอร์ปกติในขณะที่ร้อยละ 19.9 เป็นผู้ใช้จุดบริการขอรับตรวจลงตรา ณ ช่องทางอนุญาตด่านตรวจคนเข้าเมือง (Visa on Arrival)
เมื่อสอบถามถึงวัตถุประสงค์ในการเดินทางมาประเทศไทยครั้งนี้ พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 55.6 มาพักผ่อนท่องเที่ยว ร้อยละ 15.1 มาเยี่ยมญาติเยี่ยมเพื่อน ร้อยละ 14.3 มาติดต่อธุรกิจ ร้อยละ 7.5 เดินทางมาประชุมสัมมนา ร้อยละ 4.5 มาเรียน ติดต่อเรื่องการศึกษา และ ร้อยละ 10.5 ระบุอื่นๆ ได้แก่ ช้อปปิ้ง พาญาติมาพบแพทย์ เป็นต้น
เมื่อถามถึงประสบการณ์เข้ารับบริการของเจ้าหน้าที่ตำรวจตรวจคนเข้าเมืองในประเด็นต่างๆ หลังจากเปิดให้บริการสนามบินดอนเมืองมาประมาณ 1 สัปดาห์ พบว่า ร้อยละ 53.2 ระบุตำรวจตรวจคนเข้าเมืองมีบุคลิกภาพที่สง่างามมากถึงมากที่สุด ร้อยละ 47.9 ระบุตำรวจตรวจคนเข้าเมืองยิ้มแย้มแจ่มใสมากถึงมากที่สุด ร้อยละ 46.8 ระบุตำรวจตรวจคนเข้าเมืองกระตือรือร้นมากถึงมากที่สุด ร้อยละ 44.7 ระบุตำรวจตรวจคนเข้าเมืองเข้าใจในการสื่อสารระหว่างเจ้าหน้าที่กับตัวผู้ใช้บริการมากถึงมากที่สุด ร้อยละ 41.6 ระบุตำรวจตรวจคนเข้าเมืองพูดทักทายเป็นกันเองกับผู้ใช้บริการมากถึงมากที่สุด ร้อยละ 41.6 เชื่อมั่นมากถึงมากที่สุดต่อการสกัดกั้นอาชญากรรมข้ามชาติ ณ ด่านดอนเมือง ร้อยละ 41.3 มีความสามารถมากถึงมากที่สุดในการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า ร้อยละ 39.9 เชื่อมั่นมากถึงมากที่สุดต่อด่านอื่นๆ ตามแนวชายแดนไทยในการสกัดกั้นอาชญากรข้ามชาติ อย่างไรก็ตาม ร้อยละ 39.3 ระบุใช้เวลานานถึงนานที่สุดในการให้บริการของตำรวจตรวจคนเข้าเมือง และร้อยละ 25.7 ระบุพบข้อผิดพลาดในการให้บริการ ตามลำดับ
ที่น่าพิจารณาคือ เมื่อจำแนกกลุ่มผู้ใช้บริการระหว่าง “คนไทย” กับ “ชาวต่างชาติ” พบความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ อาจกล่าวได้ว่าคนไทยพึงพอใจต่อการบริการของตำรวจตรวจคนเข้าเมืองต่ำกว่าชาวต่างชาติเกือบทุกตัวชี้วัด ได้แก่ คนไทยไม่ถึงครึ่งหรือร้อยละ 43.3 ระบุตำรวจตรวจคนเข้าเมืองมีบุคลิกภาพสง่างามมากถึงมากที่สุด แต่ ชาวต่างชาติส่วนใหญ่หรือร้อยละ 64.3 ระบุตำรวจตรวจคนเข้าเมืองมีบุคลิกภาพสง่างามมากถึงมากที่สุด รองลงมาคือ เพียงร้อยละ 39.2 ของคนไทยระบุตำรวจตรวจคนเข้าเมืองยิ้มแย้มแจ่มใสมากถึงมากที่สุด แต่ชาวต่างชาติส่วนใหญ่หรือร้อยละ 57.3 ระบุตำรวจตรวจคนเข้าเมืองยิ้มแย้มแจ่มใสมากถึงมากที่สุด ในขณะที่ คนไทยเพียงร้อยละ 37.6 ระบุตำรวจตรวจคนเข้าเมืองกระตือรือร้นในการให้บริการมากถึงมากที่สุด แต่ชาวต่างชาติส่วนใหญ่ร้อยละ 57.1 ระบุตำรวจตรวจคนเข้าเมืองกระตือรือร้นมากถึงมากที่สุด
เมื่อถามถึงการพูดคุยทักทายเป็นกันเอง พบว่า คนไทยเพียงร้อยละ 28.3 ที่ระบุตำรวจตรวจคนเข้าเมืองทักทายเป็นกันเองมากถึงมากที่สุด ในขณะที่ชาวต่างชาติส่วนใหญ่หรือร้อยละ 55.7 ระบุตำรวจตรวจคนเข้าเมืองทักทายเป็นกันเองมากถึงมากที่สุด นอกจากนี้ เมื่อถามถึงความสามารถในการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า พบว่า คนไทยร้อยละ 30.6 แต่ชาวต่างชาติเกินครึ่งหรือร้อยละ 53.6 ระบุตำรวจตรวจคนเข้าเมืองมีความสามารถในการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าได้มากถึงมากที่สุด และเมื่อถามถึงความเข้าใจในการสื่อสารระหว่างตำรวจตรวจคนเข้าเมืองกับผู้ใช้บริการ พบว่า คนไทยเพียงร้อยละ 38.1 ระบุมีความเข้าใจในการสื่อสารระหว่างตำรวจตรวจคนเข้าเมืองกับผู้ใช้บริการมากถึงมากที่สุด แต่ชาวต่างชาติเกินครึ่งหรือร้อยละ 51.2 ระบุมีความเข้าใจในการสื่อสารระหว่างตำรวจตรวจคนเข้าเมืองกับผู้ใช้บริการมากถึงมากที่สุด
นอกจากนี้ ผลสำรวจยังพบประเด็นที่น่าพิจารณาคือ คนไทยเพียงร้อยละ 33.7 เชื่อมั่นมากถึงมากที่สุดต่อการสกัดกั้นอาชญากรข้ามชาติของเจ้าหน้าที่ตำรวจตรวจคนเข้าเมืองที่ด่านดอนเมือง ในขณะที่ชาวต่างชาติร้อยละ 50.5 เชื่อมั่นมากถึงมากที่สุด อย่างไรก็ตาม คนไทยเพียงร้อยละ 30.7 เชื่อมั่นมากถึงมากที่สุดต่อด่านอื่นๆ ตามแนวชายแดนไทยในการสกัดกั้นอาชญากรข้ามชาติ ในขณะที่ชาวต่างชาติร้อยละ 49.8 เชื่อมั่นมากถึงมากที่สุด
แต่สิ่งที่น่าพิจารณาปรับปรุงอื่นๆ คือ ชาวต่างชาติร้อยละ 49.8 ระบุตำรวจตรวจคนเข้าเมืองใช้เวลาให้บริการนานมากถึงมากที่สุด แต่คนไทยร้อยละ 25.0 ที่ระบุเจ้าหน้าที่ใช้เวลานานมากถึงมากที่สุด ในขณะที่ชาวต่างชาติร้อยละ 44.1 ระบุพบข้อผิดพลาดมากถึงมากที่สุดในการให้บริการ แต่คนไทยมีเพียงร้อยละ 8.5 เท่านั้น
ผอ.เอแบคโพลล์ กล่าวว่า ผลสำรวจครั้งนี้เกิดขึ้นหลังจากมีการกลับมาเปิดให้บริการสนามบินดอนเมืองเพียงหนึ่งสัปดาห์เท่านั้น ซึ่งจะทำให้เจ้าหน้าที่ตำรวจตรวจคนเข้าเมือง ณ สนามบินดอนเมืองมีข้อมูลทดสอบ “ก่อน” ดำเนินกิจกรรมแทรก (intervention) เพื่อสร้างความประทับใจยกระดับความพึงพอใจในกลุ่มผู้ใช้บริการให้เพิ่มสูงขึ้น หลังจากนั้นคณะวิจัยจะมีการทดสอบ “หลัง” การดำเนินกิจกรรมแทรกในภารกิจการให้บริการของตำรวจตรวจคนเข้าเมืองที่ด่านดอนเมืองอีกครั้งเพื่อทดสอบว่ามีความเปลี่ยนแปลงในด้านความพึงพอใจของผู้ใช้บริการมากน้อยเพียงไร โดยในครั้งนี้ คณะวิจัยเสนอให้มีกิจกรรมแทรกดังต่อไปนี้
ประการแรก เนื่องจากผู้ใช้บริการต่างชาติจำนวนมากพูดภาษาจีนและภาษาอังกฤษ จึงน่าจะจัดอบรมทำ workshop ภาษาจีนและภาษาอังกฤษให้เจ้าหน้าที่ตำรวจตรวจคนเข้าเมืองสามารถกล่าวทักทายเบื้องต้น กล่าวคำว่า สวัสดี ขอบคุณ และถามคำถามบางคำถามที่สำคัญๆ ได้บ้าง และมีการทักทายกับประชาชนคนไทยที่เข้ามาใช้บริการด้วยความยิ้มแย้มแจ่มใสบ้างเพื่อสร้างความรู้สึกที่ดี และรู้สึกผ่อนคลายให้เกิดขึ้นในกลุ่มผู้ใช้บริการ อย่างไรก็ตาม ตำรวจตรวจคนเข้าเมืองก็ต้องทำหน้าที่ป้องกันปัญหาอาชญากรรมภายในประเทศเช่นกัน ดังนั้น คำถามที่ถามเบื้องต้น เช่น คุณจะพักอยู่ที่ไหน คุณมาทำอะไร เป็นภาษาจีน หรือภาษาอังกฤษ น่าจะทำให้สังเกตพฤติกรรมหรือความผิดปกติอะไรได้บ้าง และหากพบพิรุธก็สามารถแจ้งหัวหน้าระดับสูงเพื่อพูดคุยกับผู้มาใช้บริการอย่างลึกซึ้งต่อไป
ประการที่สอง รัฐบาลจัดสรรงบประมาณลงทุนด้านเทคโนโลยีเพิ่มเติมเพื่อทำให้เกิดความรวดเร็ว และเสริมสร้างความมั่นคงสกัดกั้นอาชญากรข้ามชาติให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
ประการที่สาม น่าจะมีกิจกรรมสาระบันเทิงร่วมกันระหว่างผู้ใช้บริการกับตำรวจตรวจคนเข้าเมือง โดยเฉพาะผู้ใช้บริการคนไทย และผู้ใช้บริการขาออกเพราะผลวิจัยครั้งนี้พบว่าเป็นกลุ่มคนที่มีความพึงพอใจต่ำกว่าผู้ใช้บริการกลุ่มอื่นๆ โดยกลุ่มผู้โดยสารขาออกที่อาจจะพอมีเวลาระหว่างรอขึ้นเครื่องบินออกไปจากประเทศไทยจะได้เกิดความประทับใจต่อเจ้าหน้าที่รัฐของประเทศไทยและกลับมาท่องเที่ยวเมืองไทยอีกนำมาซึ่งรายได้ของคนไทยและความเจริญทางเศรษฐกิจโดยรวม
ประการที่สี่ ตำรวจตรวจคนเข้าเมืองคงต้องมีผลงานจับกุมอาชญากรข้ามชาติให้มากขึ้นและที่น่าจะสร้างความเชื่อมั่นศรัทธาในหมู่ประชาชนได้ดีคือ ความสามารถจับกุมผู้ต้องสงสัยได้ตั้งแต่ขั้นตอนของการวางแผนเพราะนั่นแสดงให้เห็นถึงประสิทธิภาพของการข่าวในการทำหน้าที่อีกภารกิจหนึ่งของตำรวจตรวจคนเข้าเมืองด้านความมั่นคงของประเทศต่อไป
จากการพิจารณาลักษณะทั่วไปของตัวอย่าง พบว่า ตัวอย่างร้อยละ 53.3 เป็นชาย ร้อยละ 46.7 เป็นหญิง ตัวอย่างร้อยละ 1.5 อายุน้อยกว่า 20 ปี ร้อยละ 29.4 อายุระหว่าง 20 - 29 ปี ร้อยละ 35.5 อายุระหว่าง 30 - 39 ปี ร้อยละ 21.3 อายุระหว่าง 40 - 49 ปี และร้อยละ 12.3 อายุ 50 ปีขึ้นไป ตัวอย่างร้อยละ 13.9 สำเร็จการศึกษาต่ำกว่าปริญญาตรี ร้อยละ 60.8 ระบุสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี ในขณะที่ ร้อยละ 25.4 ระบุสำเร็จการศึกษาสูงกว่าระดับปริญญาตรี ตัวอย่างร้อยละ 52.2 ระบุสัญชาติไทย ร้อยละ 11.9 ระบุสัญชาติจีน ร้อยละ 7.1 ระบุสัญชาติอเมริกา ร้อยละ 8.1 ระบุสัญชาติกลุ่มประเทศยุโรป ร้อยละ 5.1 ระบุสัญชาติออสเตเรีย ร้อยละ 13.4 ระบุสัญชาติกลุ่มประเทศอาเซียน ร้อยละ 1.7 ระบุสัญชาติกลุ่มประเทศตะวันออกกลาง และร้อยละ 0.5 ระบุสัญชาติอื่น ๆ อาทิ Brazilian Canadian
ลำดับที่ จุดตรวจคนเข้าเมืองที่เข้ารับบริการ ค่าร้อยละ 1 เคาน์เตอร์ปกติ 80.1 2 จุดบริการขอรับตรวจลงตรา ณ ช่องทางอนุญาตด่านตรวจคนเข้าเมือง (Visa on Arrival) 19.9 รวมทั้งสิ้น 100.0 ตารางที่ 2 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุวัตถุประสงค์ในการเดินทางมาประเทศไทยครั้งนี้ (ตอบได้มากกว่า1ข้อ) ลำดับที่ วัตถุประสงค์ในการเดินทางมาประเทศไทยครั้งนี้ ค่าร้อยละ 1 พักผ่อน/ท่องเที่ยว 55.6 2 เยี่ยมญาติ/เพื่อน 15.1 3 ติดต่อธุรกิจ 14.3 4 เดินทางมาประชุม/สัมมนา 7.5 5 เรียน/ติดต่อเรื่องการศึกษา 4.5 6 อื่นๆ ได้แก่ ช้อปปิ้ง พาญาติมาพบแพทย์ เป็นต้น 10.5 ตารางที่ 3 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุ ประสบการณ์เข้ารับบริการของเจ้าหน้าที่ตำรวจตรวจคนเข้าเมืองในประเด็นต่างๆ ลำดับที่ การให้บริการของเจ้าหน้าที่ตำรวจตรวจคนเข้าเมือง มาก-มากที่สุดร้อยละ 1 บุคคลิกภาพที่สง่าสงาม 53.2 2 ความยิ้มแย้มแจ่มใส 47.9 3 ความกระตือรือร้นในการให้บริการ 46.8 4 ความเข้าใจในการสื่อสารระหว่างเจ้าหน้าที่กับตัวท่าน 44.7 5 การพูดคุยทักทายเป็นกันเองกับผู้มาใช้บริการ 41.6 6 ความเชื่อมั่นต่อการสกัดกั้นอาชญากรข้ามชาติ ณ ด่านดอนเมือง 41.6 7 ความสามารถในการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า 41.3 8 ความเชื่อมั่นต่อด่านอื่นๆตามแนวชายแดนไทยในการสกัดกั้น อาชญากรข้ามชาติ 39.9 9 ระยะเวลาในการให้บริการของเจ้าหน้าที่นานเพียงใด 39.3 10 ข้อผิดพลาดในการให้บริการ 25.7 ตารางที่ 4 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุการพบเห็นเกี่ยวกับการให้บริการของเจ้าหน้าที่ตำรวจตรวจคนเข้าเมืองในประเด็นต่างๆ (ระดับมาก-มากที่สุด) จำแนกตามสัญชาติผู้ใช้บริการ ลำดับที่ การให้บริการของเจ้าหน้าที่ตำรวจตรวจคนเข้าเมือง คนไทย ชาวต่างชาติ 1 บุคคลิกภาพที่สง่าสงาม 43.3 64.3 2 ความยิ้มแย้มแจ่มใส 39.2 57.3 3 ความกระตือรือร้นในการให้บริการ 37.6 57.1 4 การพูดคุยทักทายเป็นกันเองกับผู้มาใช้บริการ 28.3 55.7 5 ความสามารถในการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า 30.6 53.6 6 ความเข้าใจในการสื่อสารระหว่างเจ้าหน้าที่กับตัวท่าน 38.1 51.2 7 ความเชื่อมั่นต่อการสกัดกั้นอาชญากรข้ามชาติของเจ้าหน้าที่ตำรวจตรวจคนเข้าเมืองที่ด่านดอนเมือง 33.7 50.5 8 ความเชื่อมั่นต่อด่านอื่นๆตามแนวชายแดนไทยในการสกัดกั้นอาชญากรข้ามชาติ 30.7 49.8 9 ระยะเวลาในการให้บริการของเจ้าหน้าที่นานเพียงใด 25.0 54.6 10 ข้อผิดพลาดในการให้บริการ 8.5 44.1
--เอแบคโพลล์--