ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยเอแบคโพลล์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เปิดเผยผลวิจัยเชิงสำรวจ เรื่อง ความหวังของสาธารณชน การปรับคณะรัฐมนตรี กับ การยึดอำนาจรัฐบาล กรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนอายุ 18 ปีขึ้นไปใน 17 จังหวัดของประเทศ ได้แก่ กรุงเทพมหานคร เพชรบุรี ฉะเชิงเทรา นครปฐม สมุทรปราการ อุตรดิตถ์ ลำปาง เชียงราย มุกดาหาร หนองคาย สกลนคร ร้อยเอ็ด บุรีรัมย์ เลย ยะลา นราธิวาส และสงขลา จำนวนทั้งสิ้น 2,104 ตัวอย่าง ดำเนินโครงการระหว่างวันที่ 22 - 27 ตุลาคม 2555 ที่ผ่านมา โดยใช้การเลือกตัวอย่างแบบแบ่งกลุ่มเชิงชั้นภูมิหลายชั้น ที่สุ่มเลือกจังหวัด อำเภอ ตำบล ชุมชน ครัวเรือน และประชาชนที่ตอบแบบสอบถามระดับครัวเรือน ความคลาดเคลื่อนร้อยละ 7 พบว่า
เมื่อถามถึงผลกระทบต่อการปรับคณะรัฐมนตรีครั้งที่สามของนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 58.2 ระบุคิดว่าไม่มีผลกระทบต่อรัฐบาล ในขณะที่ร้อยละ 41.8 คิดว่ามีผลกระทบต่อรัฐบาล นอกจากนี้ เกินครึ่งหรือร้อยละ 53.9 ระบุเป็นเรื่องดีที่ พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ชินวัตรให้คำแนะนำปรึกษาต่อรัฐบาลชุดปัจจุบันของนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เพราะพ.ต.ท.ดร.ทักษิณ เป็นคนมีประสบการณ์ มีความรู้ความสามารถ ได้รับความนิยมศรัทธาสูง เป็นต้น ในขณะที่ร้อยละ 46.1 ไม่คิดว่าเป็นเรื่องดี เพราะจะทำให้ นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ไม่เป็นตัวของตัวเอง ขาดความน่าเชื่อถือ เป็นต้น อย่างไรก็ตาม จำนวนมากหรือร้อยละ 45.8 คิดว่า เมื่อรัฐบาลปรับคณะรัฐมนตรีแล้วทุกอย่างจะเหมือนเดิม ในขณะที่ร้อยละ 28.6 ระบุว่าจะดีขึ้น และร้อยละ 25.6 ระบุว่าจะแย่ลง
เมื่อถามถึงการชุมนุมทางการเมือง พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 62.6 สนับสนุนเพราะเป็นเรื่องดี เป็นเรื่องปกติตามระบอบประชาธิปไตย เป็นต้น ในขณะที่ร้อยละ 37.4 ไม่สนับสนุน เพราะ วุ่นวาย ควรช่วยกันทำให้บ้านเมืองสงบสุข ทุกอย่างให้ว่ากันตามกระบวนการยุติธรรมของบ้านเมือง เป็นต้น
เมื่อถามถึงผลของการปฏิวัติยึดอำนาจที่ผ่านมา พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 89.2 ระบุ ไม่มีอะไรดีขึ้น มีแต่จะแย่ลง ในขณะที่เพียงร้อยละ 10.8 เท่านั้นที่ระบุทำให้บ้านเมืองดีขึ้น โดยส่วนใหญ่หรือร้อยละ 95.5 ระบุมีแค่คนเฉพาะกลุ่มที่ได้รับประโยชน์จากการยึดอำนาจ ในขณะที่เพียงร้อยละ 4.5 เท่านั้นที่ระบุว่าประชาชนส่วนใหญ่ทั้งประเทศจะได้ประโยชน์จากการยึดอำนาจ
ยิ่งไปกว่านั้น ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 97.3 ระบุการให้โอกาสรัฐบาลทำงานและอาศัยกระบวนการยุติธรรมของบ้านเมืองสร้างความหวังมากกว่าการยึดอำนาจ ในขณะที่ร้อยละ 2.7 คิดว่าการยึดอำนาจให้ความหวังมากกว่า
ดร.นพดล กรรณิกา ผอ.เอแบคโพลล์ กล่าวว่า ชัดเจนว่าสาธารณชนอยากเห็นบ้านเมืองก้าวต่อไปข้างหน้าในระบอบประชาธิปไตยและอาศัยกระบวนการยุติธรรมของบ้านเมืองในเวลานี้แก้ไขปัญหาวิกฤตการณ์ต่างๆ ของประเทศ เพราะมีความหวังมากกว่าการใช้อำนาจพิเศษใดๆ เมื่อรัฐบาลเกิดความผิดพลาดในการบริหารบ้านเมืองก็ต้องใช้การถ่วงดุลอำนาจและภาคประชาชนเข้าแก้ไขปรับปรุงมากกว่า สังคมไทยน่าจะเป็นสังคมแห่งการเรียนรู้แบบค่อยเป็นค่อยไป ขอให้ทุกฝ่ายลดอคติที่มีต่อกัน และ “อย่าดึงฟ้าต่ำ”หรือหยุดดึงสถาบันเบื้องสูงมาเกี่ยวข้องกับเรื่องการเมือง เพราะชาวบ้านส่วนใหญ่ของประเทศจะแยกแยะออกว่า การเมืองเป็นเรื่องการเมือง ส่วนสถาบันเบื้องสูงเป็นหัวใจที่สาธารณชนคนไทยทั้งประเทศเคารพรักศรัทธาที่แยกออกจากเรื่องการเมืองชัดเจน จึงเสนอแนะให้ฝ่ายการเมืองมุ่งทำหน้าที่ตามเจตนารมณ์ของฝ่ายการเมืองในการลดทอนความขัดแย้งในหมู่ประชาชน ไม่กลายเป็นเงื่อนไขของความขัดแย้งในบ้านเมืองเสียเอง เพราะการปกครองตามระบอบประชาธิปไตยมีกลไกปรับเปลี่ยนอำนาจในตัวของมันอยู่แล้ว การใช้อำนาจพิเศษใดๆ จะกลายเป็นตัวปัญหาของบ้านเมืองเสียเองที่จะส่งผลทำให้ปัญหาทวีคูณมากขึ้นไปอีก จึงขอให้ทุกอย่างตัดสินกันที่การเลือกตั้งและการหนุนเสริมให้ภาคประชาชนมีส่วนร่วมในการตรวจสอบและประเมินผลการทำงานของรัฐบาลทุกระดับ น่าจะเป็นทางออกที่เหมาะสมสำหรับสังคมไทยในเวลานี้มากกว่า
จากการพิจารณาลักษณะทั่วไปของตัวอย่าง พบว่า ตัวอย่าง ร้อยละ 48.3 เป็นชาย
ร้อยละ 51.7 เป็นหญิง
ตัวอย่าง ร้อยละ 4.2 อายุน้อยกว่า 20 ปี
ร้อยละ 20.2 อายุระหว่าง 20—29 ปี
ร้อยละ 22.0 อายุระหว่าง 30—39 ปี
ร้อยละ 21.7 อายุระหว่าง 40—49 ปี
และร้อยละ 31.9 อายุ 50 ปีขึ้นไป
ตัวอย่าง ร้อยละ 78.4 สำเร็จการศึกษาต่ำกว่าปริญญาตรี
ร้อยละ 21.6 สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีขึ้นไป
ตัวอย่าง ร้อยละ 34.3 ระบุอาชีพเกษตรกร/ประมง
ร้อยละ 29.0 ระบุอาชีพธุรกิจส่วนตัว ค้าขาย
ร้อยละ 5.4 ระบุอาชีพข้าราชการ/รัฐวิสาหกิจ
ร้อยละ 11.8 ระบุอาชีพพนักงานบริษัท
ร้อยละ 7.1 เป็นนักเรียน/นักศึกษา
ร้อยละ 9.2 ระบุเป็นแม่บ้าน พ่อบ้าน เกษียณอายุ
ร้อยละ 3.2 ระบุว่างงาน ไม่ได้ประกอบอาชีพ
ลำดับที่ ผลกระทบ ค่าร้อยละ 1 คิดว่ามีผลกระทบ 41.8 2 ไม่คิดว่ามีผลกระทบ 58.2 รวมทั้งสิ้น 100.0 ตารางที่ 2 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุ ความคิดเห็นต่อ การให้คำแนะนำปรึกษาของ พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ชินวัตร ต่อรัฐบาลชุดปัจจุบัน ของนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ลำดับที่ ความคิดเห็น ค่าร้อยละ 1 เป็นเรื่องดี เพราะ พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ชินวัตร เป็นคนที่มีประสบการณ์ มีความรู้ความสามารถ ได้รับความนิยมศรัทธาสูง เป็นต้น 53.9 2 ไม่คิดว่าเป็นเรื่องดี เพราะ จะทำให้นางสาวยิ่งลักษณ์ ไม่เป็นตัวของตัวเอง ขาดความน่าเชื่อถือ เป็นต้น 46.1 รวมทั้งสิ้น 100.0 ตารางที่ 3 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุ ปรับคณะรัฐมนตรีแล้วจะมีอะไรดีขึ้นหรือไม่ ลำดับที่ ปรับแล้วจะดีขึ้นหรือไม่ ค่าร้อยละ 1 ดีขึ้น 28.6 2 เหมือนเดิม 45.8 3 แย่ลง 25.6 รวมทั้งสิ้น 100.0 ตารางที่ 4 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุ ความคิดเห็นต่อการชุมนุมทางการเมือง ลำดับที่ ความคิดเห็น ค่าร้อยละ 1 สนับสนุน เพราะ เป็นเรื่องดี เป็นเรื่องปกติตามระบอบประชาธิปไตย เป็นต้น 62.6 2 ไม่สนับสนุน เพราะ วุ่นวาย ควรช่วยกันทำให้บ้านเมืองสงบสุข ทุกอย่างให้ว่ากันตามกระบวนการยุติธรรม เป็นต้น 37.4 รวมทั้งสิ้น 100.0 ตารางที่ 5 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุ ผลกระทบของการปฏิวัติยึดอำนาจที่ผ่านมา ลำดับที่ ผลกระทบของการปฏิวัติยึดอำนาจที่ผ่านมา ค่าร้อยละ 1 ไม่มีอะไรดีขึ้น มีแต่จะแย่ลง 89.2 2 ทำให้บ้านเมืองดีขึ้น 10.8 รวมทั้งสิ้น 100.0 ตารางที่ 6 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุ กลุ่มคนที่ได้ประโยชน์จากการปฏิวัติยึดอำนาจ ลำดับที่ กลุ่มคนที่ได้ประโยชน์จากการปฏิวัติยึดอำนาจ ค่าร้อยละ 1 แค่คนเฉพาะกลุ่ม 95.5 2 ประชาชนส่วนใหญ่ทั้งประเทศ 4.5 รวมทั้งสิ้น 100.0 ตารางที่ 7 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุ ความหวังต่อประเทศไทยระหว่าง การยึดอำนาจ กับ การให้โอกาสรัฐบาลทำงานต่อไป ลำดับที่ ความหวังต่ออนาคตของประเทศไทย ค่าร้อยละ 1 การยึดอำนาจให้ความหวังมากกว่า 2.7 2 การให้โอกาสรัฐบาลทำงานต่อไปและอาศัยกระบวนการยุติธรรมของบ้านเมืองสร้างความหวังมากกว่า 97.3 รวมทั้งสิ้น 100.0
--เอแบคโพลล์--