เอแบคโพลล์: ผลของการปรับคณะรัฐมนตรี การชุมนุมทางการเมือง และการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลในสายตาของสาธารณชน

ข่าวผลสำรวจ Monday November 5, 2012 07:29 —เอแบคโพลล์

ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยเอแบคโพลล์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เปิดเผยผลวิจัยเชิงสำรวจ เรื่อง ผลของการปรับคณะรัฐมนตรี การชุมนุมทางการเมือง และการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลในสายตาของสาธารณชน กรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนอายุ 18 ปีขึ้นไปใน 17 จังหวัดของประเทศ ได้แก่ กรุงเทพมหานคร จันทบุรี ลพบุรี ปทุมธานี ชลบุรี พิจิตร เพชรบูรณ์ เชียงใหม่ มุกดาหาร หนองคาย ชัยภูมิ สุรินทร์ อุดรธานี ขอนแก่น พัทลุง สุราษฎร์ธานี และ นครศรีธรรมราช จำนวนทั้งสิ้น 2,189 ตัวอย่าง ดำเนินโครงการระหว่างวันที่ 30 ตุลาคม — 3 พฤศจิกายน 2555 ที่ผ่านมา โดยใช้การเลือกตัวอย่างแบบแบ่งกลุ่มเชิงชั้นภูมิหลายชั้น ที่สุ่มเลือกจังหวัด อำเภอ ตำบล ชุมชน ครัวเรือน และประชาชนที่ตอบแบบสอบถามระดับครัวเรือน ความคลาดเคลื่อนร้อยละ 7 พบว่า

ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 85.2 ทราบข่าวการปรับคณะรัฐมนตรีของรัฐบาลภายใต้การนำของ นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี โดยระดับการยอมรับคณะรัฐมนตรีหลังปรับคณะรัฐมนตรีอยู่ที่ 6.67 จากคะแนนเต็ม 10 คะแนน และผลสำรวจยังพบด้วยว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 56.3 ระบุความเป็นผู้นำของ นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เพิ่มขึ้น ในขณะที่ร้อยละ 43.7 ระบุว่า ลดลง อย่างไรก็ตาม เมื่อถามถึงความคิดเห็นต่อการปรับตัวของคนไทยหลังการปรับคณะรัฐมนตรี พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 74.9 ระบุควรทำใจปล่อยวาง ไม่ยึดมั่นถือมั่น ลดอคติ อย่าคิดล่วงหน้าไปเอง ให้โอกาสคน ใช้กฎหมายตัดสินถูกผิด

ที่น่าพิจารณาคือ เมื่อถามถึงประสบการณ์เคยพบเห็นการชุมนุมทางการเมืองแล้วเกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบายสาธารณะที่ทำให้ประชาชนอยู่ดีกินดี พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 59.1 ระบุไม่เคย ในขณะที่ร้อยละ 40.9 ระบุเคย นอกจากนี้ เมื่อถามว่า ใครได้ประโยชน์จากการชุมนุมทางการเมืองแล้วเกิดการเปลี่ยนรัฐบาล ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 83.0 ระบุ กลุ่มนักการเมืองและนักธุรกิจได้ประโยชน์ มีเพียงร้อยละ 17.0 เท่านั้นที่ระบุ ประชาชนส่วนใหญ่ทั้งประเทศได้ประโยชน์ ที่น่าสนใจคือ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 79.1 อยากเห็นการเปลี่ยนแปลงในเชิงนโยบายจากการชุมนุมทางการเมือง

อย่างไรก็ตาม ที่น่าเป็นห่วงคือ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 81.4 ระบุการเมืองในยุคปัจจุบันเป็นตัวการเพิ่มความขัดแย้งรุนแรงในหมู่ประชาชนมากกว่าช่วยลดความเดือดร้อนของประชาชน และส่วนใหญ่หรือร้อยละ 66.3 กำลังกังวลว่าความขัดแย้งทางการเมืองจะรุนแรงบานปลายขึ้นอีก

นอกจากนี้ เมื่อถามถึงการยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลของฝ่ายค้านพบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 70.9 ทราบข่าว และเกินครึ่งหรือร้อยละ 55.2 คิดว่าการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลในครั้งนี้ของฝ่ายค้านจะมีข้อมูลที่น่าสนใจ ในขณะที่ร้อยละ 44.8 ไม่คิดว่ามี อย่างไรก็ตาม ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 68.6 ไม่คิดว่าการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลครั้งนี้จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงภายในรัฐบาล แต่ที่น่าสนใจคือ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 87.4 ระบุนายกรัฐมนตรี นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ควรออกมาชี้แจงตอบคำถามในการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลครั้งนี้ด้วยตนเอง และร้อยละ 87.1 ระบุนายกรัฐมนตรีควรให้ความสำคัญต่อการใช้ระบบรัฐสภาในการแก้ปัญหาบ้านเมืองในเวลานี้

ผอ.เอแบคโพลล์ กล่าวว่า ประเทศไทยกำลังอยู่ในสถานการณ์ที่ไม่อาจจะนิ่งนอนใจได้เพราะยังไม่มีหลักประกันความเชื่อมั่นใดๆ ให้ทั้งชาวไทยและต่างชาติว่า ประเทศไทยจะก้าวไปข้างหน้าได้อย่างมั่นคงทั้งในเรื่อง การเมือง เศรษฐกิจ และสังคม เพราะ ประชาชนยังคงกังวลถึงเหตุรุนแรงบานปลายทางการเมืองรอบใหม่ที่อาจเกิดขึ้นได้อีก ผู้มีอำนาจในบ้านเมืองและผู้วางกรอบกติกาจำเป็นต้องปลดเงื่อนไขแห่งความขัดแย้งรุนแรงลงให้ได้ ความเป็นผู้นำของนายกรัฐมนตรีเวลานี้อาจต้องพิจารณาโมเดลของการเจรจาเกื้อกูลกันของคนในชาติ (Promoting “Past No”) และทำให้สิ่งที่คนไทยยอมรับศรัทธามาตลอดมีความเข้มแข็ง (Going to “Yes”) โดยยึดหลักของการส่งเสริม DNA ของความเป็นคนไทยเรื่องความจงรักภักดีต่อสถาบันชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ให้ชัดเจนและสร้างความประทับใจต่อสาธารณชนคนไทยทั้งประเทศทำให้ประชาชนทุกคนเกิดความสำนึกรู้คุณแผ่นดินอย่างกว้างขวาง

“ถ้าผู้มีอำนาจและอิทธิพลในเวลานี้ใช้โมเดลการประเมินต้นทุนและผลได้เชิงเหตุผลเพียงอย่างเดียวอาจทำให้เกิดปมแห่งความขัดแย้งขึ้นใหม่แบบไม่จบ เช่น การประเมินตัวเลขของกลุ่มต่อต้าน กลุ่มสนับสนุนรัฐบาล การเอาชนะฝ่ายตรงข้ามด้วยการทำให้เกิดความสูญเสียที่มากกว่าฝ่ายของตนเอง ผลที่ตามมาคือการทำลายวาทะกรรมของนายกรัฐมนตรีเองที่เคยประกาศไว้ว่า “จะแก้ไขไม่แก้แค้น” จึงเสนอให้ใช้พลังบารมีในทางสร้างสรรค์ของความเป็นผู้นำประเทศในเวลานี้สยบความขัดแย้งต่างๆ ในสังคมและใช้ระบบรัฐสภาเป็นทางออกโดยประกาศให้สาธารณชนตระหนักว่าระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภาจะทำให้ประเทศชาติไปรอด เพื่อประเทศไทยและประชาชนทุกหมู่เหล่าจะได้ก้าวไปสู่ความสง่างามในประชาคมโลกต่อไป” ดร.นพดล กล่าว

จากการพิจารณาลักษณะทั่วไปของตัวอย่าง พบว่า ตัวอย่างร้อยละ 49.0 เป็นชาย ร้อยละ 51.0 เป็นหญิง ตัวอย่างร้อยละ 4.7 อายุน้อยกว่า 20 ปี ร้อยละ 20.7 อายุระหว่าง 20—29 ปี ร้อยละ 19.2 อายุระหว่าง 30—39 ปี ร้อยละ 21.5 อายุระหว่าง 40—49 ปี และ ร้อยละ 33.9 อายุ 50 ปีขึ้นไป ตัวอย่างร้อยละ 77.0 สำเร็จการศึกษาต่ำกว่าปริญญาตรี ร้อยละ 17.0 สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี และร้อยละ 6.0 สำเร็จการศึกษาสูงกว่า ปริญญาตรี ตัวอย่างร้อยละ 32.4 ระบุอาชีพเกษตรกร/รับจ้างทั่วไป ร้อยละ 30.4 ระบุอาชีพค้าขาย/ธุรกิจส่วนตัว ร้อยละ 8.8 ระบุเป็นพนักงานเอกชน ร้อยละ 9.6 ระบุอาชีพข้าราชการ/พนักงานรัฐวิสาหกิจ ร้อยละ 6.7 ระบุเป็นนักเรียน/นักศึกษา ร้อยละ 8.1 ระบุเป็นแม่บ้าน/พ่อบ้าน/เกษียณอายุ ร้อยละ 4.0 ระบุว่างงาน/ไม่ได้ประกอบอาชีพ

ตารางที่ 1 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุ ทราบข่าวการปรับ ครม.ของรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร
ลำดับที่          การรับรู้ของประชาชน             ค่าร้อยละ
1          ทราบ                              85.2
2          ไม่ทราบ                            14.8
          รวมทั้งสิ้น                           100.0

ตารางที่ 2 แสดงค่าเฉลี่ยของค่าดัชนีระดับการยอมรับ ครม. ชุดใหม่ของรัฐบาลภายใต้การนำของ นางสาวยิ่งลักษณ์  ชินวัตร เมื่อคะแนนเต็ม 10
ลำดับที่          ระดับการยอมรับ                                     คะแนน
1          ระดับการยอมรับ ครม. ชุดใหม่ เมื่อคะแนนเต็ม 10 คะแนน          6.67

ตารางที่ 3 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุ ความเป็นผู้นำของ นางสาวยิ่งลักษณ์  ชินวัตร หลังปรับคณะรัฐมนตรี
ลำดับที่          ความคิดเห็น          ค่าร้อยละ
1          เพิ่มขึ้น                    56.3
2          ลดลง                     43.7
          รวมทั้งสิ้น                  100.0

ตารางที่ 4 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุ ความคิดเห็นต่อการปรับตัวของคนไทยหลังการปรับคณะรัฐมนตรี
ลำดับที่          ความคิดเห็น                                                                ค่าร้อยละ
1          ควรทำใจปล่อยวาง ไม่ยึดมั่นถือมั่น ลดอคติ อย่าคิดล่วงหน้าไปเอง ให้โอกาสคน ใช้กฎหมายตัดสินถูกผิด    74.9
2          ไม่คิดเช่นนั้น                                                                      25.1
          รวมทั้งสิ้น                                                                        100.0

ตารางที่ 5 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุ เคยเห็นการชุมนุมทางการเมืองแล้วเกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบายที่ทำให้ประชาชนอยู่ดีกินดี
ลำดับที่          ความคิดเห็น        ค่าร้อยละ
1          เคย                     40.9
2          ไม่เคย                   59.1
          รวมทั้งสิ้น                 100.0

ตารางที่ 6 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุ การชุมนุมทางการเมืองแล้วเกิดการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลแล้วใครได้ประโยชน์
ลำดับที่          ความคิดเห็น                ค่าร้อยละ
1          ประชาชนส่วนใหญ่ทั้งประเทศ          17.0
2          กลุ่มนักการเมืองและนักธุรกิจ          83.0
          รวมทั้งสิ้น                        100.0

ตารางที่ 7 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุ อยากเห็นการเปลี่ยนแปลงในเชิงนโยบายจากการชุมนุมทางการเมือง
ลำดับที่          ความคิดเห็น            ค่าร้อยละ
1          อยากเห็น                    79.1
2          ไม่อยากเห็น                  20.9
          รวมทั้งสิ้น                    100.0

ตารางที่ 8 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุ ความคิดเห็นต่อการเมืองในยุคปัจจุบันช่วยลดความเดือดร้อนของประชาชนหรือเพิ่ม             ความขัดแย้งรุนแรงในหมู่ประชาชน
ลำดับที่          ความคิดเห็น                       ค่าร้อยละ
1          ช่วยลดความเดือดร้อนของประชาชน            18.6
2          เพิ่มความขัดแย้งรุนแรงในหมู่ประชาชน          81.4
          รวมทั้งสิ้น                               100.0

ตารางที่ 9 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุ ความขัดแย้งทางการเมืองจะรุนแรงบานปลาย
ลำดับที่          กังวล                            ค่าร้อยละ
1          กังวลว่าจะรุนแรงบานปลายขึ้นอีก              66.3
2          ไม่กังวล                                33.7
          รวมทั้งสิ้น                               100.0


ตารางที่ 10 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุ การทราบข่าวการยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลของฝ่ายค้าน
ลำดับที่          ความคิดเห็น             ค่าร้อยละ
1          ทราบข่าว                    70.9
2          ไม่ทราบข่าว                  29.1
          รวมทั้งสิ้น                    100.0

ตารางที่ 11 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุ การอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลในครั้งนี้ของฝ่ายค้านจะมีข้อมูลที่น่าสนใจ
ลำดับที่          ความคิดเห็น          ค่าร้อยละ
1          คิดว่ามี                    55.2
2          ไม่คิดว่ามี                  44.8
          รวมทั้งสิ้น                  100.0

ตารางที่ 12 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุ การอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลในครั้งนี้ของฝ่ายค้านจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงภายในรัฐบาล
ลำดับที่          ความคิดเห็น                      ค่าร้อยละ
1          คิดว่าจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง            31.4
2          ไม่คิดว่าจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง          68.6
          รวมทั้งสิ้น                              100.0

ตารางที่ 13 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุ การออกมาชี้แจงตอบคำถามในการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลในครั้งนี้ของนายกรัฐมนตรี นางสาวยิ่งลักษณ์  ชินวัตร ด้วยตัวเอง
ลำดับที่          ความคิดเห็น          ค่าร้อยละ
1          ควร                      87.4
2          ไม่ควร                    12.6
          รวมทั้งสิ้น                  100.0

ตารางที่ 14 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุ นายกรัฐมนตรีควรจะให้ความสำคัญต่อการใช้ระบอบรัฐสภาในการแก้ปัญหาบ้านเมืองในเวลานี้
ลำดับที่          ความคิดเห็น          ค่าร้อยละ
1          ควรให้ความสำคัญ            87.1
2          ไม่ควร                    12.9
          รวมทั้งสิ้น                  100.0

--เอแบคโพลล์--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ