พฤติกรรมฝ่าฝืนกฎหมายไม่สวมหมวกกันน็อค กับการไม่จริงจังต่อเนื่อง และไม่เข้มงวดของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ในประสบการณ์ของคนใช้รถมอเตอร์ไซค์ในกรุงเทพมหานคร
นางสาวปุณฑรีก์ อิศรางกูร ณ อยุธยา ผู้ช่วยผู้อำนวยการสำนักวิจัยเอแบคโพลล์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ ร่วมกับ นายแพทย์ไพฑูรย์ บุญมา ประธานศูนย์วิจัยสุขภาพกรุงเทพ เครือโรงพยาบาลกรุงเทพ เปิดเผยผลวิจัยเชิงสำรวจเรื่อง พฤติกรรมฝ่าฝืนกฎหมายไม่สวมหมวกกันน็อค กับการไม่จริงจังต่อเนื่อง และไม่เข้มงวดของเจ้าหน้าที่ตำรวจในประสบการณ์ของคนใช้รถมอเตอร์ไซค์ในกรุงเทพมหานครที่มีอายุ 15 ปีขึ้นไป จำนวนทั้งสิ้น 836 ตัวอย่างดำเนินโครงการระหว่างวันที่ 12-27 ธันวาคม 2555 ที่ผ่านมา
ผู้ใช้รถมอเตอร์ไซค์จำนวนมากหรือร้อยละ 47.7 เคยประสบอุบัติเหตุ และที่น่าเป็นห่วงคือ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 70.5 ไม่ได้สวมหมวกกันน็อคทุกครั้งที่ขับขี่หรือซ้อนท้ายในซอย ในขณะที่ร้อยละ 29.2 ไม่สวมใส่หมวกกันน็อคทั้งๆ ที่ขับขี่หรือซ้อนท้ายบนถนนใหญ่
ที่น่าพิจารณาคือ เมื่อถามถึงประสบการณ์เคยเห็นคนอื่นถูกตำรวจจับเพราะไม่สวมใส่หมวกกันน็อคในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมาหรือไม่ พบว่า ส่วนใหญ่ของคนที่ซ้อนท้ายรถมอเตอร์ไซค์หรือร้อยละ 62.8 ไม่เคยเห็น และคนซ้อนท้ายรถมอเตอร์ไซค์รับจ้างเกินครึ่งหรือร้อยละ 51.7 ไม่เคยเห็นตำรวจจับกุมเช่นกัน ในขณะที่คนขับรถมอเตอร์ไซค์ส่วนตัวร้อยละ 45.6 และคนขับรถมอเตอร์ไซค์รับจ้างไม่เคยเห็นตำรวจจับกุมคนไม่สวมหมวกกันน็อค ยิ่งไปกว่านั้น ทั้งคนขับและคนซ้อนท้ายรถมอเตอร์ไซค์ส่วนตัวส่วนใหญ่หรือร้อยละ 54.1 และร้อยละ 74.4 ไม่เคยถูกตำรวจจับกุมเมื่อไม่สวมหมวกกันน็อค ในขณะที่ร้อยละ 43.0 ของคนขับรถมอเตอร์ไซค์รับจ้างและส่วนใหญ่หรือร้อยละ 76.4 ของคนซ้อนท้ายมอเตอร์ไซค์รับจ้างไม่เคยถูกตำรวจจับกุมเมื่อไม่สวมใส่หมวกกันน็อค
นางสาวปุณฑรีก์ กล่าวต่อว่า เมื่อถามถึงมาตรการการสวมหมวกกันน็อค พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 65.3 ระบุใช้การรณรงค์ผ่านสื่อหลักอย่างโทรทัศน์ หนังสือพิมพ์ และวิทยุ รองลงมาคือ ร้อยละ 53.3 ระบุให้ตำรวจกวดขันเข้มงวดจับกุมอย่างจริงจังและต่อเนื่อง ในขณะที่ร้อยละ 41.4 ระบุให้ทำกิจกรรมรณรงค์ในระดับจังหวัด และร้อยละ 28.6 ให้รณรงค์ผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์ อาทิ เฟซบุ๊ค ทวิตเตอร์ เป็นต้น รองๆ ลงไปคือ ควรเพิ่มค่าปรับให้สูงมากขึ้น ใช้อัตราการเจ็บหรือการตายโดยไม่ได้สวมหมวกกันน็อคเป็นส่วนหนึ่งในการประเมินผลงานของเจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบในพื้นที่นั้น เมื่อบาดเจ็บให้รับผิดชอบค่ารักษาพยาบาลด้วยตนเอง และอื่นๆ ให้ผู้ฝ่าฝืนกฎหมายทำกิจกรรมสาธารณประโยชน์ เป็นต้น
ผู้ช่วย ผอ.เอแบคโพลล์ กล่าวว่า ผลสำรวจชี้ชัดว่า กลุ่มประชาชนที่ใช้รถมอเตอร์ไซค์ส่วนใหญ่ไม่เห็นเจ้าหน้าที่ตำรวจเอาจริงเอาจังตามกฎหมายจับกุมผู้ไม่สวมหมวกนิรภัยหรือหมวกกันน็อค ส่งผลให้เกิดความเสี่ยงสูงต่ออันตรายบาดเจ็บที่ศรีษะของประชาชนที่ไม่สวมหมวกกันน็อคและเมื่อเจ้าหน้าที่ไม่เข้มงวดต่อรถมอเตอร์ไซค์รับจ้างกับผู้ซ้อนท้ายก็ละเลยไม่ตระหนักถึงอันตรายต่อตนเองและผู้อื่นย่อมมีผลต่อการลอกเลียนแบบพฤติกรรมฝ่าฝืนกฎหมายของประชาชนอย่างกว้างขวาง จึงเสนอให้มีการขยายระยะเวลาเสริมมาตรการเข้มงวดกวดขันของเจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้องในช่วงเทศกาลปีใหม่นี้อย่างจริงจังต่อเนื่องไปจนถึงถึงเทศกาลสงกรานต์และทดลองพื้นที่นำร่อง จัดโซนนิ่งสวมหมวกนิรภัยหรือหมวกกันน็อคร้อยเปอร์เซนต์ ผู้ใดฝ่าฝืนให้จับปรับในอัตราสูงสุด ทั้งนี้เพื่อป้องปรามการละเมิดกฎหมายและลดการสูญเสียทั้งค่าใช้จ่ายส่วนบุคคลและประหยัดงบประมาณด้านสวัสดิการของรัฐในการรักษาพยาบาลได้อีกทางหนึ่งด้วย
จากการพิจารณาลักษณะทั่วไปของตัวอย่าง พบว่าตัวอย่างร้อยละ 68.3 เป็นชาย และร้อยละ 31.7 เป็นหญิง ร้อยละ 32.9 มีอายุ 20-29 ปี ร้อยละ 29.9 มีอายุ 30-39 ปี ร้อยละ 22.9 มีอายุ 40-49 ปี ร้อยละ 8.7 มีอายุ 50-59 ปี ร้อยละ 4.4 มีอายุ 15-19ปี และร้อยละ 1.2 มีอายุ 60 ปีขึ้นไป ด้านรายได้ ร้อยละ 48.9 ระบุรายได้ 5,001-10,000 บาท ร้อยละ 31.1 ระบุรายได้ 10,001-15,000 บาท ร้อยละ 9.5 ระบุรายได้ 15,001 — 20,000 ร้อยละ 5.9 ระบุรายได้ไม่เกิน 5,000 บาท ร้อยละ 3.8 ระบุรายได้ 25,001 บาทขึ้นไป และ ร้อยละ 0.8 ระบุรายได้ 20,001- 25,000 บาท ด้านการศึกษา ร้อยละ 33.2 สำเร็จการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ร้อยละ 31. 7 สำเร็จการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนต้นหรือต่ำกว่า ร้อยละ 15.8 สำเร็จการศึกษาในระดับปริญญาตรี ด้านอาชีพ ร้อยละ 40.2 ระบุมอเตอร์ไซค์รับจ้าง ร้อยละ 16.3 ระบุลูกจ้าง/พนักงานบริษัทเอกชน ร้อยละ 11.8 ระบุนักเรียน/นักศึกษา ร้อยละ 10.3 ระบุรับจ้างใช้แรงงานทั่วไป ร้อยละ 9.7 ค้าขายรายย่อย/หาบเร่แผงลอย เป็นต้น
โปรดพิจารณารายละเอียดดังตารางต่อไปนี้ ตารางที่ 1 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุประสบการณ์ในการประสบอุบัติเหตุ
ลำดับที่ การประสบอุบัติเหตุ ค่าร้อยละ 1 เคยประสบอุบัติเหตุ 47.7 2 ไม่เคย 52.3 รวมทั้งสิ้น 100.0 ตารางที่ 2 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่มีพฤติกรรมการสวมหมวกกันน็อคเมื่อขับขี่/ซ้อนรถมอเตอร์ไซค์ ลำดับที่ การสวมหมวกกันน็อค สวมทุกครั้ง ไม่ได้สวมทุกครั้ง รวมทั้งสิ้น 1 เมื่อขับขี่/ซ้อนบนถนนใหญ่ 70.8 29.2 100.0 2 เมื่อขับขี่/ซ้อนในซอย 29.5 70.5 100.0 ตารางที่ 3 ร้อยละของตัวอย่างที่ระบุการเคยเห็นคนอื่นถูกตำรวจจับเพราะไม่ใส่หมวกกันน็อคในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา ลำดับที่ การเคยเห็นคนถูกตำรวจจับเพราะไม่ใส่หมวกกันน็อค รถมอเตอร์ไซค์ส่วนตัว รถมอเตอร์ไซค์รับจ้าง ภาพรวม คนขับ คนซ้อน คนขับ คนซ้อน 1 ไม่เคยเห็น 45.6 62.8 44.1 51.7 47.4 2 เคยเห็น 54.4 37.2 55.9 48.3 52.6 รวมทั้งสิ้น 100.0 100.0 100.0 100.0 100.0 ตารางที่ 4 ร้อยละของตัวอย่างที่ระบุการเคยถูกตำรวจจับเมื่อไม่ใส่หมวกกันน็อค ลำดับที่ การเคยถูกตำรวจจับเมื่อไม่ใส่หมวกกันน็อค รถมอเตอร์ไซค์ส่วนตัว รถมอเตอร์ไซค์รับจ้าง ภาพรวม คนขับ คนซ้อน คนขับ คนซ้อน 1 ไม่เคยเลย 54.1 74.4 43.0 76.4 54.2 2 เคย 45.9 25.6 57.0 23.6 45.8 รวมทั้งสิ้น 100.0 100.0 100.0 100.0 100.0 ตารางที่ 5 ร้อยละของตัวอย่างที่แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับมาตราการการสวมหมวกกันน็อคขณะขับขี่/ซ้อนรถมอเตอร์ไซค์ (ตอบได้มากกว่า 1 ข้อ) ลำดับที่ ความคิดเห็น ร้อยละ 1 ใช้การรณรงค์ผ่านสื่อหลักอย่างโทรทัศน์ หนังสือพิมพ์และวิทยุ 65.3 2 ให้ตำรวจกวดขันเข้มงวดจับกุมอย่างจริงจังต่อเนื่อง 53.3 3 ทำกิจกรรมรณรงค์ในระดับจังหวัด 41.4 4 รณรงค์ผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์ อาทิ เฟซบุ๊ค ทวิตเตอร์ 28.6 5 ควรเพิ่มค่าปรับให้สูงมากกว่านี้ 26.3 6 ใช้อัตราการเจ็บหรือการตายโดยไม่ได้สวมหมวกกันน็อคเป็นส่วนหนึ่งในการประเมินผลงานของเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบในพื้นที่นั้น 17.2 7 เมื่อบาดเจ็บ ให้รับผิดชอบค่ารักษาพยาบาลด้วยตนเอง 16.9 8 อื่นๆ ให้ผู้ฝ่าฝืนกฎหมายทำกิจกรรมสาธารณประโยชน์ 1.7
--เอแบคโพลล์--