เอแบคโพลล์: บทบาท พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ชินวัตร ในการเมืองไทย กับ ความคิดเห็นของประชาชนว่าด้วยเรื่อง เขาพระวิหารและข้อเสนอให้สังคมไทยสงบสุข

ข่าวผลสำรวจ Monday January 14, 2013 08:06 —เอแบคโพลล์

น.ส.ปุณฑรีก์ อิศรางกูร ณ อยุธยา ผู้ช่วยผู้อำนวยการสำนักวิจัยเอแบคโพลล์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เปิดเผยผลวิจัยเชิงสำรวจ เรื่อง บทบาท พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ชินวัตร ในการเมืองไทย กับความคิดเห็นของประชาชนว่าด้วยเรื่อง เขาพระวิหารและข้อเสนอให้สังคมไทยสงบสุข กรณีศึกษาตัวอย่างเฉพาะคนที่ติดตามข่าวการเมืองใน 17 จังหวัดของประเทศ ได้แก่ กรุงเทพมหานคร เพชรบุรี สระบุรี นครปฐม ชลบุรี กำแพงเพชร เพชรบูรณ์ เชียงใหม่ มหาสารคาม ร้อยเอ็ด นครราชสีมา เลย ขอนแก่น อุบลราชธานี นราธิวาส นครศรีธรรมราชและสงขลา จำนวนทั้งสิ้น 2,071ตัวอย่าง ดำเนินโครงการระหว่างวันที่ 7 — 12 มกราคม 2556 ที่ผ่านมา โดยใช้การเลือกตัวอย่างแบบแบ่งกลุ่มเชิงชั้นภูมิหลายชั้น ที่สุ่มเลือกจังหวัด อำเภอ ตำบล ชุมชน ครัวเรือน และประชาชนที่ตอบแบบสอบถามระดับครัวเรือน โดยส่วนใหญ่หรือร้อยละ 88.1 ติดตามข่าวการเมืองเป็นประจำทุกสัปดาห์

เมื่อถามว่า ถ้าตัด พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ชินวัตร ออกจากแนวทางการแก้ปัญหาความขัดแย้งในหมู่ประชาชน ปัญหาความขัดแย้งจะจบลงหรือไม่ พบว่า เกินครึ่งหรือร้อยละ 52.7 ไม่คิดว่าจะจบ ในขณะที่ร้อยละ 47.3 คิดว่าจะจบ

เมื่อถามถึงบทบาทของ พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ชินวัตรที่ควรมีในสังคมไทย พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 67.9 ระบุควรเป็นบทบาทในการแก้ปัญหาปากท้อง เศรษฐกิจ ชักชวนนักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุน ในขณะที่ร้อยละ 32.1 ระบุแก้ปัญหาการเมืองลดความขัดแย้ง

ที่น่าพิจารณาคือ เมื่อถามว่า คนกลุ่มไหนของ พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ชินวัตร มีมากกว่ากัน ระหว่าง กลุ่มคนที่ใช้ พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ชินวัตร เพื่อเข้าสู่อำนาจและอยู่อย่างสุขสบายมีมากกว่า หรือ กลุ่มคนที่มีอำนาจเป็นรัฐมนตรีและจริงใจต่อ พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ชินวัตร มีมากกว่า ซึ่งพบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 56.1 ระบุ กลุ่มคนที่ใช้ พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ชินวัตร เพื่อเข้าสู่อำนาจและอยู่อย่างสุขสบายมีมากกว่า ในขณะที่ ร้อยละ 43.9 ระบุ กลุ่มคนที่มีอำนาจเป็นรัฐมนตรีและจริงใจ ต่อ พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ชินวัตร มีมากกว่า ตามลำดับ

อย่างไรก็ตาม ประชาชนส่วนใหญ่หรือร้อยละ 82.6 ยังคงเชื่อมั่นว่า วิถีแห่งประชาธิปไตยจะสามารถแก้ปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในหมู่ประชาชนได้ ในขณะที่ร้อยละ 17.4 ไม่เชื่อมั่น

นอกจากนี้ เมื่อสอบถามถึงกรณีเขาพระวิหาร พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 70.1 ระบุควรปล่อยให้เป็นไปตามกระบวนการยุติธรรม ในขณะที่ร้อยละ 29.9 ระบุควรมีการเคลื่อนไหวของภาคประชาชน โดยตัวอย่างส่วนใหญ่หรือร้อยละ 66.8 ระบุทางออกที่ดีที่สุดของการแก้ปัญหาพื้นที่ทับซ้อนชายแดนไทยคือ ให้ทั้งสองประเทศตั้งคณะทำงานขึ้นศึกษาแนวทางใช้ประโยชน์พัฒนาประเทศร่วมกัน ในขณะที่ ร้อยละ 33.2 ระบุควรชี้ขาดไปเลยว่าเป็นของประเทศใดประเทศหนึ่ง

ผู้ช่วย ผอ.เอแบคโพลล์ กล่าวว่า มีความเป็นไปได้ที่สังคมไทยจะสงบสุขร่มเย็นขึ้นมาอีกครั้งถ้า “คนไทย” ทุกคนในชาติไม่ปฏิเสธ “คนไทย” ด้วยกันเอง อย่างไรก็ตาม บรรยากาศการเมืองในขณะนี้ยังคงเป็นอุปสรรคต่อการแสดงบทบาทของ พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ชินวัตร เพราะรัฐบาล นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ยังคงเผชิญกับแรงเสียดทานวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง และยังคงเห็นภาพของนักการเมืองฝ่ายรัฐบาลโจมตีทะเลาะเบาะแว้งกับนักการเมืองฝ่ายค้านเป็นประจำทุกสัปดาห์ ทำให้เกิดการรับรู้ของสาธารณชน บรรยากาศโดยภาพรวมยังไม่ดีขึ้น จึงเสนอให้ลองพิจารณา “โรดแมปให้คนไทยรักกันคืนความสุขให้แผ่นดิน” ดังนี้

หลักกิโลที่หนึ่งคือความเข้าใจต่อสถานการณ์ภาพรวมว่า คนไทยจำนวนไม่น้อยต่อต้าน พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ แต่จำนวนมากก็ต้องการ พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ และประชาชนก่ำกึ่งกันมองว่าไม่มี พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ความขัดแย้งแตกแยกในหมู่ประชาชนก็ “ไม่จบ” ดังนั้น หลักกิโลที่สองคือ พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ควรเลือกบทบาทที่ตรงกับความต้องการของชาวบ้านส่วนใหญ่ของประเทศ โดยเฉพาะการแสดงความจงรักภักดีต่อสถาบันหลักของชาติอย่างจริงจังต่อเนื่องเพราะเป็นแนวทางสำคัญในการรวมทุกคนในชาติเป็นหนึ่งเดียวกัน และการแสดงบทบาทในการแก้ปัญหาปากท้องและพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ

นอกจากนี้ หลักกิโลที่สามคือ การแนะนำคณะบุคคลที่ “ดีและเก่ง” มาทำงานแก้ปัญหาเดือดร้อนของประชาชนให้กับรัฐบาล และหาทางเจรจากับกลุ่มคนที่มีอำนาจในรัฐบาลให้ระวังความเสื่อมเสียในภาพลักษณ์เพราะมันย่อมกระทบมายังรัฐบาล นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และ กระทบชิ่งมายัง พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ชินวัตร อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ส่งผลให้โอกาสที่จะให้เกิดความสงบสุขในสังคมโดยรัฐบาลชุดปัจจุบันยิ่งลดลงไปอีก

“การที่นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีเรียกร้องให้สังคมไทย “คิดบวก” และทำสิ่งที่สร้างสรรค์นั้น นายกรัฐมนตรีต้องไปตกลงกับภายในรัฐบาลเพื่อหามาตรการควบคุมพฤติกรรมของนักการเมืองฝ่ายรัฐบาลให้ได้เสียก่อนโดยต้องให้พวกเขาประพฤติตนเป็นแบบอย่างที่ดีอย่างต่อเนื่องตลอดอายุของรัฐบาล ไม่ให้มีพฤติกรรม “ยี้” เกิดขึ้น ไม่เช่นนั้นคงยากที่จะทำให้สาธารณชน “คิดบวก” เพราะภาพลักษณ์และหลักฐานที่มันเป็นจริงมันทำให้สาธารณชนต้อง “คิดลบ” สุดท้าย หลักกิโลที่สี่ คือ การใช้เวลาเป็นเครื่องพิสูจน์และหนุนเสริมให้เกิดการยอมรับความผิดพลาดของทุกฝ่ายในสังคมผ่านกระบวนการยุติธรรม เพราะกระบวนการยุติธรรมในเวลานี้ฝังรากลึกแข็งแกร่งในหมู่ประชาชนจำนวนมาก และเมื่อเวลามาถึงกระบวนการยุติธรรมของสังคมย่อมเป็นทางออกเนื่องจากผู้ใหญ่ส่วนมากย่อมมีความเมตตากรุณาและต่างก็อยากเห็นสังคมไทยสงบสุข” น.ส.ปุณฑรีก์ กล่าว

จากการพิจารณาลักษณะทั่วไปของตัวอย่าง พบว่า ตัวอย่างร้อยละ 49.9 เป็นชาย ร้อยละ 50.1 เป็นหญิง ตัวอย่างร้อยละ 4.8 อายุน้อยกว่า 20 ปี ร้อยละ 20.8 อายุระหว่าง 20—29 ปี ร้อยละ 20.3 อายุระหว่าง 30—39 ปี ร้อยละ 19.2 อายุระหว่าง 40—49 ปี และ ร้อยละ 34.9 อายุ 50 ปีขึ้นไป ตัวอย่างร้อยละ 72.2 สำเร็จการศึกษาต่ำกว่าปริญญาตรี ร้อยละ 23.3 สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี ในขณะที่ร้อยละ 4.5 สำเร็จการศึกษาสูงกว่าปริญญาตรี ตัวอย่างร้อยละ 33.4 ระบุอาชีพเกษตรกร/รับจ้างทั่วไป ร้อยละ 31.5 ระบุอาชีพค้าขาย/ธุรกิจส่วนตัว ร้อยละ 8.7 ระบุเป็นพนักงานเอกชน ร้อยละ 8.6 ระบุข้าราชการ/พนักงานรัฐวิสาหกิจ ร้อยละ 7.4 เป็นนักเรียนนักศึกษา ร้อยละ 7.1 เป็นแม่บ้าน/พ่อบ้าน/เกษียณอายุ ร้อยละ 3.3 ว่างงาน/ไม่ได้ประกอบอาชีพ

ตารางที่ 1 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุการติดตามข่าวสารการเมืองผ่านสื่อมวลชน ในช่วง 30 วันที่ผ่านมา
ลำดับที่          การติดตามข่าวสารการเมืองผ่านสื่อมวลชน          ค่าร้อยละ
1          ติดตามข่าวการเมืองเป็นประจำทุกสัปดาห์                 88.1
2          ติดตามบ้างไม่ทุกสัปดาห์                              11.9
          รวมทั้งสิ้น                                        100.0


ตารางที่ 2 แสดงค่าร้อยละตัวอย่างที่ระบุ ถ้าตัด พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ชินวัตร ออกจากแนวทางการแก้ปัญหาความขัดแย้งในหมู่ประชาชน
ปัญหาความขัดแย้งจะจบลงหรือไม่
ลำดับที่          ความคิดเห็น                       ค่าร้อยละ
1          คิดว่าจะจบ                              47.3
2          ไม่คิดว่าจะจบ                            52.7
          รวมทั้งสิ้น                               100.0

ตารางที่ 3 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุ บทบาท พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ที่ควรมี
ลำดับที่          ความคิดเห็น                                           ค่าร้อยละ
1          แก้ปัญหาการเมืองลดปัญหาความขัดแย้ง                              32.1
2          แก้ปัญหาปากท้อง เศรษฐกิจ ชักชวนนักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุน           67.9
          รวมทั้งสิ้น                                                   100.0

ตารางที่ 4 แสดงค่าร้อยละตัวอย่างที่ระบุ คำตอบต่อคำถามที่ว่า คนกลุ่มไหนของ พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ  ชินวัตร มีมากกว่ากัน
ระหว่าง กลุ่มคนที่ใช้ พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ  ชินวัตร เพื่อเข้าสู่อำนาจและอยู่อย่างสุขสบายมีมากกว่า หรือ กลุ่มคน
ที่มีอำนาจเป็นรัฐมนตรีและจริงใจต่อ พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ  ชินวัตร มีมากกว่า
ลำดับที่          กลุ่มคนสองกลุ่มของ พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ  ชินวัตร                                 ค่าร้อยละ
1          กลุ่มคนที่ใช้ พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ชินวัตร เพื่อเข้าสู่อำนาจและอยู่อย่างสุขสบายมีมากกว่า          56.1
2          กลุ่มคนที่มีอำนาจเป็นรัฐมนตรีและจริงใจต่อ พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ  ชินวัตร มีมากกว่า             43.9
          รวมทั้งสิ้น                                                                  100.0

ตารางที่ 5 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุ ความเชื่อมั่นต่อวิถีแห่งประชาธิปไตยจะสามารถแก้ปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในหมู่ประชาชนได้
ลำดับที่          ความเชื่อมั่น                       ค่าร้อยละ
1          เชื่อมั่น                                 82.6
2          ไม่เชื่อมั่น                               17.4
          รวมทั้งสิ้น                               100.0

ตารางที่ 6 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุความคิดเห็นกรณีเขาพระวิหารควรปล่อยให้เป็นไปตามกระบวนการยุติธรรม
หรือควรมีการเคลื่อนไหวของภาคประชาชน
ลำดับที่          ความคิดเห็น                            ค่าร้อยละ
1          ควรปล่อยให้เป็นไปตามกระบวนการยุติธรรม          70.1
2          ควรมีการเคลื่อนไหวของภาคประชาชน              29.9
          รวมทั้งสิ้น                                    100.0

ตารางที่ 7 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุ ทางออกที่ดีที่สุดของการแก้ปัญหาพื้นที่ทับซ้อนชายแดนไทย
ลำดับที่          ทางออกที่ดีที่สุด                                                         ค่าร้อยละ
1          ให้ทั้งสองประเทศตั้งคณะทำงานขึ้นศึกษาแนวทางใช้ประโยชน์พัฒนาประเทศร่วมกัน               66.8
2          ชี้ขาดไปเลยว่าเป็นของประเทศใดประเทศหนึ่ง                                        33.2
          รวมทั้งสิ้น                                                                   100.0

--เอแบคโพลล์--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ