เอแบคโพลล์: แนวโน้มการเปลี่ยนแปลงในดัชนีภาวะความเป็นผู้นำของนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ในฐานะนายกรัฐมนตรี

ข่าวผลสำรวจ Monday January 21, 2013 07:06 —เอแบคโพลล์

ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยเอแบคโพลล์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เปิดเผยผลวิจัยเชิงสำรวจ เรื่อง แนวโน้มการเปลี่ยนแปลงในดัชนีภาวะความเป็นผู้นำของนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ในฐานะนายกรัฐมนตรี กรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนอายุ 18 ปีขึ้นไปใน 17 จังหวัดของประเทศ ได้แก่ กรุงเทพมหานคร จันทบุรี ลพบุรี ปทุมธานี ชลบุรี พิจิตร เพชรบูรณ์ เชียงใหม่ มุกดาหาร หนองคาย ชัยภูมิ สุรินทร์ อุดรธานี ขอนแก่น พัทลุง สุราษฎร์ธานี และนครศรีธรรมราช จำนวนทั้งสิ้น 2,182 ตัวอย่าง ดำเนินโครงการระหว่างวันที่ 10 — 19 มกราคม 2556 ที่ผ่านมา โดยใช้การเลือกตัวอย่างแบบแบ่งกลุ่มเชิงชั้นภูมิหลายชั้น ที่สุ่มเลือกจังหวัด อำเภอ ตำบล ชุมชน ครัวเรือน และประชาชนที่ตอบแบบสอบถามระดับครัวเรือน ความคลาดเคลื่อนร้อยละ 7 พบว่า
          เมื่อวิเคราะห์แนวโน้มการเปลี่ยนแปลงในดัชนีภาวะความเป็นผู้นำของนายกรัฐมนตรี นางสาวยิ่งลักษณ์ระหว่างเดือนตุลาคม          ปี 2555 กับเดือนมกราคม ปี 2556 พบว่า ดัชนีภาวะความเป็นผู้นำที่ชาวบ้านระบุว่าเพิ่มขึ้นและเพิ่มขึ้นมากที่สุดอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติหรือกล่าวได้ว่ามีการเปลี่ยนแปลงในระดับที่ “น่าพอใจ” ได้แก่ ความสุภาพอ่อนโยน จากร้อยละ 51.9 ในเดือนตุลาคม ปี 2555 มาอยู่ที่  ร้อยละ 85.0 ในเดือนมกราคม ปี 2556 โดยมีการเปลี่ยนแปลงในทิศทางบวกถึงร้อยละ 33.1 รองลงมาคือ ความอดทนอดกลั้น รู้จักควบคุมอารมณ์ เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 47.8 ในเดือนตุลาคม ปี 2555 มาอยู่ที่ร้อยละ 78.1 ในเดือนมกราคม ปี 2556 และความโอบอ้อมอารี เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 54.0 มาอยู่ที่ร้อยละ 74.8 คือมีการเปลี่ยนแปลงในทิศทางบวกถึงร้อยละ 30.3 และร้อยละ 20.8 ตามลำดับ

ดร.นพดล กล่าวต่อว่า ส่วนตัวชี้วัดอื่นๆ ที่น่าสนใจคือ มีความรู้ความสามารถ เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 44.6 คือ “สอบตก” ในเดือนตุลาคม ปี 2555 มาอยู่ที่ร้อยละ 65.0 คือ “สอบได้” ในเดือนมกราคม ปี 2556 ซึ่งถือว่ามีการเปลี่ยนแปลงในทิศทางบวกอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติถึงร้อยละ 20.4 นอกจากนี้ ตัวชี้วัดด้านการประพฤติตนเป็นแบบอย่างที่ดี เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 53.5 มาอยู่ที่ร้อยละ 70.9 มีการเปลี่ยนแปลงในทิศทางบวกถึงร้อยละ 17.4 และความเป็นคนรุ่นใหม่ มีกรอบแนวคิดการมองอะไรใหม่ๆ เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 60.9 มาอยู่ที่ร้อยละ 73.0

ที่น่าพิจารณาคือ ตัวชี้วัดความเป็นผู้นำที่พบว่า มีการเปลี่ยนแปลงในทิศทางบวกแต่ไม่มีนัยสำคัญทางสถิติหรือกล่าวว่าอยู่ในระดับที่ “ค่อนข้างน่าพอใจ” ได้แก่ ความมีวิสัยทัศน์ เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 53.7 มาอยู่ที่ร้อยละ 63.4 และด้านการได้รับการยอมรับทั้งภายในประเทศและต่างประเทศเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 58.9 มาอยู่ที่ร้อยละ 67.0

อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนแปลงในความเป็นผู้นำตามทรรศนะของประชาชนที่ต้อง “เฝ้าระวังรักษาไว้” ให้มีมากยิ่งขึ้น คือ ด้านจริยธรรมทางการเมืองที่เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 50.8 มาอยู่ที่ร้อยละ 55.8 ด้านความเสียสละ เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 55.1 มาอยู่ที่ร้อยละ 58.5 ด้านความคิดสร้างสรรค์ เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 57.1 มาอยู่ที่ร้อยละ 60.1 ด้านความเป็นตัวของตัวเอง ลดลงจากร้อยละ 63.7 มาอยู่ที่ร้อยละ 61.0 คือเปลี่ยนแปลงในทางลบอยู่ร้อยละ 2.7 แต่ไม่มีนัยสำคัญทางสถิติและด้านความกล้าคิดกล้าตัดสินใจ ที่พบร้อยละ 52.5 ในเดือนตุลาคมปี 2555 มาอยู่ที่ร้อยละ 52.8 ในเดือนมกราคม ปี 2556

ที่น่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง คือ กลุ่มดัชนีความเป็นผู้นำของนายกรัฐมนตรี นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่กำลังตกอยู่ใน “ภาวะวิกฤตที่ต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษ” เพราะมีอยู่ไม่ถึงร้อยละ 50 ได้แก่ การแก้ปัญหา (บริหาร) ความขัดแย้ง จากร้อยละ 49.2 ในเดือนตุลาคม 2555 ลดลงมาอีกอยู่ที่ร้อยละ 47.7 ในเดือนมกราคม 2556 ด้านความรวดเร็วฉับไวในการแก้ปัญหา ลดลงจากร้อยละ 49.8 มาอยู่ที่ร้อยละ 48.5 และด้านความยุติธรรม ที่ค้นพบร้อยละ 49.6 ในเดือนตุลาคม ปี 2555 และร้อยละ 49.9 ในเดือนมกราคม ปี 2556 และด้านความซื่อสัตย์สุจริตพบร้อยละ 51.3 ในเดือนตุลาคม และร้อยละ 51.0 ในการสำรวจครั้งนี้

ที่น่าพิจารณาคือ เมื่อสอบถามถึงความตั้งใจจะเลือกพรรคการเมือง ถ้าวันนี้เป็นวันเลือกตั้ง พบว่า จำนวนมากที่สุดหรือร้อยละ 42.8 ยังคงเลือกพรรคเพื่อไทยอีก ในขณะที่ร้อยละ 26.5 เลือกพรรคประชาธิปัตย์ และร้อยละ 30.7 เลือกพรรคอื่นๆ

ผอ.เอแบคโพลล์ กล่าวว่า โมเดลความเป็นผู้นำตามกรอบแนวคิดของสำนักวิจัยเอแบคโพลล์ หรือ ABAC POLL Model of PM Leadership ครั้งนี้ชี้ให้เห็นว่า ดัชนีความเป็นผู้นำของนายกรัฐมนตรี นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร กำลังเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจนในหลายตัวชี้วัดและที่กำลังเด่นชัดที่สุด คือ ความสุภาพอ่อนโยน ตามด้วย ความอดทน อดกลั้น รู้จักควบคุมอารมณ์ มีความโอบอ้อมอารี แต่ดัชนีภาวะความเป็นผู้นำเหล่านี้จำเป็นต้องมีภาวะความเป็นผู้นำด้านอื่นๆ ประกอบเสริมจึงจะทำให้เกิดเสถียรภาพความมั่นคงในความเป็นผู้นำของความเป็นนายกรัฐมนตรีอย่างยั่งยืน นั่นคือ ชาวบ้านต้องจับต้องได้ ลดความเดือดร้อนปัญหาปากท้อง ค่าครองชีพได้ ทำให้เกิดความเป็นธรรม ไม่เลือกปฏิบัติ และต้องช่วยลดความขัดแย้งแตกแยกของผู้คนในสังคมลงได้

ดร.นพดล กล่าวว่า นายกรัฐมนตรี นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จำเป็นต้องเร่งทำให้สาธารณชนเห็นว่า ประเทศไทยกำลังมีการเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ดีขึ้นอย่างชัดเจนและการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวมาจากความร่วมมือของประชาชนคนไทยทั้งประเทศ จึงจะช่วยลดภาพของ “อคติแห่งมหานคร” ที่เคยมีมาในอดีตที่นโยบายสาธารณะมักจะออกมาจากชนชั้นนำในกรุงเทพฯ และหัวเมืองใหญ่เพียงกลุ่มเล็กๆ และผลประโยชน์ตกอยู่ในมือของคนเฉพาะกลุ่มที่เป็นกลุ่มนายทุน ข้าราชการและนักการเมือง แต่ต่อไปนี้รัฐบาลน่าจะทำให้เห็นว่าเป็น “ผลประโยชน์ของมหาชน”

ดร.นพดล ยังกล่าวต่อว่า ถ้าเลือกตั้งอีกในวันนี้ ชาวบ้านจำนวนมากที่สุดก็ยังจะเลือกพรรคเพื่อไทย เพราะสัดส่วนของผู้มีสิทธิ มีเสียงเลือกตั้งเกินครึ่งของผู้มีสิทธิเลือกตั้งของทั้งประเทศอยู่ในพื้นที่ภาคอีสานและภาคเหนือ และแต่ละคนก็มีสิทธิ 1 เสียงเท่ากัน ไม่ใช่ว่าคนกรุงเทพมหานครจะมีสิทธิมากกว่าคนในภาคอื่น และการที่พรรคเพื่อไทยได้รับคะแนนนิยมสูงสุดเพราะพรรคเพื่อไทยมีทั้งทรัพยากรและนโยบายส่วนใหญ่เป็นสิ่งที่จับต้องได้และทำให้กลุ่มคนรายได้น้อยที่เป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศนำผลผลิตของนโยบายรัฐบาลไปใช้สอยได้ทันที (Instant Policy) คล้ายๆ บะหมี่สำเร็จรูป (Instant Noodles) เช่น นโยบายค่าแรง 300 บาท เงินเดือน 15,000 บาท โครงการจำนำข้าว แต่รัฐบาลก็ไม่ทิ้งกลุ่มคนที่มีรายได้ปานกลางขึ้นไปจึงมีนโยบายบ้านหลังแรก รถยนต์คันแรกให้กับประชาชน ในขณะที่ ประชาชนที่ถูกศึกษากลุ่มหนึ่งระบุว่า ชาวบ้านทั่วไปยังไม่เห็นความชัดเจนในนโยบายสาธารณะของพรรคประชาธิปัตย์ที่ตอบโจทย์แก้ปัญหาชาวบ้านได้ แต่กลับมีภาพของความขัดแย้ง การวิพากษ์วิจารณ์โจมตี “จุดอ่อน” ต่างๆ ในนโยบายรัฐบาลเหมือนเดิมที่เคยทำผ่านมาในอดีต

“ถ้าฝ่ายการเมืองและผู้ใหญ่ในสังคมยังคงแก้ปัญหาชาติด้วยวิธีคิด วิธีปฏิบัติแบบเดิมที่เคยได้ใช้ที่ผ่านมา พวกเราก็จะได้ผลลัพธ์และผลกระทบของการแก้ปัญหาชาติในลักษณะเดิมๆ ไม่ค่อยแตกต่างไปจากอดีตจากที่พวกเราเคยได้รับ ดังนั้น ทุกฝ่ายในสังคมจึงน่าจะมุ่งเน้นไปที่ “จุดแข็งและโอกาสของประเทศ” ทำให้สาธารณชนเกิด “แรงบันดาลใจ” ที่เป็นความหวังในหมู่ประชาชนที่จะมุ่งสู่ “ผลลัพธ์” แห่งความสำเร็จร่วมกันของทุกฝ่ายเพื่อความมั่นคงของประเทศชาติและความอยู่ดีกินดีของประชาชนส่วนใหญ่ทั้งประเทศ เพราะการมุ่งโจมตีเฉพาะจุดอ่อนที่เป็นข้อผิดพลาดต่างๆ มีแต่จะทำให้เกิดความขัดแย้งรุนแรงบานปลายไม่จบสิ้นกลายเป็นปัญหา “วัวพันหลัก” แห่งความทุกข์ของทุกคนในชาติ สลัดเท่าไหร่ก็หลุดไม่พ้นคอ” ผอ.เอแบคโพลล์ กล่าว

จากการพิจารณาลักษณะทั่วไปของตัวอย่าง พบว่า ตัวอย่างร้อยละ 49.7 เป็นชาย ร้อยละ 50.3 เป็นหญิง ตัวอย่างร้อยละ 3.7 อายุน้อยกว่า 20 ปี ร้อยละ 19.9 อายุระหว่าง 20—29 ปี ร้อยละ 20.2 อายุระหว่าง 30—39 ปี ร้อยละ 20.7 อายุระหว่าง 40—49 ปี และ ร้อยละ 35.5 อายุ 50 ปีขึ้นไป ตัวอย่างร้อยละ 58.7 สำเร็จการศึกษาต่ำกว่าปริญญาตรี ในขณะที่ ร้อยละ 41.3 สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีขึ้นไป ตัวอย่างร้อยละ 32.9 ระบุอาชีพเกษตรกร/รับจ้างทั่วไป ร้อยละ 27.1 ระบุอาชีพค้าขาย/ธุรกิจส่วนตัว ร้อยละ 10.6 ระบุเป็นพนักงานเอกชน ร้อยละ 8.0 ระบุข้าราชการ/พนักงานรัฐวิสาหกิจ ร้อยละ 8.3 ระบุเป็นนักเรียนนักศึกษา ร้อยละ 9.8 เป็นแม่บ้าน/พ่อบ้าน/เกษียณอายุ ร้อยละ 3.3 ว่างงาน/ไม่ได้ประกอบอาชีพ

ตารางที่ 1 แสดงค่าร้อยละที่ระบุความเป็นผู้นำของ นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เปรียบเทียบเดือนตุลาคม ปี 55 กับ มกราคม ปี 56
ลำดับที่          ความเป็นผู้นำด้านต่างๆ ของนางสาวยิ่งลักษณ์        ต.ค. 55  ร้อยละ    ม.ค. 56 ร้อยละ      % ที่เปลี่ยนแปลง
  1   มีความสุภาพอ่อนโยน                                        51.9                85              33.1
  2   มีความอดทนอดกลั้น รู้จักควบคุมอารมณ์                           47.8              78.1              30.3
  3   มีความโอบอ้อมอารี                                           54              74.8              20.8
  4   ความเป็นคนรุ่นใหม่ มีกรอบแนวคิดการมองอะไรใหม่ๆ                60.9                73              12.1
  5   ประพฤติตนเป็นแบบอย่างที่ดี                                   53.5              70.9              17.4
  6   ได้รับการยอมรับภายในประเทศและต่างประเทศ                    58.9                67               8.1
  7   มีความรู้ ความสามารถ                                      44.6                65              20.4
  8   มีวิสัยทัศน์                                                53.7              63.4               9.7
  9   มีความเป็นตัวของตัวเอง                                     63.7                61              -2.7
  10  มีความคิดสร้างสรรค์                                        57.1              60.1                 3
  11  มีความเสียสละ                                            55.1              58.5               3.4
  12  มีจริยธรรมทางการเมือง                                     50.8              55.8                 5
  13  กล้าคิดกล้าตัดสินใจ                                         52.5              52.8               0.3
  14  มีความซื่อสัตย์สุจริต                                         51.3                51              -0.3
  15  มีความยุติธรรม                                            49.6              49.9               0.3
  16  รวดเร็วฉับไวในการแก้ปัญหา                                  49.8              48.5              -1.3
  17  แก้ปัญหา (บริหาร) ความขัดแย้ง                               49.2              47.7              -1.5

ตารางที่ 2 แสดงค่าร้อยละที่ระบุพรรคการเมืองที่ตั้งใจจะเลือก ถ้าวันนี้เป็นวันเลือกตั้ง
ลำดับที่          พรรคการเมืองที่ตั้งใจจะเลือก ถ้าวันนี้เป็นวันเลือกตั้ง        ค่าร้อยละ
1          พรรคเพื่อไทย                                           42.8
2          พรรคประชาธิปัตย์                                        26.5
3          พรรคอื่นๆ                                              30.7
          รวมทั้งสิ้น                                              100.0

--เอแบคโพลล์--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ