เอแบคโพลล์: ผลกระทบของการนำเสนอภาพข่าวช่วงเวลาเด่น และสื่อธุรกิจภาพเซ็กซี่ต่อความรู้สึกของเด็กและเยาวชน และต่อภาพลักษณ์ของประเทศไทย

ข่าวผลสำรวจ Monday February 18, 2013 08:26 —เอแบคโพลล์

นางสาว ปุณฑรีก์ อิศรางกูร ณ อยุธยา ผู้ช่วยผู้อำนวยการศูนย์วิจัยความสุขชุมชน มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เปิดเผยผลวิจัยเชิงสำรวจ เรื่อง ผลกระทบของการนำเสนอข่าวช่วงเวลาเด่นและสื่อธุรกิจภาพเซ็กซี่ต่อความรู้สึกของเด็กและเยาวชน และต่อภาพลักษณ์ของประเทศไทย กรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนอายุ 18 ปีขึ้นไป ใน 17 จังหวัดของประเทศ ได้แก่ กรุงเทพมหานคร เพชรบุรี ฉะเชิงเทรา นครปฐม สมุทรปราการ อุตรดิตถ์ ลำปาง เชียงราย มุกดาหาร หนองคาย สกลนคร เลย ร้อยเอ็ด บุรีรัมย์ ยะลา นราธิวาส และ สงขลา จำนวนทั้งสิ้น 2,205 ตัวอย่าง ดำเนินโครงการระหว่างวันที่ 10 — 16 กุมภาพันธ์ 2556 ที่ผ่านมา โดยใช้การเลือกตัวอย่างแบบแบ่งกลุ่มเชิงชั้นภูมิหลายชั้น ที่สุ่มเลือกจังหวัด อำเภอ ตำบล ชุมชน ครัวเรือน และประชาชนที่ตอบแบบสอบถามระดับครัวเรือน โดยมีช่วงความคลาดเคลื่อนบวกลบร้อยละ 7 พบว่า

กลุ่มตัวอย่างเกือบสามในสี่หรือร้อยละ 74.0 คิดว่าสื่อในปัจจุบันมีส่วนในการชี้นำทางการเมือง มีเพียงร้อยละ 26.0 คิดว่าไม่ชี้นำ อย่างไรก็ตามเมื่อเปรียบเทียบสื่อดั้งเดิมและสื่อโซเชียลมีเดียในปัจจุบันพบว่า กลุ่มตัวอย่างเกินกว่าครึ่งหรือร้อยละ 52.8 ระบุทีวีเป็นสื่อดั้งเดิมในปัจจุบันที่นิยมนำมาใส่ร้ายป้ายสีกันทางการเมืองมากที่สุด รองลงมาคือ วิทยุชุมชน หนังสือพิมพ์ และวิทยุ ตามลำดับ ส่วนสื่อโซเชียลมีเดีย (Social Media) ในปัจจุบันที่นิยมนำมาใส่ร้ายป้ายสีกันทางการเมืองมากที่สุดหรือร้อยละ 21.7 ได้แก่ เฟสบุค (Face book) รองลงมาคือ ทวิสเตอร์ (Twitter) เว็บบอร์ด เว็บไซต์ อีเมล์ และไลน์ ตามลำดับ

ประเด็นที่น่าพิจารณา คือ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 93.3 เคยพบเห็นข่าวฆาตกรรม การสังหารโหด ผ่านรายการโทรทัศน์ข่าวทีวีช่วงเวลาเด่นในรอบ 30 วันที่ผ่านมา และกิจกรรมที่กำลังทำขณะดูข่าวฆาตกรรม การสังหารโหดผ่านข่าวทีวี ช่วงเวลาเด่น อันดับแรกได้แก่ ร้อยละ 44.3 ระบุพักผ่อน อันดับสอง ได้แก่ ร้อยละ 31.8 ระบุทานอาหาร และอันดับสามหรือร้อยละ 30.3 ได้แก่ ทำงาน ตามลำดับ

ที่น่าสนใจคือกลุ่มตัวอย่างระบุมีกลุ่มเด็กและเยาวชนจำนวนครึ่งต่อครึ่งหรือร้อยละ 50.5 ที่กำลังอยู่ด้วยกันขณะดูข่าวฆาตกรรมการสังหารโหดของผู้คนในสังคม ผ่านข่าวทีวีช่วงเวลาเด่น ในรอบ 30 วันที่ผ่านมา และจากการสังเกต พบว่ากลุ่มเด็กและเยาวชนที่ได้รับชมข่าวฆาตกรรม การสังหารโหดของผู้คนในสังคมอยู่ด้วยนั้น ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 61.0 มีอาการตกใจ รองลงมา ร้อยละ 14.5 ฝังใจกับข่าวนั้นๆ ร้อยละ 13.4 ร้องไห้ ส่วนอาการอื่นๆ ที่สังเกตเห็นคือ มีการใช้คำพูดรุนแรง และมีพฤติกรรมที่รุนแรงตามไปด้วย เป็นต้น

นอกจากนี้กลุ่มตัวอย่างเกือบสองในสามหรือร้อยละ 61.4 เห็นด้วยว่าสื่อมวลชนควรช่วยลดการนำเสนอ “ภาพข่าวฆาตกรรม ภาพการสังหารโหดร้ายของผู้คนในสังคม” ในรายการข่าวทีวีช่วงเวลาเด่น เนื่องจากกลุ่มตัวอย่างจำนวนมากหรือร้อยละ 85.6 ระบุว่ามีผลกระทบต่อเด็กและเยาวชนจากการนำเสนอ “ภาพข่าวฆาตกรรม ภาพข่าวสังหารโหดร้ายของผู้คนในสังคม”

เมื่อสอบถามถึงความเหมาะสมของสื่อธุรกิจภาพเซ็กซี่ของสายการบินพบว่า กลุ่มตัวอย่างจำนวนมากหรือร้อยละ 78.1 ระบุไม่เหมาะสม ซึ่งร้อยละ 83.2 คิดว่าสื่อธุรกิจภาพเซ็กซี่ทำให้เสียภาพลักษณ์ของสายการบินและประเทศไทย ยิ่งไปกว่านี้กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่หรือร้อยละ 85.7 ยังระบุอีกว่ากลุ่มนางแบบของสายการบินควรแต่งชุดไทยมายืนหน้าเครื่องบินแทนการแต่งชุดเซ็กซี่ จะทำให้ภาพลักษณ์ของผู้หญิงไทยดูดีในสายตาชาวต่างชาติ

นอกจากนี้เมื่อสอบถามต่อไปถึงกรณีมิวสิควีดีโอ ลูกทุ่งร่วมสมัย นุ่งน้อยห่มน้อย พบว่ากลุ่มตัวอย่างจำนวนมากหรือร้อยละ 70.8 คิดว่าเป็นการทำลายวัฒนธรรมอันดีงานของประเทศไทย โดยร้อยละ 78.8 มีความคิดเห็นต่อผู้ใหญ่ในบ้านเมืองและกลุ่มธุรกิจที่เกี่ยวข้องควรออกมาจัดการเพื่อไม่ให้เกิดการทำลายวัฒนธรรมอันดีงานของชาติและภาพลักษณ์ของคนไทยโดยส่วนรวมอีกด้วย

ผู้ช่วย ผอ.ศูนย์วิจัยความสุขชุมชน กล่าวว่า ถ้าหากทุกคนทราบว่า “สื่อ” คืออะไรและมีบทบาทสำคัญอย่างไรต่อสังคมก็จะทำให้เข้าใจและตระหนักถึงผลกระทบต่อประเทศชาติและประชาชน คณะวิจัยเล็งเห็นว่า ผลกระทบที่เกิดขึ้นจากสื่อมีความน่าเป็นห่วงต่อการรับรู้ข้อมูลข่าวสารของเด็กและเยาวชนและผลสำรวจครั้งนี้ค้นพบว่าพ่อแม่ผู้ปกครองรับรู้ได้ว่า ภาพข่าวฆาตกรรม การสังหารที่โหดร้าย และความรุนแรงรูปแบบอื่นๆ ที่ถูกนำเสนอออกมาจากภาพข่าวของสื่อมวลชนมีผลกระทบต่อเด็กและเยาวชนเพราะมันเป็นช่วงเวลาที่เด็กๆ อยู่หน้าจอทีวี ดังนั้น สื่อมวลชนน่าจะพิจารณารูปแบบการนำเสนอภาพข่าวที่จะช่วยลดทอนผลกระทบต่อเด็กและเยาวชน

“ที่น่าเป็นห่วงภาพลักษณ์ของประเทศชาติและประชาชนอีกกรณีคือ การนำเสนอสื่อภาพธุรกิจเซ็กซี่ของผู้หญิงและผู้ชายไทยจนอาจจะก่อให้เกิดความเสียหายของภาพลักษณ์ของประเทศชาติและคนไทย จึงเสนอให้ผู้ใหญ่ในสังคมและเจ้าหน้าที่รัฐออกมาช่วยกันดูแลสังคมไทยปลูกฝังเด็กและเยาวชนให้ตระหนักว่า ความอยู่รอดของชุมชน บริษัท องค์กรด้วยผลกำไรเป็นเรื่องสำคัญ แต่ประเทศชาติต้องมาก่อน หรือว่าในเวลานี้ผู้ใหญ่ในสังคมไทยยอมรับกันไปหมดว่า โป๊เปลือยเซ็กซี่นิดหน่อยไม่เป็นไร ขอให้ตนเองได้ประโยชน์ด้วย ส่วนภาพลักษณ์ของประเทศชาติและประชาชนไม่เกี่ยวกับธุรกิจและผลประโยชน์ของตน” นางสาวปุณฑรีก์ อิศรางกูร ณ อยุธยา กล่าว

จากการพิจารณาลักษณะทั่วไปของตัวอย่าง พบว่า ตัวอย่างร้อยละ 47.4 เป็นชาย ร้อยละ 52.6 เป็นหญิง ตัวอย่างร้อยละ 4.7 อายุน้อยกว่า 20 ปี ร้อยละ 20.8 อายุระหว่าง 20—29 ปี ร้อยละ 20.3 อายุระหว่าง 30—39 ปี ร้อยละ 19.2 อายุระหว่าง 40—49 ปี และ ร้อยละ 35.0 อายุ 50 ปีขึ้นไป ตัวอย่างร้อยละ 74.2 สำเร็จการศึกษาต่ำกว่าปริญญาตรี ร้อยละ 22.8 สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี ในขณะที่ร้อยละ 3.0 สำเร็จการศึกษาสูงกว่าปริญญาตรี ตัวอย่างร้อยละ 33.5 ระบุอาชีพเกษตรกร/รับจ้างทั่วไป ร้อยละ 31.5 ระบุอาชีพค้าขาย/ธุรกิจส่วนตัว ร้อยละ 8.7 ระบุเป็นพนักงานเอกชน ร้อยละ 8.6 ระบุข้าราชการ/พนักงานรัฐวิสาหกิจ ร้อยละ 7.4 ระบุเป็นนักเรียนนักศึกษา ร้อยละ 7.1 เป็นแม่บ้าน/พ่อบ้าน/เกษียณอายุ ร้อยละ 3.2 ว่างงาน/ไม่ได้ประกอบอาชีพ

ตารางที่ 1 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุสื่อในปัจจุบันมีส่วนในการชี้นำทางการเมืองหรือไม่
ลำดับที่          ความคิดเห็น            ค่าร้อยละ
1          คิดว่าใช่                     74.0
2          ไม่คิดว่าใช่                   26.0
          รวมทั้งสิ้น                    100.0

ตารางที่ 2 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุ ประเภทสื่อดั้งเดิมในปัจจุบันที่นิยมนำมาใส่ร้ายป้ายสีกันทางการเมืองมากที่สุด
ลำดับที่          ประเภทสื่อดั้งเดิม        ค่าร้อยละ
1          ทีวี                         52.8
2          วิทยุชุมชน                    24.1
3          หนังสือพิมพ์                   18.5
4          วิทยุ                         4.6
          รวมทั้งสิ้น                    100.0

ตารางที่ 3 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุ สื่อยุคใหม่ (โซเชียลมีเดีย) ในปัจจุบันที่นิยมนำมาใส่ร้ายป้ายสีกันทางการเมืองมากที่สุด
ลำดับที่          ประเภทของโซเชียลมีเดีย          ค่าร้อยละ
1          Face book                      21.7
2          Twitter                        10.3
3          เว็บบอร์ด                        25.9
4          เว็บไซต์                         23.4
5          อีเมล์                           10.2
6          ไลน์                             8.5
          รวมทั้งสิ้น                        100.0

ตารางที่ 4 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุ ประสบการณ์พบเห็นข่าวฆาตกรรม การสังหารโหดผ่านรายการโทรทัศน์ช่วงเวลาเด่น
ในรอบ 30 วัน ที่ผ่านมา
ลำดับที่          ประสบการณ์พบเห็นข่าวฆาตกรรม การสังหารโหด       ค่าร้อยละ
1          เคยพบเห็น                                         93.3
2          ไม่เคย                                             6.7
          รวมทั้งสิ้น                                          100.0


ตารางที่ 5 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุ กิจกรรมที่กำลังทำขณะดูข่าวฆาตกรรม การสังหารโหดผ่านข่าวทีวี ช่วงเวลาเด่น
(ตอบได้มากกว่า 1 ข้อ)
ลำดับที่          กิจกรรมที่กำลังทำขณะดูข่าวฆาตกรรม การสังหารโหด          ค่าร้อยละ
1          ทานอาหาร                                               31.8
2          พักผ่อน                                                  44.3
3          ทำงาน                                                  30.3

ตารางที่ 6 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุ กลุ่มเด็กและเยาวชนที่กำลังอยู่ด้วยกันขณะดูข่าวฆาตกรรม การสังหารโหดของผู้คนในสังคม ผ่าน

ข่าวทีวี ช่วงเวลาเด่น ในรอบ 30 วันที่ผ่านมา (ตอบได้มากกว่า 1 ข้อ)

ลำดับที่          กลุ่มเด็กและเยาวชนที่กำลังอยู่ด้วยขณะดูข่าวฆาตกรรม          ค่าร้อยละ
1          บางครั้งดูคนเดียว                                         57.8
2          บางครั้งดูข่าวอยู่กับเด็กและเยาวชน                            50.5

ตารางที่ 7 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุ อาการที่เกิดขึ้นกับเด็กและเยาวชนในขณะที่มีการนำเสนอข่าวฆาตกรรม
ข่าวสังหารโหดของผู้คนในสังคม (ตอบได้มากกว่า 1 ข้อ)
ลำดับที่          อาการที่เกิดขึ้นกับเด็กและเยาวชน         ค่าร้อยละ
1          สังเกตเห็นอาการตกใจ                       61.0
2          ฝังใจกับข่าวนั้น                             14.5
3          ร้องไห้                                   13.4
4          ใช้คำพูดรุนแรง                              7.2
5          มีพฤติกรรมที่รุนแรงตามไปด้วย                   3.9
          รวมทั้งสิ้น                                 100.0

ตารางที่ 8 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุสื่อมวลชนควรช่วยลดการนำเสนอ “ภาพข่าวฆาตกรรม ภาพการสังหารโหดร้ายของผู้คนในสังคม”
ในรายการข่าวทีวีช่วงเวลาเด่น
ลำดับที่          ความคิดเห็น              ค่าร้อยละ
1          เห็นด้วย                      61.4
2          ไม่เห็นด้วย                    38.6
          รวมทั้งสิ้น                     100.0

ตารางที่ 9 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุ ผลกระทบต่อเด็กและเยาวชนจากการนำเสนอ “ภาพข่าวฆาตกรรม ภาพข่าวสังหารโหดร้าย
ของผู้คนในสังคม”
ลำดับที่          ความคิดเห็น             ค่าร้อยละ
1          มีผลกระทบ                    85.6
2          ไม่คิดว่ามีผล                   14.4
          รวมทั้งสิ้น                     100.0

ตารางที่ 10 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุความเหมาะสมของสื่อธุรกิจภาพเซ็กซี่ของสายการบิน
ลำดับที่          ความคิดเห็น             ค่าร้อยละ
1          เหมาะสม                    21.9
2          ไม่เหมาะสม                  78.1
          รวมทั้งสิ้น                    100.0

ตารางที่ 11 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุ สื่อธุรกิจภาพเซ็กซี่ทำให้เสียภาพลักษณ์ของสายการบินและประเทศไทย
ลำดับที่          ความคิดเห็น              ค่าร้อยละ
1          คิดว่าใช่                      83.2
2          ไม่คิดว่าใช่                    16.8
          รวมทั้งสิ้น                     100.0

ตารางที่ 12 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุ กลุ่มนางแบบของสายการบินควรแต่งชุดไทยมายืนหน้าเครื่องบินแทนการแต่งชุดเซ็กซี่

จะทำให้ภาพลักษณ์ของผู้หญิงไทยดูดีในสายตาชาวต่างชาติ

ลำดับที่          ความคิดเห็น              ค่าร้อยละ
1          คิดว่าใช่                      85.7
2          ไม่คิดว่าใช่                    14.3
          รวมทั้งสิ้น                     100.0


ตารางที่ 13 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุมิวสิควีดีโอ ลูกทุ่งร่วมสมัย นุ่งน้อยห่มน้อย เป็นการทำลายวัฒนธรรมอันดีงามของประเทศไทย
ลำดับที่          ความคิดเห็น              ค่าร้อยละ
1          คิดว่าใช่                      70.8
2          ไม่คิดว่าใช่                    29.2
          รวมทั้งสิ้น                     100.0

ตารางที่ 14 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุ ความคิดเห็นต่อผู้ใหญ่ในบ้านเมืองและกลุ่มธุรกิจที่เกี่ยวข้องควรออกมาจัดการ

เพื่อไม่ให้เกิดการทำลายวัฒนธรรมอันดีงามของชาติและภาพลักษณ์ของคนไทยโดยส่วนรวม

ลำดับที่          ความคิดเห็น                                          ค่าร้อยละ
1          คิดว่าผู้ใหญ่ในสังคมไทยควรออกมาจัดการอะไรบางอย่าง                78.8
2          คิดว่าไม่ควรออกมา                                           21.2
          รวมทั้งสิ้น                                                  100.0

--เอแบคโพลล์--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ