“ผลสำรวจครั้งนี้ชี้ชัดว่า พล.ต.อ.ดร.พงศพัศ พงษ์เจริญ จากพรรคเพื่อไทย จะชนะการเลือกตั้ง” ดูรายละเอียดได้ที่ www.abacpoll.au.edu
ดร. นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยเอแบคโพลล์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เปิดเผยผลวิจัยเชิงสำรวจ เรื่อง โพลล์ก่อนวันเลือกตั้ง (Pre-Election Poll) ผู้ว่า กทม. 2556 กรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งผู้ว่า กทม. จำนวน 5,713 ตัวอย่าง คิดเป็นเพียงร้อยละ 0.0011 ของผู้มีสิทธิเลือกตั้งทั้งหมด ระหว่างวันที่ 28 กุมภาพันธ์ ถึง 2 มีนาคม 2556 ที่ผ่านมา โดยใช้การเลือกตัวอย่างแบบแบ่งกลุ่มเชิงชั้นภูมิหลายชั้นเลือกเขต แขวง ชุมชน และลงสัมภาษณ์แบบเคาะประตูบ้านในระดับครัวเรือน ค่าความคลาดเคลื่อนบวกลบร้อยละ 5
ผลสำรวจพบว่า ตัวอย่างประชาชนจะไปใช้สิทธิเลือกตั้งร้อยละ 66.4 และเมื่อบวกลบค่าความคลาดเคลื่อนร้อยละ 5 จะพบว่า ผู้ที่ตั้งใจจะไปใช้สิทธิเลือกตั้งอยู่ระหว่างร้อยละ 61.4 ถึงร้อยละ 71.4 โดยผู้ตอบแบบสอบถามร้อยละ 45.9 ระบุจะเลือก พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ และเมื่อบวกลบค่าความคลาดเคลื่อนร้อยละ 5 จะพบว่า ช่วงคะแนนของ พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ จะอยู่ระหว่างร้อยละ 40.9 ถึง ร้อยละ 50.9 และเมื่อประมาณการทางสถิติพบว่า ถ้าประชาชนไปใช้สิทธิเลือกตั้งร้อยละ 66.4 ตามผลสำรวจนี้ พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ ผู้สมัครจากพรรคเพื่อไทยจะได้เกินกว่าหนึ่งล้านคะแนน คืออยู่ในช่วง 1,176,781—1,464,503 คะแนน
ในขณะที่ ผู้ตอบแบบสอบถามร้อยละ 34.1 ระบุจะเลือก ม.ร.ว.สุขุมพันธ์ บริพัตร และเมื่อบวกลบค่าความคลาดเคลื่อนร้อยละ 5 ดังนั้นจึงพบว่า ม.ร.ว.สุขุมพันธ์ บริพัตร จะได้ร้อยละ 29.1 ถึงร้อยละ 39.1 และเมื่อประมาณการทางสถิติพบว่า ถ้าประชาชนไปใช้สิทธิเลือกตั้งร้อยละ 66.4 ตามผลสำรวจนี้ ม.ร.ว.สุขุมพันธ์ บริพัตร ผู้สมัครจากพรรคประชาธิปัตย์จะได้คะแนนอยู่ในช่วง 837,270 - 1,124,992 คะแนน แต่ถ้าประชาชนไม่ไปใช้สิทธิตามผลสำรวจที่ค้นพบในวันเลือกตั้งจริง ค่าคะแนนประมาณการที่ค้นพบครั้งนี้ก็อาจจะเปลี่ยนแปลงไป
ผอ.เอแบคโพลล์ กล่าวว่า ปัจจัยสำคัญที่ผลสำรวจพบ พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ จากพรรคเพื่อไทยได้รับคะแนนสูงสุดคือ ความต้องการของประชาชนคนกรุงเทพมหานครส่วนใหญ่ต้องการการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นและเบื่อความขัดแย้ง ส่วนใหญ่ต้องการทำมาหากิน ต้องการได้แนวทางแก้ไขปัญหาลดความเดือดร้อนของประชาชนได้อย่างแท้จริง โดยมุ่งหวังว่ารัฐบาลจากพรรคเพื่อไทย นายกรัฐมนตรี นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จะสามารถทำให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับปัญหาเดือดร้อนของประชาชนมีการเชื่อมประสานแบบบูรณาการ ทั้งในเรื่อง ค่าครองชีพ ค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน ปัญหาจราจร ปัญหาความไม่ปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ปัญหามลพิษสิ่งแวดล้อม ขยะเน่าเหม็น การพัฒนาพื้นที่สวนสาธารณะ การควบคุมอาคาร และการดูแลเอาใจใส่ความต้องการของประชาชนกลุ่ม “วัฒนธรรมย่อย” (Sub-Culture People) ให้ทั่วถึงด้วย
“แต่ถ้ารัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ล้มเหลวในการบริหารจัดการแก้ความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนคนกรุงเทพมหานคร ก็น่าจะถึงเวลานับถอยหลังในบทบาททางการเมืองของรัฐบาล แต่ถ้าหาก พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ ร่วมมือกับรัฐบาลเปลี่ยนแปลงกรุงเทพมหานครให้ดีขึ้นได้ตามที่เคยหาเสียงไว้ รัฐบาลและผู้ว่า กทม. คนใหม่ก็จะอยู่ได้อย่างมั่นคงแข็งแกร่ง แต่ก็ขอเตือนให้ต้องระวัง สำนวนภาษาอังกฤษที่ว่า Too Much Power in Few Hands หมายความว่า ถ้าคนเพียงหยิบมือเดียวที่เป็น “คนไม่ดี” มีอำนาจแข็งแกร่งมากเกินไปย่อมเป็นอันตรายต่อสังคมไทยและระบอบประชาธิปไตยโดยรวม จึงเสนอให้ประชาชนและสื่อมวลชนทำงานถ่วงดุลย์อำนาจรัฐบาลและติดตามเรื่องจริยธรรมทางการเมืองของรัฐบาลและผู้ว่า กทม. คนใหม่อย่างใกล้ชิด” ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยเอแบคโพลล์ กล่าว
ลำดับที่ การออกไปใช้สิทธิ์ ประมาณการเป็นจุดร้อยละ ประมาณการเป็นช่วงร้อยละ (+/- 5%) 1 ไป 66.4 61.4 — 71.4 2 ไม่ไป 33.6 28.6 — 38.6 รวมทั้งสิ้น 100.0 ตารางที่ 2 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุ ผู้สมัครที่เลือก (+/- 5%) ลำดับที่ ผู้สมัครที่ตั้งใจจะเลือก ถ้าวันนี้เป็นวันเลือกตั้งครั้งนี้ ประมาณการเป็นจุดร้อยละ ประมาณการเป็นช่วงร้อยละ (+/- 5%) ประมาณการเป็นคะแนน*** 1 พล.ต.อ. พงศพัศ พงษ์เจริญ พรรคเพื่อไทย 45.9 (1,320,642) 40.9 — 50.9 1,176,781 —1,464,503 2 ม.ร.ว. สุขุมพันธุ์ บริพัตร พรรคประชาธิปัตย์ 34.1 (981,130) 29.1 — 39.1 837,270 - 1,124,992 3 พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียาเวส ผู้สมัครอิสระ 8.2 (235,932) 3.2 — 13.2 92,070 - 379,793 4 อื่นๆ เช่น นายโฆสิต สุวินิจจิต นายสุหฤท สยามวาลา ผู้สมัครอิสระ เป็นต้น 7.3 (210,037) 2.3 — 12.3 66,175 - 353,898 5 ไม่ประสงค์ลงคะแนน / คำตอบเป็นโมฆะ 4.5 รวมทั้งสิ้น 100.0
***หมายเหตุ ถ้าประชาชนไปใช้สิทธิเลือกตั้งร้อยละ 66.4 ตามผลสำรวจที่ค้นพบครั้งนี้
--เอแบคโพลล์--