เอแบคโพลล์: จุดยืนทางการเมืองของคนกรุงเทพมหานครหลังเลือกตั้งผู้ว่า กทม.

ข่าวผลสำรวจ Monday March 11, 2013 07:37 —เอแบคโพลล์

ดร. นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยเอแบคโพลล์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เปิดเผยผลวิจัยเชิงสำรวจ เรื่อง จุดยืนทางการเมืองของคนกรุงเทพมหานครหลังเลือกตั้ง ผู้ว่า กทม. กรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งในเขตกรุงเทพมหานคร จำนวนทั้งสิ้น 1,525 ตัวอย่าง ดำเนินโครงการและวิเคราะห์ข้อมูลระหว่างวันที่ 7 - 9 มีนาคม 2556 ที่ผ่านมา โดยใช้การเลือกตัวอย่างแบบแบ่งกลุ่มเชิงชั้นภูมิหลายชั้นเลือกเขต แขวง ชุมชน และลงสัมภาษณ์แบบเคาะประตูบ้านในระดับครัวเรือน ค่าความคลาดเคลื่อนบวกลบร้อยละ 7 พบว่า

ประเด็นที่น่าสนใจคือ ประชาชนคนกรุงเทพมหานครส่วนใหญ่หรือร้อยละ 59.9 ไม่ฝักใฝ่ทางการเมือง ขออยู่ตรงกลาง ในขณะที่ร้อยละ 17.2 สนับสนุนรัฐบาล และร้อยละ 22.9 ไม่สนับสนุนรัฐบาล

เมื่อสอบถามถึงประเด็นข่าวร้อนทางการเมืองที่ประชาชนคนกรุงเทพมหานครกำลังให้ความสนใจ เมื่อตอบได้มากกว่า 1 ข้อ พบว่าส่วนใหญ่หรือร้อยละ 58.4 สนใจข่าวการเจรจาระหว่างรัฐบาลไทยกับมาเลเซียเรื่องความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ รองลงมาคือ ร้อยละ 58.0 สนใจข่าวการแก้ปัญหายาเสพติด ร้อยละ 33.5 สนใจข่าววิกฤตพลังงานไฟฟ้าช่วงเดือนเมษายนที่จะมาถึงนี้ ร้อยละ 32.7 สนใจข่าวทุจริตคอรัปชั่นการสร้างโรงพัก ในขณะที่ร้อยละ 26.2 สนใจข่าวกรณี กกต. ยังไม่รองรับผลการเลือกตั้งผู้ว่า กทม. ร้อยละ 25.8 สนใจข่าวคดีประสาทเขาพระวิหาร ร้อยละ 22.7 สนใจข่าว พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ร้อยละ 19.7 สนใจข่าวเงินกู้ 2.2 ล้านล้านบาท ร้อยละ 17.2 สนใจข่าวการไกล่เกลี่ยคดีหมิ่นประมาทระหว่างนายอภิสิทธิ์กับนายจตุพร และร้อยละ 13.2 สนใจข่าวรัฐมนตรีถอดสูทใส่ชุดผ้าไทยเพื่อประหยัดพลังงาน

ที่น่าเป็นห่วงคือ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 84.1 เชื่อว่าทุกรัฐบาลที่ผ่านมาก็มีทุจริตคอรัปชั่นด้วยกันทั้งนั้น และส่วนใหญ่หรือร้อยละ 68.8 คิดว่าความขัดแย้งของสองพรรคการเมืองใหญ่จะรุนแรงบานปลายขึ้นอีก ในขณะที่ร้อยละ 31.2 ไม่คิดว่าจะขัดแย้งรุนแรง โดยส่วนใหญ่หรือร้อยละ 62.9 ระบุแนวโน้มของความขัดแย้งในสถานการณ์การเมืองระดับชาติจะกลับมารุนแรงเหมือนเดิมถึงรุนแรงมากขึ้นเพราะเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ปัญหาทุจริตคอรัปชั่น และปัญหาค่าครองชีพ เป็นต้น

          เมื่อถามถึงความรู้สึกของประชาชนหลังการเลือกตั้งผู้ว่า กทม. เมื่อฝ่ายการเมืองนำประเด็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และการนิรโทษกรรมทางการเมืองมาถกเถียงกัน พบว่า ครึ่งหนึ่งหรือร้อยละ 50.0 รู้สึกเบื่อถึงเบื่อมากที่สุด ในขณะที่        ร้อยละ 36.7 รู้สึกเฉยๆ และร้อยละ 13.3 รู้สึกไม่ค่อยเบื่อถึงไม่เบื่อเลย

ที่น่าสนใจคือ คนกรุงเทพมหานครส่วนใหญ่หรือร้อยละ 89.8 ระบุประชาชนควรให้ความเคารพความรู้สึกต่อกันและกันเกี่ยวกับคะแนนของผู้สมัครจากทั้งสองพรรคการเมืองที่ได้เกินล้านคะแนนด้วยกันทั้งคู่

ผอ.เอแบคโพลล์ กล่าวว่า สถานการณ์บ้านเมืองขณะนี้อยู่ในสภาวะที่น่าเป็นห่วงเพราะประชาชนที่ไม่ฝักใฝ่ทางการเมือง ไม่เลือกข้างแต่จะถูกแบ่งแตกแยกออกเป็นสองข้างที่มากพอๆ กัน แต่ที่น่าสนใจคือจากการสัมภาษณ์เชิงลึกพบว่า ที่จริงแล้วประชาชนส่วนใหญ่สนใจติดตามข่าวสารทางการเมืองและรู้ว่าอะไรถูกอะไรผิดในทางการเมืองจึงประกาศตนว่าเป็นกลุ่มคนที่ไม่ฝักใฝ่ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด และส่วนใหญ่ก็ไม่สนับสนุนความรุนแรงทุกรูปแบบโดยขอให้แนวทางการแก้ไขทุกปัญหาทางการเมืองเป็นไปตามกระบวนการยุติธรรมและสันติวิธี

“การเคลื่อนไหวทางการเมืองเวลานี้ให้ระวังจะกลายเป็น “น้ำผึ้งหยดเดียว” ที่อาจนำไปสู่ความรุนแรงบานปลายส่งผลกระทบต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนส่วนใหญ่ทั้งประเทศจนยากจะควบคุมสถานการณ์ผลกระทบนั้น ดังนั้น การตัดไฟแต่ต้นลมและการหนุนเสริมให้ประชาชนทุกคนในชาติมีความรักความสามัคคีเป็นหนึ่งเดียวกันไม่แตกแยก ไม่แบ่งฝ่าย ไม่รับใช้ “สี” ของนักการเมืองเพราะนักการเมืองต้องทำหน้าที่ลดความขัดแย้งในระบอบประชาธิปไตยไม่ใช่กลายเป็นผู้สร้างความขัดแย้งเสียเอง โดยต้องทำให้ประชาชนทุกคนรับใช้ “สีของธงไตรรงค์” เป็นหนึ่งเดียวกันและทำให้ทุกคนตระหนักถึงความเสียหายที่จะเกิดขึ้นตามมาว่าเมื่อบ้านเมืองลุกเป็นไฟจะทำให้ความทุกข์ยากตกกับทุกคนที่อยู่ในประเทศมากกว่าคนที่ไม่ได้อยู่ในผืนแผ่นดินไทย” ดร.นพดล กล่าว

จากการพิจารณาลักษณะทั่วไปของตัวอย่าง พบว่า ตัวอย่างร้อยละ 53.3 เป็นหญิง ร้อยละ 46.7 เป็นชาย ตัวอย่างร้อยละ 4.2 อายุน้อยกว่า 20 ปี ร้อยละ 18.3 อายุระหว่าง 20—29 ปี ร้อยละ 22.3 อายุระหว่าง 30—39 ปี ร้อยละ 22.4 อายุระหว่าง 40—49 ปี และ ร้อยละ 32.8 อายุ 50 ปีขึ้นไป ตัวอย่างร้อยละ 64.2 สำเร็จการศึกษาต่ำกว่าปริญญาตรี ร้อยละ 34.3 สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี ในขณะที่ร้อยละ 1.5 สำเร็จการศึกษาสูงกว่าปริญญาตรี ตัวอย่างร้อยละ 35.2 ระบุอาชีพค้าขาย/ธุรกิจส่วนตัว ร้อยละ 22.0 ระบุเป็นพนักงานเอกชน ร้อยละ 6.0 ระบุข้าราชการ/พนักงานรัฐวิสาหกิจ ร้อยละ 8.6 เป็นนักเรียนนักศึกษา ร้อยละ 14.2 รับจ้างใช้แรงงานทั่วไป ร้อยละ 10.8 เป็นแม่บ้าน/พ่อบ้าน/เกษียณอายุ ร้อยละ 3.2 ว่างงาน/ไม่ได้ประกอบอาชีพ

ตารางที่ 1 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุ จุดยืนทางการเมืองของคนกรุงเทพ
ลำดับที่          จุดยืนทางการเมืองของคนกรุงเทพ          ค่าร้อยละ
1          สนับสนุนรัฐบาล                               17.2
2          ไม่สนับสนุนรัฐบาล                             22.9
3          ไม่ฝักใฝ่ทางการเมือง ขออยู่ตรงกลาง              59.9
          รวมทั้งสิ้น                                   100.0

ตารางที่ 2 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุ ประเด็นข่าวร้อนทางการเมืองที่ให้ความสนใจ(ตอบได้มากกว่า 1 ข้อ)
ลำดับที่          ประเด็นข่าวร้อนทางการเมือง                                           ค่าร้อยละ
1          การเจรจาระหว่างรัฐบาลไทยกับมาเลเซียเรื่องความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนใต้          58.4
2          การแก้ปัญหายาเสพติด                                                        58.0
3          วิกฤตพลังงานไฟฟ้าช่วงเดือนเมษายน                                             33.5
4          ทุจริตคอรัปชั่นการสร้างโรงพัก                                                  32.7
5          กรณี กกต.ยังไม่รองรับผลการเลือกตั้งผู้ว่ากทม.                                     26.2
6          คดีประสาทเขาพระวิหาร                                                      25.8
7          พ.ร.บ.นิรโทษกรรม                                                         22.7
8          เงินกู้ 2.2 ล้านล้านบาท                                                      19.7
9          การไกล่เกลี่ยคดีหมิ่นประมาทระหว่างนายอภิสิทธิ์-นายจตุพร                             17.2
10          รัฐมนตรีถอดสูทใส่ชุดผ้าไทยเพื่อประหยัดพลังงาน                                    13.2

ตารางที่ 3 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุ ความเชื่อที่ว่า ทุกรัฐบาลก็มีทุจริตคอรัปชั่นด้วยกันทั้งนั้น
ลำดับที่          ความเชื่อ                              ค่าร้อยละ
1          เชื่อว่าทุกรัฐบาลก็มีทุจริตคอรัปชั่นด้วยกันทั้งนั้น          84.1
2          ไม่เชื่อ                                      15.9
          รวมทั้งสิ้น                                    100.0

ตารางที่ 4 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุ ความขัดแย้งของสองพรรคการเมืองใหญ่หลังการเลือกตั้งผู้ว่า กทม. ที่ผ่านมา
ลำดับที่          ความคิดเห็น                       ค่าร้อยละ
1          คิดว่าจะขัดแย้งรุนแรงบานปลายขึ้นอีก           68.8
2          ไม่คิดว่าจะขัดแย้งรุนแรง                    31.2
          รวมทั้งสิ้น                               100.0

ตารางที่ 5 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุแนวโน้มของความขัดแย้งในสถานการณ์ทางการเมืองระดับชาติ หลังการ
เลือกตั้งผู้ว่ากทม. 2556
ลำดับที่          แนวโน้มของความขัดแย้ง            ค่าร้อยละ
1          รุนแรงเหมือนเดิม ถึงรุนแรงมากขึ้น เพราะเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ปัญหาทุจริตคอรัปชั่น และปัญหาค่าครองชีพ เป็นต้น          62.9
2          รุนแรงน้อยถึงไม่มีเลย                    37.1
          รวมทั้งสิ้น                             100.0

ตารางที่ 6 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุ ความรู้สึกของประชาชนหลังจากการเลือกตั้งผู้ว่า กทม.เมื่อฝ่ายการเมือง
นำประเด็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญและการนิรโทษกรรมทางการเมืองมาถกเถียงกัน
ลำดับที่          ความรู้สึกของประชาชน           ค่าร้อยละ
1          เบื่อถึงเบื่อมากที่สุด                    50.0
2          เฉยๆ                              36.7
3          ไม่ค่อยเบื่อถึงไม่เบื่อเลย                13.3
          รวมทั้งสิ้น                           100.0

ตารางที่ 7 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุความคิดเห็นของประชาชนในการเคารพซึ่งกันและกัน เกี่ยวกับคะแนนของ
ผู้สมัครทั้งสองพรรคการเมืองที่ได้เกินล้านคะแนนด้วยกันทั้งคู่
ลำดับที่          ความคิดเห็น                                 ค่าร้อยละ
1          ควรให้ความเคารพความรู้สึกต่อกันและกัน                  89.8
2          ไม่ควรให้ความเคารพต่อกัน                            10.2
          รวมทั้งสิ้น                                         100.0

--เอแบคโพลล์--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ