เอแบคโพลล์: จุดวิกฤตของปัญหาทุจริตคอรัปชั่นในหมู่คนไทย จุดวิกฤตของประเทศและผลประโยชน์ของทุกคน

ข่าวผลสำรวจ Monday March 18, 2013 06:49 —เอแบคโพลล์

ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยเอแบคโพลล์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เปิดเผยผลวิจัยเชิงสำรวจ เรื่อง จุดวิกฤตของปัญหาทุจริตคอรัปชั่นในหมู่คนไทย จุดวิกฤตของประเทศและผลประโยชน์ของทุกคน กรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนอายุ 10 ปีขึ้นไป ในเขตกรุงเทพมหานคร จำนวนทั้งสิ้น 1,561 ตัวอย่าง ดำเนินโครงการระหว่างวันที่ 12 — 16 มีนาคม 2556 ที่ผ่านมา โดยใช้การเลือกตัวอย่างแบบแบ่งกลุ่มเชิงชั้นภูมิหลายชั้น ที่สุ่มเลือกจังหวัด อำเภอ ตำบล ชุมชน ครัวเรือน และประชาชนที่ตอบแบบสอบถามระดับครัวเรือน โดยมีช่วงความคลาดเคลื่อนบวกลบร้อยละ 7 พบว่า

ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 87.0 เห็นด้วยกับข้อความที่ว่า โกหกบ้างไม่เป็นไรเพื่อความอยู่รอด และส่วนใหญ่หรือร้อยละ 93.3 เคยโกหกในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา แต่ที่น่าเป็นห่วงคือ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 87.5 เห็นด้วยกับการเลี้ยงดูปูเสื่อรับรองคณะกรรมการจัดซื้อจัดจ้างเป็นเรื่องปกติธรรมดาของการทำธุรกิจ และพฤติกรรมที่น่ารังเกลียดของคนไทยที่ค้นพบคือ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 87.6 เคยลัดคิวเพื่อซื้อสินค้าหรือใช้บริการต่างๆ นอกจากนี้ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 80.2 เคยให้สินบนสินน้ำใจตอบแทนเจ้าหน้าที่ที่ให้บริการเพื่ออำนวยความสะดวกและเพื่อประโยชน์ของตนเองค่อนข้างบ่อยถึงบ่อยที่สุด

นอกจากนี้ ในกลุ่มนักเรียนนักศึกษาที่ค้นพบคือ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 92.4 เคยลอกการบ้านหรือรายงานของเพื่อนในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา และที่น่าเป็นห่วงคือส่วนใหญ่หรือร้อยละ 74.9 เคยลอกข้อสอบ แอบดูคำตอบ แอบนำเนื้อหาเข้าห้องสอบอีกด้วย ยิ่งไปกว่านั้น เมื่อหันมาพิจารณาพฤติกรรมในกลุ่มแม่พิมพ์ของชาติหรือคณะครู พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 85.3 เชื่อว่ามีการทุจริตจริงในการโกงข้อสอบสอบครูผู้ช่วย โดยตัวอย่างส่วนใหญ่หรือร้อยละ 82.4 ระบุรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการต้องรับผิดชอบต่อกรณีทุจริตโกงข้อสอบสอบครูผู้ช่วย

ที่น่าเป็นห่วงคือ เมื่อพิจารณาข้อมูลที่ค้นพบในกลุ่มข้าราชการ เจ้าหน้าที่ของหน่วยงานรัฐและบริษัทเอกชน พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 81.2 เคยมีพฤติกรรมคอรัปชั่นขณะปฏิบัติงาน เช่น เคยทำงานส่วนตัว ออกไปทำธุระส่วนตัวในเวลาทำงานโดยไม่ได้ขออนุญาตผู้บังคับบัญชา นอกจากนี้ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 83.6 เคยคอรัปชั่นทรัพย์สินของสำนักงานเพื่อประโยชน์ส่วนตัวที่ไม่เกี่ยวกับงานอีกด้วย ในขณะที่ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 64.7 เคยพบเห็นเคยรับรู้ว่าคนในหน่วยงานทุจริตข้อสอบเลื่อนขั้นเลื่อนตำแหน่ง และส่วนใหญ่หรือร้อยละ 88.6 คิดว่าปัจจุบันมีการทุจริตคอรัปชั่นเกิดขึ้นกับทุกหน่วยงานราชการ

ที่น่าพิจารณาคือ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 93.0 เห็นด้วยที่หน่วยงานที่ทำหน้าที่ปราบปรามการทุจริตคอรัปชั่นควรถูกตรวจสอบด้วย นอกจากนี้ ร้อยละ 38.5 ไม่รับรู้รับทราบผลงานของทั้ง ป.ป.ท. และ ป.ป.ช. ในการป้องกันปราบปรามการทุจริตคอรัปชั่น ในขณะที่ร้อยละ 26.7 รับรู้ทั้งสองหน่วยงาน ร้อยละ 24.7 รับรู้รับทราบผลงานของ ป.ป.ช. มากกว่า และเพียงร้อยละ 10.1 เท่านั้นที่รับรู้ผลงานของ ป.ป.ท. มากกว่า

ผอ.เอแบคโพลล์ กล่าวว่า ประเทศไทยกำลังอยู่ในขั้นวิกฤตในปัญหาทุจริตคอรัปชั่นอย่างกว้างขวางเนื่องจากคนไทยส่วนใหญ่อาจมองข้ามพฤติกรรมที่เป็นเชื้อแห่งการทุจริตคอรัปชั่นเล็กน้อยในวัยเด็กที่ปล่อยให้ลอกข้อสอบลอกการบ้านจนถึงกลุ่มผู้ใหญ่ที่ขาดความมีวินัยคอยแต่จ้องลัดคิวแซงคิว ปล่อยให้มีการเลี้ยงดูปูเสื่อคณะกรรมการจัดซื้อจัดจ้าง การทุจริตในการเลื่อนขั้นเลื่อนตำแหน่ง ขาดระบบคุณธรรมที่สุดท้ายส่งผลกระทบทำให้ปัญหาทุจริตคอรัปชั่นเติบโตอย่างกว้างขวาง เพราะผลวิจัยล่าสุดค้นพบว่า มีเชื้อแห่งพฤติกรรมการทุจริตคอรัปชั่นเริ่มขึ้นตั้งแต่ในกลุ่มนักเรียนนักศึกษา กลุ่มแม่พิมพ์ของชาติที่เป็นครูบาอาจารย์ กลุ่มเจ้าหน้าที่รัฐและพนักงานบริษัทเอกชน ซึ่งจะเห็นได้ว่าประชาชนส่วนใหญ่กำลังอยู่ท่ามกลางบรรยากาศของการทุจริตคอรัปชั่นอย่างรุนแรง ดังนั้น ผู้ใหญ่ในสังคมต้องทำให้เห็นเป็นตัวอย่างที่ดี จึงขอเสนอทางออกที่น่าพิจารณาคือ

ประการแรก ได้แก่ เรียกร้องให้รัฐบาลนำงบประมาณในการพัฒนาประเทศทั้งหมดเปิดเผยต่อสาธารณชนผ่านเว็บไซต์เพื่อให้ประชาชนทั่วไปสามารถแกะรอยการใช้จ่ายงบประมาณตั้งแต่ ต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำของทุกเม็ดเงินจนถึงมือประชาชนและพื้นที่ของการพัฒนาเพื่อสร้างความวางใจของสาธารณชนต่อรัฐบาล (Trust in the Government)

ประการที่สอง ได้แก่ เสนอให้แจกแจงรายละเอียดในใบเสร็จรับเงินค่าปรับต่างๆ ว่านำเงินค่าปรับเหล่านั้นไปใช้ทำอะไรบ้าง เช่น ส่งไปยังรัฐบาลกลางเพื่อพัฒนาประเทศ บางส่วนส่งไปพัฒนาห้องสมุดประชาชน บางส่วนส่งให้กับหน่วยงานที่จับกุมผู้กระทำความผิด และบางส่วนนำไปพัฒนาท้องถิ่นที่พบผู้กระทำความผิดนั้นๆ เป็นต้น เพื่อสร้างความวางใจของสาธารณชนต่อเจ้าหน้าที่รัฐ (Trust in the Public Officials)

ประการที่สาม ได้แก่ การรณรงค์ต่อต้านการทุจริตคอรัปชั่นเป็นเรื่องสำคัญแต่ความรวดเร็วฉับไวในการคุ้มครองพยานที่กำลังถูกคุกคามในพื้นที่ที่มีการทุจริตคอรัปชั่นอย่างรุนแรงน่าจะสำคัญกว่าเพราะมีหลายพื้นที่ของประเทศในเวลานี้ ประชาชนจำนวนมากอึดอัดกับพฤติกรรมการทุจริตคอรัปชั่นของนักการเมืองระดับชาติและระดับท้องถิ่นแต่พวกเขาตกอยู่ภายใต้อิทธิพลมืดที่ไม่มีหน่วยงานรัฐใดดูแลความปลอดภัยของพวกเขาได้อย่างจริงจังต่อเนื่อง

ประการที่สี่ ได้แก่ กระตุ้นให้ประชาชนใช้เทคโนโลยีจับการทุจริตคอรัปชั่นของคน เช่น เปิดไลน์ (LINE) ห้องปราบทุจริตคอรัปชั่น โซเชียลเน็ตเวิร์ค เฟซบุ๊ค ทวิตเตอร์ สื่อสารมวลชน หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชนและรัฐบาลร่วมบูรณาการปราบปรามการเรียกรับผลประโยชน์และการทุจริตคอรัปชั่น

ประการที่ห้า ได้แก่ ทุกหน่วยงานของรัฐต้องมีระบบการคัดเลือกแต่งตั้งคนดีและเก่งขึ้นเป็นผู้นำหน่วยโดย “ขจัด” การแทรกแซงของฝ่ายการเมืองที่มักจะทำให้เกิดการวิ่งเต้น การซื้อขายตำแหน่งขึ้นในทุกหน่วยงาน ดังนั้นเสนอให้ใช้ระบบคุณธรรมที่ประกอบด้วยสามส่วนได้แก่ ผลงาน อาวุโส และการสอบเลื่อนขั้นเลื่อนตำแหน่ง โดยผลงานต้องเป็นผลงานที่จับต้องได้เป็นที่ยอมรับของคนในหน่วยและเป็นที่พึงพอใจของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง นอกจากนี้ยังต้องมีความอาวุโส และผ่านการสอบที่บริสุทธิ์ยุติธรรมตรวจสอบได้

“เพราะถ้าปล่อยให้เกิดการทุจริตคอรัปชั่นอย่างกว้างขวางเช่นนี้ต่อไป ในขณะที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็ยังไม่สามารถควบคุมสถานการณ์ปัญหาทุจริตคอรัปชั่นเอาไว้ได้ ผลที่ตามมาก็คือ ประเทศไทยและประชาชนทุกคนภายในประเทศคงจะพบกับความทุกข์ความเดือดร้อน ความไม่พอใจที่เกิดขึ้นกับตนเองกับคนใกล้ชิดและสังคมโดยส่วนรวมอย่างถาวร” ดร.นพดล กล่าว

จากการพิจารณาลักษณะทั่วไปของตัวอย่าง พบว่า ตัวอย่างร้อยละ 46.7 เป็นชาย

ร้อยละ 53.3 เป็นหญิง

ตัวอย่าง ร้อยละ 17.4 อายุน้อยกว่า 20 ปี

ร้อยละ 15.2 อายุระหว่าง 20—29 ปี

ร้อยละ 20.1 อายุระหว่าง 30—39 ปี

ร้อยละ 19.6 อายุระหว่าง 40—49 ปี

และร้อยละ 27.7 อายุ 50 ปีขึ้นไป

ตัวอย่าง ร้อยละ 75.5 สำเร็จการศึกษาต่ำกว่าระดับปริญญาตรี

ร้อยละ 23.2 สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี

และร้อยละ 1.3 สำเร็จการศึกษาสูงกว่าระดับปริญญาตรี

ตัวอย่าง ร้อยละ 11.0 ระบุอาชีพเกษตรกร/รับจ้างทั่วไป

ร้อยละ 27.3 ระบุอาชีพค้าขาย/ธุรกิจส่วนตัว

ร้อยละ 21.5 ระบุเป็นพนักงานเอกชน

ร้อยละ 6.5 ระบุข้าราชการ/พนักงานรัฐวิสาหกิจ

ร้อยละ 20.2 ระบุเป็นนักเรียน/นักศึกษา

ร้อยละ 10.3 เป็นแม่บ้าน/พ่อบ้าน/เกษียณอายุ

และร้อยละ 3.2 ระบุว่างงาน/ไม่ได้ประกอบอาชีพ

ตัวอย่าง ร้อยละ 29.5 ระบุทำงานด้านคมนาคม/การสื่อสาร

ร้อยละ 15.8 ระบุอยู่ฝ่ายขาย

ร้อยละ 10.2 ระบุทำบัญชี/การเงิน

ร้อยละ 6.5 ระบุทำงานด้านธุรการ

ร้อยละ 6.2 ระบุทำงานด้านการตลาด

ร้อยละ 5.3 ระบุอยู่ฝ่ายบุคคล

ร้อยละ 5.2 ระบุฝ่ายเทคโนโลยีสารสนเทศ

ร้อยละ 4.5 ระบุ ฝ่ายผลิต

ร้อยละ 3.4 ระบุอยู่ฝ่ายจัดซื้อ/จัดจ้าง

ร้อยละ 3.0 ระบุอยู่ฝ่ายบริหาร

ร้อยละ 2.4 ระบุทำงานด้านวิชาการ

ร้อยละ 2.0 ระบุเป็นเลขานุการ

ร้อยละ 2.0 ระบุฝ่ายกฎหมาย

ร้อยละ 1.9 ระบุเป็นครู/อาจารย์

ร้อยละ 1.4 ระบุฝ่ายนโยบายและแผน

และร้อยละ 0.7 ระบุทำงานก่อสร้าง

ตารางที่ 1 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุ ความคิดเห็นต่อข้อความที่ว่าโกหกบ้างไม่เป็นไรเพื่อความอยู่รอด
ลำดับที่          ความคิดเห็น            ค่าร้อยละ
1          เห็นด้วย                     87.0
2          ไม่เห็นด้วย                   13.0
          รวมทั้งสิ้น                    100.0

ตารางที่ 2 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุ พฤติกรรมโกหก ในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา
ลำดับที่          พฤติกรรม              ค่าร้อยละ
1          เคย                        93.3
2          ไม่เคย                       6.7
                    รวมทั้งสิ้น          100.0

ตารางที่ 3 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุ ความคิดเห็นต่อการเลี้ยงดูปูเสื่อรับรองคณะกรรมการจัดซื้อจัดจ้างเป็นเรื่องปกติธรรมดา
ของการทำธุรกิจ
ลำดับที่          ความคิดเห็น                                                               ค่าร้อยละ
1          เห็นด้วยกับการเลี้ยงดูปูเสื่อรับรองคณะกรรมการจัดซื้อจัดจ้างว่าเป็นเรื่องปกติธรรมดาของการทำธุรกิจ    87.5
2          ไม่เห็นด้วย                                                                      12.5
          รวมทั้งสิ้น                                                                       100.0

ตารางที่ 4 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุ เคยลัดคิวเพื่อซื้อสินค้าหรือใช้บริการต่างๆ
ลำดับที่          พฤติกรรมลัดคิว          ค่าร้อยละ
1          ค่อนข้างมากถึงมากที่สุด          87.6
2          ค่อนข้างน้อยถึงไม่เคยเลย        12.4
          รวมทั้งสิ้น                    100.0

ตารางที่ 5 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุ เคยให้สินบนสินน้ำใจตอบแทนเจ้าหน้าที่ที่ให้บริการเพื่ออำนวยความสะดวก
และเพื่อประโยชน์ของตนเอง
ลำดับที่          พฤติกรรมให้สินบน สินน้ำใจ          ค่าร้อยละ
1          ค่อนข้างบ่อยถึงบ่อยมากที่สุด               80.2
2          ไม่ค่อยบ่อยถึงไม่เคยเลย                 19.8
          รวมทั้งสิ้น                            100.0

ตารางที่ 6 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุ เคยลอกการบ้านหรือรายงานของเพื่อน  ในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา
(เฉพาะตัวอย่างนักเรียน นักศึกษา)
ลำดับที่          พฤติกรรมลอกการบ้านหรือรายงานของเพื่อน ในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา      ค่าร้อยละ
1          เคย                                                             92.4
2          ไม่เคยเลย                                                         7.6
          รวมทั้งสิ้น                                                         100.0

ตารางที่ 7 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุ เคยลอกข้อสอบ แอบดูคำตอบ หรือแอบนำเนื้อหาที่ใช้ในการสอบเข้าไปในห้องสอบ
ในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา (เฉพาะตัวอย่างนักเรียน นักศึกษา)
ลำดับที่          พฤติกรรมลอกข้อสอบ แอบดูคำตอบ แอบนำเนื้อหาเข้าห้องสอบ   ค่าร้อยละ
1          เคย                                                  74.9
2          ไม่เคยเลย                                             25.1
          รวมทั้งสิ้น                                              100.0

ตารางที่ 8 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุ ความคิดเห็นการทุจริตโกงข้อสอบสอบครูผู้ช่วย
ลำดับที่          ความคิดเห็น           ค่าร้อยละ
1          เชื่อว่ามีการทุจริตจริง          85.3
2          ไม่เชื่อ                     14.7
          รวมทั้งสิ้น                   100.0

ตารางที่ 9 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุ ความคิดเห็นว่ารัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการต้องรับผิดชอบ
ต่อกรณีการทุจริตโกงข้อสอบสอบครูผู้ช่วย
ลำดับที่          ความคิดเห็น      ค่าร้อยละ
1          ต้องรับผิดชอบ          82.4
2          ไม่ต้องรับผิดชอบ        17.6
          รวมทั้งสิ้น             100.0

ตารางที่ 10 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุ เคยทำงานส่วนตัว/ออกไปทำธุระส่วนตัว ในเวลาทำงานโดยไม่ได้ขออนุญาต

ผู้บังคับบัญชา ในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา (เฉพาะตัวอย่างที่กำลังทำงานของหน่วยงานรัฐ และบริษัทเอกชน)

ลำดับที่          พฤติกรรมคอรัปชั่นเวลา ขณะปฏิบัติงาน      ค่าร้อยละ
1          เคย                                     81.2
2          ไม่เคยเลย                                18.8
          รวมทั้งสิ้น                                 100.0

ตารางที่ 11 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุ เคยนำวัสดุอุปกรณ์สำนักงานมาใช้เพื่อประโยชน์ส่วนตัวที่ไม่เกี่ยวกับงาน

ในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา (เฉพาะตัวอย่างที่กำลังทำงานของหน่วยงานรัฐ และบริษัทเอกชน)

ลำดับที่          พฤติกรรมยักยอก คอรัปชั่นทรัพย์สินของสำนักงาน       ค่าร้อยละ
1          เคย                                             83.6
2          ไม่เคยเลย                                        16.4
          รวมทั้งสิ้น                                         100.0

ตารางที่ 12 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุ ประสบการณ์พบเห็นคนในหน่วยงานของตนเองทุจริตข้อสอบเพื่อเลื่อนขั้นเลื่อนตำแหน่ง

(เฉพาะตัวอย่างที่กำลังทำงานของหน่วยงานรัฐ และบริษัทเอกชน)

ลำดับที่          ประสบการณ์พบเห็นคนในหน่วยงานทุจริตข้อสอบเลื่อนขั้นเลื่อนตำแหน่ง  ค่าร้อยละ
1          เคยพบเห็น เคยรับรู้                                           64.7
2          ไม่เคยพบเห็นเลย                                             35.3
          รวมทั้งสิ้น                                                   100.0

ตารางที่ 13 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุ ความคิดเห็นว่าปัจจุบันมีการทุจริตคอรัปชั่นเกิดขึ้นกับทุกหน่วยงานราชการ
ลำดับที่          ความคิดเห็น          ค่าร้อยละ
1          คิดว่ามี                   88.6
2          ไม่คิดว่ามี                 11.4
          รวมทั้งสิ้น                 100.0

ตารางที่ 14 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุ หน่วยงานที่ทำหน้าที่ปราบปรามการทุจริตคอรัปชั่นควรถูกตรวจสอบด้วย
ลำดับที่          ความคิดเห็น                ค่าร้อยละ
1          เห็นด้วยถึงเห็นด้วยอย่างยิ่ง           93.0
2          ไม่เห็นด้วยถึงไม่เห็นด้วยอย่างยิ่ง        7.0
          รวมทั้งสิ้น                        100.0

ตารางที่ 15 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุ รับรู้บทบาทการทำงานด้านการป้องกันปราบปรามการทุจริตคอรัปชั่น
ลำดับที่          ความคิดเห็น                                                            ค่าร้อยละ
1          รับรู้ผลงานของ ป.ป. ท. หรือ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ    10.1
2          รับรู้ผลงานของ ป.ป. ช. หรือ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ     24.7
3          รับรู้ของทั้งสองเท่ากัน                                                           26.7
4          ไม่รับรู้รับทราบผลงานของทั้งสองหน่วยงานนี้เลย                                        38.5
          รวมทั้งสิ้น                                                                    100.0

--เอแบคโพลล์--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ