เอแบคโพลล์: ปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน ปัจจัยสั่นคลอนรัฐบาลและโอกาสที่สาธารณชนให้กับนายกรัฐมนตรี

ข่าวผลสำรวจ Monday May 20, 2013 06:55 —เอแบคโพลล์

สำนักวิจัยเอแบคโพลล์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เสนอผลวิจัยเชิงสำรวจ เรื่อง

ปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน ปัจจัยสั่นคลอนรัฐบาลและโอกาสที่สาธารณชนให้กับนายกรัฐมนตรี

กรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนอายุ 18 ปีขึ้นไป ใน 17 จังหวัดของประเทศ

ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยเอแบคโพลล์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เปิดเผยผลวิจัยเชิงสำรวจ เรื่อง ปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน ปัจจัยสั่นคลอนรัฐบาล และโอกาสที่สาธารณชนให้กับนายกรัฐมนตรี กรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนอายุ 18 ปีขึ้นไปใน 17 จังหวัดของประเทศ ได้แก่ กรุงเทพมหานคร นนทบุรี ปทุมธานี อยุธยา ตราด สระแก้ว นครราชสีมา ศรีสะเกษ ขอนแก่น หนองคาย มุกดาหาร เชียงใหม่ พิษณุโลก พิจิตร พังงา สงขลา และปัตตานี จำนวนทั้งสิ้น 2,115 ตัวอย่าง ดำเนินโครงการระหว่างวันที่ 10 — 18 พฤษภาคม 2556 ที่ผ่านมา โดยใช้การเลือกตัวอย่างแบบแบ่งกลุ่มเชิงชั้นภูมิหลายชั้น ที่สุ่มเลือกจังหวัด อำเภอ ตำบล ชุมชน ครัวเรือน และประชาชนที่ตอบแบบสอบถามระดับครัวเรือนความคลาดเคลื่อนบวกลบร้อยละ 7 พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่หรือร้อยละ 88.6 ติดตามข่าวการเมืองผ่านสื่อมวลชนเป็นประจำทุกสัปดาห์ ที่น่าพิจารณาคือ ประชาชนร้อยละ 36.5 กำลังเดือดร้อนในระดับมากถึงมากที่สุด ร้อยละ 50.3 เดือดร้อนระดับปานกลาง มีเพียงร้อยละ 13.2 เดือดร้อนน้อยถึงไม่เดือดร้อนเลย และเมื่อถามถึงความใส่ใจของเจ้าหน้าที่รัฐต่อการแก้ปัญหาเดือดร้อนของประชาชนโดยหน่วยงานของรัฐ พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 65.7 ระบุเจ้าหน้าที่รัฐใส่ใจน้อยถึงไม่ใส่ใจเลย ในขณะที่ร้อยละ 34.3 ระบุใส่ใจมากถึงมากที่สุด

และเมื่อถามถึงสาเหตุที่ทำให้เจ้าหน้าที่รัฐไม่ใส่ใจแก้ปัญหาความเดือดร้อนต่างๆ ของประชาชน พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 64.6 ระบุคนดี คนเก่ง คนทำงานให้ประชาชนกลับไม่ได้รับการสนับสนุน รองลงมาคือร้อยละ 63.5 ระบุผู้ใหญ่ในสังคมที่มีอำนาจ มีบารมี ประพฤติตนไม่ดี ทำลายระบบคุณธรรมเสียเอง ร้อยละ 55.7 ระบุนักการเมืองแต่งตั้งเจ้าหน้าที่รัฐโดยไม่ยึดหลักคุณธรรม ร้อยละ 54.0 ระบุประชาชนส่วนใหญ่ในชุมชนไม่มีโอกาสประเมินผลงานของเจ้าหน้าที่รัฐโดยตรง และร้อยละ 40.9 ระบุประชาชนส่วนใหญ่ในชุมชนไม่มีโอกาสให้ความดีความชอบเจ้าหน้าที่รัฐโดยตรง ที่น่าเป็นห่วงคือ เมื่อสอบถามถึงปัจจัยที่จะทำให้รัฐบาลสั่นคลอน พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 85.2 ระบุข้าวของแพง ค่าครองชีพสูงเป็นปัจจัยสั่นคลอนรัฐบาล รองลงมาคือ ร้อยละ 81.9 ระบุการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ร้อยละ 74.4 ระบุความขัดแย้งในการปรับคณะรัฐมนตรี ร้อยละ 74.0 ระบุการวิพากษ์วิจารณ์เงินกู้ 2.2 ล้านล้านบาท ร้อยละ 69.6 ระบุการนิรโทษกรรม ร้อยละ 67.3 ระบุการชุมนุมโจมตีตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ร้อยละ 64.6 ระบุการออก พ.ร.บ.ปรองดองฯ ร้อยละ 62.2 ระบุข่าวการทำรัฐประหาร ร้อยละ 61.6 ระบุการชุมนุมที่สนามหลวงของกลุ่มแนวร่วมคนไทยรักชาติฯ และร้อยละ 57.9 ระบุความขัดแย้งระหว่างรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กับ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย

อย่างไรก็ตาม ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 73.8 ยังเชื่อว่าการลงพื้นที่พบปะประชาชนบ่อยๆ เป็นปัจจัยสนับสนุนเสถียรภาพความมั่นคงของรัฐบาล รองลงมาคือร้อยละ 73.1 ระบุการขึ้นเงินเดือนข้าราชการ ร้อยละ 71.6 ระบุการมีมวลชนสนับสนุนรัฐบาลจำนวนมาก ร้อยละ 71.3 ระบุนโยบายขึ้นค่าแรง 300 บาทต่อวัน ร้อยละ 47.7 ระบุการเดินทางไปปาฐกถาต่างประเทศของนายกรัฐมนตรี ร้อยละ 45.7 ระบุการสนับสนุนโดย พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ชินวัตร ร้อยละ 33.2 ระบุการออกมาตอบโต้ฝ่ายตรงข้ามของคุณโอ๊ค พานทองแท้

และเมื่อถามถึงโอกาสที่สาธารณชนยังให้โอกาสนายกรัฐมนตรี นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ทำงานต่อไป พบว่า ร้อยละ 55.9 ให้โอกาสมากกว่า 2 ปีจนครบวาระ ร้อยละ 11.5 ให้โอกาส 1 ถึง 2 ปี ร้อยละ 6.5 ให้โอกาส 6 เดือนถึง 1 ปี ในขณะที่ร้อยละ 15.3 ให้โอกาสไม่เกิน 6 เดือน และร้อยละ 10.8 ไม่มีความเห็น

ผอ.เอแบคโพลล์ กล่าวว่า สังคมไทยกำลังอ่อนไหวและเปราะบาง ถ้าฝ่ายที่มีอำนาจทางการเมืองไม่เข้มแข็ง ไม่อยู่บนครรลองครองธรรม ฝ่ายเจ้าหน้าที่รัฐที่ถูกเลือกปฏิบัติในช่วงรัฐบาลปัจจุบันอาจได้จังหวะรวมตัวกันท้าทายอำนาจรัฐ เพราะประชาชนส่วนใหญ่กำลังเดือดร้อน ปัญหาทุจริตคอรัปชั่นยังคงเกิดขึ้นอย่างกว้างขวาง นโยบายสาธารณะของรัฐบาลเกิดขึ้นจากศูนย์รวมอำนาจในส่วนกลางกำลังกลายเป็น “อคติแห่งนครา” คือ กรุงเทพมหานครและหัวเมืองใหญ่เป็นแหล่งอำนาจ อคติ และอิทธิพลในการออกนโยบายสาธารณะที่มักคำนึงถึงแต่ผลประโยชน์ส่วนตัวและพวกพ้องโดยขาดการเชื่อมโยงกับภาคประชาสังคมอย่างแท้จริง จนอาจเกิดสถานการณ์ที่ว่า ความสั่นคลอนและความไม่มีเสถียรภาพของรัฐบาลยังไม่น่ากลัวเท่ากับความขัดแย้งรุนแรงบานปลายในหมู่ประชาชนที่ยากจะควบคุมได้เพราะมันจะกระทบต่อวิถีชีวิตของประชาชนอย่างกว้างขวาง ทางออกที่น่าพิจารณาคือ

ประการแรก เสนอให้รัฐบาลและเจ้าหน้าที่รัฐ ทำหน้าที่เป็น “รัฐบาลสามัญชน” ที่เน้นการกระจายทรัพยากรไปยังประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศตามภูมิภาคท้องถิ่นต่างๆ และไปยังกลุ่มเจ้าหน้าที่รัฐส่วนหน้าที่ทำงานสัมผัสกับประชาชน โดยไม่รวมศูนย์อยู่ที่กลุ่มคนชั้นนำในกรุงเทพมหานครและหัวเมืองใหญ่เพียงอย่างเดียว ต้องเชื่อมโยงกับภาคประชาสังคมในระดับท้องถิ่นและรวดเร็วฉับไวต่อการแก้ปัญหาเดือดร้อนของสาธารณชน

ประการที่สอง เป็นรัฐบาลที่น่าไว้วางใจจากสาธารณชน โดยไม่เป็น “รัฐบาลกินรวบ” และไม่ทำให้เกิดการเข้าใจในหมู่ประชาชนว่า รัฐบาลกำลังยึดครองอำนาจฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติที่อาจก่อให้เกิดความรู้สึกว่าออกกฎหมายเพื่อประโยชน์ของตนและพวกพ้อง และผ่านกฎหมายต่างๆ ได้เองเพราะมีเครือข่ายพรรคพวกในระบบอย่างแน่นแฟ้น

ประการที่สาม การเคลื่อนไหวทางการเมืองของภาคประชาสังคมบนท้องถนนนับหมื่นนับแสนคนต้องนำไปสู่ “การเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบายสาธารณะ” ไม่ใช่การนำมวลหมู่ประชาชนออกมาในที่แจ้งได้นับหมื่นนับแสนเพียงเพื่อรักษาสถานะอำนาจทางการเมืองและผลประโยชน์ส่วนตัวหรือพวกพ้อง เพราะความเป็นผู้นำของสาธารณชน (Public Leadership) ที่สามารถชักจูงประชาชนออกมาได้จำนวนมากต้องนำไปสู่การเสริมสร้างและรักษาประโยชน์ของสาธารณชนมากกว่าผลประโยชน์ของกลุ่มคนชั้นนำในสังคมที่มีฐานะร่ำรวยสุขสบายอยู่แล้ว แต่ต้องทำให้การนำมวลชนออกมาสู่ท้องถนนที่สามารถเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบายสาธารณะ (Public Policies) เพื่อลดทอนความเดือดร้อนของประชาชนส่วนใหญ่ทั้งประเทศ ประการที่สี่ รัฐบาลต้องมีผลงาน “หน้าจอ” กับ “หน้าบ้าน” ของประชาชนเป็นอันเดียวกัน เพราะโครงการตามนโยบายของรัฐบาลหลายโครงการถูกนำเสนอ “หน้าจอ” ดูดี แต่ปัญหาเดือดร้อนของประชาชนที่ “หน้าบ้าน” และในบ้านของประชาชนยังคงเหมือนเดิม ดังนั้น ต้องเปิดโอกาสให้ประชาชนส่วนใหญ่ในแต่ละชุมชนมีโอกาสประเมินผลงานของเจ้าหน้าที่รัฐและสามารถมีส่วนสำคัญในการให้ความดีความชอบ เลื่อนขั้นเลื่อนตำแหน่งโดยตรง มากกว่าปล่อยให้การแต่งตั้งโยกย้ายเจ้าหน้าที่รัฐเป็นไปโดยอำนาจทางการเมืองแต่ฝ่ายเดียวที่มักใช้ตามอำเภอใจและการแทรกแซงของฝ่ายการเมือง ประการที่ห้า รัฐบาลและผู้ใหญ่ในสังคมที่มีบารมี มีอำนาจต้องช่วยกันทำให้สาธารณชนรักษาค่านิยมร่วม (Common Value) แสดงเอกลักษณ์ของความเป็นไทยที่สืบทอดกันมานับร้อยปีโดยมีเป้าหมายของชาติและผลประโยชน์ร่วมกันในหมู่ประชาชน ในขณะเดียวกันต้องเร่งลดทัศนคติอันตรายในหมู่ประชาชนที่ยอมรับรัฐบาลทุจริตคอรัปชั่น และไม่ทำให้สาธารณชนรู้สึกไปว่า รัฐบาลชุดปัจจุบันกำลังกลายเป็นการยึดครองอำนาจเบ็ดเสร็จของตระกูลและพวกพ้องเพื่อไม่ให้เกิดอุบัติเหตุทางการเมืองที่สกัดกั้นพัฒนาการของประชาธิปไตยในสังคมไทย

จากการพิจารณาลักษณะทั่วไปของตัวอย่าง พบว่าร้อยละ 52.5 เป็นเพศหญิง ร้อยละ 47.5 เป็นเพศชาย ตัวอย่างร้อยละ 4.6 อายุไม่เกิน 20 ปี ร้อยละ 15.8 อายุระหว่าง 20-29 ปี ร้อยละ 22.5 อายุระหว่าง 30-39 ปีและร้อยละ 20.1 อายุระหว่าง 40-49 ปี ตัวอย่างร้อยละ 37.0 อายุระหว่าง 50 ปีขึ้นไป ตัวอย่างร้อยละ 63.2 สำเร็จการศึกษาต่ำกว่าระดับปริญญาตรี ร้อยละ 36.8 สำเร็จการศึกษาตั้งแต่ปริญญาตรีขึ้นไป ตัวอย่างร้อยละ 36.6 อาชีพเกษตรกร รับจ้างใช้แรงงานทั่วไป ร้อยละ 21.5 ค้าขาย / อาชีพอิสระ ร้อยละ 11.4 พนักงานเอกชน ร้อยละ 10.5 ข้าราชการ พนักงานรัฐวิสาหกิจ ร้อยละ 8.1 นักเรียน/นักศึกษา ร้อยละ 7.2 แม่บ้าน เกษียณอายุ และร้อยละ 4.7 ว่างงาน ไม่ได้ประกอบอาชีพ

ตารางที่ 1 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุการติดตามข่าวการเมืองผ่านสื่อมวลชนโดยเฉลี่ยต่อสัปดาห์ ในช่วง 30 วันที่ผ่านมา
ลำดับที่    การติดตามข่าวการเมืองผ่านสื่อมวลชน                                     ค่าร้อยละ
1        ติตามเป็นประจำทุกสัปดาห์                                               88.6
2        ไม่ได้ติดตามเป็นประจำ                                                    5
3        ไม่ได้ติดตามเลย                                                       6.4
                            รวมทั้งสิ้น                                         100

ตารางที่ 2 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุ ระดับปัญหาความเดือดร้อนที่กำลังประสบ
ลำดับที่    ระดับปัญหาความเดือดร้อนที่กำลังประสบ                                     ค่าร้อยละ
1        เดือนร้อนมาก ถึง มากที่สุด                                                36.5
2        เดือดร้อนระดับปานกลาง                                                  50.3
3        น้อย ถึง ไม่เดือดร้อนเลย                                                 13.2
                             รวมทั้งสิ้น                                        100.0

ตารางที่ 3 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุความคิดเห็นต่อความใส่ใจแก้ปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนโดยหน่วยงานของรัฐและเจ้าหน้าที่รัฐต่างๆ
ลำดับที่    ความคิดเห็นต่อความใส่ใจแก้ปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน                    ค่าร้อยละ
1        ใส่ใจมาก ถึงมากที่สุด                                                    34.3
2        ใส่ใจน้อย ถึง ไม่ใส่ใจเลย                                                65.7
                               รวมทั้งสิ้น                                      100.0

ตารางที่ 4 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุความคิดเห็นต่อสาเหตุที่ทำให้เจ้าหน้าที่รัฐไม่ใส่ใจแก้ปัญหาความเดือดร้อนต่างๆ ของประชาชน (ตอบได้มากกว่า 1 ข้อ)
ลำดับที่    สาเหตุที่ทำให้เจ้าหน้าที่รัฐไม่ใส่ใจแก้ปัญหาความเดือดร้อน                         ค่าร้อยละ
1        คนดี คนเก่ง คนทำงานให้ประชาชน กลับไม่ได้รับการสนับสนุน                       64.6
2        ผู้ใหญ่ในสังคมที่มีอำนาจ มีบารมี ประพฤติตนไม่ดี ทำลายระบบคุณธรรมเสียเอง           63.5
3        นักการเมืองแต่งตั้งเจ้าหน้าที่รัฐโดยไม่ยึดหลักคุณธรรม                             55.7
4        ประชาชนส่วนใหญ่ในชุมชนไม่มีโอกาสประเมินผลงานของเจ้าหน้าที่รัฐโดยตรง            54.0
5        ประชาชนส่วนใหญ่ในชุมชนไม่มีโอกาสให้ความดีความชอบเจ้าหน้าที่รัฐได้โดยตรง          40.9

ตารางที่ 5 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุความคิดเห็นต่อปัจจัยที่ทำให้รัฐบาลสั่นคลอน (ตอบได้มากกว่า 1 ข้อ)
ลำดับ     10 ปัจจัยที่ทำให้รัฐบาลสั่นคลอน                                            ค่าร้อยละ
1        ข้าวของแพง ค่าครองชีพสูง                                                85.2
2        การแก้ไขรัฐธรรมนูญ                                                     81.9
3        ความขัดแย้งในการรปรับคณะรัฐมนตรี                                         74.4
4        การวิพากษ์วิจารณ์เงินกู้ 2.2 ล้านล้านบาท                                     74.0
5        การนิรโทษกรรม                                                        69.6
6        การชุมนุมโจมตีตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ                                        67.3
7        การออก พ.ร.บ.ปรองดองฯ                                               64.6
8        ข่าวการทำรัฐประหาร                                                    62.2
9        การชุมนุมที่สนามหลวงของกลุ่มแนวร่วมคนไทยรักชาติฯ                             61.6
10       ความขัดแย้งระหว่างรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังกับผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย   57.9

ตารางที่ 6 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุความคิดเห็นต่อปัจจัยที่สนับสนุนเสถียรภาพความมั่นคงของรัฐบาล (ตอบได้มากกว่า 1 ข้อ)
ลำดับ     ปัจจัยที่สนับสนุนเสถียรภาพความมั่นคงของรัฐบาล                                ค่าร้อยละ
1        การลงพื้นที่พบปะประชาชนบ่อยๆ                                             73.8
2        การขึ้นเงินเดือนข้าราชการ                                                73.1
3        การมีมวลชนสนับสนุนรัฐบาลจำนวนมาก                                        71.6
4        นโยบายขึ้นค่าแรง 300 บาท/วัน                                            71.3
5        การเดินทางไปปาถกฐาที่ต่างประเทศของนายกรัฐมนตรี                            47.7
6        การสนับสนุนโดย พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ชินวัตร                                    45.7
7        การออกมาตอบโต้ฝ่ายตรงข้ามของคุณโอ๊ค พานทองแท้                             33.2

ตารางที่ 7 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุ เวลาที่ให้โอกาส นางสาว ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ทำหน้าที่ในฐานะนายกรัฐมนตรี
ลำดับที่    ระยะเวลาที่ให้โอกาส นางสาว ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ทำหน้าที่ในฐานะนายกรัฐมนตรี        ค่าร้อยละ
1        ไม่เกิน 6 เดือน                                                        15.3
2        6 เดือน ถึง 1 ปี                                                        6.5
3        1 ถึง 2 ปี                                                            11.5
4        มากกว่า 2 ปี จนครบวาระ                                                55.9
5        ไม่มีความเห็น                                                          10.8
                             รวมทั้งสิ้น                                        100.0

--เอแบคโพลล์--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ