เอแบคโพลล์: ประเมินดัชนีความเสี่ยงทางการเมือง (Political Risk) ประจำเดือนพฤษภาคม 2556 ของรัฐบาล นางสาว ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร : กรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนอายุ 18 ปีขึ้นไป ใน 17 จังหวัดของประเทศ

ข่าวผลสำรวจ Monday May 27, 2013 11:27 —เอแบคโพลล์

ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการ สำนักวิจัยเอแบคโพลล์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เปิดเผยผลวิจัยเชิงสำรวจ เรื่องประเมินดัชนีความเสี่ยงทางการเมือง (Political Risk) ประจำเดือนพฤษภาคม 2556 ของรัฐบาล นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร กรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนอายุ 18 ปีขึ้นไป ใน 17 จังหวัดของประเทศได้แก่ กรุงเทพมหานคร เพชรบุรี ฉะเชิงเทรา สุพรรณบุรี สมุทรปราการ สุโขทัย เพชรบูรณ์ เชียงใหม่ ขอนแก่น สุรินทร์ สกลนคร เลย นครราชสีมา บุรีรัมย์ ภูเก็ต ตรัง และ สงขลา จำนวนทั้งสิ้น 2,168 ตัวอย่าง ดำเนินโครงการระหว่างวันที่ 10 — 25 พฤษภาคม 2556 ที่ผ่านมา โดยใช้การเลือกตัวอย่างแบบแบ่งกลุ่มเชิงชั้นภูมิหลายชั้น ที่สุ่มเลือกจังหวัด อำเภอ ตำบล ชุมชน ครัวเรือน และประชาชนที่ตอบแบบสอบถามระดับครัวเรือน โดยมีช่วงความคลาดเคลื่อนบวกลบร้อยละ 7 พบว่า

เมื่อวิเคราะห์ข้อมูลสถานการณ์การเมืองจากการวิจัยที่ผ่านมาพบสัญญาณเตือนภัยทางการเมืองของรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตรที่น่าพิจารณาในหลายตัวชี้วัดและถือว่าเป็นความเสี่ยงทางการเมือง (Political Risk) เช่น ความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลกับองค์กรอิสระ ความขัดแย้งระหว่างมวลชนหนุนกับมวลชนต้านรัฐบาล ข่าวลือการทำรัฐประหาร ข่าวอื้อฉาวพฤติกรรมนักการเมืองทุจริตคอรัปชั่น การก่อการร้าย ภัยพิบัติ ความไม่มั่นคงของประเทศ ปัญหาเศรษฐกิจปากท้อง ปัญหาสังคม ความเป็นผู้นำของนายกรัฐมนตรีและการสื่อสารทางการเมือง เป็นต้น โดยผลสำรวจครั้งล่าสุดชี้ให้เห็นว่า ประชาชนจำนวนมากมองว่า รัฐบาลภายใต้การนำของนางสาว ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร กำลังเผชิญความเสี่ยงทางการเมืองที่เพิ่มสูงขึ้นถึงร้อยละ 43.8

ผลสำรวจยังพบด้วยว่า ประชาชนร้อยละ 51.9 ติดตามข่าวการเมืองผ่านสื่อมวลชนบ่อยมากถึงมากที่สุด ในขณะที่ร้อยละ 48.1 ระบุไม่บ่อยถึงไม่ได้ติดตามเลย

ดร.นพดล กล่าวว่า เมื่อประเมินดัชนีความเสี่ยงทางการเมืองประจำเดือนพฤษภาคม 2556 เมื่อคะแนนเต็ม 10 คะแนน พบว่า ความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลกับองค์กรอิสระ มีค่าเฉลี่ยความเสี่ยงทางการเมืองสูงที่สุดคือ 6.51 รองลงมาคือ ความขัดแย้งระหว่างมวลชนหนุน กับ มวลชนต้านรัฐบาล มีค่าเฉลี่ยความเสี่ยงทางการเมืองอยู่ที่ 5.84 อันดับสามได้แก่ การครอบงำแทรกแซงนโยบายสาธารณะของรัฐบาลโดยชนชั้นนำทั้งในประเทศและต่างประเทศ มีค่าเฉลี่ยความเสี่ยงทางการเมืองอยู่ที่ 5.72 อันดับสี่ได้แก่ ข่าวลือการทำรัฐประหาร มีค่าเฉลี่ยความเสี่ยงทางการเมืองอยู่ที่ 5.35 อันดับที่ห้า ได้แก่ ข่าวอื้อฉาวพฤติกรรมนักการเมือง ทุจริตคอรัปชั่น เอื้อผลประโยชน์พวกพ้อง มีค่าเฉลี่ยความเสี่ยงทางการเมืองอยู่ที่ 5.29 รองๆ ลงไปคือ ความไม่เป็นธรรมและการเลือกปฏิบัติทางการเมืองมีค่าความเสี่ยงอยู่ที่ 5.24 ภัยรุกรานทางเศรษฐกิจจากต่างประเทศ มีค่าเฉลี่ยความเสี่ยงทางการเมืองอยู่ที่ 5.18 ความไม่มั่นคงของประเทศโดยรวม มีค่าเฉลี่ยความเสี่ยงทางการเมืองอยู่ที่ 5.13 ปัญหาสังคมโดยรวม มีค่าเฉลี่ยความเสี่ยงทางการเมืองอยู่ที่ 5.11 การก่อการร้าย มีค่าเฉลี่ยความเสี่ยงทางการเมืองอยู่ที่ 4.67 ปัญหาเศรษฐกิจของประเทศโดยรวม มีค่าเฉลี่ยความเสี่ยงทางการเมืองอยู่ที่ 4.21 ภัยพิบัติ มีค่าเฉลี่ยความเสี่ยงทางการเมืองอยู่ที่ 4.20 การสื่อสารทางการเมือง มีความเสี่ยงทางการเมืองอยู่ที่ 4.18 ในขณะที่ความเป็นผู้นำของนายกรัฐมนตรี นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และการปกครองแบบประชาธิปไตย มีค่าความเสี่ยงทางการเมืองอยู่ที่ 3.29 และ 2.57 ตามลำดับ

ที่น่าพิจารณาคือ ประชาชนจำนวนมากหรือร้อยละ 43.8 ระบุความเสี่ยงทางการเมืองของรัฐบาลภายใต้การนำของ นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตรเพิ่มสูงขึ้น ในขณะที่ ร้อยละ 39.4 ระบุเสี่ยงเท่าเดิม และร้อยละ 16.8 ระบุเสี่ยงลดลง อย่างไรก็ตาม เมื่อถามถึงการสนับสนุน นางสาว ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ในตำแหน่งนายกรัฐมนตรี พบว่า เกินครึ่งหรือร้อยละ 52.8 ระบุยังคงสนับสนุนถึงสนับสนุนมากที่สุด ในขณะที่ ร้อยละ 26.8 ระบุเฉยๆ และร้อยละ 20.4 ไม่ค่อยสนับสนุนถึงไม่สนับสนุนเลย และเมื่อสอบถามถึงความอดทนของสาธารณชนต่อความน่าเบื่อต่อคุณภาพของนักการเมือง พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 72.5 ระบุยอมทนได้จนถึงวันเลือกตั้งใหม่

แต่ที่น่าเป็นห่วงคือ เกินครึ่งหรือร้อยละ 54.7 ระบุนโยบายรัฐบาลภายใต้การนำของ นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นไปเพื่อประโยชน์ของกลุ่มชนชั้นนำ มากกว่าเพื่อประโยชน์สุขของประชาชนส่วนใหญ่ทั้งประเทศ ในขณะที่ร้อยละ 45.3 ระบุเพื่อประโยชน์สุขของประชาชนส่วนใหญ่ทั้งประเทศมากกว่า

ผอ.เอแบคโพลล์ กล่าวว่า โครงการวิเคราะห์ความเสี่ยงทางการเมืองของรัฐบาล นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตรประจำเดือนพฤษภาคมนี้ชี้ให้เห็นว่า การสื่อสารทางการเมืองเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องเร่งสร้างความเชื่อมั่นต่อสถาบันการเมืองและคณะบุคคลทำให้สาธารณชนเกิดความมั่นใจว่ารัฐบาลและหน่วยงานของรัฐสามารถบริหารจัดการความเสี่ยงได้อย่างมีประสิทธิภาพ ประสิทธิผลและด้วยวิธีที่เป็นที่ยอมรับด้วยการเปิดโอกาสให้สาธารณชนกลายมาเป็น “หุ้นส่วนทางการเมือง” ในการควบคุมความเสี่ยงที่กำลังเกิดขึ้น นอกจากนี้สถานการณ์ทางการเมืองของรัฐบาลหลายตัวชี้วัดกำลังมีความเสี่ยงทางการเมืองที่สูงขึ้นกระทบต่อความเดือดร้อนของชาวบ้านจนถึงระดับที่ฝ่ายการเมืองต้องหันมาพิจารณาความเสี่ยงทางการเมืองอย่างจริงจังเพราะปัจจัยทางเศรษฐกิจเพียงอย่างเดียวไม่สามารถอธิบายวิกฤตการณ์ค่าเงินบาทและปัญหาปากท้องของประชาชนได้

“ที่น่าสนใจคือจากผลวิจัยเชิงคุณภาพด้วยการสัมภาษณ์เจาะลึกพบว่า ความเสี่ยงทางการเมืองของรัฐบาลภายใต้การนำของ นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เคยสูงในระดับที่น่าเป็นห่วงอย่างยิ่งคือช่วงเกิดภัยพิบัติมหาอุทกภัยเพราะเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นกับมวลหมู่ประชาชนทุกชนชั้นอย่างทั่วถึงจนสั่นคลอนเสถียรภาพของรัฐบาล แต่ความเสี่ยงทางการเมืองในขณะนั้นลดลงอย่างมากเมื่อรัฐบาลกับกองทัพได้ร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดในการช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อนของสาธารณชนจนผ่านวิกฤตการณ์นั้นไปได้ จนผู้ถูกศึกษาส่วนใหญ่มีความเห็นไปในทิศทางเดียวกันว่า สำหรับประเทศไทยถ้ารัฐบาลกับกองทัพและภาคประชาสังคมตกผลึกเป็นเนื้อเดียวกันบนหลักความกตัญญูรู้คุณทางการเมือง ผลที่ตามมาคือ ความเสี่ยงทางการเมืองของรัฐบาลจะอยู่ในระดับที่ควบคุมได้ในทุกสถานการณ์” ดร.นพดล กล่าว

จากการพิจารณาลักษณะทั่วไปของตัวอย่าง พบว่า ตัวอย่างร้อยละ 48.4 เป็นชาย ร้อยละ 51.6 เป็นหญิง ตัวอย่างร้อยละ 6.3 อายุน้อยกว่า 20 ปี ร้อยละ 20.4 อายุระหว่าง 20—29 ปี ร้อยละ 27.3 อายุระหว่าง 30—39 ปี ร้อยละ 26.8 อายุระหว่าง 40—49 ปี และ ร้อยละ 19.2 อายุ 50 ปีขึ้นไป ตัวอย่างร้อยละ 64.3 สำเร็จการศึกษาต่ำกว่าปริญญาตรี ร้อยละ 35.7 สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีขึ้นไป ตัวอย่างร้อยละ 30.9 ระบุอาชีพเกษตรกร/รับจ้างทั่วไป ร้อยละ 27.4 ระบุอาชีพค้าขาย/ธุรกิจส่วนตัว ร้อยละ 12.7 ระบุเป็นพนักงานเอกชน ร้อยละ 10.1 ระบุข้าราชการ/พนักงานรัฐวิสาหกิจ ร้อยละ 8.1 ระบุเป็นนักเรียนนักศึกษา ร้อยละ 7.6 เป็นแม่บ้าน/พ่อบ้าน/เกษียณอายุ ร้อยละ 3.2 ว่างงาน/ไม่ได้ประกอบอาชีพ

ตารางที่ 1 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุความถี่ในการติดตามข่าวการเมืองผ่านสื่อมวลชน
ลำดับที่    ความถี่ในการติดตามข่าวการเมืองผ่านสื่อมวลชน          ค่าร้อยละ
  1      บ่อยมาก ถึงมากที่สุด                               51.9
  2      ไม่บ่อยถึงไม่ติดตามเลย                             48.1
         รวมทั้งสิ้น                                      100.0

ตารางที่ 2 แสดงค่าเฉลี่ยความเสี่ยงทางการเมือง (Political Risk) ประจำเดือนพฤษภาคม ของรัฐบาลภายใต้การนำของนางสาวยิ่งลักษณ์  ชินวัตรในรายตัวชี้วัด
ลำดับที่    ดัชนีความเสี่ยงทางการเมืองประจำเดือนพฤษภาคม 2556                                ค่าเฉลี่ยความเสี่ยง

(เมื่อคะแนนเต็ม 10)

  1      ความขัดแย้งระหว่าง รัฐบาล กับ องค์กรอิสระ                                              6.51
  2      ความขัดแย้งระหว่าง มวลชนหนุน กับ มวลชนต้านรัฐบาล                                       5.84
  3      การครอบงำแทรกแซงนโยบายสาธารณะของรัฐบาลโดยกลุ่มชนชั้นนำทั้งในประเทศและต่างประเทศ         5.72
  4      ข่าวลือการทำรัฐประหาร                                                              5.35
  5      ข่าวอื้อฉาวพฤติกรรมนักการเมือง ทุจริตคอรัปชั่น เอื้อผลประโยชน์พวกพ้อง                          5.29
  6      ความไม่เป็นธรรม และการเลือกปฏิบัติในทางการเมือง                                        5.24
  7      ภัยรุกรานทางเศรษฐกิจจากต่างประเทศ                                                   5.18
  8      ความไม่มั่นคงของประเทศโดยรวม                                                       5.13
  9      ปัญหาสังคมโดยรวม                                                                  5.11
  10     การก่อการร้าย                                                                     4.67
  11     ปัญหาเศรษฐกิจของประเทศโดยรวม                                                      4.21
  12     ภัยพิบัติ                                                                           4.20
  13     การสื่อสารทางการเมือง                                                              4.18
  14     ความเป็นผู้นำของนายกรัฐมนตรี นางสาว ยิ่งลักษณ์  ชินวัตร                                    3.29
  15     การปกครองแบบประชาธิปไตย                                                          2.57

ตารางที่ 3 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุ  ระดับความเสี่ยงทางการเมืองของรัฐบาลภายใต้การนำของ นางสาว ยิ่งลักษณ์  ชินวัตร
ลำดับที่    ระดับความเสี่ยงทางการเมืองของรัฐบาล              ค่าร้อยละ
  1      เสี่ยงเพิ่มขึ้น                                    43.8
  2      เสี่ยงเท่าเดิม                                   39.4
  3      เสี่ยงลดลง                                     16.8
         รวมทั้งสิ้น                                     100.0

ตารางที่ 4 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุความคิดเห็นต่อการสนับสนุน นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ในตำแหน่งนายกรัฐมนตรี
ลำดับที่    ความคิดเห็นต่อการสนับสนุน นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ในตำแหน่งนายกรัฐมนตรี          ค่าร้อยละ
  1      สนับสนุนถึงสนับสนุนนมากที่สุด                                                52.8
  2      เฉยๆ                                                                 26.8
  3      ไม่ค่อยสนับสนุนถึงไม่สนับสนุนเลย                                             20.4
         รวมทั้งสิ้น                                                             100.0

ตารางที่ 5 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุความอดทนต่อความน่าเบื่อต่อคุณภาพของนักการเมือง ว่ามีขีดจำกัดหรือยอมทนกันไปได้จนถึงวันเลือกตั้งใหม่
ลำดับที่    ความอดทนต่อความน่าเบื่อต่อคุณภาพของนักการเมือง        ค่าร้อยละ
  1      มีขีดจำกัด                                        27.5
  2      ยอมทนได้จนถึงวันเลือกตั้งใหม่                         72.5
         รวมทั้งสิ้น                                       100.0

ตารางที่ 6 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุความคิดเห็นต่อนโยบายรัฐบาลภายใต้การนำของ นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ว่าเพื่อประโยชน์ของกลุ่มชนชั้นนำ หรือเพื่อประโยชน์สุขของประชาชนส่วนใหญ่ทั้งประเทศ
ลำดับที่    ความคิดเห็นต่อนโยบายรัฐบาลภายใต้การนำของรัฐบาล นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร          ค่าร้อยละ
  1      เพื่อผลประโยชน์ของกลุ่มชนชั้นนำมากกว่า                                        54.7
  2      เพื่อประโยชน์สุขของประชาชนทั้งประเทศมากกว่า                                  45.3
         รวมทั้งสิ้น                                                              100.0

--เอแบคโพลล์--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ