เอแบคโพลล์: ความเชื่อมั่นของประชาชนจากกรณีปัญหาไฟฟ้าดับใน 14 จังหวัดภาคใต้ กรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนอายุ 18 ปีขึ้นไป ใน 17 จังหวัดของประเทศ

ข่าวผลสำรวจ Monday May 27, 2013 11:17 —เอแบคโพลล์

นางสาวปุณฑรีก์ อิศรางกูร ณ อยุธยา ผู้ช่วยผู้อำนวยการ สำนักวิจัยเอแบคโพลล์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เปิดเผยผลวิจัยเชิงสำรวจ เรื่อง ความเชื่อมั่นของประชาชนจากกรณีปัญหาไฟฟ้าดับใน 14 จังหวัดภาคใต้ กรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนอายุ 18 ปีขึ้นไป ใน 17 จังหวัดของประเทศได้แก่ กรุงเทพมหานคร เพชรบุรี ฉะเชิงเทรา นครปฐม สมุทรปราการ อุตรดิตถ์ ลำปาง เชียงราย มุกดาหาร หนองคาย สกลนคร เลย ร้อยเอ็ด บุรีรัมย์ ยะลา นราธิวาส และ สงขลา จำนวนทั้งสิ้น 2,075 ตัวอย่าง ดำเนินโครงการระหว่างวันที่ 22 — 24 พฤษภาคม 2556 ที่ผ่านมา โดยใช้การเลือกตัวอย่างแบบแบ่งกลุ่มเชิงชั้นภูมิหลายชั้น ที่สุ่มเลือกจังหวัด อำเภอ ตำบล ชุมชน ครัวเรือน และประชาชนที่ตอบแบบสอบถามระดับครัวเรือน โดยมีช่วงความคลาดเคลื่อนบวกลบร้อยละ 7 พบว่า

จากการศึกษาครั้งนี้พบว่ากลุ่มตัวอย่างเกือบ 2 ใน 3 หรือร้อยละ 60.5 รู้สึกกลัว ตกใจ กังวล ต่อปัญหา อาชญากรรม การก่อวินาศกรรม ก่อการร้าย และความไม่ปลอดภัยอื่นๆ จากเหตุการณ์ไฟฟ้าดับ 14 จังหวัดภาคใต้ที่ผ่านมา ในขณะที่ร้อยละ 31.6 รู้สึกเฉยๆ และร้อยละ 7.9 ไม่รู้สึกอะไรเลย

เมื่อสอบถามถึงความเชื่อมั่นต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่าจะสามารถปรับปรุงระบบไฟฟ้าเพื่อการรองรับการเปิดประชาคมอาเซียนพบว่ากลุ่มตัวอย่างกว่า 3 ใน 4 หรือร้อยละ 79.3 มีความเชื่อมั่น ในขณะที่ร้อยละ 20.7 ไม่มีความเชื่อมั่น

ที่น่าสนใจคือประชาชนที่ถูกศึกษาส่วนมากหรือร้อยละ 55.7 ระบุว่ารัฐมนตรีกระทรวงพลังงานควรเป็นผู้รับผิดชอบต่อเหตุการณ์ไฟดับใน 14 จังหวัดภาคใต้ที่ผ่านมา ในขณะร้อยที่ 35.1 ระบุรัฐบาลทั้งคณะควรรับผิดชอบ ร้อยละ 7.0 ระบุหน่วยงานราชการ และร้อยละ 2.2 ระบุควรรับผิดชอบตัวเอง

นอกจากนี้กลุ่มตัวอย่างเกินกว่าครึ่งหรือร้อยละ 51.4 ยังระบุอีกว่ารัฐมนตรีกระทรวงพลังงานควรเป็นผู้รับผิดชอบต่อเครื่องใช้ไฟฟ้าของประชาชนที่เสียหายเพราะไฟฟ้าดับบ่อยอีกด้วย ส่วนร้อยละ 36.8 ระบุรัฐบาลทั้งคณะควรรับผิดชอบ ร้อยละ 10.8 ระบุหน่วยงานราชการ และร้อยละ 1.0 ระบุตัวเองควรรับผิดชอบ

ที่น่าพิจารณคือประชาชนที่ถูกศึกษาส่วนใหญ่หรือร้อยละ 82.5 คิดว่าหตุการณ์ไฟฟ้าดับใน 14 จังหวัดภาคใต้ที่ผ่านมาส่งผลต่อความเชื่อมั่นของชาวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาในประเทศไทย ในขณะที่ร้อยละ 17.5 คิดว่าไม่ส่งผล

นางสาวปุณฑรีก์ ผช.ผอ. กล่าวว่าจากเหตุการณ์ไฟฟ้าดับใน 14 จังหวัดภาคใต้ที่ผ่านมาถึงแม้จะเกิดขึ้นเพียงแค่ภูมิภาคเดียวของประเทศแต่สร้างความเสียหายไม่น้อย และไม่เพียงแค่ส่งผลต่อตัวปัจเจกบุคคล การดำรงชีวิตของประชาชน อุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าที่ชำรุดเสียหาย แต่ยังส่งผลเป็นวงกว้างต่อการค้าขาย การประกอบธุรกิจ อาทิเช่น ร้านอาหาร โรงงานอุตสาหกรรม ธุรภิจการท่องเที่ยว การบริการ อย่างไรก็ตามสิ่งที่น่าเป็นห่วงคือผลกระทบระยะยาวที่อาจลดทอนความเชื่อมั่นของนักลงทุนชาวต่างชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการลงทุนในภาคใต้ของไทย ซึ่งถือเป็นภารกิจเร่งด่วนของรัฐบาล และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องเร่งดำเนินการเพื่อนำความเชื่อมั่นของทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติกลับคืนมา อีกทั้งในการเตรียมความพร้อมเรื่องพลังงานให้ทันต่อการเปิดประชาคมอาเซียนที่จะมาถึงในเวลาอันใกล้นี้

จากการพิจารณาลักษณะทั่วไปของตัวอย่าง พบว่า ตัวอย่างร้อยละ 34.4 เป็นชาย ร้อยละ 65.6 เป็นหญิง ตัวอย่างร้อยละ 7.8 อายุน้อยกว่า 20 ปี ร้อยละ 19.2 อายุระหว่าง 20—29 ปี ร้อยละ 25.1 อายุระหว่าง 30—39 ปี ร้อยละ 29.6 อายุระหว่าง 40—49 ปี และ ร้อยละ 18.3 อายุ 50 ปีขึ้นไป ตัวอย่างร้อยละ 57.5 สำเร็จการศึกษาต่ำกว่าปริญญาตรี ร้อยละ 33.2 สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี ในขณะที่ร้อยละ 9.3 สำเร็จการศึกษาสูงกว่าปริญญาตรี ตัวอย่างร้อยละ 31.5 ระบุอาชีพเกษตรกร/รับจ้างทั่วไป ร้อยละ 29.7 ระบุอาชีพค้าขาย/ธุรกิจส่วนตัว ร้อยละ 10.2 ระบุเป็นพนักงานเอกชน ร้อยละ 9.6 ระบุข้าราชการ/พนักงานรัฐวิสาหกิจ ร้อยละ 8.4 ระบุเป็นนักเรียนนักศึกษา ร้อยละ 8.2 เป็นแม่บ้าน/พ่อบ้าน/เกษียณอายุ ร้อยละ 2.4 ว่างงาน/ไม่ได้ประกอบอาชีพ

ตารางที่ 1 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุความรู้สึกต่อเหตุการณ์ไฟฟ้าดับ 14 จังหวัดภาคใต้
ลำดับที่    ความรู้สึกต่อเหตุการณ์ไฟฟ้าดับ 14 จังหวัดภาคใต้                                              ค่าร้อยละ
  1      รู้สึกกลัว ตกใจ กังวล ต่อปัญหา อาชญากรรม การก่อวินาศกรรม ก่อการร้าย และความไม่ปลอดภัยอื่นๆ        60.5
  2      รู้สึกเฉยๆ                                                                            31.6
  3      ไม่รู้สึกอะไรเลย                                                                        7.9
         รวมทั้งสิ้น                                                                             100

ตารางที่ 2 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุความเชื่อมั่นต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่าจะสามารถปรับปรุงระบบไฟฟ้าในการรองรับอาเซียนได้
ลำดับที่    ความเชื่อมั่น                    ค่าร้อยละ
  1      เชื่อมั่น                         79.3
  2      ไม่เชื่อมั่น                       20.7
         รวมทั้งสิ้น                      100.0

ตารางที่ 3 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุผู้ที่ควรรับผิดชอบต่อเหตุการณ์ไฟดับใน 14 จังหวัดภาคใต้ที่ผ่านมา
ลำดับที่    ผู้ที่ควรรับผิดชอบ                ค่าร้อยละ
  1      รัฐบาลทั้งคณะ                    35.1
  2      รัฐมนตรีกระทรวงพลังงาน           55.7
  3      หน่วยงานราชการ                  7.0
  4      รับผิดชอบตัวเอง                   2.2
         รวมทั้งสิ้น                      100.0

ตารางที่ 4 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุ ผู้รับผิดชอบต่อเครื่องใช้ไฟฟ้าของประชาชนที่เสียหายเพราะไฟฟ้าดับบ่อย
ลำดับที่    ผู้ที่ควรรับผิดชอบ                ค่าร้อยละ
  1      รัฐบาลทั้งคณะ                    36.8
  2      รัฐมนตรีกระทรวงพลังงาน           51.4
  3      หน่วยงานราชการ                 10.8
  4      รับผิดชอบตัวเอง                   1.0
         รวมทั้งสิ้น                      100.0

ตารางที่ 5 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุความคิดเห็นต่อความเชื่อมั่นของชาวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาในประเทศไทยจากเหตุการณ์ไฟฟ้า
ดับใน 14 จังหวัดภาคใต้ที่ผ่านมา
ลำดับที่    ความคิดเห็นต่อความเชื่อมั่นของชาวต่างชาติ          ค่าร้อยละ
  1      คิดว่าส่งผล                                   82.5
  2      ไม่คิดว่าส่งผล                                 17.5
         รวมทั้งสิ้น                                   100.0

--เอแบคโพลล์--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ