เมื่อถามถึงข่าวที่ประชาชน “สนใจ” ติดตาม พบว่า ข่าวที่มีประชาชนสนใจติดตามมากที่สุดได้แก่ ร้อยละ 79.7 สนใจข่าว ราคาไข่ไก่ยุครัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร แพง รองลงมาคือ ร้อยละ 76.6 สนใจ ข่าวเด็กเล็กเสียชีวิต ร้อยละ 73.4 สนใจข่าวยาเสพติดและอาชญากรรม ร้อยละ 68.9 สนใจข่าวความไม่สงบในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ร้อยละ 56.3 สนใจข่าวลือ ก่อการร้ายในกรุงเทพมหานคร ร้อยละ 55.9 สนใจข่าวการใช้จ่ายงบประมาณของรัฐบาล ร้อยละ 46.8 สนใจข่าวภารกิจ การทำงานของนายกรัฐมนตรี ร้อยละ 44.6 สนใจข่าวขบวนการจ้องล้มรัฐบาล และร้อยละ 44.6 เช่นกันสนใจข่าวปัญหากระทรวงศึกษาธิการ กรณีซื้อรถตู้โรงเรียน ร้อยละ 39.2 สนใจข่าวการตอบโต้กันระหว่างนักการเมือง ร้อยละ 36.0 สนใจข่าวการประท้วงของกลุ่มคุณหมอกระทรวงสาธารณสุข ในขณะที่ 2 อันดับท้ายสุด คือ ร้อยละ 33.8 สนใจข่าว พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ โฟนอินกับกลุ่มผู้ชุมนุม และร้อยละ 31.5 สนใจข่าวลือปฏิวัติรัฐประหาร
ดร.นพดล กล่าวต่อว่า เมื่อถามถึง ความเชื่อมั่นต่อการปกครองตามระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ว่าจะทำให้ปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นในขณะนี้คลี่คลายไปได้ด้วยดี พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 67.8 เชื่อมั่นมากถึงมากที่สุด ในขณะที่ร้อยละ 32.2 เชื่อมั่นน้อยถึงไม่เชื่อมั่นเลย นอกจากนี้ ที่น่าสนใจคือ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 61.5 ของตัวอย่าง และร้อยละ 61.3 ยังคงหลับสบายมากถึงมากที่สุด เมื่อนึกถึงการทำงานของรัฐบาลและการทำงานของฝ่ายค้าน อย่างไรก็ตาม เกินกว่า 1 ใน 3 หรือร้อยละ 38.5 และร้อยละ 38.7 นอนไม่ค่อยหลับถึงนอนไม่หลับเลยเมื่อนึกถึงการทำงานของรัฐบาลและการทำงานของฝ่ายค้าน แสดงให้เห็นว่าสถานการณ์อารมณ์ความรู้สึกของสาธารณชนขณะนี้ที่มีต่อรัฐบาลและฝ่ายค้านยังอยู่ในอารมณ์ที่พอๆ กัน ยังไม่มีฝ่ายไหนได้ดีไปกว่ากันนัก
ที่น่าพิจารณาคือ เมื่อถามถึงการรับรู้รับทราบ คำยืนยันของรัฐบาลว่าจะใช้จ่ายงบประมาณด้วยความโปร่งใส พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 60.5 ทราบแล้วต่อคำยืนยันชวนเชื่อของรัฐบาล อย่างไรก็ตาม ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 71.1 ยังเชื่อมั่นน้อย ถึง ไม่เชื่อมั่นเลยว่า รัฐบาลจะใช้จ่ายงบประมาณด้วยความโปร่งใส นอกจากนี้ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 89.7 ยังไม่พบเห็นวิธีการที่รัฐบาลใช้จนสร้างความวางใจได้ต่อความโปร่งใสในการใช้จ่ายงบประมาณ โดยส่วนใหญ่หรือร้อยละ 83.1 ระบุรัฐบาลควรเปิดโอกาสให้สาธารณชนเข้าถึงการมีส่วนร่วมบริหารจัดการงบประมาณของรัฐบาลระดับมากถึงมากที่สุด อย่างไรก็ตาม ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 58.9 ยังคงเชื่อมั่นมากถึงมากที่สุดต่อความอยู่รอดของรัฐบาล
ผอ.เอแบคโพลล์ กล่าวว่า “ความเบลอ (Blur)”หรือความคลุมเคลือ คือสถานการณ์ข่าวในเวลานี้ที่เป็นต้นเหตุของ ข่าวลือ ข่าวลวง ความเชื่อ และอคติที่อาจก่อให้เกิดการปลุกระดมผู้คนในสังคมให้ออกมาบนท้องถนนสร้างความไม่สงบขึ้นมาได้โดยสถานการณ์ข่าวที่มีความเบลอทำให้เกิดคำถามในหมู่ประชาชนมากมายได้ว่า ประชาชนในฐานะที่เป็นพลเมืองทำหน้าที่ดูแลผลประโยชน์ของประเทศชาติและในฐานะผู้บริโภคที่ต้องดูแลผลประโยชน์ส่วนตัวนั้นจะเชื่อข่าวสารใดได้ และประชาชนจะวางใจในแหล่งข่าวใดได้ ข่าวใดเป็นข่าวสารที่มีคุณค่าและมีความหมายที่เป็น “ความเป็นจริง” มากกว่า “ความเชื่อ” มากกว่า “อคติ” เพราะความเชื่อและอคติอาจจะถูกปั่นให้เกิดอารมณ์รุนแรงจนก่อความไม่สงบขึ้นมาได้ ผลที่ตามมาคือ ความสูญเสียต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนและประเทศชาติเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงได้ยาก
ดร.นพดล ชี้ให้เห็นว่าในเวลานี้ความเป็นจริงถูกแบ่งแยกโดยนำเอาความเชื่อและอคติเข้ามาปนเปื้อนจนพบว่า สังคมไทยกำลังมี ความจริงสีแดง (Red Truth) ความจริงสีเหลือง (Yellow Truth) ความจริงสีฟ้า (Blue Truth) และความจริงหลากสี (Multicolor Truth) ทั้งๆ ที่ความเป็นจริงต้องมีเพียงหนึ่งเดียวไม่แตกแยกตาม “กฎของความเป็นจริง” โดยสถานการณ์ข่าวที่มีความเบลอหรือความคลุมเคลือเช่นนี้ได้ผลักความรับผิดชอบไปให้ประชาชนแต่ละคนตัดสินใจว่าอะไรคือความจริงและอะไรไม่ใช่ความจริงซึ่งทำให้ความรับผิดชอบของมวลหมู่ประชาชนกลายเป็นเรื่องของความแตกต่างในมาตรฐานแห่งความรับผิดชอบ จึงเป็นเรื่องยากที่จะทำให้เกิดมาตรฐานเดียวกันได้ในสังคมไทยอันเป็นผลมาจากความเชื่อและอคติของประชาชนแต่ละคน ดังนั้น ทางออกจึงมีอย่างน้อยสามประการคือ
ประการแรก รัฐบาลและกลุ่มคนที่มีอำนาจในสังคมต้องสร้าง “หุ้นส่วนทางการเมือง” ขึ้นในหมู่ประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศโดยทำให้สาธารณชนเข้าถึงข้อมูลข่าวสารการจัดการของรัฐบาลและเข้าถึงข้อมูลของผู้มีอำนาจตัดสินใจได้โดยตรง เช่น การเปิดเผยการใช้จ่ายงบประมาณของรัฐบาลผ่านเว็บไซต์ของทำเนียบรัฐบาลให้สาธารณชนทั่วไปสามารถแกะรอยรายละเอียดการใช้จ่ายในทุกเม็ดเงินตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ จนถึงมือประชาชนในแต่ละชุมชนและแต่ละท้องถิ่น
ประการที่สอง ฝ่ายการเมืองต้องเข้าใจว่า ประชาชนไม่ใช่แค่เครื่องรับสัญญาณแต่ประชาชนมีศักยภาพที่จะตอบโต้กับข้อมูลข่าวสารที่รัฐบาลและกลุ่มคนที่มีอำนาจนำมาเปิดเผยได้ เช่น ข้ออ้างเรื่องที่มาของราคาไข่ไก่ที่เพิ่มสูงขึ้น ราคาก๊าซหุงต้ม และการโฆษณาชวนเชื่อให้ประชาชนยอมรับเรื่องความโปร่งใสในการใช้จ่ายงบประมาณของรัฐบาล เป็นต้น โดยข้ออ้างต่างๆ ได้ปกปิดสาเหตุของปัญหาต่างๆ เช่น การทุจริตคอรัปชั่นและปัญหาการแบ่งผลประโยชน์ที่ไม่ลงตัวในกลุ่มทุนและกลุ่มผลประโยชน์ต่างๆ ดังนั้น ฝ่ายการเมืองต้องปฏิบัติต่อสาธารณชนด้วยความเคารพในศักยภาพความสามารถของพี่น้องประชาชนทั้งประเทศที่จะตอบโต้กับข้อมูลข่าวสารของฝ่ายการเมือง
ประการที่สาม กลไกของรัฐต้องเปิดประตูให้ประชาชนส่วนใหญ่ของแต่ละพื้นที่สามารถประเมินผลการทำงานของข้าราชการและเจ้าหน้าที่รัฐในพื้นที่นั้นๆ ได้โดยตรงและผลการประเมินมีผลต่อการจัดสรรงบประมาณและการโยกย้ายปรับเปลี่ยนตำแหน่งของข้าราชการและเจ้าหน้าที่รัฐได้ ผลที่คาดว่าจะได้รับคือ ความอยู่รอดของรัฐบาลและระบบคุณธรรมในการแต่งตั้งโยกย้ายและการจัดสรรงบประมาณอย่างมีประสิทธิภาพ ประสิทธิผลและความคุ้มค่าคุ้มทุนจะเกิดขึ้นโดยมีประโยชน์สุขของสาธารณชนเป็นหัวใจสำคัญในการทำงานการเมืองและการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
จากการพิจารณาลักษณะทั่วไปของตัวอย่าง พบว่า ตัวอย่างร้อยละ 48.8 เป็นชาย ร้อยละ 51.2 เป็นหญิง ตัวอย่างร้อยละ 3.6 อายุน้อยกว่า 20 ปี ร้อยละ 21.5 อายุระหว่าง 20—29 ปี ร้อยละ 20.0 อายุระหว่าง 30—39 ปี ร้อยละ 20.6 อายุระหว่าง 40—49 ปี และ ร้อยละ 34.3 อายุ 50 ปีขึ้นไป ตัวอย่างร้อยละ 76.2 สำเร็จการศึกษาต่ำกว่าปริญญาตรี ร้อยละ 23.8 สำเร็จการศึกษาสูงกว่าปริญญาตรี ตัวอย่างร้อยละ 32.9 ระบุอาชีพเกษตรกร/รับจ้างทั่วไป ร้อยละ 30.4 ระบุอาชีพค้าขาย/ธุรกิจส่วนตัว ร้อยละ 9.5 ระบุอาชีพพนักงานเอกชน ร้อยละ 8.9 เป็นแม่บ้าน/พ่อบ้าน/เกษียณอายุ ร้อยละ 8.1 ระบุอาชีพข้าราชการ/พนักงานรัฐวิสาหกิจ ร้อยละ 7.9 เป็นนักเรียน/นักศึกษา และร้อยละ 2.3 ว่างงาน/ไม่ได้ประกอบอาชีพ
ลำดับที่ ข่าวที่ “สนใจ” ติดตาม ค่าร้อยละ 1 ราคาไข่ไก่ยุครัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร แพง 79.7 2 เด็กเล็กเสียชีวิต 76.6 3 ข่าวยาเสพติดและอาชญากรรม 73.4 4 ข่าวความไม่สงบในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ 68.9 5 ข่าวลือ ก่อการร้ายในกรุงเทพมหานคร 56.3 6 ข่าวการใช้จ่ายงบประมาณรัฐบาล 55.9 7 ข่าว ภารกิจ การทำงานของนายกรัฐมนตรี 46.8 8 ข่าวขบวนการจ้องล้มรัฐบาล 44.6 9 ข่าวปัญหากระทรวงศึกษาธิการ ซื้อรถตู้โรงเรียน 44.6 10 ข่าวการตอบโต้กันระหว่างนักการเมือง 39.2 11 ข่าวการประท้วงของกลุ่มคุณหมอกระทรวงสาธารณสุข 36 12 ข่าว พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ โฟนอินกับกลุ่มผู้สนับสนุน 33.8 13 ข่าวลือปฏิวัติรัฐประหาร 31.5 ตารางที่ 2 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุความเชื่อมั่นต่อการปกครองตามระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ว่าจะทำให้ ปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นในขณะนี้คลี่คลายไปได้ด้วยดี ลำดับที่ ความเชื่อมั่น ค่าร้อยละ 1 เชื่อมั่นมาก ถึงมากที่สุด 67.8 2 น้อย ถึง ไม่เชื่อมั่นเลย 32.2 รวมทั้งสิ้น 100 ตารางที่ 3 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุการนอนหลับโดยภาพรวม เมื่อนึกถึงการทำงานของรัฐบาล และการทำงานของฝ่ายค้าน ลำดับที่ การนอนหลับ การทำงานของรัฐบาล การทำงานของฝ่ายค้าน 1 หลับสบายมาก ถึง มากที่สุด 61.5 61.3 2 นอนไม่ค่อยหลับ ถึง นอนไม่หลับเลย 38.5 38.7 รวมทั้งสิ้น 100 100 ตารางที่ 4 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุ การรับรู้รับทราบ คำยืนยันชวนเชื่อของรัฐบาลว่าจะใช้จ่ายงบประมาณด้วยความโปร่งใส ลำดับที่ การรับทราบ ค่าร้อยละ 1 ทราบแล้ว 60.5 2 ยังไม่ทราบ 39.5 รวมทั้งสิ้น 100 ตารางที่ 5 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุ ความเชื่อมั่นว่า รัฐบาลจะใช้จ่ายงบประมาณด้วยความโปร่งใส ลำดับที่ ความเชื่อมั่น ค่าร้อยละ 1 เชื่อมั่นมาก ถึง มากที่สุด 28.9 2 เชื่อมั่นน้อย ถึง ไม่เชื่อมั่นเลย 71.1 รวมทั้งสิ้น 100 ตารางที่ 6 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุ การพบเห็นวิธีการที่รัฐบาลใช้จนสร้างความวางใจได้ต่อรัฐบาลในความโปร่งใสใช้จ่ายงบประมาณ ลำดับที่ การพบเห็น ค่าร้อยละ 1 พบเห็นแล้ว 10.3 2 ยังไม่พบเห็น 89.7 รวมทั้งสิ้น 100 ตารางที่ 7 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุความคิดเห็นเกี่ยวกับรัฐบาลว่าควรเปิดโอกาสให้สาธารณชนเข้าถึงการมีส่วนร่วมบริหารจัดการงบประมาณของรัฐบาล ลำดับที่ ความคิดเห็น ค่าร้อยละ 1 ควรเปิดโอกาสให้มาก ถึง มากที่สุด 83.1 2 น้อย 16.9 รวมทั้งสิ้น 100 ตารางที่ 8 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุ ความเชื่อมั่นต่อความอยู่รอดของรัฐบาล ลำดับที่ ความคิดเห็น ค่าร้อยละ 1 ยังคงเชื่อมั่นมาก ถึง มากที่สุด 58.9 2 น้อยถึงไม่เชื่อมั่นเลย 41.1 รวมทั้งสิ้น 100
--เอแบคโพลล์--