เอแบคโพลล์: ใครคือหัวหน้าพรรคเพื่อไทย และความกังวลต่อมารยาทผู้ดีของรัฐมนตรีในรัฐบาลยิ่งลักษณ์ กรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนทั่วไปใน 17 จังหวัดของประเทศ

ข่าวผลสำรวจ Monday June 10, 2013 11:38 —เอแบคโพลล์

นางสาวปุณฑรีก์ อิศรางกูร ณ อยุธยา ผู้ช่วยผู้อำนวยการ สำนักวิจัยเอแบคโพลล์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เปิดเผยผลวิจัยเชิงสำรวจ เรื่อง ใครคือหัวหน้าพรรคเพื่อไทยและความกังวลต่อมารยาทผู้ดีของรัฐมนตรีในรัฐบาลยิ่งลักษณ์ กรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนทั่วไปใน 17 จังหวัดของประเทศ ได้แก่ กรุงเทพมหานคร อ่างทอง สระบุรี สุพรรณบุรี นครปฐม นนทบุรี น่าน พะเยา พิษณุโลก เชียงใหม่ หนองบัวลำภู สกลนคร ศรีสะเกษ ขอนแก่น พังงา นราธิวาส และสงขลา จำนวนทั้งสิ้น 1,989 ตัวอย่าง ดำเนินโครงการระหว่างวันที่ 3 - 7 มิถุนายน 2556 ที่ผ่านมา โดยใช้การเลือกตัวอย่างแบบแบ่งกลุ่มเชิงชั้นภูมิหลายชั้น ที่สุ่มเลือกจังหวัด อำเภอ ตำบล ชุมชน ครัวเรือน และประชาชนที่ตอบแบบสอบถามระดับครัวเรือน พบว่า

จากการศึกษาพบว่ากลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่หรือร้อยละ 78.5 ไม่ทราบว่าใครเป็นหัวหน้าพรรคเพื่อไทยหรือระบุผิดว่าเป็นบุคคลอื่น อาทิเช่น นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ชินวัตร นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ เป็นต้น ในขณะที่ส่วนน้อยหรือร้อยละ 21.5 ทราบและสามารถระบุได้ถูกต้องว่าเป็นนายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ เป็นหัวหน้าพรรคเพื่อไทยคนปัจจุบัน

ในขณะที่กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่หรือร้อยละ 90.8 ทราบและระบุถูกว่านายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์คนปัจจุบัน มีเพียงร้อยละ 9.2 ไม่ทราบหรือระบุผิดเป็นบุคคลอื่น อาทิเช่น นายชวน หลีกภัย นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน เป็นต้น

ที่น่าสนใจคือเมื่อสอบถามถึงความเป็นผู้นำระหว่างหัวหน้าพรรคเพื่อไทยกับพรรคประชาธิปัตย์ พบว่ากลุ่มตัวอย่างกว่า 1 ใน 3 หรือร้อยละ 35.4 คิดว่าหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์มีความเป็นผู้นำมากกว่า ส่วนร้อยละ 25.0 ระบุว่าหัวหน้าพรรคเพื่อไทยมีความเป็นผู้นำมากกว่า และร้อยละ 39.6 ระบุมีความเป็นผู้นำพอๆ กัน

เมื่อเปรียบเทียบความเป็นอิสระของทั้งสองพรรคการเมืองใหญ่ จากการแทรกแซงจากกลุ่มผลประโยชน์ พบว่าประชาชนส่วนมากหรือร้อยละ 61.7 ระบุไม่ค่อยมั่นใจถึงไม่มั่นใจเลยว่าพรรคเพื่อไทยจะเป็นอิสระปราศจากการแทรกแซงจากกลุ่มผลประโยชน์ ในขณะที่ ร้อยละ 55.9 ระบุไม่ค่อยมั่นใจถึงไม่มั่นใจเลยว่าพรรคประชาธิปัตย์จะเป็นอิสระปราศจากการแทรกแซงจากกลุ่มผลประโยชน์

ที่น่าพิจารณาคือเมื่อเปรียบเทียบความเป็นประชาธิปไตยในประเทศภายใต้รัฐบาลของทั้งสองพรรค พบว่า ประชาชนเกือบ 1 ใน 3 หรือร้อยละ 32.0 คิดว่าการบริหารงานภายใต้พรรคเพื่อไทยประเทศชาติมีความเป็นประชาธิปไตยมากกว่า ในขณะที่ร้อยละ 27.4 คิดว่าภายใต้พรรคประชาธิปัตย์มีความเป็นประชาธิปไตยมากกว่า

ที่น่าเป็นห่วงคือเมื่อสอบถามถึงความรู้สึกของประชาชนกรณีที่มีรัฐมนตรีภายใต้รัฐบาลของนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ออกมาพูดจาไม่ดี ไม่สุภาพ และตำหนิประชาชนบางกลุ่มในสังคม พบว่ากลุ่มตัวอย่างส่วนมากหรือร้อยละ 65.3 รู้สึกผิดหวังต่อการกระทำของรัฐมนตรี ยิ่งไปกว่านั้นร้อยละ 72.6 มีความกังวลว่าจะส่งผลต่อความประพฤติและพฤติกรรมความรุนแรงต่อเด็กและเยาวชนในสังคม

นางสาวปุณฑรีก์ อิศรางกูร ณ อยุธยา ในฐานะผู้ช่วย ผอ.เอแบคโพลล์และอดีตผู้นำเยาวชน กล่าวว่า มีความน่าเป็นห่วงในสองส่วนต่อพรรคเพื่อไทยคือ ประชาชนส่วนใหญ่ยังไม่ทราบว่าหัวหน้าพรรคเพื่อไทยคนปัจจุบันคือใครอาจกล่าวได้ว่า หัวหน้าพรรคเพื่อไทยยังไม่สามารถ “เข้าถึง” การรับรู้ของสาธารณชนได้ และความน่าเป็นห่วงอย่างที่สองคือ กระแส “มารยาทน่ะช่างเถอะ อยากโชว์” อาจกำลังเกิดขึ้นในกลุ่มรัฐมนตรีของรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เพราะการพูดจาด่าทอที่ออกมาจากรัฐมนตรีของรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ที่มีความเป็นแม่ที่น่าจะคอยดูแลให้รัฐมนตรีใช้วาจาเป็นต้นแบบที่ดีของสาธารณชนมากกว่า หรือว่า รัฐบาลชุดนี้ไม่เคร่งเรื่องมารยาท

“ในส่วนของพรรคประชาธิปัตย์ต้องแสดงให้เห็นว่ายึดมั่นต่อประชาธิปไตยให้มากขึ้นไม่อิงแอบกลุ่มผลประโยชน์และกลุ่มอำนาจต่างๆ เพราะชาวบ้านยังคงมองว่า พรรคเพื่อไทยมีความเป็นประชาธิปไตยมากกว่า” ผช.ผอ.เอแบคโพลล์กล่าว

จากการพิจารณาลักษณะทั่วไปของตัวอย่าง พบว่า ตัวอย่างร้อยละ 47.4 เป็นชาย ร้อยละ 52.6 เป็นหญิง ตัวอย่างร้อยละ 4.7 อายุน้อยกว่า 20 ปี ร้อยละ 20.8 อายุระหว่าง 20—29 ปี ร้อยละ 20.3 อายุระหว่าง 30—39 ปี ร้อยละ 19.4 อายุระหว่าง 40—49 ปี และ ร้อยละ 34.8 อายุ 50 ปีขึ้นไป ตัวอย่างร้อยละ 74.2 สำเร็จการศึกษาต่ำกว่าปริญญาตรี ร้อยละ 22.8 สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี ในขณะที่ร้อยละ 3.0 สำเร็จการศึกษาสูงกว่าปริญญาตรี ตัวอย่างร้อยละ 33.4 ระบุอาชีพเกษตรกร/รับจ้างทั่วไป ร้อยละ 31.5 ระบุอาชีพค้าขาย/ธุรกิจส่วนตัว ร้อยละ 8.7 ระบุอาชีพพนักงานเอกชน ร้อยละ 8.6 ระบุอาชีพข้าราชการ/พนักงานรัฐวิสาหกิจ ร้อยละ 7.5 เป็นนักเรียน/นักศึกษา ร้อยละ 7.1 เป็นแม่บ้าน/พ่อบ้าน/เกษียณอายุ ร้อยละ 3.2 ว่างงาน/ไม่ได้ประกอบอาชีพ

ตารางที่ 1 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุการรับรู้ถึงบุคคลที่เป็นหัวหน้าพรรคเพื่อไทยคนปัจจุบัน
ลำดับที่  การรับรู้ถึงบุคคลที่เป็นหัวหน้าพรรคเพื่อไทยคนปัจจุบัน                                         ค่าร้อยละ
  1    ทราบและระบุถูกว่าเป็นนายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ                                             21.5
  2    ไม่ทราบ/ระบุผิดเป็นบุคคลอื่น อาทิเช่น นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ชินวัตร              78.5
นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ เป็นต้น
       รวมทั้งสิ้น                                                                           100

ตารางที่ 2 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุการรับรู้ถึงบุคคลที่เป็นหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์คนปัจจุบัน
ลำดับที่  การรับรู้ถึงบุคคลที่เป็นหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์คนปัจจุบัน                                      ค่าร้อยละ
  1    ทราบและระบุถูกว่าเป็นนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ                                               90.8
  2    ไม่ทราบ/ระบุผิดเป็นบุคคลอื่น อาทิ นายชวน หลีกภัย นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน เป็นต้น                    9.2
       รวมทั้งสิ้น                                                                           100

ตารางที่ 3 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุความคิดเห็นต่อความเป็นผู้นำระหว่างหัวหน้าพรรคเพื่อไทยกับพรรคประชาธิปัตย์
ลำดับที่  ความคิดเห็นต่อความเป็นผู้นำระหว่างหัวหน้าพรรคเพื่อไทยกับพรรคประชาธิปัตย์                      ค่าร้อยละ
  1    หัวหน้าพรรคเพื่อไทย                                                                   25
  2    หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์                                                              35.4
  3    พอๆ กัน                                                                          39.6
       รวมทั้งสิ้น                                                                          100

ตารางที่ 4 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุความคิดเห็นเกี่ยวกับความเป็นอิสระของพรรคเพื่อไทยจากการแทรกแซงจากกลุ่มผลประโยชน์
ลำดับที่  ความคิดเห็นเกี่ยวกับความเป็นอิสระของพรรคเพื่อไทยจากการแทรกแซงจากกลุ่มผลประโยชน์            ค่าร้อยละ
  1    ค่อนข้างมั่นใจถึงมั่นใจมาก                                                             38.3
  2    ไม่ค่อยค่อยมั่นใจถึงไม่มั่นใจเลย                                                         61.7
       รวมทั้งสิ้น                                                                          100

ตารางที่ 5 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุความคิดเห็นเกี่ยวกับความเป็นอิสระของพรรคประชาธิปัตย์จากการแทรกแซงจากกลุ่มผลประโยชน์
ลำดับที่  ความคิดเห็นเกี่ยวกับความเป็นอิสระของพรรคประชาธิปัตย์จากการแทรกแซงจากกลุ่มผลประโยชน์         ค่าร้อยละ
  1    ค่อนข้างมั่นใจถึงมั่นใจมาก                                                             44.1
  2    ไม่ค่อยค่อยมั่นใจถึงไม่มั่นใจเลย                                                         55.9
       รวมทั้งสิ้น                                                                          100

ตารางที่ 6 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุความเป็นประชาธิปไตยภายใต้รัฐบาลระหว่างพรรคเพื่อไทยและพรรคประชาธิปัตย์
ลำดับที่  ความเป็นประชาธิปไตยภายใต้รัฐบาลระหว่างพรรคเพื่อไทยและพรรคประชาธิปัตย์                   ค่าร้อยละ
  1    ภายใต้พรรคเพื่อไทยมีความเป็นประชาธิปไตยมากกว่า                                         32.0
  2    ภายใต้พรรคประชาธิปัตย์มีความเป็นประชาธิปไตยมากกว่า                                      27.4
  3    มีความเป็นประชาธิปไตยมากพอกันทั้งสองพรรค                                              21.6
  4    มีความเป็นประชาธิปไตยน้อยพอกันทั้งสองพรรค                                              13.0
  5    ไม่มีความเป็นประชาธิปไตยเลยทั้งสองพรรค                                                 6.0
       รวมทั้งสิ้น                                                                          100

ตารางที่ 7 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุความรู้สึกต่อการพูดจาไม่ดีของรัฐมนตรีภายใต้รัฐบาลของนาวสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตรชุดนี้
ลำดับที่  ความรู้สึกต่อการพูดจาไม่ดีของรัฐมนตรีภายใต้รัฐบาลของนาวสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตรชุดนี้                ค่าร้อยละ
  1    รู้สึกผิดหวัง                                                                        65.3
  2    ไม่รู้สึกอะไรเลย                                                                    34.7
       รวมทั้งสิ้น                                                                          100

ตารางที่ 8 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุความกังวลในกรณีที่รัฐมนตรีภายใต้รัฐบาลของนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตรออกมาออกมาพูดจาไม่ดี
ไม่สุภาพ และตำหนิประชาชนบางกลุ่มในสังคม จะส่งผลต่อความรุนแรงในเด็กและเยาวชน
ลำดับที่  ความกังวล                                                                      ค่าร้อยละ
  1    กังวลว่าจะส่งผลต่อความประพฤติและพฤติกรรมความรุนแรงต่อเด็กและเยาวชนในสังคม                72.6
  2    ไม่กังวล                                                                         27.4
       รวมทั้งสิ้น                                                                         100

--เอแบคโพลล์--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ