เอแบคโพลล์: แกนนำชุมชนคิดอย่างไรต่อข่าวการปรับคณะรัฐมนตรี กรณีศึกษาตัวอย่างแกนนำชุมชนทั่วประเทศ

ข่าวผลสำรวจ Monday July 1, 2013 08:48 —เอแบคโพลล์

ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยเอแบคโพลล์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เปิดเผยผลวิจัยเชิงสำรวจ เรื่อง แกนนำชุมชนคิดอย่างไรต่อข่าวการปรับคณะรัฐมนตรี กรณีศึกษาตัวอย่างแกนนำชุมชนทั่วประเทศ จำนวนทั้งสิ้น 467 ตัวอย่าง ดำเนินโครงการระหว่างวันที่ 27 - 29 มิถุนายน 2556 ที่ผ่านมา โดยใช้การเลือกตัวอย่างจากบัญชีรายชื่อแกนนำชุมชนทั่วประเทศค่าความคลาดเคลื่อนบวกลบร้อยละ 7 พบว่า กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่หรือร้อยละ 90.4 ทราบข่าวการปรับคณะรัฐมนตรีในครั้งนี้

ที่น่าสนใจคือ แกนนำชุมชนส่วนใหญ่หรือร้อยละ 87.5 สนับสนุน นางปวีณา หงสกุล เป็นรัฐมนตรีในการปรับคณะรัฐมนตรีครั้งนี้รองลงมาคือร้อยละ 79.3 สนับสนุน พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ ดามาพงศ์ ร้อยละ 70.6 สนับสนุน นายจาตุรนต์ ฉายแสง และร้อยละ 61.4 สนับสนุน พล.อ.ยุทธศักดิ์ ศศิประภา ตามลำดับ

และเมื่อถามถึงความคิดเห็นต่อตำแหน่งรัฐมนตรีของแต่ละกระทรวงตามกระแสข่าว พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 88.6 สนับสนุนนางปวีณา หงสกุล เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพัฒนาสังคมฯ รองลงมาคือ ร้อยละ 81.1 สนับสนุน พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ ดามาพงศ์ เป็นรองนายกรัฐมนตรีกำกับดูแลสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ร้อยละ 71.7 สนับสนุน นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ควบตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ร้อยละ 70.1 สนับสนุน นายจาตุรนต์ ฉายแสง เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ร้อยละ 66.6 สนับสนุน พล.อ.ยุทธศักดิ์ ศศิประภา เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม และร้อยละ 41.9 สนับสนุน ร.ต.อ.ดร.เฉลิม อยู่บำรุง เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน อย่างไรก็ตาม ร้อยละ 58.1 ไม่สนับสนุน

เมื่อสอบถามเพิ่มเติมต่อนายกรัฐมนตรี นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ในการควบตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ว่าจะทำให้เกิดความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างรัฐบาลกับกองทัพหรือไม่ พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 70.5 ของแกนนำชุมชนทั่วประเทศคิดว่าจะทำให้เกิดความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างรัฐบาลกับกองทัพ ในขณะที่ร้อยละ 29.5 ไม่คิดว่าจะมีผลอะไร

นอกจากนี้ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 61.4 ของแกนนำชุมชนระบุการปรับคณะรัฐมนตรีตามกระแสข่าวในครั้งนี้น่าจะทำให้รัฐบาลมีเสถียรภาพดีขึ้น ในขณะที่ร้อยละ 28.3 ระบุเหมือนเดิม และร้อยละ 10.3 ระบุแย่ลง

ที่น่าสนใจคือ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 72.9 ระบุการปรับคณะรัฐมนตรีครั้งนี้แสดงถึงความเป็นผู้นำของนายกรัฐมนตรีได้ ในขณะที่ร้อยละ 27.1 ระบุไม่ได้แสดงถึงความเป็นผู้นำอะไร

ที่น่าพิจารณาคือ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 80.4 ต้องการให้ปรับคณะรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจครั้งใหญ่ ในขณะที่ร้อยละ 19.6 ไม่ต้องการ อย่างไรก็ตาม ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 85.3 ของแกนนำชุมชนทั่วประเทศยังให้โอกาสรัฐบาลทำงานต่อจนครบวาระ ในขณะที่ร้อยละ 14.7 ไม่ให้โอกาส

สำหรับปัญหาเร่งด่วนที่ต้องการให้รัฐบาลเร่งแก้ไขโดยตอบได้มากกว่า 1 ปัญหา พบว่า ที่มากที่สุดหรือร้อยละ 82.8 ระบุปัญหาปากท้อง สินค้าราคาแพง หมายถึงว่า ราคาสูงเกินกำลังซื้อของประชาชน รองลงมาคือร้อยละ 76.6 ระบุ ปัญหาด้านการศึกษา ร้อยละ 74.8 ระบุปัญหาการทุจริตคอรัปชั่น ร้อยละ 70.9 ปัญหาสุขภาพของประชาชน ร้อยละ 69.2 ปัญหายาเสพติด ร้อยละ 68.9 ปัญหาชายแดนภาคใต้ และร้อยละ 61.2 ปัญหาความขัดแย้งของคนในชาติ ตามลำดับ

ดร.นพดล กรรณิกา ผอ.เอแบคโพลล์ กล่าวว่า ไม่มีเวลาสำหรับการฮันนีมูนหรือช่วงเวลาของความสุขความรื่นเริงในตำแหน่งรัฐมนตรีของรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตรเพราะสถานการณ์บ้านเมืองในเวลานี้แกนนำชุมชนและชาวบ้านทั่วไปต่างก็ต้องการให้เร่งแก้ปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนก่อน อย่างไรก็ตาม ยังมีความเป็นไปได้ที่จะทำให้คณะรัฐมนตรีได้รับความเชื่อมั่นศรัทธาจากสาธารณชนกลับคืนมาถ้ารัฐบาลมี “วิธีการ” แสดงให้สาธารณชนรับทราบว่าการบริหารราชการแผ่นดินและแก้ปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนเป็นไปด้วยความโปร่งใส สาธารณชนทั่วไปสามารถแกะรอยตรวจสอบรัฐบาลและเจ้าหน้าที่รัฐได้ในรายละเอียด ดึงทุกภาคส่วนมาเป็นหุ้นส่วน (Partnership) ของรัฐบาลและของประเทศ ผ่านการจัดวาง “คนดีและเก่ง” มาทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ ประสิทธิผลและคุ้มค่าคุ้มทุนของการใช้ทรัพยากร แต่ถ้ารัฐบาลยังคงเพิกเฉยต่อหลักธรรมาภิบาลที่จับต้องได้แล้ว รัฐบาลกำลังเข้าสู่โหมดของการเป็นต้นเหตุความรุนแรงในหมู่ประชาชนที่ยากจะเรียกความเชื่อมั่นของสาธารณชนกลับคืนมาได้

จากการพิจารณาลักษณะทั่วไปของตัวอย่าง พบว่า ตัวอย่างร้อยละ 81.5 เป็นชาย ร้อยละ 18.5 เป็นหญิง ตัวอย่างร้อยละ 0.6 อายุน้อยกว่า 30 ปี ร้อยละ 2.8 อายุระหว่าง 30-39 ปี ร้อยละ 16.9 อายุระหว่าง 40-49 ปี ร้อยละ 79.7 อายุ 50 ปีขึ้นไป ตัวอย่างร้อยละ 50.6 สำเร็จการศึกษาต่ำกว่าปริญญาตรี ร้อยละ 30.3 สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี และร้อยละ 19.1 สำเร็จการศึกษาสูงกว่า ปริญญาตรี

ตารางที่ 1 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุการรับทราบข่าวการปรับคณะรัฐมนตรีในครั้งนี้
ลำดับที่    การรับทราบข่าวการปรับคณะรัฐมนตรีในครั้งนี้           ค่าร้อยละ
  1      ทราบ                                         90.4
  2      ไม่ทราบ                                        9.6
         รวมทั้งสิ้น                                     100.0

ตารางที่ 2 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุ การสนับสนุนให้บุคคลเป็นรัฐมนตรีในการปรับคณะรัฐมนตรีครั้งใหม่
ลำดับที่    รายชื่อ                                       ค่าร้อยละ
  1      นางปวีณา  หงสกุล                               87.5
  2      พล.ต.อ.เพรียวพันธ์  ดามาพงศ์                     79.3
  3      นายจาตุรนต์  ฉายแสง                            70.6
  4      พล.อ.ยุทธศักดิ์  ศศิประภา                         61.4

ตารางที่ 3 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุ ความคิดเห็นต่อข่าวการปรับคณะรัฐมนตรีในกระทรวงต่างๆ ตามกระแสข่าว
ลำดับที่    ความคิดเห็นต่อข่าวการปรับคณะรัฐมนตรีในกระทรวงต่างๆ                      สนับสนุน       ไม่สนับสนุน     รวมทั้งสิ้น
  1      นางปวีณา  หงสกุล  เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพัฒนาสังคมฯ                   88.6          11.4        100.0
  2      พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ ดามาพงศ์ รองนายกรัฐมนตรีกำกับดูแลสำนักงานตำรวจแห่งชาติ   81.1          18.9        100.0
  3      นางสาวยิ่งลักษณ์  ชินวัตร ควบตำแหน่ง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม           71.7          28.3        100.0
  4      นายจาตุรนต์  ฉายแสง  เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ                 70.1          29.9        100.0
  5      พล.อ.ยุทธศักดิ์  ศศิประภา เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม              66.6          33.4        100.0
  6      ร.ต.อ.ดร.เฉลิม อยู่บำรุง เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน                 41.9          58.1        100.0

ตารางที่ 4 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุ ความคิดเห็นว่าถ้านายกรัฐมนตรี น.ส.ยิ่งลักษณ์ จะควบตำแหน่ง รัฐมนตรีกลาโหมจะทำให้เกิด
ความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างรัฐบาลกับกองทัพ
ลำดับที่    ความคิดเห็น                                                                     ค่าร้อยละ
  1      จะทำให้เกิดความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างรัฐบาลกับกองทัพ                                          70.5
  2      ไม่คิดว่าจะมีผลอะไร                                                                 29.5
         รวมทั้งสิ้น                                                                        100.0

ตารางที่ 5 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุ ความคิดเห็นต่อการปรับคณะรัฐมนตรีในครั้งนี้ว่าจะทำให้เสถียรภาพของรัฐบาลดีขึ้น
ลำดับที่    ความคิดเห็นต่อการปรับคณะรัฐมนตรีในครั้งนี้ว่าจะทำให้เสถียรภาพของรัฐบาลดีขึ้น                    ค่าร้อยละ
  1      ดีขึ้น                                                                             61.4
  2      เหมือนเดิม                                                                        28.3
  3      แย่ลง                                                                            10.3
         รวมทั้งสิ้น                                                                        100.0

ตารางที่ 6 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุ ความคิดเห็นต่อการตัดสินใจปรับคณะรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรีในครั้งนี้ได้แสดงถึงความเป็นผู้นำของนายกรัฐมนตรี
ลำดับที่    ความคิดเห็นต่อการตัดสินใจปรับคณะรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรีในครั้งนี้ได้แสดงถึงความเป็นผู้นำ          ค่าร้อยละ
  1      แสดงถึงความเป็นผู้นำ                                                                72.9
  2      ไม่แสดงถึงความเป็นผู้นำ                                                              27.1
         รวมทั้งสิ้น                                                                        100.0

ตารางที่ 7 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุ ความคิดเห็นต่อการปรับคณะรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ
ลำดับที่    ความคิดเห็น                                                                      ค่าร้อยละ
  1      ต้องการให้ปรับคณะรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจครั้งใหญ่                                            80.4
  2      ไม่ต้องการ                                                                        19.6
         รวมทั้งสิ้น                                                                        100.0

ตารางที่ 8 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุ ความคิดเห็นต่อการให้โอกาสรัฐบาลทำงานต่อไปจนครบวาระ
ลำดับที่    ความคิดเห็นต่อการให้โอกาสรัฐบาลทำงานต่อไปจนครบวาระ                                   ค่าร้อยละ
  1      ให้โอกาส                                                                         85.3
  2      ไม่ให้โอกาส                                                                       14.7
         รวมทั้งสิ้น                                                                        100.0

ตารางที่ 9 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุ ปัญหาเร่งด่วนที่รัฐบาลควรเร่งแก้ไขในขณะนี้ (ตอบได้มากกว่า 1 ข้อ)
ลำดับที่    ปัญหาเร่งด่วนที่รัฐบาลควรเร่งแก้ไขในขณะนี้                                               ค่าร้อยละ
  1      ปัญหาปากท้อง สินค้าราคาแพง                                                          82.8
  2      ปัญหาด้านการศึกษา                                                                  76.6
  3      ปัญหาการทุจริตคอรัปชั่น                                                               74.8
  4      ปัญหาด้านสุขภาพของประชาชน                                                          70.9
  5      ปัญหายาเสพติด                                                                     69.2
  6      ปัญหาชายแดนภาคใต้                                                                 68.9
  7      ปัญหาความขัดแย้งของคนในชาติ                                                         61.2

--เอแบคโพลล์--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ